posttoday

พสุ อุณหะนันทน์ ผู้บริหารความท้าทายในโลกโลจิสติกส์

06 พฤศจิกายน 2560

เมื่อถามว่าทำงานอยู่ที่ไหน เขาตอบว่า “ทำอยู่ 8 บริษัท”

 

เมื่อถามว่าทำงานอยู่ที่ไหน เขาตอบว่า “ทำอยู่ 8 บริษัท” แค่ประโยคแรกก็น่าสนใจสำหรับชีวิตของผู้ชายธรรมดาที่มี 24 ชั่วโมงเท่ากัน

เขาคือ พสุ อุณหะนันทน์ ผู้บริหารวัย 42 ปี ที่คลุกคลีอยู่ในวงการโลจิสติกส์ หรือระบบจัดการขนส่งสินค้ามานาน 15 ปี โดยทำงานอยู่ในบริษัทที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ทั้งสิ้น 8 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่รับตำแหน่งเป็นกรรมการ 4 บริษัท และบริษัทที่นั่งแท่นเป็นผู้บริหารอีก 4 บริษัท ได้แก่ หัวหน้าผู้บริหารด้านพาณิชย์ กลุ่มบริษัท ซีทีไอ โลจิสติกส์  กรรมการและกรรมการ

ผู้จัดการ บริษัท ซีทีไอ โคลด์เชน กรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท นิสเซ อินเตอร์เนชั่นแนล และกรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดมซัพพลาย ซีทีไอ

พสุเล่าว่า ชีวิตการทำงานเริ่มจากเป็นโปรแกรมเมอร์ที่สหรัฐ แต่เพราะเป็นงานนั่งโต๊ะแทบตลอดเวลาจึงเริ่มมองหา “งานที่จะมีปัญหาใหม่ๆ เข้ามาทุกวัน” จากนั้นได้ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านการจัดการโลจิสติกส์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐพอร์ตแลนด์ และเริ่มทำงานในอุตสาหกรรมที่ร่ำเรียนมาจากตำแหน่งเด็กฝึกงาน ซึ่งเมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้สักพัก จึงได้กลับประเทศไทยและทำงานในแวดวงโลจิสติกส์มาตลอด 14 ปี

“ชอบงานด้านนี้เพราะมันไม่ซ้ำซาก ไม่ใช่งานรูทีน มีปัญหาให้แก้ไข และต้องการวิธีแก้ไขใหม่ๆ เรื่อยๆ เพราะลูกค้าแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน งานเราไม่ได้จะขายแค่ว่า คุณมีของเราก็ส่ง แต่เราพยายามจะเข้าไปดูว่ามีอะไรที่เราทำได้บ้าง อย่างเช่น งานบริการต่างๆ เพราะถ้าเราขายแค่สเปซบนเครื่องบิน ใครๆ ก็ทำได้ ทำให้เราไม่มีอะไรแตกต่าง ดังนั้นเราจึงต้องหาจุดที่โดดเด่นด้วยการให้บริการและแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร”

พสุเริ่มทำงานที่ซีทีไอ บริษัทโลจิสติกส์ระดับท็อปของประเทศ ด้วยหน้าที่วางแผนพื้นที่และการขนส่ง จากนั้นได้ไต่เต้าจนสามารถเป็นผู้จัดการทั่วไป ในระยะเวลา 6 ปี และได้เติบโตในหน้าที่การงานจนมีหน้าที่รับผิดชอบในบริษัทในเครืออีกหลายแห่ง ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาก้าวมาถึงจุดนี้ได้ คงเป็นเพราะก้าวแรกที่แข็งแรง

“การทำงานทุกอย่างต้องรู้จริงก่อน ผมโตมาจากระดับล่างทำให้ผมรู้ทุกอย่าง รู้รายละเอียดยิบย่อย ทำให้ไม่มีใครหลอกผมได้ และเมื่อรู้แล้วเราก็จะสามารถหาคนที่เหมาะสมกับงานมาทำหน้าที่ มารันงาน ทำให้เรามีเวลามาคิดพัฒนา หารายได้ หาเซอร์วิสใหม่ๆ หาโปรดักต์ใหม่ๆ ให้บริษัท เพราะถ้าเกิดเราจับจ้องไม่ปล่อย ไม่ไว้ใจลูกน้องเลย คุณก็จะอยู่ตรงนั้นแหละไปไหนไม่ได้

ผมให้โอกาสคนที่มีความสามารถและผมต้องการคนที่มีความสามารถอีกเยอะ ถ้าคุณคิดว่าทำได้ มาคุยกัน ถ้ามีเหตุผลฟังดูแล้วน่าจะทำได้ ผมจะให้โอกาสเสมอ เพราะการที่เขามาสมัครงานมันคือความเสี่ยง เขาต้องลาออกจากงานเก่ามาทดลองงานใหม่ ซึ่งมีโอกาสไม่ผ่าน แต่เราต้องให้โอกาสเขา เพื่อเราจะได้รับโอกาสได้คนเก่งมีความสามารถเข้ามาทำงาน เหมือนกับที่ผมได้รับโอกาสขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงทั้งที่อายุยังน้อย ดังนั้นโอกาสจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาตัวเองและธุรกิจ”

เขากล่าวต่อว่า ธุรกิจโลจิสติกส์จะขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจประเทศ อย่างปีนี้ (2560) ผลประกอบการของบริษัทกระเตื้องดีกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีคู่แข่งเป็นบริษัทระดับโลกมากกว่าในไทยด้วยกันเอง

 

พสุ อุณหะนันทน์ ผู้บริหารความท้าทายในโลกโลจิสติกส์

 

“ระบบโลจิสติกส์โดยเฉพาะทางอากาศจะเป็นบริการสำหรับสิ่งของเร่งด่วน เพราะถ้าไม่ด่วนลูกค้าจะเลือกขนส่งทางเรือที่ช้ากว่า ถูกกว่า ดังนั้นการขนส่งทางอากาศที่ขึ้นว่าด่วนแล้วจึงมีความสำคัญ อย่างเช่นกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทมือถือ ที่ถ้าเปิดตัวช้ากว่าคู่แข่งสักวันสองวันก็จะเสียโอกาสทางการค้าแล้ว โดยเฉพาะตอนนี้อี-คอมเมิร์ซกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งต้องแข่งขันกันเรื่องเวลาการขนส่งสินค้ามากกว่าตัวสินค้า ระบบขนส่งจึงสำคัญเหมือนเราเป็นเบื้องหลังของสินค้าก่อนถึงมือผู้บริโภค”

นอกจากนี้ อีกบริการในระบบโลจิสติกส์ที่กำลังเป็นที่จับตามองมากในขณะนี้คือห้องเย็น หรือการจัดเก็บสินค้าแช่แข็ง เนื่องจากกระแสสังคมที่คนนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ทำให้มีร้านอาหารเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงความนิยมบริโภคอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ห้องเย็นเป็นที่ต้องการ เขาจึงมีไอเดียสร้างห้องเย็นไว้ใจกลางเมืองเพื่อขนส่งได้ง่าย และใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะในการขนส่ง เพื่อความรวดเร็วที่สุดในสภาพการจราจรในเมือง ซึ่งได้เปิดเป็นบริษัท ซีทีไอ โคลด์เชน สำหรับการบริการด้านอาหารแช่แข็งโดยเฉพาะ

“ทุกบริษัทที่ผมเข้าไปบริหาร ช่วงแรกๆ จะเหนื่อยเพราะต้องเข้าไปศึกษา ผมเป็นคนเรียนรู้ได้ดีจากการลองทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่อ่านหนังสือแล้วจะเข้าใจทุกอย่าง เพราะถ้าเกิดคำถามเราไม่รู้จะไปถามใคร แต่พอลองทำด้วยตัวเองจะทำให้เข้าใจทุกระบบและปัญหาทุกแบบ” เขากล่าวเพิ่มเติมอย่างไรก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ปี 2540 อีกครั้ง ธุรกิจโลจิสติกส์ก็ยังสามารถอยู่รอดได้เหมือนครั้งที่ผ่านมา หากมีการกระจายความเสี่ยง คือ ขยายระบบขนส่งไปยังหลายภูมิภาคทั้งในเอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา และต้องการขนส่งที่หลากหลายทั้งเครื่องบิน รถยนต์ เรือ เช่นนี้แล้วถ้าเศรษฐกิจโลกไม่พังพร้อมกัน ธุรกิจโลจิสติกส์ก็จะสามารถอยู่ได้ต่อไป

“ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่หยุดนิ่งไม่ได้เลย” 

พสุกล่าวต่อ “เพราะถ้าคุณหยุด คุณจะล้าหลัง คุณต้องพัฒนาทุกวัน ก้าวให้ทันเทคโนโลยี โดยเฉพาะในอนาคตที่ต้องแข่งขันกันเรื่องเทคโนโลยี เราก็ต้องปรับตัวและทันสมัยตลอดเวลา

สำหรับความท้าทายในธุรกิจโลจิสติกส์คงจะเป็นความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละราย ทำให้เราต้องหาวิธีการแก้ไขที่เฉพาะเจาะจง รวมถึงการแข่งขันกันเรื่องราคามากกว่าคุณภาพและการบริการ ทำให้บริษัทที่มีมาตรฐานเหนื่อยกับการต่อสู้กับบริษัทที่ไม่ได้มาตรฐานแต่ราคาถูกซึ่งลูกค้าก็มักมองเรื่องราคาเป็นหลักด้วย”

นอกจากนี้ เขายังมีหลักการทำงาน 3 ข้อหลักที่ทำให้อยู่ในวงการโลจิสติกส์ได้อย่างมั่นคง นั่นคือความยุติธรรม การเลือกใช้ทรัพยากรบุคคล และการเท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนตลอดเวลา

“ผมพูดเสมอว่า เมื่อวันหนึ่งคุณมีลูกน้องมากกว่าสายที่คุณจะมองเห็น แม้ว่าจะมีลูกน้องเป็นหมื่นคนก็ไม่ต่างไปจากเห็นลูกน้องในสายตาแค่สิบคน ดังนั้นคุณต้องหาระบบระเบียบในการดูแลคน หลักๆ คือต้องยุติธรรม การมีลูกน้องมากๆ คุณจะเข้าข้างใครมากกว่าไม่ได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ต้องใช้คนให้เป็น และต้องทันเทคโนโลยี เพราะทุกวันนี้ผมบริหารในสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่ว่าจะการทำงานที่มุกดาหาร หาดใหญ่ อรัญประเทศ หนองคาย กัมพูชา ผมจึงต้องพึ่งพาคนและเทคโนโลยีในการบริหารทั้งสิ้น

นอกเหนือจากนั้น ผมยังชอบอะไรที่ไม่มีปลายเปิด และการประชุมต้องมีแอ็กชั่น การประชุมเพื่อมารายงานจะไม่เกิดผลอะไร แต่ถ้ามาพร้อมวิธีการแก้ปัญหาหรือไอเดียใหม่ๆ นั่นคือสิ่งที่ต้องมี ถ้าคุณอยู่ในระดับผู้จัดการที่มีหน้าที่บริหาร หากเจอกับปัญหา คุณต้องแก้ไขปัญหา ไม่ใช่มาบอกในที่ประชุมให้ช่วยกันแก้ปัญหา เพราะการแก้ปัญหาที่ดีต้องมาจากคนที่เจอปัญหานั้นจริงๆ”

หลายคนคงเคยได้ยินมาว่า ผู้นำที่ดีต้องมีพระเดชและพระคุณ ซึ่งสำหรับผู้บริหารคนนี้ การเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้มาเพราะตำแหน่งอันสูงส่ง แต่มีได้ด้วยการทำให้เคารพและรัก

“เวลามีวิกฤต ลูกน้องจะมองหาหัวหน้า หัวหน้าที่ดีจะไม่ทิ้งลูกน้องไปไหน แต่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกันจนตลอดรอดฝั่ง” จนกระทั่งตอนนี้ผ่านไป 14 ปีกับบริษัทเดิม (เพิ่มเติมคือบริษัทในเครือ) แต่เขายังไม่รู้สึกอิ่มตัวเพราะการเผชิญหน้ากับความท้าทายที่มีเข้ามาตลอดเวลา