posttoday

ทรงยศ สุขมากอนันต์ คนทำงานสำคัญที่ทัศนคติ

26 กันยายน 2560

ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ขึ้นชื่อเป็นผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ที่ทำผลงานเกี่ยวกับวัยรุ่น และได้รับการตอบรับที่ดี

 

ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ขึ้นชื่อเป็นผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ที่ทำผลงานเกี่ยวกับวัยรุ่น และได้รับการตอบรับที่ดี

จากจุดแจ้งเกิด เป็น 1 ใน 6 ผู้กำกับภาพยนตร์แฟนฉัน หากเวลาก็เดินมา 10 กว่าปีแล้ว ทั้ง 6 คนต่างมีเส้นทางของตัวเอง

ปัจจุบัน ทรงยศ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์ และผู้บริหารบริษัท นาดาว บางกอก มีผลงานหลายอย่าง ตั้งแต่ซีรี่ส์ Stay ซากะฉันจะคิดถึงเธอ Hormones วัยว้าวุ่น ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต Bodyslam นั่งเล่น ภาพยนตร์ Top Secret วัยรุ่นพันล้าน ห้าแพร่ง ตอน Backpacker ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น และเด็กหอ 

“ผมพยายามเลือกทำสิ่งที่ไม่เคยทำ อาจเพราะขี้เบื่อ พอเบื่อจะไม่มีแพสชั่น ยิ่งทำงานโปรดักชั่นมันเหนื่อย ถ้าไม่มีแพสชั่นมันจะยิ่งยาก ต้องให้มีสิ่งใหม่ๆ กับชีวิต จะได้มีแรงบันดาลใจ แต่พอเราไม่เคยทำเราก็จะกลัวแล้วไม่มั่นใจ คือมันมีเส้นบางๆ อยู่ระหว่างความกลัวกับความมั่นใจ เพราะพอผมกลัวจะยิ่งทำเยอะขึ้น ทำการบ้านหนัก ให้เวลากับมันเยอะขึ้น ไม่ชอบทำอะไรที่มั่นใจมากๆ เมื่อเรามั่นใจมาก ทำงานชิลได้ ก็จะเกิดความรู้สึกเบื่อ”

 

ทรงยศ สุขมากอนันต์ คนทำงานสำคัญที่ทัศนคติ

โลกของกีฬา ชีวิตของวัยรุ่น

ผลงานล่าสุดที่กำลังออกอากาศอยู่คือโปรดิวเซอร์ โปรเจกต์ เอส เดอะ ซีรี่ส์ (Project S The Series) ซีรี่ส์วัยรุ่นที่ก้าวข้ามพ้นวัยในมุมมองที่เข้มข้นกับ 4 กีฬา วอลเลย์บอล แบดมินตัน สเกตบอร์ด และยิงธนู 

เขาอยู่เบื้องหลัง ผลักดันและเปิดโอกาสให้กับ 4 ผู้กำกับรุ่นใหม่ที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ซีรี่ส์ Hormones วัยว้าวุ่น ได้ขึ้นมาเขียนบทและกำกับการแสดง “ย้อนไปตอนทำฮอร์โมน เนื้อหาแรงและตรง เราใช้เวลาในการอธิบาย ก็มีคนเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แล้วโปรเจกต์นี้ผมอยากผลักดันน้องๆ (เสือ-พิชย จรัสบุญประชา, บอส-นฤเบศ กูโน, พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ และกุ๊ก-ธนีดา หาญทวีวัฒนา) ได้เขียน ได้กำกับ เติบโตเป็นคนรุ่นใหม่ เลยให้ทำโปรเจกต์ที่ง่ายกว่า คอนเทนต์ที่โพสิทีฟ

เลือกทำซีรี่ส์กีฬา เพราะตอนเด็กเคยดูซีรี่ส์ญี่ปุ่นนั้นเป็นแรงบันดาลใจเรา แล้วเราไม่ค่อยเห็นซีรี่ส์ไทยที่เล่าภาพกีฬาจริงๆ เห็นแค่แบ็กกราวด์ 

เราเริ่มต้นจากโจทย์นี้ แต่อยากพูดประเด็นอะไร เพราะสุดท้ายมันต้องมีเรื่องตัวละคร มนุษย์ ความสัมพันธ์ เราไม่สามารถเล่าเรื่องกีฬา การแข่งขันแห้งๆ ถ้ามันไม่มีการสัมพันธ์ การเรียนรู้ เติบโต มันไม่ใช่แค่สปอร์ต มันต้องมีสปิริตด้วย

สปิริตคือน้ำใจนักกีฬาในการแข่งขัน คนดูเรื่องนี้ไม่ใช่นักกีฬา แต่สามารถอะแดปสปิริตนักกีฬามาใช้ในชีวิตจริงได้บ้าง เช่น ดูกีฬาโอลิมปิก ตอนแรกโดนนำแต่สุดท้ายพลิกมาชนะได้ แสดงให้เห็นว่าตราบใดที่เราไม่ยอมแพ้เรายังสู้ต่อมันมีโอกาสที่จะชนะ วันนี้เรายังทำอะไรไม่สำเร็จเรื่องอะไรก็ตาม ถ้ายังไม่หมดเวลาเรายังมีโอกาสชนะ นี่คือสปิริต ถ้าซีรี่ส์จะพูดมันควรจะเชื่อมโยงให้คนดูเข้าไปได้ด้วย”

เรื่องการนำเสนออาการป่วยไข้อย่างโรคออทิซึม โรคซึมเศร้า เข้าไปในซีรี่ส์ 2 เรื่อง คือ Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ กับ SOS Skate ซึม ซ่าส์ นั้น

“บอสอยากเล่าเรื่องแบดมินตันที่เล่นหน้าบ้านได้ ครอบครัวเล่นด้วยกันได้ ก็พัฒนาบทพูดเรื่องคนที่มีคาแรกเตอร์พิเศษ ก็ไปค้นพบว่าเขาสนใจคนมีภาวะออทิซึม มันเป็นเรื่องที่รีเสิร์ชก็เจอทีละอย่าง ก็นำพาเรื่องไป

สำหรับเรื่องโรคซึมเศร้า เราเขียนบทกันตั้งแต่โรคนี้ยังไม่ถูกพูดถึงบ่อยขนาดนี้ ซึ่งซีรี่ส์ออกอากาศจังหวะนี้พอดี (ทุกวันเสาร์ ทางช่องจีเอ็มเอ็ม 25)

พัฒนาบทจากสเกตบอร์ดจะเล่ามันให้อยู่บนตัวละครแบบไหนให้น่าสนใจ พัฒน์เลยค้นเจอคนมีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า คนเหล่านี้มีทัศนคติไม่เข้มแข็ง แต่พอลงไปทำความเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องทัศนคติ เป็นเรื่องสารเคมีในร่างกาย

แล้วนำมาเชื่อมโยงกับสเกตบอร์ดที่ผู้ใหญ่มองว่ามันเป็นกีฬาจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่วัยรุ่นมั่วสุมกัน แต่สเกตบอร์ดพอขึ้นไปยืนมันมีความอิสระ รู้สึกฮอร์โมนในร่างกายมันหลั่ง คนเป็นโรคซึมเศร้าฮอร์โมนในสมองไม่สมดุล กีฬาอย่างนี้อาจจะเยียวยาโรคซึมเศร้าบางคนได้ จนถูกจับมาเชื่อมโยง”

ทั้ง 4 เรื่อง สะท้อนให้เห็นว่ากีฬาสามารถพัฒนา ปรับปรุงพฤติกรรมและทัศนคติของมนุษย์ได้ “อย่างเรื่อง Spike วอลเลย์บอล เสือสนใจกีฬาประเภททีม เหมือนสปิริตเล่นทีม ทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เขาอยากเล่าเรื่องทีมวอลเลย์บอล แต่สมาชิกไม่ยอมรับกันเลยทำให้ทีมมีปัญหา

มีมุมหนึ่งที่เสืออยากพูด คนไทยมักมองว่านักวอลเลย์บอลมักเป็นตุ๊ด เกย์ เขาจึงนำเสนอนักวอลเลย์บอลชายแท้ ซึ่งในชีวิตจริงก็ผู้ชายแท้ๆ เยอะไปหมด อยากแก้แอดติจูดนี้ ที่คนมองผู้ชายเล่นวอลเลย์บอลว่าไม่ใช่ผู้ชาย

เรื่องสุดท้าย Shoot, I Love You เป็นผู้กำกับหญิงคนเดียว กุ๊กไม่เล่นกีฬา บางทีคนไม่ได้เล่นกีฬาอาจมีมุมมองที่น่าสนใจก็ได้ ถ้าเขาเลือกเล่นกีฬาเขาจะเลือกเล่นอะไร

แล้วกุ๊กสนใจยิงธนู เขารู้สึกว่าไม่ต้องออกแรงเยอะ บางคนเล่นกีฬากลัวเหนื่อย ขี้เกียจ แต่พอไปรีเสิร์ชค้นพบว่าจริงๆ ยิงธนูใช้แรงเยอะมากเลย ใช้ร่างกาย กล้ามเนื้อ สมาธิต้องนิ่งก่อนจะปล่อยออกไป เหมือนการควบคุมหายใจ เขาได้ค้นพบว่าการยิงธนูคือการควบคุมสมาธิ สติ มันน่าสนใจ จึงเอามาเล่าผ่านวัยรุ่น 4 คน ที่เรียนรู้เติบโตไปกับกีฬานี้”

สิ่งที่ ทรงยศ คาดหวังกับโปรเจกต์ เอส เดอะ ซีรี่ส์ “ถ้าผู้ชมอินกับตัวละครได้ เราถือว่าประสบความสำเร็จ ถ้าผู้ชมผูกพัน เอาใจช่วย เรียนรู้ ละครเราประสบความสำเร็จ แต่โปรเจกต์ เอส เราคาดหวังไกลกว่านั้น ถ้าคนอยากเล่นกีฬา หรือดูแล้วรู้สึกเล่นกีฬาแล้วเท่ อยากเป็นนักกีฬา ดูแล้วอยากออกมาเล่นกีฬามากกว่าเล่นเกม อันนั้นเป็นผลพลอยได้ที่อยากได้

เหมือนตอนที่ผมเด็กๆ ทีมญี่ปุ่นไม่ได้เก่งฟุตบอลเลย แต่เขามีการ์ตูนกัปตันซึบาสะ ที่สร้างชาติ เขาอยากให้คนญี่ปุ่นพัฒนาอะไร เขาจะสร้างเรื่องในการ์ตูน จะปลูกฝังกับเยาวชนรุ่นใหม่ คนของเขาได้เสพงานก็จะเติบโตมามีสิ่งเหล่านั้นอยู่กับตัว หลังจากยุคนั้นคนญี่ปุ่นก็เก่งฟุตบอลขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเป็นทีมเอเชียติดฟุตบอลโลก”

ทรงยศ สุขมากอนันต์ คนทำงานสำคัญที่ทัศนคติ

ละครสะท้อนสังคม (ดีๆ) ก็มี

เป็นกระแสขึ้นมาว่า ซีรี่ส์จากค่ายนาดาว บางกอก เปลี่ยนแปลงวงการละครโทรทัศน์ไทย ซึ่ง ทรงยศ ชี้แจงว่า “ตอนเราทำซีรี่ส์ไม่ได้คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงวงการ เรายังเด็กน้อยมาก แต่เราทำงานอะไรก็ตาม เราจะใส่ทัศนคติของเราลงไป

เรามีแอดติจูดเรื่องนี้ยังไง อย่างฮอร์โมน กว่าจะผ่านปัญหาวัยรุ่นเราจะต้องเข้าใจกันก่อน ดูตั้งแต่ปัญหาของครอบครัว ด้วยแอดติจูดของเราแบบนี้ เราเลยทำฮอร์โมนออกมา ซึ่งเราก็คิดว่าผู้ใหญ่จะเข้าใจเราไหม แต่จริงๆ ผู้ใหญ่ในสังคมไทยเปิดกว้างกว่าที่เราคิด เขาเข้าใจเราว่าทำสิ่งนี้ ดังนั้นเวลาเราทำงานจะให้ผู้กำกับ คนเขียนบท ใส่แอดติจูดของเขาอย่างเต็มที่”

สำหรับคำว่าละครสะท้อนสังคม ทรงยศ มีมุมมองที่ห่วงการใช้คำนี้ “ละครสะท้อนสังคม พอเล่าเรื่องแรงๆ ก็ใช้คำว่าละครสะท้อนสังคม ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่าละครสะท้อนสังคมเหมือนคำแซะ เพราะละครที่เล่าเรื่องดีๆ ตรงๆ สะท้อนดีๆ ก็มีจริง ไม่อยากให้เอาไปบิดเบือนเข้าใจผิด 

สุดท้ายผมยังเชื่อว่าแอดติจูดของคนทำงาน ที่เรามีทัศนคติ เราพูดผ่านงานของเรา เชื่อว่าถ้าคนทำงานมีทัศนคติอะไรจะออกมาในงานของเขา ละครสามารถทำให้คนดูได้เรียนรู้และเติบโตไปกับมันได้

ผมทำฮอร์โมนเราก็ทำจากเจตนาที่ดี อยากทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจวัยรุ่น ซึ่งตรงนี้เราก็ได้เรียนรู้ผิดถูกไปกับมัน คือในพาร์ตหนึ่งเราให้ไผ่ต่อยตี สไปรท์มีอะไรกับผู้ชายหลายคน เราได้เรียนรู้มันเป็นดาบสองคม ที่เด็กวัยรุ่นเอาไปเป็นตัวอย่างเลียนแบบพอทำฮอร์โมน ซีซั่น 2 เราระวังมากขึ้น อย่างการสูบบุหรี่ เราพูดถึงแค่ตอนพ่อหมอกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ทำให้หมอกเลิกสูบบุหรี่ พอมาถึงฮอร์โมน ซีซั่น 3 ไม่มีตัวละครสูบบุหรี่

ในฐานะคนทำสื่อเราก็เรียนรู้ไปด้วย ไม่ใช่การทำงานของเราจะไม่มีผิดพลาด แต่เมื่อพลาดเรายอมรับและแก้ไข”

เมื่อมีทัศนคติและแรงบันดาลใจในการทำงานแบบนี้ ผลงานที่จะได้เห็นทางหน้าจอโทรทัศน์หรือผลงานภาพยนตร์จากฝีมือ ทรงยศ สุขมากอนันต์ จึงมั่นใจได้อย่างหนึ่งว่า เราจะได้เห็นมิติใหม่ๆ ของคน โดยเฉพาะวัยรุ่น ที่ผู้กำกับคนนี้ให้ความสนใจ

เพราะวัยรุ่นเชื่อมโยงกับคนทุกวัย โยงใยถึงรากฐานครอบครัว และสังคมที่หล่อหลอม ผลักดันเข้าอย่างซึมลึกไปสู่จุดหนึ่ง และเราในบทบาทผู้ชมก็จะได้เรียนรู้เติบโตไปกับตัวละครที่เขานำมาสื่อสาร ตามแต่สิ่งที่เขาเลือกอยากจะบอก และคิดเห็นกับเรื่องเหล่านั้นเยี่ยงไร