posttoday

ธันยวดี วะสีนนท์ เรื่องท่องเที่ยว วัยไม่ใช่ข้อจำกัด

15 พฤศจิกายน 2560

สาวสวยร่างเล็กหน้าตายิ้มแย้ม ธันยวดี วะสีนนท์ ทายาทรุ่นที่สองของแหนมดอนเมือง


สาวสวยร่างเล็กหน้าตายิ้มแย้ม ธันยวดี วะสีนนท์ รองประธาน และผู้ดูแลด้านการตลาด บริษัท ไทยอินโนฟู้ด ผู้ผลิตและจำหน่ายสุทธิลักษณ์ หรือแหนมดอนเมือง เธอเป็นทายาทรุ่นที่สองของแหนมดอนเมืองที่มาช่วยรับไม้ต่อพัฒนางานจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่

ทางด้านการศึกษานั้น เธอจบปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วไปต่อปริญญาโท ทางด้านท่องเที่ยว ที่ประเทศอังกฤษ จบมาก็มาทำงานด้านท่องเที่ยวกับบริษัทต่างประเทศ ดูแลด้านพัฒนาธุรกิจอยู่ปีกว่า แล้วมาทำร้านไอศกรีมโฮมเมดอยู่พักใหญ่ก่อนจะแต่งงานและมาช่วยธุรกิจของสามี

แม้งานหลักจะดูแลเรื่องการตลาดให้กับบริษัท ไทยอินโนฟู้ด ที่จะพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ โดยออกแบบสินค้าให้พร้อมรับประทานมากขึ้น

“เมื่อก่อนแหนมจะทำออกมาเป็นแท่งๆ ต้องรอรับประทานตามที่ระบุไว้หน้าห่ออย่างน้อย 3-4 วันเพื่อให้แหนมหมักได้ที่ก่อน แต่ตอนนี้เราทำหั่นเป็นชิ้นๆ สามารถเวฟ 2 นาทีรับประทานได้ทันที ไม่ต้องรอ 2-3 วันเหมือนแต่ก่อน ในส่วนของที่ห่อใบตองหนาๆ แกะออกมามีแหนมอยู่นิดเดียว เราก็ไม่ทำแบบนั้นแล้ว คือเรายังผลิตแบบห่อด้วยใบตองแต่ห่อมาแบบพร้อมทานกลิ่นหอมของใบตองไม่ต้องให้ลูกค้าเสียเวลาแกะใบตองหลายๆ ชั้น เพราะเรารู้ว่าชีวิตมันต้องแข่งกับเวลาจึงออกแบบสินค้ามาให้ผู้บริโภคมีความสะดวกสบายประหยัดเวลาพร้อมอิ่มภายใน 3 นาที” เธอกล่าวอย่างตั้งใจ

 

ธันยวดี วะสีนนท์ เรื่องท่องเที่ยว วัยไม่ใช่ข้อจำกัด

  

ในขณะเดียวกันก็พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสะอาดปลอดภัยมากขึ้น เช่น ผลิตแหนมฉายรังสีฆ่าเชื้อโรคป้องกันแบคทีเรีย พยาธิต่างๆ ไม่ให้ผู้บริโภครับประทานแล้วท้องเสียหรือติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งเพิ่มไลน์การผลิตสินค้าสุขภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ทำไส้กรอก ลูกชิ้น หมูหยองสำหรับเด็ก ที่ไม่ใส่สารกันบูด ไม่ใส่สารบอแรกซ์ ให้เด็กๆ รับประทานได้อย่างปลอดภัย เพราะเธอเองก็มีลูกน้อย จึงอยากทำสินค้าเพื่อให้ลูกน้อยของเธอและเด็กๆ ทุกคนรับประทานอย่างไร้กังวล และภายใน 5 ปีนี้เธอเตรียมการที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

นอกจากงานหลักที่เธอทำประจำแล้ว เธอยังมีโครงการใหม่ที่อยากจะทำในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เธออยากทำมานานแล้ว และเป็นการต่อยอดจากงานวิทยานิพนธ์เมื่อครั้งเรียนปริญญาโทของเธอเมื่อ 12 ปีที่แล้ว เพราะคณะที่เธอเรียนปริญญาโท ก็คือ Tourist & Development  

เนื่องจากมองว่าหลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยเองเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่เรื่องการท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทยยังไม่เตรียมรับมือกับกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุเท่าที่ควร รวมถึงผู้พิการ เช่น สถานที่ที่จะรองรับผู้สูงวัยที่ต้องนั่งรถเข็น ถือไม้เท้า ผู้พิการทางสายตา หรือร่างกายทางด้านอื่นๆ สถานที่ไม่สะดวกสบายสำหรับผู้สูงอายุ หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่างๆ ยังมีน้อย

เธอเล่าว่า อย่างเพื่อนคนหนึ่ง คุณพ่อมีปัญหาเรื่องการเดิน ต้องนั่งวีลแชร์ตลอดเวลา เขาจะพากันไปเที่ยว นี่ต้องหาข้อมูลเรื่องสถานที่พักและการเดินทางอย่างละเอียด ว่าจะพาคุณพ่อเขาไปได้ไหม ต้องขึ้นรถ ลงเรือ ที่พักเป็นแบบไหนอย่างไร ดูเป็นเรื่องที่น่ากังวลและต้องจัดแจงอย่างมาก และแน่นอนว่าหาสถานที่ลำบากที่เตรียมพร้อมเรื่องนี้เธอเล่าว่า เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดยผู้พิการนั่งวีลแชร์ แต่เขาสามารถลงไปดำน้ำได้ อ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจว่า เป็นเรื่องดีมากๆ ที่ความไม่พร้อมของร่างกายไม่ใช่ข้อจำกัด ที่จะให้ใครคนหนึ่งได้ทำอะไรอย่างที่คนทั่วไปทำได้ ซึ่งเรื่องท่องเที่ยวนี้เป็นเรื่องที่เธอสนใจและฝันว่าอยากจะทำตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาโทเมื่อ 12 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นอาจจะยังเร็วเกินไปมาถึงวันนี้เธอคิดว่าความน่าจะเป็นจริงเกิดขึ้นแล้ว และควรจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเธอไม่ลงมือทำ ความฝันของเธอก็เป็นแค่ความฝันอยู่นั่นเอง นับจากนี้ต่อไปคือช่วงเวลาที่จะต้องพยายามทำความฝันที่อยู่ในใจมานานให้เป็นจริงเสียที


 

ธันยวดี วะสีนนท์ เรื่องท่องเที่ยว วัยไม่ใช่ข้อจำกัด

  

เธอบอกว่า ตอนนี้ก็เตรียมความพร้อมต่างๆ ในการหาข้อมูล ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอโครงการต่างๆ ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แล้วไม่ได้มองเฉพาะนักท่องเที่ยวสูงอายุคนไทยเท่านั้น แต่มองไปถึงนักท่องเที่ยวสูงวัยจากต่างประเทศอีกด้วย เพราะความแก่ไม่ใช่ข้อจำกัด

“ประเทศไทยเรามีชื่อเสียงด้านท่องเที่ยว ใครๆ ก็อยากมาเที่ยวบ้านเรา มีหลายประเทศในยุโรปที่ให้เงินสนับสนุนให้ผู้สูงวัยบ้านเขามาเที่ยวประเทศไทยเป็นเวลานานๆ โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ให้ เพราะค่าครองชีพบ้านเราทั้งปีถูกกว่าบ้านเขามาก เงินบ้านเขาใช้ได้แค่ 3 เดือน แต่สามารถมาใช้บ้านเราอยู่ได้ 1 ปีสบายๆ อย่างเชียงใหม่ เชียงราย ก็มีชาวญี่ปุ่น ชาวยุโรปมาอยู่กันมาก บ้านเราเป็นอันดับต้นๆ ที่คนยุโรปอยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่ แต่บ้านเรายังรองรับได้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัย โดยเฉพาะคนโสดที่ญาติพี่น้องแทบจะอยู่ตัวคนเดียว แม้แต่คนไทยเองก็มีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ” เธอให้ข้อมูล

การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชนต่างๆ ที่มีอาหาร ที่มีเฉพาะที่ชุมชนนี้เท่านั้น ที่เรียกว่าอาหาร หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่เน้นทัวร์เพื่อช็อปชิมแบบ Gastronomy เนื่องจากเวลาคนสูงวัยที่มาเที่ยว ไม่ได้อยากไปเดินห้าง ไม่ได้อยากช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมที่ซื้อที่ไหนก็ได้ แต่เขาต้องการธรรมชาติ อาหาร ประเพณีที่มีความเฉพาะตัวของชุมชนนั้นๆ เท่านั้น ได้เห็นสิ่งที่มีคุณค่าทางใจ และยังมีเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่างๆ ที่เธอสนใจจะทำด้านนี้ เช่น ที่ชุมชนหินลาดใน เป็นหมู่บ้านปากะญอ ที่เชียงราย ที่ยังใช้ชีวิตแบบวิถีเดิมๆ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย กินอยู่แบบดั้งเดิม มีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดีและมีความสุขเป็นเสน่ห์ที่น่ารักเหลืออยู่น้อยแล้ว

เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก ซึ่งเธอมั่นใจว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านนี้มีธรรมชาติที่สวยงาม อาหารอร่อย คนไทยมีความเป็นมิตรและมีหัวใจบริการ ค่าครองชีพที่ถูกกว่าหลายๆ ประเทศ จึงเป็นจุดแข็งที่ดีและได้เปรียบเธอพยายามที่จะเข้าไปคุยกับหลายหน่วยงานให้เห็นภาพที่ตรงกัน

สุดท้ายเธอบอกถึงหลักปรัชญาในการทำงานของเธอว่า ยิ่งให้ยิ่งได้ คือให้ความรักความใส่ใจ ให้โอกาส กับลูกน้องแล้วสิ่งที่ให้จะกลับมาเองไม่ช้าก็เร็ว หรือแม้แต่การให้คอนเนกชั่นต่างๆ ในการทำงานกับเพื่อนฝูงคนรู้จัก วันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลับมาหาเรา ถ้าเราพร้อมจะเป็นผู้ให้ใจก็เป็นสุข ยิ่งเป็นการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนมักจะมีเรื่องดีๆ กลับมาเสมอ

“อีกเรื่องก็คือเมื่อเจอปัญหาอย่าท้อถอย เพราะปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ และทุกปัญหาจะทำให้เราได้บทเรียนและเติบโต เพราะคนเราจะเรียนรู้จากการแก้ปัญหา มองโลกแง่ดีเข้าไว้ใช้ชีวิตแบบสายกลางพอเพียงไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป แค่นี้ชีวิตก็มีความสุขได้” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้ม