posttoday

‘เอาเด็กปกติมาแลกก็ไม่ยอม’ แม่ต่าย-วลัยพร สิริพูนผล สายชิล ปั้นลูกออทิสติก

24 กันยายน 2560

ความแข็งแกร่งของ แม่ต่าย-วลัยพร สิริพูนผล วัย 42 ปี เปล่งประกายออกมาจากแววตาและน้ำเสียง ระหว่างบทสนทนาเนื้อหาชีวิตตลอด 17 ปี

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

ความแข็งแกร่งของ แม่ต่าย-วลัยพร สิริพูนผล วัย 42 ปี เปล่งประกายออกมาจากแววตาและน้ำเสียง ระหว่างบทสนทนาเนื้อหาชีวิตตลอด 17 ปี ที่มีลูกชายเป็นออทิสติก น้องเทย์เลอร์-ณัฐธัญ ธรรมกิจ หนุ่มอารมณ์ดีผู้สร้างรอยยิ้มและความสุขผ่านเสียงเปียโน

แม่ต่ายหรือที่หลายคนรู้จักในนามเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “แม่ต่ายสายชิล ปั้นลูกออทิสติก” เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่กล้าเปิดเผยต่อสาธารณชนว่ามีลูกเป็นเด็กออทิสติก พร้อมบอกเล่าแง่คิดของการเลี้ยงเด็กพิเศษ และแบ่งปันมุมมองที่สวยงามในชีวิตให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย

ทว่าก่อนถึงวันนี้ ก่อนเธอจะกลายเป็นแม่ต่ายสายชิลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุการณ์มากมายและสภาพจิตใจที่ท้าทายทำให้เธอเคยสะบักสะบอมจนไม่อาจยอมรับความจริง

ความจริง

‘เอาเด็กปกติมาแลกก็ไม่ยอม’ แม่ต่าย-วลัยพร สิริพูนผล สายชิล ปั้นลูกออทิสติก

แม่ต่าย เล่าว่า คลอดน้องเทย์เลอร์ตอนอายุ 26 ปี กลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวในราว 7 ปีต่อมา แต่เริ่มสงสัยว่าลูกชายมีพฤติกรรมไม่เหมือนเด็กทั่วไปตอนน้องอายุ 3 ขวบ ด้วยความซุกซนที่มากเหลือเกิน แต่ก็ยังไม่อาจฟันธงได้ว่าลูกผิดปกติ เพราะน้องมีภาษาพูดที่ดี คือ สามารถพูดเป็นคำได้ตั้งแต่อายุ 10 เดือนครึ่ง และสามารถท่องพยัญชนะไทยครบ 44 ตัวอักษรได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ จนย่างสู่ปีที่ 7 หรือช่วงประถมฯ 1 ที่เด็กควรอยู่ในระเบียบวินัย แต่น้องมักวิ่งออกนอกห้อง ไม่ยอมอยู่ในห้องเรียน ประกอบกับคำพูดที่มักพูดเป็นคำๆ เป็นวลี และไม่สามารถเรียงประโยคให้สมบูรณ์และถูกต้องได้ ด้วยพฤติกรรมและคำพูดจึงทำให้แม่ต่ายตัดสินใจพาลูกชายไปหาหมอ

“ตกใจและช็อกมาก เพราะสมัยก่อนคำว่า ออทิสติก เป็นอะไรที่ใหม่ เคยได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร” แม่ต่ายเล่าถึงความรู้สึกเมื่อได้ยินจากคุณหมอครั้งแรก “แม่เลยตั้งรับไม่ทัน กึ่งๆ ปฏิเสธ ไม่อยากเชื่อหมอว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับลูกของเรา เพราะลูกเราพูดได้ ก็แค่เป็นเด็กที่ซนไปหน่อยเท่านั้นเอง แต่พอนานวันเข้ามันเริ่มไม่ใช่แล้ว เพราะถ้าไม่แก้ไขและยอมรับมันสักที ลูกเราคงไม่ดีขึ้น แม่เลยเริ่มศึกษา เริ่มเรียนรู้ จากที่เรารู้สึกว่าลูกของเราก็น่ารักดีนะ กลายเป็นว่าถ้าเราไม่พัฒนา ไม่แก้ไขอะไร วันหนึ่งที่ลูกเราโตไปเขาจะไม่ใช่เด็กที่
น่ารัก แต่จะกลายเป็นภาพที่ไม่น่าดูแล้ว”

ความรู้สึกของการยอมรับนั้นย่อมต้องใช้เวลา โดยเธอต้องค่อยๆ ก้าวผ่านแต่ละขั้นแต่ละตอนของชีวิตมากว่าจะถึงวันนี้ แม่ต่ายกล่าวต่อว่า กว่าจะพบความรู้สึกที่ยอมรับได้หมดหัวใจ มันใช้เวลายาวนานมาก สำหรับเธอแล้ว เธอไม่ได้โทษใคร และไม่ได้น้อยเนื้อต่ำใจ แต่เธอรู้สึกว่านี่เป็นภาระที่หนักอึ้ง

“คนเราทุกคนเกิดมาแล้วมีลูก จุดมุ่งหมายของชีวิตคนนั้นจะอยู่ที่ลูก แต่สำหรับลูกเรา เราต้องเลี้ยงลูกยังไง ต่อไปจะเป็นยังไง อนาคตลูกเราจะอยู่ได้ไหม ทั้งหมดมันเลยกลายเป็นความกังวล ซึ่งเราแบกไว้ทั้งหมด รับอยู่คนเดียว”

อย่างไรก็ตาม การก้าวผ่านความรู้สึกและจิตใจไม่มีใครสามารถช่วยเธอได้นอกจากตัวเอง ซึ่งกว่าจะมาถึงวันที่เธอพูดได้เต็มปากว่า “ยอมรับน้องเทย์เลอร์ ยอมรับคำว่าออทิสติก และยอมรับความเป็นลูกของแม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์” จิตใจและความรู้สึกของแม่ต่ายก็ถูกทำให้สะบักสะบอมมาแล้ว

ก้าวผ่าน

‘เอาเด็กปกติมาแลกก็ไม่ยอม’ แม่ต่าย-วลัยพร สิริพูนผล สายชิล ปั้นลูกออทิสติก

ความเครียดและความกังวลเป็นศัตรูตัวร้ายที่บั่นทอนจิตใจแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งสิ่งที่ทำให้เธอตั้งหลักรับความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามา ไม่ได้มีเพียงจิตแพทย์ ยาคลายเครียด หรือการบอกเล่าให้คนรอบตัวฟัง แต่คือการหันไปมองลูกชาย ผู้เป็นพลังยิ่งใหญ่ที่ทำให้เธอมีกำลังกายและกำลังใจสู้ต่อไปเพื่อลูก

ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า ออทิสติก คือ ความผิดปกติที่พบได้ในเด็กตั้งแต่ในช่วงก่อนวัยเรียน (3 ขวบ) เกิดจากการทำงานผิดปกติของหลายๆ ระบบในร่างกายที่เกิดร่วมกัน ส่งผลให้การรับรู้ การแสดงออกทางอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กผิดปกติไปจากเด็กอื่นทั่วไป โดยภาพรวมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเด็กออทิสติกในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปอย่างชัดเจนได้ว่าความผิดปกติที่พบในแต่ละระบบนั้นมีความเชื่อมโยงกันในระดับใด แต่จากการศึกษาของหลายสถาบันมีความเห็นใกล้เคียงกันว่า กลไกของการเกิดโรคที่สำคัญนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์สมองบางส่วนทำงานน้อยหรือไม่ทำงาน

ปัจจุบันน้องเทย์เลอร์พบจิตแพทย์เป็นประจำ และรับประทานยาเพื่อปรับอารมณ์ควบคู่กันไปตามอายุและน้ำหนัก ส่วนในเรื่องพัฒนาการจะเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองเป็นหลักที่ต้องฝึกพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ แต่บางอย่างที่ผู้ปกครองไม่สามารถฝึกเองได้ก็ต้องพึ่งพานักกิจกรรมบำบัดเข้ามาช่วย

นอกจากนี้ แม่ต่ายได้เห็นแววความสามารถด้านดนตรีของลูกมาตั้งแต่ 8 ขวบ เธอจึงส่งเสริมให้ลูกเรียนเปียโน เปลี่ยนครูมาก็หลายคน จนเจอ “ครูตั้ม” ครูที่สอนให้น้องเทย์เลอร์เล่นเปียโนเป็นเพลงได้จริงๆ

“ครอบครัวที่มีลูกเป็นออทิสติกจะเป็นแบบนี้ คือ ต้องหาโรงเรียน หาคุณครูที่ใช่สำหรับลูกเราให้เจอ เพราะเด็กออทิสติกจะไม่เหมือนกันเลยสักคนเดียว ซึ่งสำหรับเทย์เลอร์ก็คิดว่าดนตรีเป็นทางที่ลูกชอบ เขาชอบเล่นเปียโน ชอบร้องเพลง เล่นกีตาร์ และเขาสามารถอยู่กับอะไรที่เป็นเสียงดนตรีได้นาน เพราะเป็นสิ่งที่เขาอยากทำ”

ทุกวันจันทร์และวันศุกร์ เวลา 10.30-12.00 น. และ 13.00-14.30 น. น้องเทย์เลอร์จะไปบรรเลงเปียโนให้ทุกคนฟังที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นเวทีให้ลูกชายได้แสดงความสามารถ รวมถึงเมื่อไม่นานมานี้ แม่ต่ายเพิ่งได้รับข่าวดีจากกองประกวด ออทิสติก ทาเลนต์ กาล่า 2560 (Autistic Talent Gala 2017) คัดเลือกให้น้องเทย์เลอร์เป็นตัวแทนจากประเทศไทยเพียงคนเดียวเข้าประกวดในโครงการระดับนานาชาติของปีนี้

เช่นเดียวกับโรงเรียนที่แม่ลูกคู่นี้ต่างลองแล้วลองเล่าเพื่อหาโรงเรียนที่เหมาะสมและเข้าใจลูกชายจริงๆ จนกระทั่งเวลาล่วงเลยถึงชั้นมัธยมปลาย ในตอนนี้แม่ต่ายเจอโรงเรียนที่ไว้วางใจที่สุดแล้ว ณ โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ที่มีการเรียนการสอนเพื่อเน้นเสริมสร้างทักษะชีวิต ฝึกอาชีพ ควบคู่ไปกับวิชาการสำหรับเด็กออทิสติก โดยคุณครูที่มีประสบการณ์สอนและดูแลเด็กพิเศษโดยเฉพาะอย่างไรก็ตาม โรงเรียนอีกเช่นเดียวกันที่ทำให้หัวใจของแม่เกือบแตกสลาย เพราะเหตุการณ์ที่ลูกหายตัวไปนานกว่า 5 ชม.

ความเจ็บปวด

‘เอาเด็กปกติมาแลกก็ไม่ยอม’ แม่ต่าย-วลัยพร สิริพูนผล สายชิล ปั้นลูกออทิสติก

แม่ต่ายเล่าเหตุการณ์วันนั้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วว่า เธอได้พาลูกชายไปปรับพฤติกรรมที่สถาบันแห่งหนึ่ง โดยวันแรกที่เปิดเรียนก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันเพราะลูกชายหายตัวออกไปจากโรงเรียนโดยไม่มีใครเห็น

ภาพจากกล้องวงจรปิดทำให้รู้สาเหตุอย่างเดียวว่า น้องเทย์เลอร์ได้ขึ้นแท็กซี่ที่มาจอดส่งผู้ปกครองไปคนเดียว โดยในเวลา 10 โมงเช้าที่แม่ต่ายรับสายจากคุณครูที่โรงเรียน ความรู้สึกเศร้าทั้งหมดก็ถาโถมเข้าทำร้ายเธอ

“เป็นวันที่แม่ช็อกที่สุดแล้วตั้งแต่เลี้ยงเทย์เลอร์มา จนถึงวันนี้เหตุการณ์นั้นก็เป็นเรื่องที่ช็อกที่สุด” เธอสารภาพ และเล่าต่อว่า หนทางตามหาน้องในวันนั้นได้แกะรอยเส้นทางจากโรงเรียนกลับบ้าน เพราะแม่มั่นใจว่าลูกชายบอกทางกลับบ้านถูก คุณครูผู้ชายจึงขี่มอเตอร์ไซค์แบ่งออกเป็น 3 เส้นทาง ตระเวนหารถแท็กซี่สีชมพูเหมือนที่เห็นในกล้องวงจรปิด (แต่ไม่ทราบเลขทะเบียนรถ) จนกระทั่งท้ายสุดคุณครูก็หาน้องเทย์เลอร์พบในแท็กซี่สีชมพู แต่เป็นคนละคัน!

“หลังจากวันนั้น เราแม่ลูกมาคุยกันทีหลังว่าจริงๆ แล้วเหตุการณ์วันนั้นเทย์เลอร์กลับบ้านยังไง เขาบอกว่าตอนนั่งแท็กซี่ออกมาจากโรงเรียน ถูกคนขับให้ลงตรงจุดที่ 1 จากนั้นไม่มีแท็กซี่คันไหนว่างเลย เลยเดินจากจุดที่ 1 ไปไกลพอสมควรและข้ามถนนไปจุดที่ 2 ขึ้นแท็กซี่สีฟ้า หลังจากวิ่งไปได้สักพัก คนขับให้ลงอีก เทย์เลอร์เลยเดินจากจุดที่ 3 ไปเรียกแท็กซี่คันที่ 3 ซึ่งโชคดีมากที่เป็นแท็กซี่สีชมพู เพราะครูที่ตามหาจะมองแต่แท็กซี่สีชมพู และสรุปว่าเส้นทางของแท็กซี่ทั้ง 3 คัน ก็เป็นเส้นทางกลับบ้านจริงๆ แต่ยังไม่ถึงบ้านเพราะแท็กซี่ไม่ยอมไป บวกกับรถติด จนกระทั่งคุณครูไปเจอบนรถ กลายเป็นว่าวันนั้นทั้งวัน 4-5 ชั่วโมงที่เทย์เลอร์หายไป มือไม้แม่สั่นไปหมด ทำอะไรไม่ถูก และช็อกที่สุดในชีวิตแล้ว”

บุคลิกอย่างหนึ่งที่แม่ต่ายเป็นห่วง คือ ความไม่นิ่งของลูกชาย ดังนั้นแม้ว่าเธอจะพาลูกออกไปข้างนอกบ่อย แต่เธอไม่เคยปล่อยให้คลาดสายตา

อนาคต

‘เอาเด็กปกติมาแลกก็ไม่ยอม’ แม่ต่าย-วลัยพร สิริพูนผล สายชิล ปั้นลูกออทิสติก

ปัจจุบันคนไทยรู้จักคำว่า ออทิสติก มากขึ้นและยอมรับมากขึ้น ทั้งจากสื่อ ซีรี่ส์ ภาพยนตร์ ที่พยายามสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ รวมถึงครอบครัวที่มีเด็กออทิสติกในบ้านที่จำเป็นต้องยอมรับและฝึกพัฒนาการให้เด็กออทิสติกสามารถช่วยเหลือตัวเอง และเป็นภาระผู้อื่นให้น้อยที่สุด หากเกิดความเข้าใจเหล่านี้ได้ สังคมและโลกจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก

“ครอบครัวที่มีเด็กออทิสติกต้องยอมรับ อย่าอายสังคม เพราะยิ่งปกปิดเด็กไว้ในบ้าน คนที่ทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือเด็กและคนในครอบครัว รวมถึงการฝึกเด็กออทิสติกตั้งแต่เล็กๆ จะทำให้เขามีพัฒนาการเร็ว ซึ่งจะทำให้เขาไม่เป็นโรคซึมเศร้า เข้าสังคมได้ดี และสามารถเอาตัวรอดได้” แม่ต่าย กล่าวเพิ่มเติม

คำถามที่แม่ต่ายได้ยินบ่อย อย่างการวางแผนอนาคตของลูกชายจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งเธอจะตอบเช่นเดิมว่า เธอหวังให้ลูกชายอยู่ได้โดยเป็นภาระกับผู้อื่นให้น้อยที่สุด และดูแลตัวเองได้ดีที่สุด ซึ่งตอนนี้น้องเทย์เลอร์สามารถทำได้แล้ว เพียงแต่การควบคุมตัวเองที่ยังน้อย เนื่องจากมีภาวะความเป็นเด็กอยู่มาก

“แม่ให้วัคซีนเขาไว้เยอะแล้ว ถ้าลูกอยู่ในสภาวการณ์ที่ลำบาก แม่คิดว่าลูกจะเอาตัวรอดได้ แต่จุดที่ยังเป็นห่วงอยู่ คือ เขาไม่ทันคน ไม่ทันเล่ย์เหลี่ยมของคนในสังคม ซึ่งเป็นเหตุผลที่แม่ยังปล่อยเขาไม่ได้” ทั้งนี้ การเลี้ยงเด็กออทิสติกคนหนึ่งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะเด็กต้องพบแพทย์ กินยา เข้ารับการฝึกต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวต้องสนับสนุน

“ถามว่าครอบครัวเราน่าสงสารไหม ก็น่าสงสารนะ แต่เราจะมองให้เป็นทุกข์ทำไม” แม่ต่ายกล่าวต่อ “อย่างเนื้อหาในเพจ แม่จะไม่เขียนเรื่องดราม่าเลย เพราะอยากนำเสนอแต่มุมบวก แต่กว่าจะมาเป็นแม่ต่ายสายชิลอย่างวันนี้ได้ก็ต้องผ่านอะไรมาเยอะ ถ้าให้เล่าเหตุการณ์หรือเขียนเพจแบบนี้ในอดีต แม่ก็ทำไม่ได้ เพราะตอนนั้นแม่ยังสับสน ยังกังวล เหนื่อยกับชีวิต เหนื่อยใจมากกว่าเหนื่อยกาย แต่แม่ก็ไม่เคยคิดที่จะจากไปไหน ด้วยความเป็นแม่เราจะทิ้งลูกไปไหนไม่ได้ เขาเหลือเราคนเดียว ทำให้เราต้องสู้ไปด้วยกัน”

ขณะเดียวกัน น้องเทย์เลอร์ยังทำให้ผู้ใหญ่อย่างเธอเห็นว่า ความสุขเป็นสิ่งที่เรียบง่ายและหาได้ง่ายมาก “แม่เรียนรู้จากการเลี้ยงเทย์เลอร์มาเยอะ เขาค่อยๆ ให้บทเรียนชีวิตกับเรา ให้เราได้ปลดล็อกไปทีละอย่างๆ จนตอนนี้แม่กลายเป็นคนมีความสุขง่ายขึ้นและสุขแบบเรียบง่าย ปล่อยวางง่ายขึ้น คาดหวังน้อยลง ต่อจากนี้แม้ว่าชีวิตยังต้องเจอกับเหตุการณ์อีกมากมาย เราก็จะผ่านไปได้ด้วยดี”

เพจเฟซบุ๊ก “แม่ต่ายสายชิล ปั้นลูกออทิสติก” ต้องการสื่อให้คนทั่วไปได้เห็นว่า เด็กออทิสติกไม่น่ารังเกียจ ไม่น่ากลัว และมีความสามารถหากได้รับการฝึกฝนและพัฒนาให้ถูกทาง ดังนั้นใครก็ตามที่ต้องการกำลังใจหรือแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต เรื่องราวของแม่ที่มีลูกเป็นออทิสติกอาจเป็นคำตอบให้คนธรรมดา