posttoday

ณัชชา ตั้งกิตติเวทย์ เชฟรุ่นใหม่ ใจเกินร้อย

29 กันยายน 2560

มายด์-ณัชชา ตั้งกิตติเวทย์ ว่าที่บัณทิตใหม่จากวิทยาลัยดุสิตธานี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร

 

เพิ่งเรียนจบและรอรับปริญญาในปีหน้า มายด์-ณัชชา ตั้งกิตติเวทย์ ว่าที่บัณทิตใหม่จากวิทยาลัยดุสิตธานี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยเชฟของเชฟแพม-พิชญา อุทารธรรม (หนึ่งในคณะกรรมการรายการท็อปเชฟไทยแลนด์) ในการทำ The Table by Chef Pam แต่อนาคตมองถึงการเป็นเจ้าของโรงงานผลิตอาหารในแบรนด์ตัวเอง ส่งต่อให้กับผู้บริโภค โดยกำลังอยู่ในช่วงของการเก็บข้อมูล

ณัชชาเป็นคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นเกินร้อย ถ้าย้อนไปในช่วงก่อนศึกษาที่วิทยาลัยดุสิตธานีเธอต้องพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแม่ได้เห็นความต้องการที่แท้จริง ที่อยากเรียนด้านการทำอาหารและต้องการเป็นเชฟ ซึ่งสวนทางกับความหวังของพ่อแม่ที่อยากให้เรียนบริหารธุรกิจโดยตรง เพื่อจะได้นำความรู้มาช่วยธุรกิจของครอบครัว

“สิ่งที่มายด์ทำคือ หลังเลิกเรียนจะชวนคุณพ่อคุณแม่ไปจ่ายตลาด แล้วทำอาหารให้ท่านรับประทานทุกวัน จนพ่อกับแม่เห็นความตั้งใจจึงอนุญาตให้เรียน ช่วงนั้นไปคุยกับพ่อก่อน ซึ่งไม่อยากเชื่อว่าคุณพ่อคนที่มายด์คิดเองมาตลอด ว่ายังไงก็คงจะดุ ไม่ให้เรียน แต่ผิดคาด พ่อบอกอยากเรียนเรียนเลยป๊าสนับสนุน โอ้โฮ โล่งเลย พอคุยกับคุณแม่ก็อนุญาต แต่ใจยังอยากให้เราเรียนบริหารอยู่”

 

ณัชชา ตั้งกิตติเวทย์ เชฟรุ่นใหม่ ใจเกินร้อย

 

หลายคนอาจสงสัยว่า ณัชชาเอาความสามารถในการทำอาหารมาจากไหน คงต้องย้อนไปสมัยเรียนมัธยมต้นเมื่อวันหนึ่งเธอกลับจากโรงเรียนแล้วหิวข้าว แต่ไม่มีกับข้าวกิน เธอจึงไปหาวัตถุดิบที่มีอยู่ในตู้เย็นเท่าที่มีนำมาทำอาหารกินกับพี่สาว

“ถ้าจำไม่ผิดวันนั้นน่าจะทำหมูทอดกระเทียม ไม่ได้เอาสูตรมาจากไหนค่ะ ทำด้วยจินตนาการและด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่ในตู้เย็น พอทำออกมาปรากฏว่าอร่อย พี่สาวก็บอกอร่อย เลยเก็บส่วนหนึ่งไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลองชิม พ่อแม่ชิมแล้วบอกว่าใช้ได้นี่ หลังจากวันนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มทำบ่อยขึ้น โดยหาความรู้จากในหนังสือทำอาหาร มีเมนูอะไรน่าสนใจก็ไปซื้อวัตถุดิบมาทำ จากทำกินในครอบครัวก็ทำไปแจกเพื่อนๆ และอาจารย์ที่โรงเรียนได้กินด้วย ส่วนใหญ่เป็นขนม เช่น ทาร์ต คุกกี้ บราวนี่ เพื่อนๆ ชอบและชมว่าอร่อย”

ณัชชา เล่าว่า แม้ในช่วงมัธยมปลายจะเข้าครัวทำอาหารบ่อย แต่ก็มองว่าเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งไม่ถึงกับชอบ ยังไม่คิดถึงการมาเรียนทางด้านอาหารโดยตรง จนกระทั่งวันหนึ่งได้เข้าเว็บไซต์ไปเพื่อดูว่ามีอาชีพอะไรน่าสนใจ ปรากฏว่ามีอาชีพเชฟแวบเข้ามา สนใจแต่เก็บเงียบไม่บอกใคร ปรึกษาแต่เพื่อนสนิท ซึ่งเขามีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งเรียนทำอาหารที่วิทยาลัยดุสิตธานี จึงขอคุยเพื่อปรึกษากับรุ่นพี่คนนั้น และนั่นก็เป็นที่มาของการตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านอาหารของเธอ

สำหรับกับการทำงานเป็นลูกทีมของเชฟแพม (พิชญา อุทารธรรม) มายด์ บอกว่า ปกติแล้วในการทำงานทั่วไปส่วนใหญ่จะมีหัวหน้าอยู่ 2 ประเภท คือนำลูกน้องและสั่งลูกน้อง ส่วนใหญ่เธอเห็นแต่หัวหน้าที่สั่งลูกน้อง แต่การที่ได้มาทำงานกับเชฟแพมเกือบ 2 ปี เชฟแพมไม่ใช่หัวหน้าที่ชอบสั่งลูกน้อง แต่จะสอนและนำไปในแนวทางที่จะช่วยพัฒนาเธอและไปพร้อมกับเธอตลอดเวลา 

 

ณัชชา ตั้งกิตติเวทย์ เชฟรุ่นใหม่ ใจเกินร้อย

 

“พี่แพมสอนเสมอว่า การเป็นเชฟที่ดีนั้น จะต้องเป็นนักวางแผนที่ดีอย่างเป็นระบบ ต้องรู้จักแมเนจตัวเองในการทำอาหารให้เป็นขั้นเป็นตอน และรู้จักบริหารเวลาให้ดี เชื่อไหมว่า การที่มายด์ได้มาทำงานกับพี่แพมช่วงที่ยังเรียนอยู่ อาจารย์ที่เคยสอนมาเจอมายด์ทำอาหารอีกรอบหนึ่งตอนอยู่ในคลาส เขาชมใหญ่เลยว่ามายด์เก่งขึ้นและทำงานเป็นระบบระเบียบมากขึ้นผิดหูผิดตา” ณัชชาเล่าถึงสิ่งที่เชฟแพมสอน  

มายด์บอกว่า เชฟส่วนใหญ่ต้องการประสบความสำเร็จในอาชีพและมีชื่อเสียง หลายคนต้องการเปิดร้านอาหารของตัวเอง แต่สำหรับเธอตอนแรกก็อยากเหมือนๆ กัน แต่พอได้เห็นเชฟแพมทำ Chef’s Table ไม่ต้องเปิดร้านก็รุ่งได้เหมือนกัน เธอจึงมองหาอย่างอื่นที่อยากทำ ก็คือการมีโรงงานผลิตอาหารในรูปแบบกึ่งสำเร็จรูป ส่งต่อให้กับผู้บริโภค

“การเปิดร้านอาหารทุกคนมีสิทธิเปิดได้ แต่มายด์ไม่อยากไปแข่งขันตรงนั้น ไม่ใช่ไม่มั่นใจในตัวเอง แต่มายด์เห็นทางหนึ่งที่คิดว่าไปได้ดีกว่าและไม่ค่อยมีคนทำก็คือการเป็นผู้ผลิตอาหารเอง ตอนนี้มายด์มองถึงการมีโรงงานผลิตอาหาร อนาคตอยากมีและกำลังทำการบ้านเก็บข้อมูลอยู่ค่ะ” ณัชชากล่าว &O5532;