posttoday

ภรณ มี้ด ครูสอนศิลปะแนวคิดก้าวหน้า

24 พฤษภาคม 2560

หนุ่มหล่อลูกครึ่งไทย-อังกฤษ วัย 32 ปี ภรณ มี้ด เติบโตในครอบครัวที่เป็นทั้งนักวิชาการ อาจารย์ และศิลปิน เขาจึงซึมซับและรักงานด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ

โดย...ภาดนุ ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

หนุ่มหล่อลูกครึ่งไทย-อังกฤษ วัย 32 ปี ภรณ มี้ด เติบโตในครอบครัวที่เป็นทั้งนักวิชาการ อาจารย์ และศิลปิน เขาจึงซึมซับและรักงานด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ ปัจจุบันเขาเป็นทั้งอาจารย์สอนศิลปะที่โรงเรียนนานาชาติ เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศิลปะ “ภรณ สคูล ออฟ อาร์ต” (Paron School of Art) และยังเป็นศิลปินนักวาดภาพซึ่งมีแนวคิดก้าวหน้าอีกด้วย

“ผมเรียนโรงเรียนประถมที่เมืองไทยจนถึง ป.5 ก็ย้ายไปเรียนไฮสกูลที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ช่วงที่เรียนมัธยมผมก็รู้ตัวแล้วว่าตัวเองมีความชอบและถนัดทางด้านศิลปะ ดังนั้นพอจบชั้นมัธยมผมจึงไปเรียนหลักสูตรศิลปะและการออกแบบ จากวิทยาลัยศิลปะแคมเบอร์เวล แล้วเรียนต่อปริญญาตรีด้านการออกแบบที่สถาบันเซ็นทรัล เซนต์ มาร์ตินส์ ในลอนดอน จนคว้าเกียรตินิยมมาได้ จากนั้นจึงเรียนต่อสาขาบัณฑิตศึกษาจากมหาวิทยาลัยซันเดอร์แลนด์ ที่ลอนดอน จนได้ประกาศนียบัตรมาเช่นกัน

ย้อนกลับไปตอนที่เรียนศิลปะที่เซ็นทรัล เซนต์ มาร์ตินส์ บรรยากาศตอนนั้นในความรู้สึกของผมแล้วอินเตอร์มาก ผมมีเพื่อนๆ ชาวยุโรปหลากหลายประเทศ แล้วยังมีอาจารย์สอนศิลปะท่านหนึ่งที่ผมมองว่าเขาเป็นไอดอลของผมเลยล่ะ เพราะนอกจากเป็นอาจารย์แล้วเขายังเป็นศิลปินด้วย แต่ต้องบอกว่าการสอบเข้าเรียนที่เซ็นทรัล เซนต์ มาร์ตินส์นั้นยากมาก เพราะต้องมีการนำเสนอพอร์ตโฟลิโอด้วย ซึ่งผมต้องเตรียมผลงานที่จะพรีเซนต์เป็นอย่างดีจนได้รับเลือกให้เข้าเรียน ผมเรียนอยู่ 4 ปี ต้องบอกว่าที่นี่ให้ทั้งความรู้และประสบการณ์ทางด้านศิลปะกับผมเป็นอย่างดี จะพูดว่าเปิดโลกทัศน์ด้านศิลปะให้ผมเลยก็ว่าได้”

ภรณ มี้ด ครูสอนศิลปะแนวคิดก้าวหน้า

ภรณเล่าว่า ตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่ในลอนดอน เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการขลุกอยู่ในโลกของแกลเลอรี่ โรงเรียน โรงละครโอเปร่าและบัลเลต์ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีเขาได้ทำงานเป็นดีไซเนอร์ให้กับโรงละครขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางหลายแห่ง รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเรียนศิลปะอีกด้วย หลังจากทำงานอยู่พักใหญ่ เขาก็เดินทางกลับมาเมืองไทยเพื่อบวชให้ครอบครัว เนื่องจากแม่ของเขาเป็นคนไทย และเขาก็นับถือศาสนาพุทธมาตั้งแต่เด็ก

“หลังจากสึกออกมาแล้ว ผมก็มีโอกาสได้เข้าไปทำงานด้านการศึกษา โดยไปเป็นครูสอนศิลปะนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ (Harrow International School) แต่กว่าจะเป็นครูได้จริงๆ ผมต้องไปเรียนวิชาชีพครูเพิ่มอีกเป็นปี เพื่อจะได้รู้เทคนิคการถ่ายทอดวิชาศิลปะไปสู่เด็กนักเรียนให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ตอนนั้นผมอายุ 25 ปีได้ ผมเลยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่โรงเรียนอยู่ 5 ปีเต็ม และค้นพบว่าผมชอบการสอนศิลปะให้เด็กๆ เป็นอันมาก ผมจึงปิ๊งไอเดียในการตั้งโรงเรียนสอนศิลปะของตัวเองที่ชื่อ ‘ภรณ สกูล ออฟ อาร์ต’ ขึ้นมา พอเปิดโรงเรียนได้ไม่นานก็ได้รับฟีดแบ็กที่ดีมากๆ ประกอบกับช่วงนั้นกระแสการเรียนศิลปะกำลังมา ทำให้มีคนรู้จักและมีเด็กนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนของผมมากยิ่งขึ้น”

ภรณบอกว่า โรงเรียนสอนศิลปะของเขาจะไม่เน้นเปิดเป็นโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่มากนัก เพราะจะได้ดูแลเด็กนักเรียนได้อย่างทั่วถึง หลังจากเปิดมาได้ 2 ปีกว่า ปัจจุบันก็สามารถจ้างครูสอนศิลปะที่เก่งๆ มาช่วยสอนได้หลายคน โดยเปิดเป็นฮอลิเดย์ โปรแกรมให้เด็กๆ ได้สมัครเข้ามาเรียน ซึ่งในช่วงปิดเทอมก็จะมีเด็กๆ มาเรียนเกือบเต็มคลาส

ภรณ มี้ด ครูสอนศิลปะแนวคิดก้าวหน้า

“แนวทางการสอนศิลปะของผมจะเน้นด้านไฟน์อาร์ตเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งการวาดรูป การปั้น การถ่ายรูป และงานมิกซ์มีเดีย โดยผมจะสอนแบบนอกกรอบ พร้อมทั้งมีกิจกรรมต่างๆ ให้ได้ทำกัน เพราะอยากให้เด็กๆ ที่มาเรียนศิลปะกับเราได้มีความรู้พื้นฐานที่สามารถไปเรียนต่อทางด้านดีไซน์ได้ ซึ่งตัวผมเองก็เรียนจบมาทางด้านนี้ จึงเข้าใจจุดมุ่งหมายของเด็กๆ ที่รักการดีไซน์เป็นอย่างดี

นักเรียนที่เรียนกับผมมีตั้งแต่ 7 ขวบไปจนถึงระดับมัธยม แม้แต่คนวัย 89 ปียังเคยมาเรียนเลยล่ะ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเขาต้องการจะค้นหาความชอบในตัวเองที่ในอดีตเขาไม่มีโอกาสได้ทำ แต่เมื่อมาเรียนศิลปะเพิ่มเติม จึงช่วยให้เขาเข้าใจตัวเองมากขึ้น แล้วศิลปะยังสร้างความสุขและความผ่อนคลายด้านจิตใจให้กับเขาได้อีกด้วย”

ภรณบอกว่า ปัจจุบันเขายังเป็นครูสอนศิลปะแบบพาร์ตไทม์ให้กับโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์อยู่ด้วย ซึ่งในมุมมองของเขาแล้ว เขาคิดว่าศิลปะมีความสำคัญกับมนุษย์เราเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนมีความคิดและไอเดียที่สดใหม่อยู่เสมอ

“สมมติว่าคุณมีลูกวัย 3 ขวบกำลังจะเข้าเรียนอนุบาลในปีนี้ กว่าลูกคุณจะเรียนจบปริญญาตรีก็น่าจะประมาณปี 2036 โน่นเลย ซึ่งในแวดวงการศึกษาแล้ว เราไม่สามารถทำนายได้ล่วงหน้าเลยว่า ในอนาคตจะมีอาชีพอะไรเกิดใหม่บ้าง แต่ทักษะที่สำคัญที่สุดที่เด็กยุคนี้ต้องมีก็คือ ความคิดที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่เขาสามารถมองเห็นว่าตัวเองมีความแตกต่างจากคนรอบข้าง และทำให้เขาเห็นโอกาสใหม่ๆ ในอาชีพที่คนอื่นอาจจะมองไม่เห็นก็เป็นได้

ภรณ มี้ด ครูสอนศิลปะแนวคิดก้าวหน้า

หลักๆ แล้วผมเชื่อว่าการเรียนศิลปะจะช่วยให้คนเราเข้าใจตัวเองมากขึ้น รวมทั้งเข้าใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น โดยส่วนตัวผมเอง ตั้งแต่เด็กๆ ศิลปะก็เป็นสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจ ทำให้มีชีวิตชีวา แล้วยังสามารถสร้างความคิดที่แตกต่าง และช่วยให้ค้นพบอาชีพหรืองานอื่นๆ ในอนาคตได้

ตอนนี้ในเมืองไทยยังมีคนสนใจในเรื่องศิลปะน้อยอยู่ ส่วนใหญ่จะให้ความสนใจในเรื่องดีไซน์มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่เราดู อาหารที่เรากิน หรือเฟอร์นิเจอร์ที่เรานั่ง ซึ่งในวันเสาร์-อาทิตย์ หลายคนมักไปเดินห้างเพื่อจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ทางด้านดีไซน์ต่างๆ เหล่านี้ แล้วใช้เงินกับงานดีไซน์เยอะมาก ผมจึงคิดว่าตอนนี้คนไทยควรเลิกมองศิลปินอินเตอร์ได้แล้ว แต่ควรสร้างศิลปินหรือดีไซเนอร์ของตัวเองขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็น่าดีใจที่ปัจจุบันนี้เริ่มมีศิลปินหรือดีไซเนอร์หน้าใหม่ๆ ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ”

ภรณบอกว่า ในฐานะที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศิลปะและเป็นครูสอนศิลปะด้วย โดยส่วนตัวแล้วเขารู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้ทำหน้าที่ครู เพราะในความเห็นของเขาแล้ว คนไทยมักไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับอาชีพครูสักเท่าไหร่ สาเหตุอาจเป็นเพราะระบบการศึกษาของไทยยังไม่ก้าวหน้าเหมือนประเทศในยุโรปก็เป็นได้

“ตอนผมเริ่มเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนนานาชาติ ก็มีเพื่อนๆ หลายคนพูดว่า จะเหนื่อยเปล่าๆ นะ จะคุ้มกับที่ทำเหรอ เพราะผมคนเดียวไม่น่าจะสร้างประโยชน์อะไรในแวดวงการศึกษาได้มากนักหรอก แต่ผมก็มีแนวคิดในแบบของตัวเองที่ว่า อยากจะมีส่วนช่วยสร้างระบบการเรียนศิลปะในแบบของผมที่อยากให้เมืองไทยได้มี ได้เป็น และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าเดิม ผมว่าถ้ามีครูท่านอื่นๆ ที่คิดอย่างผมเยอะๆ สังคมก็น่าจะดีขึ้นได้ ตอนนี้ผมก็ทำหน้าที่ของผมอยู่ แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ ก็ตาม

ภรณ มี้ด ครูสอนศิลปะแนวคิดก้าวหน้า

สำหรับผมโอกาสที่ได้เป็นครูสอนศิลปะหรือเป็นศิลปินนักวาดรูปก็ถือว่าเป็นสองอาชีพที่ไปด้วยกันได้ อย่างนักเรียนที่เรียนกับผม ผมก็อยากให้เขาได้ซึมซับในเรื่องศิลปะไปให้ได้มากที่สุด เมื่อเรียนจบคอร์สไปก็อยากให้พวกเขามีความเชื่อมั่นว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่เก่งและมีความสามารถในเรื่องศิลปะ เพราะเมื่อคิดแบบนี้แล้ว พวกเขาก็จะสามารถนำศิลปะไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน” (ติดตามได้ที่ FB/IG : Paron School of Art)

ภรณทิ้งท้ายว่า นอกจากงานในอาชีพของตัวเองแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้เขาและ “ภรณ สกูล ออฟ อาร์ต” ยังร่วมมือกับมูลนิธิสติ และเดอะฮับสายเด็ก จัดทำโครงการ “รันอะเวย์ อแวร์เนส” เพื่อสังคม โดยนำเด็กๆ ที่หนีออกจากบ้าน มาร่วมกันสรรค์สร้างศิลปะบนรถเมล์สาธารณะสาย ปอ.48 ซึ่งจะวิ่งไปทั่วกรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้คนให้ตระหนักถึงปัญหาเด็กหายหรือเด็กหนีออกจากบ้านในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยช่วยกันถ่ายภาพและแชร์ลงบนโซเชียลมีเดีย เพื่อกระจายการรับรู้ให้ผู้คนในสังคมได้กว้างยิ่งขึ้น

“ในวันที่ทำกิจกรรมเป็นวันที่ดีมากๆ สำหรับผม เพราะมีทั้งเด็กจากโรงเรียนอินเตอร์และเด็กที่หนีออกจากบ้านมาสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมกันบนรถเมล์คันนั้น ซึ่งผมมองว่ามันเปรียบเสมือนการสร้างครอบครัวใหม่ขึ้นมา และทำให้เชื่อมั่นว่า ถ้าเราอยากทำดีในเรื่องใดก็ตามให้ลุกขึ้นมาทำเถอะ เพราะผมเชื่อว่าเราก็จะพบคนดีๆ ที่อยากจะมาร่วมทำสิ่งดีๆ กับเราแน่นอน”