posttoday

ชยพร โตเมศร์ ความทรงจำแสนประทับใจของเด็กท้ายวัง

05 พฤศจิกายน 2560

กว่าครึ่งชีวิตของเธอคนนี้เติบโตมาภายในรั้วพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง

โดย อณุสรา  ทองอุไร ภาพ    วิศิษฐ์    แถมเงิน

กว่าครึ่งชีวิตของเธอคนนี้เติบโตมาภายในรั้วพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว  ตั้งแต่แบเบาะจนจบปริญญาตรี เธอและครอบครัวและข้าราชบริพารอีกกว่า 50 ครอบครัว อาศัยอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าท้ายวัง เรียกว่าต้นตระกูลตลอด 4 ช่วงอายุคน ทั้งฝ่ายครอบครัวคุณปู่และคุณตาล้วนทำงานในวัง มาถึงรุ่นคุณพ่อคุณแม่ของเขาก็มาพบรักกันเพราะครอบครัวทั้งสองฝ่ายทำงานในวัง และชื่อของเธอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็ทรงเป็นผู้พระราชทาน

ชยพร โตเมศร์ ผู้สืบสานศิลปะงานช่างดอกไม้ในราชสำนัก เธอบอกว่า ดอกไม้สามารถบอกเล่าเรื่องราว บอกเล่าเรื่องชีวิตได้เป็นอย่างดี และเรื่องที่เธอจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ไม่มีในจดหมายเหตุ เพราะเป็นเรื่องจริงจากชีวิตวัยเด็กของเธอ ชยพร เล่าว่า เธอเกิดและเติบโตในวังหลวง บริเวณที่เรียกว่าท้ายวัง คุณทวด (พ่อของคุณตา) เป็นพนักงานดูแลวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คุณตาเป็นมหาดเล็กเชิญเครื่อง (อาหาร) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และ 9 ส่วนคุณยายทำงานเป็นข้าหลวงของฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ฯ (เสด็จอาของในหลวง รัชกาลที่ 9)

ชยพร โตเมศร์ ความทรงจำแสนประทับใจของเด็กท้ายวัง

ครอบครัวคุณปู่ก็เป็นข้าราชการอยู่ในสำนักพระราชวังเหมือนกัน จึงพาคุณพ่อของเธอมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพระราชพิธีของสำนักพระราชวัง จนเกษียณอายุในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ กองงานพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ส่วนคุณแม่แรกเริ่มนั้นมาทำงานเป็นพนักงานฝ่ายใน รับหน้าที่ร้อยดอกไม้ถวาย  จากนั้นได้รับการโยกย้ายไปถวายงานในแผนกพระภูษาในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ดูแลฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อาของเธอก็ถวายงานให้กับสมเด็จย่า ส่วนพี่สาวคนโตของเธอทำงานที่กองพิธี สำนักพระราชวัง และพี่สาวคนรองของเธอก็เคยทำงานที่กองมหาดเล็กในรัชกาลที่ 9 

ทั้งตระกูลจึงผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาโดยตลอด ซึ่งตัวเธอเองนั้นก็ซึมซับเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะการทำดอกไม้สำหรับถวายเจ้านายทั้งหมด ซึ่งเรียนรู้มาจากคุณยายและผู้หลักผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในวัง ตัวเธอเองก็เคยทำงานเป็นช่างดอกไม้ในวังมาก่อน

“เวลาได้ยินคนอื่นเรียกในหลวง รัชกาลที่ 9 ว่าพ่อแล้วรู้สึกอิจฉามาก เราอยากเรียกพระองค์ท่านแบบนั้นบ้าง แต่ไม่กล้า เพราะเด็กๆ ถูกสอนไว้ตลอดว่า เป็นข้าอย่าเทียมเจ้า เป็นบ่าวอย่าเทียมนาย ผู้ใหญ่ในวังจะสอนว่าให้เรียกพระองค์ว่า พระเจ้าอยู่หัวเสมอ ห้ามเรียกพระองค์เป็นอย่างอื่น เราเห็นพระจริยวัตรอันงดงามของทั้งในหลวงและพระราชินีมาตั้งแต่เด็กๆ บ่อยครั้งที่พระองค์ท่านพระราชทานอาหารขนมกล่องให้เด็กๆ ท้ายวังอย่างพวกเราบ่อยมาก เวลามีพระราชพิธีใหญ่ๆ เราก็ตั้งตารอว่าเสร็จพิธีจะมีขนมเหลือจากงานมาแจกจ่ายให้กับเด็กๆ ท้ายวังได้อร่อยกันแทบทุกครั้ง”

เธอเล่าว่า สมัยเธอเป็นเด็กๆ ปากคลองตลาดไม่ได้คึกคักอู้ฟู่ขนาดนี้ รุ่นคุณยายคุณแม่นี่ต้องปลูกดอกไม้เอาไว้ใช้เอง เป็นต้นว่า มีดงดอกพุดปลูกไว้ใกล้ๆ ประตูดิน มีดงผกากรอง มีต้นจำปี จำปา อยากได้อะไรก็เดินไปเก็บดอกไม้มาใช้ เธอมีหน้าที่เอาผ้าขาวบางไปรองรอรับกันช้ำเวลาผู้ใหญ่เขาสอยดอกไม้ลงมา

ที่ท้ายวังจะมีบ้านพักของข้าราชบริพาร ซึ่งจะเรียกว่าเต๊ง ครอบครัวละหนึ่งเต๊ง แต่ละเต๊งก็จะมีการทำดอกไม้แตกต่างกันไป ทุกบ้านไม่ทำซ้ำกัน บางบ้านจะถนัดเรื่องเครื่องถักกรองดอกไม้ เครื่องแขวน ลูกหลานก็จะรับช่วงกันมา ส่วนทางบ้านของพี่สาวคุณยายของเธอก็จะเก่งเรื่องการเย็บแบบ เย็บลายกนกสำหรับทำพวงมาลาที่พระเจ้าอยู่หัวทรงนำไปวางในพระราชพิธีต่างๆ ขณะที่คุณยายของเธอจะเก่งเรื่องดอกไม้ไหว และร้อยทางหมาก ซึ่งสมัยนี้จะหายากมากแล้ว คือการนำทางหมากมาเกลา แล้วร้อยดอกไม้ใส่ทางหมากให้เป็นทรงสามเหลี่ยม นอกจากนี้ก็ยังมีการร้อยตุ้ม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านใครบ้านมัน

เธอเล่าว่า เด็กท้ายวังอย่างเธอก็ได้เรียนรู้กรรมวิธีในการเก็บดอกไม้ที่ถูกต้องตามหลักโบราณ เช่น ดอกจำปาที่มีความสำคัญมาก ใช้ร้อยมาลัยซึ่งเป็นของสูง ไม่ว่าจะเป็นมาลัยพระแสง มาลัยพระบัญชร จะใช้ดอกจำปาร้อยคู่กับมะลิ เราจะต้องเก็บดอกจำปาตั้งแต่เช้าตรู่โดยใช้ผ้าขาวบางไปขึงใต้ต้น แล้วใช้ไม้ยาวๆปลิดเฉพาะขั้วให้ดอกร่วงลงบนผ้าขาวบางเพื่อไม่ให้ช้ำ เพราะถือเป็นของสูงที่เจ้านายใช้สำหรับบูชาพระ  แล้วในวังนี่ปลูกดอกไม้อะไรก็งอกงามดินดีน้ำดี

สมัยก่อนในวังยังมีพื้นที่โล่งอยู่เยอะ คนในวังก็ไปจับจองปลูกต้นไม้ดอกไม้ไว้ใช้ได้ สมัยเธอยังเล็กๆ ชอบเล่นขายของตามประสาเด็ก ก็จะเด็ดขั้วดอกชบาให้ยายเอาไปใช้ร้อยพวงมาลัย ดอกที่เหลือก็เอามาตำเล่นกลายเป็นยางเหนียวๆ สีแดง ก็สนุกสนานตามประสาบ้านๆ ของเด็กยุคนั้น

ชยพร โตเมศร์ ความทรงจำแสนประทับใจของเด็กท้ายวัง

ต้องร้อยพวงมาลัยกันทุกวัน เพื่อให้พระองค์ท่านทรงนำไปถวายพระที่ห้องพระ โดยพนักงานฝ่ายในจะมีหน้าที่ร้อยพวงมาลัยดอกไม้ถวาย แล้วจะมีพนักงานจากพระตำหนักสวนจิตรขับรถมารับที่หน้าวังบริเวณพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จะเห็นผู้หญิงสวมเสื้อขาวนุ่งกระโปรงน้ำเงิน ที่เรียกว่าโขลน นั่งร้อยมาลัยอยู่ประจำซุ้มประตูต่างๆ วันรุ่งขึ้นก็จะเชิญมาลัยที่ร้อยเสร็จแล้วไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงไหว้พระที่ห้องพระแบบนี้ทุกวัน

ด้วยบ้านของคุณยายและพี่สาวของคุณยายเป็นช่างดอกไม้หลวง เธอจึงได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยการหัดร้อยอุบะ ทำชายจำปา ชายดอกข่านี่เป็นพื้นฐานของเด็กๆ ที่ต้องหัดทำเป็นอย่างแรก เด็กผู้หญิงจะถูกสอนเรื่องร้อยมาลัย เด็กผู้ชายก็ไปเรียนตีกลองตามงานพระราชพิธีต่างๆ โดยใส่ชุดแดงเหมือนที่เราเห็นทหารสวมเครื่องแบบตอนย่ำประโคมยามในงานพระราชพิธีพระบรมศพ

สมัยก่อนนิยมใช้ลูกหลานเด็กๆ ในการประโคมย่ำยามเวลามีพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีสงกรานต์ หรือถ้ามีงานพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมโกศของพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลมายังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เด็กผู้ชายจะถูกเรียกไปแบกเสลี่ยงและประโคมย่ำยาม เด็กผู้หญิงก็จะไปร้อยมาลัยที่เรียกว่ามาลัยแบนรัดฐานโกศ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยนับให้ว่า มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศกี่พระองค์ พระโกศของพระมเหสีกี่พระองค์ จากนั้นก็ทำหนังสือมาเบิกว่าต้องใช้ดอกไม้แบบไหนบ้าง

ในการร้อยมาลัยบนฐานโกศ และประดับบนพระแท่นมหาเศวตฉัตร ซึ่งในการร้อยมาลัยฉัตรนั้นจะไม่อนุญาตให้คนทั่วไปร้อย ต้องเป็นระดับผู้ใหญ่ในนั้น เพราะมีความเชื่อกันว่า ณ พระแท่นมหาเศวตฉัตรเป็นที่อยู่ของเทวดา ซึ่งก็คือพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทุกพระองค์ทรงสถิตอยู่ ณ ที่แห่งนั้น การร้อยมาลัยพระแท่นมหาเศวตฉัตรจึงเป็นงานร้อยมาลัยขั้นสูงสุด

ชยพร โตเมศร์ ความทรงจำแสนประทับใจของเด็กท้ายวัง

สิ่งที่ช่างร้อยมาลัยอย่างที่บ้านของเธอมีความสุขและภูมิใจมากก็คือ การได้มีส่วนทำให้เจ้านายท่านได้ทรงประเคนกราบพระได้ ช่างดอกไม้มีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีต่างๆ ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ประสูติจนสวรรคตเลย รวมถึงพิธีการทางศาสนาอื่นๆ ด้วย

“อยากบอกว่างานดอกไม้เปรียบได้กับนาฬิกาชีวิตของคนในวังตอนนั้นเลย เพราะดอกไม้สามารถบอกเรื่องราว เล่าถึงชีวิต ดอกไม้ทำให้สามัญชนได้เป็นพระมเหสีของพระมหากษัตริย์มาแล้ว อย่างพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ท่านเคยเป็นคนเก็บดอกมะลิถวายพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มาก่อน นี่คือเรื่องราวของดอกไม้ที่สัมพันธ์กับชีวิตของคนในวัง หรือสัญลักษณ์ที่ว่า ถ้าหากดอกชมนาดบาน นั่นแสดงว่าเราจะได้กินข้าวแช่อีกแล้ว คือเขาจะบานหน้าร้อน”

ตอนเธอเด็กๆ คุณยายเคยเล่าให้ฟังว่า ในวังเงียบเหงามานานตั้งแต่คราวสิ้นรัชกาลที่ 6 เพราะหลังจากนั้นก็เกิดการเปลี่นแปลงการปกครองในรัชกาลที่ 7 ล่วงเข้าสู่รัชสมัยรัชกาลที่ 8 ก็เป็นระยะเวลาสั้นๆ

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเห็นความสำคัญของการรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆ ให้กลับมา เพราะตอนนั้นเป็นรอยต่อระหว่างอารยธรรมต่างประเทศที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในบ้านเรามากขึ้น จนทำให้ศิลปะการร้อยดอกไม้ รวมถึงงานฝีมือและนาฏศิลป์แขนงอื่นๆ ถูกลบเลือนไปบ้าง

เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณีในทุกๆ ด้าน เช่น พระราชพิธี 12 เดือน พระราชพิธีแรกนาขวัญ พิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช จึงถือเป็นสิ่งที่ช่างมาลัยรอคอยพระราชพิธีเหล่านี้ด้วยใจจดจ่อ เพราะนอกจากจะได้ร้อยมาลัยสวยๆ แล้ว ยังจะได้ดูพวกนาฏศิลป์ที่มารำถวายรอดูว่าเจ้านายจะทรงชุดอะไร เพราะพระราชินีทรงชุดอะไรก็จะสวยไปหมด พวกเด็กผู้หญิงจะชอบมาแอบมองพระองค์ท่าน

ตอนที่รื้อฟื้นประเพณีโบราณเหล่านี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ มาทรงบวงสรวงด้วยพระองค์เอง โดยประทับอยู่บริเวณพระทวาร เพื่อทอดพระเนตรการแสดงละครและการรำถวายมือของกรมศิลปากร อีกวันที่รอคอยก็คือวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ชยพร โตเมศร์ ความทรงจำแสนประทับใจของเด็กท้ายวัง

ตอนเธอเด็กๆ หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธี ในช่วงเย็นจะมีการปิดถนนตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าไปจนรอบพระมหาราชวัง  มีดนตรีมาแสดง บริเวณหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีหนังกลางแปลงมาฉายในท้องสนามหลวงเป็น 100 จอ มีชิงช้าสวรรค์ มีจุดพลุงดงามตระการตา เป็นความทรงจำที่ไม่เคยลืมเลือน  เป็นวัยเด็กที่สนุกสนานและมีแต่ความประทับใจกับชีวิตของเด็กท้ายวัง จนเรียนมหาวิทยาลัยจบ ตอนกรุงเทพฯ ฉลอง 200 ปี มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ จึงย้ายข้าราชบริพารออกไปอยู่แฟลตใกล้ๆ สนามม้านางเลิ้งตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ดังนั้น เธอจึงได้รับมรดกตกทอดฝีมือทำดอกไม้จากคุณยายมามากมาย จนสามารถนำมาประกอบอาชีพได้ทั้งที่เธอจบปริญญาตรีมาอีกด้านหนึ่ง แต่มาเชี่ยวชาญเรื่องงานดอกไม้ งานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอก็คือ การเป็นหนึ่งในทีมจัดสวนให้กับสวนนงนุช พัทยา ในการเป็นตัวแทนประเทศไทยจนสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองจากงานเชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์ ปี 2015 ซึ่งเป็นงานจัดสวนระดับโลกของประเทศอังกฤษ

“เราได้สอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านสัญลักษณ์ของเรือหงส์และช้างคู่พระบารมี ที่บ่งบอกถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ ทำให้ตั้งปณิธานไว้ว่าอยากให้คนรุ่นหลังสืบทอดความตั้งใจนี้ต่อไปเรื่อยๆ ว่าประเทศเรามีทั้งศาสตร์และศิลป์ด้านดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์แห่งรัชกาลที่ 9”

ชีวิตตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยสาวของเธอ 24 ปี ที่เติบโตมาจากท้ายวังหลวงนั้นเป็นภาพที่งดงามแสนประทับใจ เธอจึงใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นนางข้าหลวงตั้งแต่เด็ก ช่วงหนึ่งในชีวิตเธอเคยได้ไปถวายงานดูแลพระภูษาและงานดอกไม้ให้กับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่สหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้เธอก็ยังพักอยู่ในอาคารพักของข้าราชบริพารหลังวังสวนจิตรลดาใกล้ๆ สนามม้านางเลิ้ง