posttoday

ปณิธิ อินทราวุธ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ใจเกินร้อย

17 กรกฎาคม 2560

คนรุ่นใหม่ พอเรียนจบมักจะมองถึงการมีธุรกิจของตัวเอง หลายคนไม่ได้เริ่มต้นในทันทีที่เรียนจบก็เลือกไปทำงานหาประสบการณ์ก่อน

เรื่อง วรธาร ทัดแก้วภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

คนรุ่นใหม่ พอเรียนจบมักจะมองถึงการมีธุรกิจของตัวเอง หลายคนไม่ได้เริ่มต้นในทันทีที่เรียนจบก็เลือกไปทำงานหาประสบการณ์ก่อน แต่พอเห็นโอกาสก็เริ่มทำทันที เหมือน บูม-ปณิธิ อินทราวุธ ผู้ก่อตั้งร่วมและฝ่ายบริหารแบรนด์และการตลาด บริษัท ไวซ์ เมน กรุ๊ป ผู้ให้บริการจัดคอร์สอบรมแนวใหม่ภายใต้แนวคิดสตาร์ทอัพเพื่อสตาร์ทอัพ กับคอร์ส FINE (Future Innovative Entrepreneur) ที่พัฒนาขึ้นจากมุมมองแนวคิดของเขาและเพื่อนอีกสองคน

ปณิธิ หนุ่มเจเนอเรชั่นวายจากกรุงเทพมหานคร มีความฝันอยากทำธุรกิจตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยและคิดว่าในวันหนึ่งข้างหน้าต้องมีธุรกิจของตัวเองตามที่ฝันให้ได้ หลังเรียนจบปริญญาโท 2 ใบ ด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ จาก University of Wisconsin Madison และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงไปทำงานบริษัทเอกชนเพื่อใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนเพิ่มประสบการณ์การทำงานและความรู้ในการทำธุรกิจให้มากขึ้น

"ผมทำการตลาดที่บริษัท โอกิลวี่ อยู่สองปี แล้วลาออกมาทำการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลที่ธนาคารซิตี้แบงก์ 5 ปี และเป็นที่ซิตี้แบงก์ที่ผมได้เจอกับพาร์ตเนอร์อีกสองคน เราทั้งสามไม่ได้เป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่ด้วยความที่ทำงานแห่งเดียวกันแม้จะคนละฝ่ายก็เห็นหน้ากันแทบทุกวัน จึงมีโอกาสได้คุยกันบ่อยๆ และเป็นเพื่อนกัน มีไปเล่นกีฬา แฮงเอาต์ด้วยกัน ทำให้รู้ว่า แต่ละคนก็มีความฝันอยากมีธุรกิจของ ตัวเอง แล้ววันหนึ่งก็พูดคุยกันถึงการทำธุรกิจร่วมกัน"

ปณิธิ อินทราวุธ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ใจเกินร้อย

บูม เล่าต่อว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเทรนด์การทำธุรกิจสตาร์ทอัพเริ่มมาแรง และมีคอร์สอบรมเกิดขึ้นมากมาย จึงคุยกันว่าด้วยจุดเด่นและความสามารถที่มีของแต่ละคนน่าจะทำคอร์สอบรมที่ดีกว่าในตลาดได้ คุยไปคุยมาก็เริ่มทำจริงจังก็คือจัดคอร์สสอนเกี่ยวกับการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ขึ้นมาหรือสตาร์ทอัพนั่นเอง ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายในเวลานี้ ในตอนนั้นก็มีทำกันบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นองค์กรใหญ่ เช่น หน่วยงานรัฐบาล บริษัทใหญ่ๆ ธนาคาร แม้กระทั่งมหาวิทยาลัย ขณะที่ของเขาทำกันแค่สามคน

"พวกเราเห็นว่าไอเดียที่ดีย่อมเป็นหัวเชื้อของการก้าวไปสู่สิ่งใหม่ๆ ได้ไม่ยาก และเพื่อเป็นการจุดไฟในการทำธุรกิจให้กับกลุ่มนิวเจนทั้งหลาย ทั้งระดับบุคคลและเป้าหมายระดับองค์กรโดยมีเครือข่ายคอนเนกชั่นเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ จึงทำคอร์สที่ชื่อไฟน์ (FINE) ขึ้นมา แค่สองเดือนหลังจากคุยกันก็เริ่มเห็นเป็นรูปร่าง พวกเราติดต่อสปีกเกอร์ หาที่เรียน หาคนมาเรียน ทำโบรชัวร์ ทำมาร์เก็ตติ้งต่างๆ พอผ่านไป 4-5 เดือนก็เกิดคอร์สขึ้นมา" ปณิธิ กล่าว

การจัดคอร์สไฟน์สอนเกี่ยวกับการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่หรือสตาร์ทอัพขึ้นมานับเป็นความกล้าของเขาและเพื่อนสองคน เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นคู่แข่งในตลาดคือ มหาวิทยาลัย ธนาคาร องค์กรของรัฐ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ทว่าของเขาเป็นแค่สามคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นด้วยความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม

ปณิธิ อินทราวุธ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ใจเกินร้อย

"เรารู้ว่าเราเป็นใคร แต่เราไม่กลัวที่จะสู้กับผู้เล่นใหญ่ๆ ที่มีในตลาดอยู่แล้ว นี่คือสิ่งสำคัญที่เราคิดว่าควรจะมีในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพในยุคนี้ และเป็นสิ่งที่เราพยายามสอนนักเรียนทุกคนที่เข้ามาเรียน อย่างแรกเลยขึ้นกับมายด์เซตว่า เราต้องเชื่อว่าเราทำได้ โลกในสมัยนี้ไม่จำเป็นว่าคุณต้องอยู่ในบริษัทใหญ่ หรือต้องมีแบ็กอัพใหญ่โตจึงจะแข่งขันได้ แม้เป็นคนธรรมดาทั่วไปขอแค่มีความรู้และความตั้งใจหาความรู้ และมีเน็ตเวิร์กที่ดีก็สามารถทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้" บูมกล่าว

FINE มาจากคำว่า Future Innovative Entrepreneur หมายถึงผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่ใช้นวัตกรรมเข้ามาทำธุรกิจ เป็นคอร์ส 3 เดือน เรียน 12 สัปดาห์ เฉพาะวันเสาร์ หลักสูตรที่สอนเป็นการให้ความรู้การทำธุรกิจสมัยใหม่ โดยใช้แนวทางของสตาร์ทอัพเข้ามาเป็นแบบ ซึ่งตัวแปรสำคัญอยู่ที่เทคโนโลยี

"สตาร์ทอัพมีแนวการทำธุรกิจที่แตกต่างจากเมื่อก่อน ยกตัวอย่างธุรกิจสมัยรุ่นพ่อรุ่นปู่อาจใช้เวลา 20-30 ปี ค่อยๆ สร้างผลกำไร 40 ปี จึงเข้าตลาด แต่เดี๋ยวนี้มายด์เซตในการทำธุรกิจของคนเจเนอเรชั่นนี้ต่างไปแล้ว

ยุคนี้สร้างธุรกิจผ่านเทคโนโลยีผ่านแอพพลิเคชั่นแล้วเข้าตลาดขายภายใน 5 ปีก็ยังได้ ไม่ต้องเหมือนรุ่นปู่รุ่นพ่อ แล้วจะทำยังไง คำตอบมีสอนอยู่ในคอร์สไฟน์ ตลอด 12 สัปดาห์ จะมีสปีกเกอร์เก่งๆ ที่ทำเกี่ยวกับสตาร์ทอัพมาสอน มาแชร์ความสำเร็จและปัญหาที่เคยเจอ

แต่ละคอร์สรับนักเรียน 50 คน มีการแบ่งกลุ่มคิดไอเดียธุรกิจที่อยากทำ ขณะที่พวกผมและสปีกเกอร์จะคอยเป็นโค้ชช่วยทำแผนธุรกิจจนกระทั่งจบคอร์สทุกคนต้องเสนอแผนธุรกิจให้คณะกรรมการ (เหล่าสปีกเกอร์) ได้พิจารณา ผมมั่นใจ 12 อาทิตย์ทุกคนจะรู้ว่าธุรกิจควรทำยังไง ได้แผนธุรกิจกลับไป และมีโอกาสได้เงินทุนไปพร้อมเริ่มทำธุรกิจเลยก็ได้"

ปณิธิ อินทราวุธ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ใจเกินร้อย

ปณิธิ พูดถึงข้อดีของการไปเรียนว่า หลายคนมีไอเดียดี วันๆ เอาแต่นั่งคิด ไอเดีย พอผ่านไปปีสองปีคนอื่นทำก่อนแล้วน่าเสียดาย แต่ถ้าเรียนจะไม่ใช่มีแค่ไอเดีย แต่ธุรกิจที่เป็นจริงจะลดเวลาขึ้นไปเยอะ เพราะใน 3 เดือนจะได้แผนธุรกิจ รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น ต้องใช้เงินเท่าไร ดีหรือไม่ดี ถ้าดีจริงอาจมีคนมาลงทุนด้วย สามารถทำได้เลยไม่ต้องรอเสียเวลาไปปี 2-3 ปี ไม่ต้องมาเสียใจว่าคนอื่นเอาไอเดียนี้ไปทำแล้ว

"การเข้าคอร์สเรียนเป็นตัวกระตุ้นอย่างหนึ่ง พวกผม สปีกเกอร์จะคอยช่วยเขียนแผนธุรกิจ ที่สำคัญในห้องเรียนมีเพื่อนมาจากหลายวงการ เช่น สื่อมวลชน นักกฎหมาย นักการตลาด ไฟแนนซ์ การเงิน ข้าราชการ เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็จะเกิดคอนเนกชั่นที่ดีถ้าจะทำธุรกิจต่อไป ทุกคนรู้จักคุ้นเคยกันหมดเพราะเรารับแค่รุ่นละ 50 คน และตั้งแต่เปิดคอร์สมาผลตอบรับดีมาก ปัจจุบันกำลังเปิดรับรุ่นที่ 5 แล้ว" ปณิธิ กล่าว

นอกจากพัฒนาคอร์สไฟน์ ภายใต้บริษัท ไวซ์ เมน กรุ๊ป ปณิธิกับเพื่อนยังได้แตกไลน์ธุรกิจใหม่ด้วยการเปิดโรงเรียนสอนภาษาสำหรับเด็กอายุ 3-12 ขวบ ภายใต้บริษัท IT Edutainment ที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งมีกำหนดเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัล บางนา ในเดือน ส.ค.นี้ คอร์สและรูปแบบการเรียนจะแตกต่างจากตลาดในประเทศ โดยจะนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีของพาร์ตเนอร์ต่างชาติมาเป็นเครื่องช่วยสอน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจดจำที่ดีและสร้างบรรยากาศการเรียนที่สนุกสนาน n