posttoday

นันทวัลย์ ศกุนตนาค ภารกิจส่งเสริมข้าวหอมมะลิในไทย

23 กันยายน 2560

หลายสิบปีมาแล้วที่คนไทยได้แต่พูดกันว่า "เมืองไทยเราเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดในโลก"

 โดย โยธิน อยู่จงดี ภาพ : วีระวงศ์ วงศ์ปรีดี

 หลายสิบปีมาแล้วที่คนไทยได้แต่พูดกันว่า "เมืองไทยเราเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดในโลก" แต่ไฉนเราจึงไม่มีโอกาสบริโภคข้าวที่มีคุณภาพเหมือนข้าวที่ขายส่งออกบ้าง

 วันนี้คำตัดพ้อจากความรู้สึกน้อยใจเล็กๆ จะเริ่มลดน้อยลง เพราะกรมการค้าภายในภายใต้การนำของ นันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ริเริ่มปรับคุณภาพการค้าข้าวหอมมะลิภายในประเทศ ให้มีคุณภาพเทียบเท่าเกรดส่งออก ด้วยการออกสัญลักษณ์ตรารับรอง "รูปพนมมือ" การันตีคุณภาพโดยกระทรวงพาณิชย์

 นันทวัลย์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า

 “มีที่มาจากเสียงของประชาชนที่บอกว่าทำไมของดีเราถึงไปส่งออกหมด แล้วข้าวในประเทศไม่เห็นจะมีคนดูแลเลย ก็เลยเกิดขึ้นความคิดที่ใช้เครื่องหมายนี้ เป็นตัวรับรองคุณภาพให้ผู้บริโภคในประเทศ ถ้ามองหาเครื่องหมายนี้ข้าวถุงทั้งหมดจะเป็นคุณภาพเดียวกับข้าวที่ส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับเครื่องหมายนี้จะเป็นตัวรับประกันได้ว่าข้าวถุงหอมมะลินั้น เป็นข้าวถุงที่มีคุณภาพเกรดเดียวกับที่ใช้ส่งออก

นันทวัลย์ ศกุนตนาค ภารกิจส่งเสริมข้าวหอมมะลิในไทย

 “ข้าวหอมของโครงการนั้น เป็นข้าวหอมที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการสุ่มตรวจของกรมการค้าภายใน สีข้าวมาอย่างมีคุณภาพ ไม่มีสิ่งเจือปน แล้วก็ได้เปอร์เซ็นต์ของการเป็นข้าวหอมมะลิที่ต้องได้มาตรฐาน ทั้งสายพันธุ์ ขนาดเมล็ด ต้องเต็ม ไม่มีแตกหักเกินเปอร์เซ็นต์ที่กำหนด ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่มีระบบมาตรฐานสุขอนามัย ได้แก่ GMP หรือ HACCP หรือ ISO มีการข้าวหอมมะลิที่ได้มาตรฐานทั้งกายภาพและทางเคมีอย่างถูกต้อง ในสัดส่วนที่มีมากกว่าร้อยละ 92 เปอร์เซ็นต์ต่อถุง

 “มีการกำกับดูแลคุณภาพข้าวหอมมะลิบรรจุถุงรูปพนมมืออย่างเข้มงวด โดยสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาตรวจสอบคุณภาพเป็นประจำทุกเดือน หากตรวจสอบพบว่าคุณภาพไม่ได้ตามมาตรฐาน จะมีบทลงโทษตั้งแต่ตัก

ตือน พักใช้หนังสืออนุญาต จนไปถึงเพิกถอนใบอนุญาต ถ้าเกิดมาที่กรมการค้าภายในวันที่คณะกรรมการตรวจข้าวก็จะได้กลิ่นข้าวหอมมะลิหอมฟุ้งไปทั่วแถวๆ นั้น เวลามาทำงานถ้าได้กลิ่นหอมข้าวลอยขึ้นมา ก็รู้ได้เลยว่าวันนั้นจะต้องมีการตรวจข้าวกันแน่ๆ เพราะว่าเป็นหน้าที่ของกรมการค้าภายในคือ ต้องตรวจสอบคุณภาพของสินค้าให้ได้ตามมาตรฐาน เพื่อให้เป็นธรรมแก่ผู้บริโภคให้มากที่สุด”

 สำหรับเครื่องหมาย รูปพนมมือ นั้นมีการใช้ตั้งแต่ประมาณปี 2516 เป็นมาตรฐานรับรองคุณภาพของกระทรวงพาณิชย์จนถึงปัจจุบัน มาถึงการรับรองคุณภาพของข้าวหอมมะลิจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นสีทอง ถ้ามีรูปบวกด้วยก็แสดงว่าเป็นข้าวหอมมะลิเกรดคัดพิเศษชั้นดีเยี่ยม ไม่แพ้ข้าวหอมมะลิที่ใช้ส่งออกอย่างแน่นอน

นันทวัลย์ ศกุนตนาค ภารกิจส่งเสริมข้าวหอมมะลิในไทย

 อย่างไรก็ดี การกำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิ รูปพนมมือ นั้นไม่ได้เพียงแค่เป็นการรับรองข้าวหอมมะลิถุงที่มีคุณภาพ แต่ยังมีการกำหนดมาตรฐานโรงสีข้าวของไทยควบคู่ไปด้วย ทำให้โรงสีที่ต้องการรับใบรับรองต้องพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการผลิต เพื่อให้แข่งขันกับผู้ผลิตอื่นๆ ในตลาดได้

 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานรูปพนมมือแล้วในทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 142 ราย ภายใต้เครื่องหมายการค้าจำนวน 216 เครื่องหมายการค้า โดยในจำนวนนี้มีผู้ได้รับอนุญาตประเภทมาตรฐานดีพิเศษ แล้วจำนวน 2 ราย จำนวน 6 เครื่องหมายการค้า

 อธิบดีกรมการค้าภายในขยายความต่อว่า ต้องกำหนดมาตรฐานของโรงสี เพราะว่าโรงสีเป็นตัวสำคัญในการที่จะสีข้าวออกมาได้มีคุณภาพ จึงทำโครงการโรงสีติดดาว โดมมีระดับเป็นโรงสีดาวทอง และโรงสีดาวเงิน ซึ่งช่วยยกระดับโรงสีข้าวทั้งในแง่การทำข้าวคุณภาพ และเป็นแหล่งรับซื้อข้าวที่ชาวนาจะเข้ามาขายด้วยขายข้าวได้ในราคาที่เป็นธรรม

 โดยต้องมีเครื่องชั่ง เครื่องวัดความชื้นข้าว ที่มีมาตรฐาน มีเครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าว เครื่องกะเทาะเปลือก เครื่องสีวัดกรัมข้าว/เปอร์เซ็นต์ข้าว เครื่องวัดสิ่งเจือปน และไม่เอาเปรียบเกษตรกร และให้ความเป็นธรรมในการซื้อขาย อย่างเป็นธรรมให้กับชาวนา ให้พวกเขาขายข้าวได้ราคาตามคุณภาพไม่มีการกดราคาข้าว เป็นการยกระดับคุณภาพของโรงสีข้าวและสร้างมาตรฐานการขายข้าวให้กับชาวนาไปในตัว

นันทวัลย์ ศกุนตนาค ภารกิจส่งเสริมข้าวหอมมะลิในไทย

 “พูดถึงราคาขายข้าวในท้องตลาด บางช่วงราคาข้าวสูง บางช่วงราคาข้าวตกต่ำ การช่วยเหลือเกษตรกรในมุมมองของกรมการค้าภายในนั้น ต้องอธิบายว่าในมุมมองของผู้บริโภคหรือคนไทยเอง ก็ไม่อยากจะซื้อข้าวในราคาแพง แต่ในขณะเดียวกันเกษตรกรเองก็ต้องการขายข้าวให้ได้ในราคาสูง

 “ดังนั้นก็ต้องถั่วเฉลี่ยกันว่าราคาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร แล้วก็สำหรับผู้บริโภคนั้นอยู่ตรงจุดไหน แต่อย่างไรก็ตามเราจะต้องมองในภาพรวมของการขายข้าวในประเทศก่อนว่าประเทศไทยเรานั้นมีกำลังการผลิตข้าวที่ค่อนข้างสูงส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศราวครึ่งหนึ่งจะต้องถูกนำไปส่งออกเพื่อขายให้ได้ในราคาที่สูงกว่าในประเทศ และก็แข่งขันกับผู้ผลิตข้าวในตลาดโลก อีกครึ่งหนึ่งเป็นการซื้อขายข้าวบริโภคกันภายในประเทศ ซึ่งการที่แบ่งข้าวในเกรดของการส่งออกกับเกรดของการบริโภคภายในประเทศ จึงเกิดปัญหาในเรื่องของการเหลื่อมล้ำทางด้านคุณภาพของข้าวและราคาข้าวขึ้นมา

 “เราต้องตระหนักว่าราคาข้าวทั้งหมดมีราคาตลาดโลกอยู่ และเราไม่ใช่ผู้ขายคนเดียวในโลกนี้ที่จะกำหนดราคาข้าวได้เอง ประเทศเพื่อนบ้านก็สามารถปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพได้ใกล้เคียงกับเรา ที่นี่การจะบอกว่าต้นทุนการผลิตเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเกษตรกรที่จะอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การที่เราจะลุกขึ้นมาบอกว่ากำหนดราคาข้าว ด้วยการเอาต้นทุนของเกษตรกรบวกกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่าไปอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่ามีราคาในตลาดโลกแข่งขันกันอยู่ ต้องดูราคาแข่งขันในตลาดโลกเป็นที่ตั้งด้วยไม่ใช่ว่าใครจะมากำหนดราคาเป็นเท่าไรก็ได้

 “บางคนสมัยก่อนบอกว่าก็ทำไมผู้ผลิตไม่เก็บเป็นไซโลหรือทำเหมือนกับน้ำมัน อยากจะบอกว่าข้าวเก็บนานมากไม่ได้เหมือนน้ำมัน ยิ่งเก็บก็ยิ่งเสื่อมราคาก็ยิ่งตกแล้วทุก 3 เดือน ก็จะมีข้าวชุดใหม่ออกมาอีก เพราะว่าเราปลูกได้มากในระยะเวลาสั้น ดังนั้น ข้าวที่เก็บก็จะมีราคาตกลงไปเรื่อยๆ ตามอายุขัยของการเก็บ การเก็บข้าวในสต๊อกเพื่อพยุงราคาจึงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องสำหรับการช่วยเหลือในด้านราคาของเกษตรกรอย่างแน่นอน”

 แต่อย่างไรก็ดี นันทวัลย์ อธิบายต่อว่าทางรัฐบาลก็มีความห่วงใยในเรื่องของปัญหาเกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลออกข้าวหอมมะลินั้นรัฐบาลจะจับตาดูมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ผลักดันให้ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม แล้วก็เป็นธรรมทั้งเกษตรกรแล้วก็ผู้บริโภค

นันทวัลย์ ศกุนตนาค ภารกิจส่งเสริมข้าวหอมมะลิในไทย

 อย่างแรกก็คือเรื่องของการให้เงินกู้ แล้วก็ให้ความรู้ในด้านการเก็บสต๊อกข้าวหอมมะลิอย่าให้ปล่อยข้าวสู่ตลาดมากเกินไป จนเกิดราคาปัญหาราคาข้าวตกต่ำ มีการให้เงินกู้ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ของราคาข้าวในตลาดโดยใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ซึ่งผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาดีตามการคาดการณ์มีชาวนาสามารถไถ่ถอนได้เกือบหมด

 "ตอนนี้ข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพนั้นจัดว่าอยู่ในขั้นดีมาก อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งเราควรรับประทานข้าวไทย มีความเชื่อเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอย่างหนึ่งว่าถ้าไม่อยากอ้วนก็ให้ลดแป้ง เน้นรับประทานกับข้าว แต่อันที่จริงแล้วเมื่อเราดูปริมาณแคลอรีที่ได้จากข้าวถ้วยละ 80 แคลอรี เทียบกับกับข้าวที่ให้พลังงานหลายร้อยแคลอรีนั้นดูแล้วน่าจะอ้วนจากกับข้าวที่เรารับประทานมากกว่า

 "ก็อยากจะเน้นให้ทุกคนมาบริโภคข้าวไทยกันให้มากขึ้น แล้วก็มองในแง่ของความเป็นจริงในหลายๆ ด้านว่าการบริโภคอย่างข้าวอย่างเหมาะสมนั้นจะต้องทำเช่นไร เพื่อส่งเสริมให้คนไทยหันมาบริโภคข้าวกันให้มากขึ้น เพื่อเศรษฐกิจภายในประเทศของเราก็จะได้ดีขึ้น โดยเครื่องหมายรูปพนมมือเอง ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการรับรองว่าผู้บริโภคจะได้ข้างหอมมะลิที่มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศอย่างแน่นอน

 "หลังจากนี้ในขั้นต่อไปของข้าวหอมมะลิ เพียงแค่สอดส่องดูแลให้มีการให้มีการรักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อให้ข้าวมีกลิ่นที่หอมมากขึ้น เพราะว่าทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการค้นคว้าวิจัยออกมาว่าข้าวหอมมะลิ หากมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะให้ข้าวหอมมะลิที่มีกลิ่นหอมมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องคำนึงถึงปริมาณข้าวที่ออกมาในแต่ละปีด้วยว่า มีปริมาณข้าวที่จะออกสู่ตลาดมีปริมาณที่เพียงพอด้วยหรือไม่"

 นันทวัลย์ ฝากทิ้งท้ายต่อว่า นอกจากข้าวหอมมะลิแล้วในตลาดการค้าข้าว ที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในตลาดก็คือข้าวจีไอ หรือข้าวที่ปลูกได้ในเฉพาะท้องถิ่น ซึ่งต้องปลูกเฉพาะพื้นที่นี้เท่านั้น ถึงจะมีคุณภาพเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นโดยตรง

 "เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ข้าวที่ไปจดทะเบียนกับอียู เป็นข้าวที่คุณภาพนั้นผูกติดอยู่กับพื้นที่ในการผลิต หากต้องการรับประทานข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาต้องผลิตจากถ้องถิ่นนี้เท่านั้นถึงจะมีคุณภาพ สร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่นนั้นโดยตรง เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ช่วยทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชท้องถิ่นที่มีการเจริญเติบโตมีลักษณะที่เหมาะสมต่อภูมิประเทศของเขาแล้ว ก็ทำให้ได้สินค้าเข้าออกมามีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นแล้วก็ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรก็จะดีขึ้น ผู้บริโภคก็จะได้รับประทานข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้นด้วยเช่นกัน”