posttoday

'ธันย์' กับพลังคิดบวก 2 เดือนกับภารกิจให้กำลังใจผู้ป่วย

11 พฤศจิกายน 2560

ไม่กี่เดือนมานี้ “น้องธันย์” น.ส.ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ สาวน้อยผู้ไม่ย่อท้อจากอุบัติเหตุรถไฟฟ้าทับขาสองข้าง

ไม่กี่เดือนมานี้ “น้องธันย์” น.ส.ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ สาวน้อยผู้ไม่ย่อท้อจากอุบัติเหตุรถไฟฟ้าทับขาสองข้างขณะเดินทางไปเรียนภาษาอังกฤษที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว จนต้องสูญเสียขาสองข้าง ได้ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครกว่าพันคนให้มาทำหน้าที่ “ผู้สำรวจความสุขคนไข้” ของโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล แจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี โดยได้รับเงินเดือนสูงถึง 1 ล้านบาท ระยะทำงาน 6 เดือน

ภารกิจ “ผู้สำรวจความสุขคนไข้” ตลอด 2 เดือนที่น้องธันย์เข้ามาทำหน้าที่นี้ เป็นอย่างไร? เธอเล่าว่า เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 ส.ค. การทำงานในแต่ละวันจะเข้างาน 08.00 น. เลิกงาน 17.00 น. ได้รับหน้าที่ให้มาสำรวจพูดคุยกับผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยในที่เป็นทั้งคนไทยและต่างประเทศ การพูดคุยไม่ได้เจาะจงเก็บข้อมูลเฉพาะแค่ผู้ป่วยเท่านั้น ยังรวมถึงการสัมภาษณ์พนักงาน ญาติผู้ป่วย หรือบุคคลที่ได้มีโอกาสมาอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้ หากมีความคิดเห็นที่มีเรื่องราวน่าสนใจก็จะนำมาเขียนผ่านเฟซบุ๊กของโรงพยาบาล

เรียนไปทำงานไปกินนอนที่โรงพยาบาล

'ธันย์' กับพลังคิดบวก 2 เดือนกับภารกิจให้กำลังใจผู้ป่วย

นอกจากการให้กำลังใจผู้ป่วยในหลากหลายรูปแบบแล้ว สิ่งที่ได้กับส่วนตัวคือได้เปิดมุมมองใหม่ว่า เราไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้ แต่เราได้เป็นผู้รับ ได้เรียนรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะการได้รับเรื่องราวดีๆ จากคนไข้

“บางท่านที่ได้มารักษาที่โรงพยาบาล เขาก็มีความสุขที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีบางท่านที่นั่งวีลแชร์ด้วย บางท่านก็อาจจะมีโรค อะไรแบบนี้ ซึ่งความจริงเขามีกำลังใจอยู่แล้ว แต่เหมือนเรามาร่วมสร้างกำลังใจ แล้วบอกต่อให้กับคนอื่นๆ อย่างเคสล่าสุดมีเพื่อนชาวโรมาเนียที่เพิ่งรู้จักกันไม่นาน เขาเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ วันนั้นธันย์ไปกายภาพกับเขาที่โรงพยาบาล ชวนเขาเล่น ธันย์โยนลูกบอลตามปกติ แต่เขาก็พูดว่า ‘ตอนนี้เขายังทำไม่ได้นะ’ แล้วธันย์ก็หันกลับไปบอกว่า ‘เดี๋ยวอนาคตเธอก็ทำได้’ เขาก็บอกว่า ‘โอเคเลย ฉันจะสู้’ แล้วก็ทำไปด้วยกัน แค่นี้แหละค่ะ ได้ยินแค่นี้ธันย์เอาเรื่องมาเขียน เพราะธันย์รู้สึกว่ามันได้รับกำลังใจแล้วเขาเห็นเราทำได้แล้วอนาคตเขาก็ทำได้”

น้องธันย์เล่าว่า การทำงานแต่ละวันจะนั่งวีลแชร์เข้าไปหาผู้ป่วยเขาก็ประหลาดใจว่า เราเป็นพนักงานคนหนึ่งที่เข็นเข้าไปเยี่ยม แล้วก็จะบอกกับคนไข้แนะนำตัวว่า เราเป็นอะไรมาก่อน หรือบางท่านที่รู้จักอยู่แล้ว ก็จะถามในเรื่องที่เราประสบปัญหาและเดินมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร เพราะเขาอยากรู้ว่าทำไมถึงคิดบวกและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

“มีคนถามว่า เราหมดพลังไหม รู้สึกเหนื่อยไหม แต่ธันย์กลับรู้สึกว่า พอได้ไปคุยกับผู้ป่วย กลับได้ชาร์จตัวเองขึ้นมา มันยิ่งทำให้เหมือนได้พลังมันค่อนข้าง 100% แบบว่าเสถียรตลอดไม่ได้รู้สึกว่าการไปคุยกับคนไข้แล้วรับรู้เรื่องแล้วจะทุกข์ระทม มันกลับทำให้เรา Positive มากขึ้น”

เธอบอกว่า หลังจากเยี่ยมผู้ป่วยแต่ละวันก็จะสรุป และนำมาเขียนเรื่องลงในเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นตัวอย่างให้กำลังใจกับสังคม “คนเราเจอเรื่องราวคล้ายๆ กัน อาจจะมีความแตกต่างแค่สถานที่ เวลา ธันย์ก็จะเอาเรื่องราวของคนคนหนึ่งมาเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เพื่อให้ผ่านเข้าใจแล้วก็บอกต่อสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้กับคนอื่น”

ปัจจุบัน น้องธันย์กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่จริงแล้วเธออยากเรียนจิตวิทยา แต่ได้โอกาสมาคณะนี้เพราะได้โควตาและสอบติด จึงตัดสินใจศึกษาต่อเพราะเชื่อว่าการสื่อสารน่าจะช่วยให้เธอมีทักษะที่สามารถประยุกต์ใช้กับเป้าหมายที่วางไว้ในอนาคตคือ นั่นการเป็นนักพูดสร้างกำลังใจ

เมื่อพูดถึงสภาพความเป็นอยู่ที่มหาวิทยาลัย น้องธันย์ บอกว่า มีเพื่อนค่อนข้างมาก เพราะอยู่หลายชมรม เป็นเด็กกิจกรรมมาตั้งแต่แรก ฉะนั้นอาจารย์จะรู้จักและเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของคณะสื่อสารมวลชน อย่างมาทำงานเป็น “ผู้สำรวจความสุขคนไข้” ก็ต้องแจ้งอาจารย์ทำให้ต้องเรียนน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทางมหาวิทยาลัยให้โอกาสและทางโรงพยาบาลก็ให้เวลาไปเรียนด้วย ทำให้สามารถทำทั้งสองอย่างควบคู่กันได้

“ตอนนี้ก็ย้ายไปใช้ชีวิตที่โรงพยาบาลค่ะไปนอนที่นั่นเลย เพื่อให้สะดวกกับการเดินทาง เพราะเราต้องเรียนไปด้วย จะได้เอาเวลาของรถติดมานั่งเตรียมงานอ่านหนังสือ การนอนโรงพยาบาล มันทำให้ธันย์ได้เรียนรู้อะไรมากกว่าการที่เราไปอยู่ที่บ้าน ใน 6 เดือนนี้ มันจะทำให้เราได้รู้จักคนไข้ ได้สนิทกับพี่พนักงานทุกคนที่นั้น ธันย์คิดว่าความพึงพอใจมันวัดจากคนไข้อย่างเดียวไม่ได้ มันต้องวัดจากบุคลากรทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกันในองค์กรด้วย ใจจริงไม่อยากให้ 6 เดือนนี้จบ อยากมีการพัฒนาต่อยอดอีก”

นอกจากน้องธันย์จะต้องทำงานเป็นผู้สำรวจความสุขคนไข้ในโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลแล้ว ก่อนหน้านี้เธอยังมีอีกหน้าที่หนึ่ง คือ การเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษพูดให้กำลังใจให้แก่พนักงานในหลายเวที ส่วนใหญ่จะกระตุ้นให้คนรู้สึกอยากทำงานในแต่ละวัน เธอเริ่มพูดครั้งแรกเมื่อปี 2554 หลังเกิดเรื่องที่สิงคโปร์และเดินทางกลับมาประเทศไทย จากวันนั้นถึงวันนี้เข้าสู่ปี 7 เธอพูดให้กำลังใจอย่างต่อเนื่องรวมแล้วกว่า 30 แห่ง ทั้งบริษัทเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทดีแทค บริษัทเอไอเอส งานปฐมนิเทศของ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือล่าสุดไปพูดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

“ทางผู้ใหญ่เล็งเห็นว่า เราน่าจะสื่อสารให้กำลังใจได้ดี แรกๆ ก็เลยถูกเชิญไปพูดให้พนักงานกว่า 30 คนได้รับฟัง เป็นพนักงานระดับล่าง เป็นลักษณะที่อาจจะรู้สึกว่าเงินเดือนที่ได้รับน้อยเกินไปจนอยากลาออก จากนั้นก็พูดมาเรื่อยๆ ค่อนข้างหลายระดับตั้งแต่เด็กนักเรียนไปจนถึงผู้บริหาร” น้องธันย์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ถูกเชิญไปพูดที่สยามพารากอนเป็นที่แรก

เก็บเงิน 6 ล้านเปลี่ยนขาเทียมคู่ใหม่

'ธันย์' กับพลังคิดบวก 2 เดือนกับภารกิจให้กำลังใจผู้ป่วย

ทุกวันนี้สังคมเต็มไปด้วยความเครียด การพูดเพื่อสร้างกำลังใจเน้นอะไรเป็นหลัก? “ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตเรา มันเป็นอะไรที่ต้องยอมรับและเราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงมันได้ แต่เราต้องอยู่กับปัจจุบันให้เป็น อยู่อย่างไรก็ได้ให้เรามีความสุขแล้วก็ใช้ชีวิตให้อยู่กับความเป็นจริง ไม่ได้มองว่าทุกอย่างเป็นโลกสวยอย่างที่พูดไป อยากให้ใช้ชีวิตให้เป็นและอยู่กับมันให้ได้ค่อยๆ แก้ปัญหาเพราะอุปสรรคที่เข้ามามันมีแง่มุมดีและไม่ดี แต่ว่าถ้าเรามองในแง่มุมดีมันก็อาจจะทำให้เราได้พัฒนาตัวเองหรือว่าได้มีการเรียนรู้ชีวิตมากยิ่งขึ้น”

เธอย้ำว่า ทุกอย่างต้องมองความเป็นจริงและอยู่กับความเป็นจริง พยายามคิดบวกให้มากไว้ ซึ่งต่างจากโลกสวย

“คิดบวกกับโลกสวยคือเส้นบางๆ ที่เราต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน คนบางคนที่มองโลกสวยเขาไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เขามองว่า ทุกอย่างมันดูสวยงามไปหมด แต่การคิดบวกต้องอยู่กับความเป็นจริงว่าเขาทำร้ายเราเพราะอะไร เกิดอะไรกับเรา แล้วเราควรจะปรับตัวเองอย่างไรเพื่อให้คนที่เขาคิดร้ายกับเรามองเราในแง่ดี พูดง่ายๆ คือการมองความจริงแบบมองในด้านบวก เช่น ยุงกัด ยุงก็จะฟันหักถ้ากัดขาเรา คือมันเป็นเรื่องจริง ไม่ได้มองว่าเป็นโลกสวยคือต้องอยู่กับความเป็นจริงให้ได้

เงินที่ได้จากงานผู้สำรวจความสุขคนไข้  6 ล้านบาท วางเป้าหมายไปทำโครงการอะไร? เธอบอกว่า ตั้งใจจะเก็บเงินเพื่อเปลี่ยนขาเทียมที่ใช้อยู่ ซึ่งขาเทียมคู่แรกที่ใส่อยู่ในปัจจุบันได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นขาเทียมที่ดีที่สุดและแพงที่สุดราคา 5 ล้านบาท แต่ก็ต้องเปลี่ยนทุกๆ 5 ปี คู่ต่อไปในอนาคตเทคโนโลยีอาจดีขึ้นราคาก็สูงขึ้น ปกติคนทั่วไปเขาใช้ขาเทียมคู่ประมาณ 1 แสนบาท

“ตอนที่ธันย์เป็นข่าว สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานขาเทียมที่แพงและดีที่สุดในขณะนั้น ตอนที่ได้ไปเข้าเฝ้าธันย์เลยถามว่าทำไมถึงทรงพระราชทานให้ทั้งๆ ที่เราก็เป็นแค่สามัญชนธรรมดาหรือว่าเด็กธรรมดาทั่วๆ ไป พระองค์ท่านทรงเห็นว่าเราสามารถที่จะต่อยอดอะไรมากกว่าเด็กคนอื่นในอนาคต คือเราสามารถใช้ขาคู่ให้เกิดประสิทธิภาพได้ จริงๆ ก็ตั้งปณิธานไว้ว่าตั้งแต่รับมาก็พยายามที่จะตอบแทนสังคมหรือว่าทำสิ่งที่ดีต่อๆ ไป ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ตอบแทนพระองค์ท่านในด้านของการช่วยพสกนิกรอะไรขนาดนั้น” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้ม

เป้าหมายนักพูดสร้างแรงบันดาลใจมี นิค วูจิซิค เป็นไอดอล

เมื่อถามถึงเป้าหมายในชีวิต น้องธันย์ บอกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า ก่อนหน้าที่จะประสบอุบัติเหตุเคยคิดอยากจะเป็นจิตแพทย์ แต่ตอนนี้เป้าหมายสูงสุดคือ อยากเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก แน่นอนว่าการพูดในระดับนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ในการเจอคน เจอเหตุการณ์ งานที่ทางโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลให้ทำอยู่ก็เหมือนโอกาสหนึ่งที่ทำให้ได้ไต่บันไดขึ้นไปสู่จุดๆ นั้นได้

แรงบันดาลใจ หรือไอดอลของน้องธันย์ที่ใช้ในการดำเนินชีวิต มี นิค วูจิซิค (Nick Vujicic) ชายหนุ่มผู้พิการนักสู้ชาวออสเตรเลียที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก วัย 34 ปี เธอบอกว่า นิคเกิดมาไม่มีแขน มีเพียงขาเล็กๆ เท่านั้น แต่กลับเป็นผู้ที่มีพลังศรัทธาและมีความภาคภูมิใจในตนเองสูง ไม่มองถึงความบกพร่องทางร่างกายจนสามารถผลักดันตนเองให้เป็นผู้สร้างกำลังใจให้แก่คนทั่วโลกได้ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก

“ถ้าถามว่าปัจจุบัน ธันย์คิดย้อนกลับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราตอนนั้นไหม ก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องเคยนึกถึง แต่ก็ไม่ได้อยากกลับไปเปลี่ยนแปลงอะไรเพราะว่าย้อนกลับไปมันก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ก็เลยคิดว่าสิ่งที่เจอมามันมีข้อดีอะไรบ้าง แล้วก็มาพัฒนาตัวเอง ทุกวันนี้ก็สามารถที่จะก้าวกระโดดไปได้ไกลกว่าอดีตที่เคยเป็นมา”

สำหรับน้องธันย์การจะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ จึงเริ่มวางแผนเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อที่จะไปหาประสบการณ์ สร้างเครือข่าย ไม่นานมานี้เธอพึ่งไปแลกเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิต การสร้างแรงบันดาลใจที่ประเทศแคนาดาเพื่อรู้จักคนจะได้รู้ว่าทำงานกันอย่างไร มีเวทีไหนที่สามารถเปิดให้พูดได้ก็พยายามที่จะหาโอกาสไปเพื่อในอนาคตจะได้พูดเรื่องการคิดบวกในเวทีใหญ่ๆ ของต่างประเทศ

เรื่องท้ายที่สุด น้องธันย์อยากบอกกับสังคมให้ลองเปิดใจ อย่าเครียดกับสิ่งที่เข้ามามากนัก ควรหากำลังใจหรือมองอีกมุมหนึ่ง มองคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะแย่กว่า เพื่อเปลี่ยนมุมมองของตนเอง

“บางคนเคยคิดว่าตัวเองดีมาโดยตลอดแต่วันหนึ่งมันกลับแย่ลง อันที่จริงเป็นธรรมชาติของชีวิต มันเป็นอะไรที่ขึ้นๆ ลงๆ อยากให้เขาเปิดใจแล้วก็พยายามหากำลังใจจากคนรอบข้างดูบ้าง” สาวน้อยนักสู้กล่าวทิ้งท้าย

---

 ประสบการณ์ตรง จะช่วยคนไข้ได้

ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล กล่าวว่า โรงพยาบาลเกิดขึ้นมาได้ประมาณ 3 ปี แต่ว่ายังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก และเป็นที่เดียวที่ได้มาตรฐานทั้งจากอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นมาตรฐานค่อนข้างสูงเพราะกลุ่มที่มาก็มีทั้งไทยและต่างชาติ เนื่องจากอยากประชาสัมพันธ์โรงพยาบาล จึงเกิดแนวคิดที่จัดโครงการนี้ขึ้นมาซึ่งไม่ใช่แค่การสื่อสารให้คนภายนอกรู้และเชื่อมั่นในโรงพยาบาล แต่ผลคือได้ความต้องการจริงๆ จากคนไข้ก็มีมาอีกด้วย

“โครงการนี้เรามีการคัดเลือกที่เข้มข้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้หลังจากที่เราสัมภาษณ์น้องธันย์ คือน้องเขามีประสบการณ์ตรง ตรงที่ว่าเป็นที่บาดเจ็บหรือเป็นคนที่เคยประสบอุบัติเหตุรุนแรงมาแล้วก็ฟื้นจากจุดนั้นมาได้ด้วยกำลังใจของตัวเอง เราถามน้องธันย์ตั้งแต่ก่อนสัมภาษณ์คัดเลือกแล้วว่าจริงๆ น้องเขาทำใจได้เท่าไร น้องเขาบอกว่าไม่ถึง 1 สัปดาห์ด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งที่ทำให้น้องเขาเป็นแบบนั้นได้คือวิธีการคิด”

ศ.นพ.อดิศร กล่าวต่อไปว่า คนไข้ที่น้องธันย์ต้องพูดคุยวันหนึ่งก็มีประมาน 200 คน รวมถึงคนไข้ที่นอนติดอยู่ในวอร์ดประมาน 20 เตียง/วัน รับใหม่ 10 คนขึ้นไป/วัน แต่ก็จะมีกลุ่มที่เป็นคนไข้ต่างชาติ ซึ่งมีพฤติกรรมของต่างชาติเวลาที่มานอนโรงพยาบาล บางทีเป็นเดือน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นต่างชาติที่มากายภาพซึ่งต้องทำระยะยาว อาจจะเป็นกลุ่มที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ก็ผู้มีความพิการอย่างใดอย่างหนึ่ง มีทั้งกลุ่มหน้าเดิม หน้าใหม่ ตำแหน่งนี้เรามีอยู่แล้ว ปกติมีเจ้าหน้าที่ขึ้นเยี่ยมผู้ป่วยคนไข้หรือกลุ่มนี้เรียกว่า กลุ่มลูกค้าสัมพันธ์แต่เมื่อหน้าที่นี้ถูกทำโดยน้องธันย์คนไข้จะเปิดใจคุยมากกว่า สิ่งที่ได้มากกว่าการพูดคุยคือเขาสร้างกำลังใจให้กับคนไข้ เพราะคิดว่าป่วยด้วยร่างกายก็คือส่วนหนึ่ง แต่ถ้าจิตใจมันดี มันหายป่วยไปแล้วกว่าครึ่ง สิ่งที่น้องต้องทำมันไม่ใช่แค่พูดคุย มันต้องส่งกำลังใจหรือวิธีการคิดที่น้องเขามีไปให้กับคนไข้ให้ได้

“นอกจากนี้ยังมีการติดต่อมากจากโรงพยาบาลอื่นขอให้น้องธันย์ไปเยี่ยมคนไข้ของเขาให้ด้วย นี่กลายเป็นสิ่งแปลกใหม่ในโรงพยาบาลเพราะคนที่คุยกับน้องเขาได้อะไรมากกว่าการพูดคุยทุกวันนี้เขากลายเป็นตัวแทนของโรงพยาบาลไปแล้ว คือใครมาก็ถามหาน้องธันย์ก่อนคนแรก ซึ่งการดูแลผู้ป่วยในลักษณะนี้เป็นเหมือนแนวทางให้กับโรงพยาบาลอื่นได้ด้วย ตำแหน่งนี้ไม่เคยมีในประเทศไทยด้วยซ้ำ เราอยากรู้ว่าถ้ามี 6 เดือน แล้วจะเป็นอย่างไร ส่วนปีถัดๆ ไปจะมีการรับสมัครตำแหน่งนี้อีกไหมหรือทำอะไรต่อก็ยังเป็นแผนในอนาคต” ศ.นพ.อดิศร กล่าว