posttoday

โลกไอทีเร่งพัฒนาเอไอ หวังคุมไลฟ์เสี่ยง

30 เมษายน 2560

ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีไล่ตั้งแต่ในสิงคโปร์ไปจนถึงฟินแลนด์ ต่างกำลังแข่งกันพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

โดย...กิตติณัฏฐ์ จันทร์สุเทพ

ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีไล่ตั้งแต่ในสิงคโปร์ไปจนถึงฟินแลนด์ ต่างกำลังแข่งกันพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อช่วยคัดกรอง ค้นหา และบล็อกภาพวิดีโอที่มีความรุนแรงที่ถ่ายทอดสดในโลกออนไลน์ ก่อนที่จะเป็นกระแสลุกลามไปทั่วอินเทอร์เน็ต ทว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่อ้างได้ว่าสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้ทั้งหมดแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ เหตุฆาตกรรมลูกสาววัย 11 เดือน ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์ นับเป็นเหตุรุนแรงครั้งล่าสุดที่มีการถ่ายทอดสดในโลกออนไลน์ ทำให้เกิดคำถามต่อ “ประสิทธิภาพการทำงานของระบบการแจ้งเหตุรุนแรงบนเฟซบุ๊กและการคัดกรองเนื้อหา” เนื่องจากวิดีโอที่มีความรุนแรงมักปรากฏให้เห็นได้ง่าย และทำให้บริษัทต่างๆ พยายามเร่งแก้ปัญหานี้ ซึ่งรวมถึงกูเกิลที่ประสบปัญญาเดียวกันบนเว็บไซต์ยูทูบ

ผู้ประกอบการหลายรายต่างมุ่งไปยังด้าน “การเรียนรู้เชิงลึกของเอไอ” โดยสร้างระบบประสาทเสมือนจริงที่เลียนแบบการทำงานของมนุษย์ นำมาพัฒนากับเอไอ เพื่อให้สามารถตรวจจับภาพ รวมถึงวิดีโอที่ก่อให้เกิดความรุนแรงได้ โดยเป็นการต่อยอดมาจากความพยายามในช่วงทศวรรษที่ 50 ที่เลียนแบบการทำงานของระบบประสาทที่ทำงานเชื่อมต่อกับสมอง

แมตต์ เซียเลอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัท คลาริฟาย บริษัทวิเคราะห์วิดีโอในสหรัฐ ระบุว่า การพัฒนาให้เอไอมีระบบประสาทเสมือนจริงที่ตรวจจับภาพวิดีโอรุนแรง เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมนุษย์เพิ่งจะมีคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังมากพอ และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสอนให้คอมพิวเตอร์แยกแยะสิ่งเหล่านี้ได้

การเรียนรู้ด้วยภาพ

การพัฒนาเอไอในระยะเริ่มแรก ให้สามารถตรวจจับภาพความรุนแรงได้ เริ่มจากการใส่รูปภาพจำนวนมากเข้าไปในคลังสมองของคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เอไอสามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดคือป้ายบอกทางบนถนนหรือวิดีโอที่มีความรุนแรง

อภิจิต ชานพัก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเกรย์มาทิก ในสิงคโปร์ ระบุว่า ภาพความรุนแรงต่างๆ ที่ป้อนให้เอไอเรียนรู้นั้น มีตั้งแต่การทำร้ายร่างกายไปจนถึงเลือด ซึ่งบางครั้งหากไม่สามารถหาภาพหรือวิดีโอที่ต้องการได้ ทีมวิศวกรก็จะลงมือจัดฉากถ่ายทำวิดีโอด้วยตนเอง ขณะที่เซียร์เลอร์ระบุว่า ระบบอัลกอริทึ่มของคลาริฟาย สามารถแยกแยะวัตถุในวิดีโอได้แล้ว เช่น มีด หรือ ปืน

แม้ว่าการใช้คลังภาพจำนวนมากจะช่วยให้เอไอคัดกรองวิดีโอต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่ระบบนี้ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะปัจจุบันมนุษย์เริ่มคิดหาวิธีแปลกๆ ก่อเหตุสยองมากขึ้น ซึ่งเกินความสามารถของเอไอที่จะคัดกรองได้

ข้อจำกัดอย่างที่ 2 คือ แต่ละคนมีมุมมองต่อภาพของความรุนแรงแตกต่างกัน จุนเล วัง หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัท พิกเพียวริฟาย ในฝรั่งเศส ระบุว่า ภาพที่มีองค์ประกอบของความรุนแรง อาทิ เลือดหรืออาวุธนั้นสามารถคัดกรองได้ง่าย แต่บริษัทกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในการคัดกรองภาพที่ไม่มีองค์ประกอบของอาวุธหรือเลือด เช่นเดียวกับภาพการทำร้ายร่างกายซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ยากในการตรวจพบ รวมถึงภาพที่เป็นสื่อของเหตุรุนแรง เช่น ภาพธงของกองกำลังติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส)

การทำงานของมนุษย์ยังสำคัญ

มิกา โรเชียเนน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท วาลอสซ่า ในฟินแลนด์ ระบุว่า แม้การเข้ามาของเอไออาจช่วยให้ปัญหานี้แก้ไขได้ง่ายขึ้น แต่การทำงานของมนุษย์ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นในการตรวจสอบยืนยันเนื้อหา เช่นเดียวกับ วัง ที่ระบุว่า การใช้เอไอเพื่อระบุถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งานอาจเป็นเพียงแค่ตัวชี้วัด

อย่างไรก็ดี โรเชียเนน ให้ความเห็นว่า การปรับตัวของภาคธุรกิจต่อเรื่องดังกล่าวยังช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากแต่ละบริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัทซึ่งต้องจัดการกับเนื้อหาที่ผลิตโดยคนนอกทั่วไป ก็อาจต้องเผชิญการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้นจากภาครัฐเช่นกัน