posttoday

ปวิณ ภิรมย์ภักดี คว้าทุกโอกาสที่มีแล้วทำให้ดีที่สุด

13 พฤศจิกายน 2560

การใช้แนวทางเลือกบุคลากรในการทำงานต่างๆ ให้เหมาะสมและลงตัว คือ สิ่งที่ได้จากการทำงาน

ณ ลีโอ สเตเดี้ยม สนามเหย้าแห่งทีมกระต่ายแก้ว ปวิณ ภิรมย์ภักดี ประธานสโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกกล๊าส เปิดใจพูดคุยกับเราอย่างอารมณ์ดีถึงการทำงานในฐานะผู้บริหารทีมฟุตบอลและบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เบอร์หนึ่งของประเทศ

ปวิณเล่าถึงความรักในกีฬาของเขาว่า

“แต่ไหนแต่ไรมาตั้งแต่เด็กๆ ผมชอบกีฬาประเภททีมสปอร์ตมาโดยตลอด เพราะว่าโดนส่งไปอยู่เมืองนอกตั้งแต่เด็กๆ อยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ คนที่นั่นเน้นในเรื่องกีฬามานานแล้ว พอเราไปอยู่ก็เริ่มซึมซับได้มีโอกาสเล่นกีฬาแทบทุกประเภทที่นั่น ตั้งแต่ฟุตบอล รักบี้  บาสเกตบอล สควอช และเทนนิส เราเล่นหมดเลย

ทั้งหมดที่เคยเล่นมาถ้าจะให้ผมลงสนามเล่นจริงๆ จังๆ เลยก็จะเป็นกีฬารักบี้ แต่ถ้าชมการแข่งขันผมชอบดูฟุตบอลมากที่สุด  เพราะกีฬาฟุตบอลเป็นเหมือนวัฒนธรรมที่อยู่ในสายเลือดของชาวอังกฤษ พอเราอยู่นานๆ ก็ซึมซับสิ่งเหล่านี้ไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งทีมฟุตบอลที่ผมชอบมากที่สุด คือ ทีมลิเวอร์พูล ผมชอบมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เป็นทีมในดวงใจของผมตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าในช่วงนี้จะเน่ามากก็ตาม

จนกระทั่งเรียนที่มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นก็เริ่มเปลี่ยนความคิดจากที่อยากจะเป็นแค่ผู้เล่นมาเป็นการคุมทีมฟุตบอลสักทีม แต่เก็บความฝันเล็กๆ นั้นไว้ จนกลับมาทำงานที่บางกอกกล๊าส เราก็เริ่มสร้างทีมฟุตบอลขึ้นมา และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการซีเอสอาร์ บริษัทที่ทำให้กับเยาวชนและคนในชุมชน ประมาณปี 2549 เราเริ่มส่งทีมเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยลงแข่งขัน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ได้มีโอกาสบริหารทีมฟุตบอลในระดับเล็กๆ”

ปวิณ ภิรมย์ภักดี คว้าทุกโอกาสที่มีแล้วทำให้ดีที่สุด

จากนั้นไม่นานนักในปี 2552 ทางเอเอฟซี หรือสหพันธ์ฟุตบอลเอเซีย ก็ได้ประกาศกฎออกมาว่าสมาคมฟุตบอลต้องอยู่ในรูปแบบของนิติบุคคล ในช่วงเวลานั้นมีทีมฟุตบอลหลายทีมที่เป็นของธนาคารต่างๆ ซึ่งขัดต่อกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ห้ามให้ธนาคารทำธุรกิจอื่นนอกจากธุรกิจด้านการเงินเพียงอย่างเดียว ปวิณ จึงคว้าโอกาสในการเจรจากับธนาคารกรุงไทย ในการเปลี่ยนทีมกรุงไทยมาเป็นบางกอกกล๊าส เอฟซี ในที่สุด

“ในช่วงการบริหารทีมแรกๆ ผมยอมรับว่าผมไม่ได้มองไปที่เรื่องของการคุมทีมในสนามเลย เพราะว่าเป็นช่วงเวลา 3 สัปดาห์ ก่อนเปิดลีกที่เราจะต้องรีบเจรจา แล้วดึงตัวนักเตะเพื่อให้ทันแข่งในลีกต่อไปได้ ดังนั้น ช่วงปีแรกเลยผมจึงไม่ได้มีเป้าหมายอะไรมาก ทำได้แค่ในเรื่องของการตลาด การทำพีอาร์ ให้คนมองทีมบางกอกกล๊าสว่าเป็นทีมแบบไหน

ความคิดของเราในตอนนั้น ภาพลักษณ์ของวงการฟุตบอลค่อนข้างที่จะรุนแรง เราจึงอยากทำทีมให้ออกมาดูน่ารักๆ จึงมีแรบบิทเกิร์ลมาสร้างสีสันให้กับทีม ทำให้กีฬาฟุตบอลดูซอฟต์ลง ซึ่งการบริหารทีมฟุตบอลเป็นงานที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับผมมาก เพราะว่าไม่เหมือนกับการบริหารธุรกิจหรืออื่นๆ หรือมีสอนในตำราเล่มใดๆ

งานทั้งหมดคือการดีลกับคนล้วนๆ มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และลูกค้าสโมสรไม่ใช่ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้า แต่ลูกค้าของสโมสรก็คือแฟนบอลนั่นเอง เวลาที่แฟนบอลรักชอบทีมใดเขาจะมีอารมณ์ไปกับเราเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งที่เราจะต้องรับแรงกดดันตรงนี้ให้ได้ แฟนบอลยุคปัจจุบันเบื่อง่าย จึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการบริหารสโมสร"

ปวิณ บอกว่า สิ่งที่เขาได้จากการบริหารสโมสรฟุตบอลก็คือ การใช้แนวทางเลือกบุคลากรในการทำงานต่างๆ ให้เหมาะสมและลงตัว

"บอกตามตรงว่าบริหารสโมสรฟุตบอลเป็นเพียง 5% ของงานทั้งหมดที่ผมทำ ผมมีธุรกิจหลายสายที่ต้องบริหารจัดการ แต่งานเยอะแล้วจะยุ่งหรือไม่ยุ่งอยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการกับสิ่งต่างๆ นั้นอย่างไรให้งานออกมาลงตัวมากที่สุด เราจำเป็นไหมที่จะต้องลงรายละเอียดในการทำงานแต่ละอย่าง หรือว่าเราจะวางแนวทางและทิศทางในการบริหารงาน แล้วให้ลูกน้องของเราที่มีความสามารถเข้าไปทำงานดูแลให้ออกมาตรงตามเป้าหมาย

เวลาที่ผมพูดคุยกับนักฟุตบอล ผมจะเน้นการพูดคุยกันเป็นรายบุคคล ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการบริหารคนได้มากกว่า ผมพบว่านักกีฬาฟุตบอลไม่แตกต่างกับศิลปินใดๆ เลย เขาจะค่อนข้างที่จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เมื่อไหร่ก็ตามที่เขามีปัญหาชีวิต ฟอร์มการเล่นของเขาก็จะตกลง ถ้าเมื่อไหร่ที่เรารู้ว่าสภาพจิตใจของเขาไม่พร้อมที่จะเล่น อาจจะมีปัญหาทางบ้าน ทะเลาะกับแฟน สภาพจิตใจเขาไม่พร้อมที่จะลงเล่น การส่งเขาลงสนามด้วยสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมไม่ส่งผลดีอะไรกับทีมและตัวของเขาเลย

ปวิณ ภิรมย์ภักดี คว้าทุกโอกาสที่มีแล้วทำให้ดีที่สุด

ดังนั้น ผมจึงคุยกับโค้ชอยู่ตลอดว่าจะมีความเป็นไปได้ไหมว่า ถ้าสภาพจิตใจคนหนึ่งตก จะมีอีกคนหนึ่งที่สามารถขึ้นมาแทนตรงนี้ได้ ถ้าเราทำอย่างนั้นได้ฟอร์มของทีมก็จะสม่ำเสมอ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากในการวัดว่าสภาพจิตใจของใครที่พร้อมเล่นมากที่สุด

อีกอย่างหนึ่งก็คืออาชีพนักฟุตบอลเป็นอาชีพที่เหนื่อย พวกเขาจะต้องใช้ร่างกายฝึกซ้อมทุกวัน และมีเวลาส่วนตัวน้อยมาก บางคนอายุเพียง 17-18 ปี มีฟอร์มการเล่นที่ดี ได้ติดทีมใหญ่ มีรายได้เข้ามามากมาย แต่บริหารจัดการเงินไม่เป็นก็มีปัญหาได้เหมือนกัน ดังนั้นไม่เพียงแค่เราจะฝึกพวกเขา แต่เราจะสอนให้เขาเรียนรู้ในเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างไรชีวิตถึงจะประสบความสำเร็จ”

เมื่อถามถึงเป้าหมายชีวิต ผู้บริหารทีมกระต่ายแก้วตอบอย่างอารมณ์ดีว่า

“เป้าหมายในชีวิตของผมตอนนี้ ผมยังมีไฟที่จะทำอีกหลายอย่างเพื่อคนรุ่นต่อไป หากจะมองในเชิงของธุรกิจผมเป็นเจเนอเรชั่นที่ 4 ของตระกูล สิ่งที่ผมตั้งเป้าจะทำคือการวางรากฐานให้กับลูกหลานรุ่นต่อไป เพราะไม่ใช่ว่าการที่ผมได้ก้าวเข้ามาทำงานตรงจุดนี้จะเข้ามาแค่ควบคุมดูแลให้ดี

การจะทำอะไรก็ตามเราจะต้องมองให้รอบด้าน และมองสำหรับคนรุ่นต่อไปให้เขาสามารถเดินต่อไปได้ มองเผื่อในอนาคต ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะได้เพียงแค่วันนี้ มันไม่ใช่ เราจะต้องมองให้ยาวให้ไกลกว่านั้น

ในทีมฟุตบอลก็เช่นกัน ผมไม่ได้ทำแค่บริหารทีมฟุตบอลให้เพียงแค่ได้ถ้วยรางวัล แต่ผมกำลังบริหารสโมสรฟุตบอลให้อยู่ในใจคนให้ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้คนรู้สึกยินดีไปกับเรา รู้สึกเสียใจไปกับเรา ถือว่าเรามาถูกทางแล้วผมอยากเห็นภาพแฟนบอลที่อุ้มลูก 2 ขวบ มาเชียรทีมบางกอกกล๊าส

แล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า เด็กคนนั้นเมื่อเติบโตขึ้นเขาก็มาเป็นแฟนทีมฟุตบอลของเรา เวลาผ่านไปอีกจนเขาแต่งงาน ลูกของเขาก็มาเชียร์ทีมเราต่อ นั่นล่ะคือเป้าหมายของการทำสโมสรฟุตบอลของผม ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ ทำสโมสรฟุตบอลให้อยู่ในใจของผู้คนไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

ผมคิดว่าในชีวิตผมโชคดีมากที่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยโอกาสหลุดลอยไปหรือหายไป ใช้โอกาสที่เข้ามาในชีวิตให้ดีที่สุด ไม่มีอะไรที่เราจะทำไม่ได้ อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือเปล่าและมีความทะเยอทะยานแค่ไหนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในสิ่งนั้น แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่ว่าผมก็เชื่อว่าทุกปัญหาสามารถก้าวข้ามไปได้  อยู่ที่ความกระหายและความพยายามของเราเองที่จะหาทางไปให้ถึงจุดนั้น