posttoday

ลูกหลานออนไลน์ พ่อแม่ไซเบอร์

22 เมษายน 2560

ปัจจุบันโลกไซเบอร์และออนไลน์ที่มีโซเชียลมีเดียเป็นตัวกลางส่งผ่านพลังของอินเทอร์เน็ตที่สามารถย่อโลกทั้งใบด้วยเพียงปลายนิ้ว

โดย...จันทร์ลดา หารอ่อนตา, พริบพันดาว

 ปัจจุบันโลกไซเบอร์และออนไลน์ที่มีโซเชียลมีเดียเป็นตัวกลางส่งผ่านพลังของอินเทอร์เน็ตที่สามารถย่อโลกทั้งใบด้วยเพียงปลายนิ้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าธรรมชาติของเด็กคืออยากรู้อยากเห็น ฉะนั้นพ่อแม่ควรประเมินตัวเองก่อนที่จะอนุญาตให้ลูกเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตว่า เนื้อหาอะไรจัดอยู่ในเกณฑ์ไม่เหมาะสม เพราะแค่เพียงคลิกเดียวลูกสามารถเสพข้อมูลเนื้อหาเหล่านั้นได้

 ดังนั้น พ่อแม่จึงควรทำความเข้าใจกับลูกถึงการเข้าถึงข้อมูลเนื้อหาว่าอะไรที่ไม่เหมาะสม และอะไรยอมรับได้ ทั้งในอินเทอร์เน็ต เกม สื่อสังคมออนไลน์ และแอพพลิเคชันต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มมึนเมา ยาเสพติด และเรื่องลามกอนาจาร

 การตรวจสอบข้อมูลให้เหมาะสมกับวัยเพื่อให้พ่อแม่เป็น "ดิจิทัล เซฟวี่" (Digitally Savvy) หรือผู้ที่รู้จักและเข้าใจการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะต้องมีความรู้และเข้าใจว่าโลกอินเทอร์เน็ตคืออะไร ทำไมต้องสอนลูกให้รู้จักอินเทอร์เน็ต วิธีการสอนลูกอย่างไรให้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างชาญฉลาด ภัยที่พ่อแม่ต้องระวัง พฤติกรรมการกลั่นแกล้งอินเทอร์เน็ตคืออะไร พฤติกรรม Sexting และพฤติกรรมออนไลน์อื่นๆ ที่จะนำพาไปสู่ปัญหาในสังคม รวมถึงการรู้จักแอพพลิเคชั่นที่เด็กและเยาวชนใช้กัน ทำให้เกิดพลวัตของการสร้างสังคมดิจิทัลที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง

เลี้ยงลูกยุคดิจิทัล

 เทรนด์ของโลกบ่งชี้การเติบโตของอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด สังเกตได้จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (Active Internet Users) ที่มีกว่า 3,200 ล้านคน คิดเป็น 41 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลกกว่า 7,200 ล้านคน เฉลี่ยการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นว่าพลังของอินเทอร์เน็ตมีคุณค่ามหาศาลสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วมาก

 เยาวชนเป็นกลุ่มที่เกิดมาในยุคแห่งดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตเต็มตัว หรือที่เรียกว่าพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen)

ลูกหลานออนไลน์ พ่อแม่ไซเบอร์

 ดังนั้น การปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ (A Good Digital Citizen) เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนในการผลักดันเพื่อสร้างรากฐานและค่านิยมที่ดีให้เยาวชนเกิดการรับรู้ รู้จักใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในเชิงสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือรู้จักรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่ไปด้วยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)

 สถิติเด็กร้อยละ 59 หันหลังให้พ่อแม่และเลือกที่จะปรึกษาเพื่อน หรือคนที่ไม่รู้จักบนโลกอินเทอร์เน็ตแทน และเด็กกว่าร้อยละ 48 ไม่มีภูมิคุ้มกันตนเองและถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์  องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กับดีแทค ร่วมกับ เทเลนอร์ กรุ๊ป ผนึกกำลังร่วมสร้างสังคมพ่อแม่ยุคดิจิทัล

 ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น  หรือดีแทค กล่าวว่า การมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Child-Friendly Business) ซึ่งเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มลูกค้าฐานใหญ่ที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึงร้อยละ 75 และมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึง 54.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน)

 “ดังนั้น สิ่งที่เรารับผิดชอบควบคู่ไปพร้อมกับการให้บริการที่มีคุณภาพ คือการสร้างสังคมดิจิทัลที่เข้มแข็ง (Digital Resilience) โดยการปลูกฝังและสร้างการรับรู้ให้พวกเขาตระหนักถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้รู้สิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) พร้อมชี้ให้เห็นโอกาสใช้ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้”

 โครงการ Safe Internet อินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยคู่มือนี้จะทำให้พ่อแม่เข้าใจอินเทอร์เน็ตและเข้าใจลูกในยุคดิจิทัลมากขึ้น วาเลรี ตาตอน รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตของเด็กและเยาวชน โดยผลสำรวจครัวเรือนที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศไทยในปี 2558 แสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.3 ในปี  2554 เป็นร้อยละ 58 ในปี 2558 และอัตรานี้กำลังเพิ่มขึ้นทุกปี

 “ในขณะที่อินเทอร์เน็ตช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้มหาศาลและสร้างพื้นที่ให้พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ  แต่โอกาสนี้ก็มาพร้อมความเสี่ยง ขณะนี้ยูนิเซฟกำลังเน้นทำงานเพื่อป้องกันเด็กจากความเสี่ยงและอันตรายจากการใช้โลกออนไลน์ ยูนิเซฟเห็นว่าภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการช่วยคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ เช่น รณรงค์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกออนไลน์ และเห็นความจำเป็นในการดูแลและให้คำแนะนำแก่เด็กๆ ในการใช้โลกออนไลน์”

ลูกหลานออนไลน์ พ่อแม่ไซเบอร์

มุมมองจากยูนิเซฟ

 วัฒนธรรมไซเบอร์ย่อมหมายถึงแบบแผน บรรทัดฐาน และวิธีการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์หรือโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นโลกเสมือนจริง (Virtual World) ที่ปรากฏในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงของวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคม วัฒนธรรมมีการเกิด การคงอยู่เพื่อการถูกใช้ และการเสื่อมสลายในที่สุด

 วัฒนธรรมแต่ชนิดประเภทจะมีความเหมาะสมกับยุคสมัยในแต่ละยุคสมัย เมื่อมีวัฒนธรรมใหม่ประเภทเดียวที่มีความเหมาะสมมากกว่าเกิดขึ้น โซเชียลมีเดีย (Social Media) หมายถึง สื่อสังคมออนไลน์ที่มีการตอบสนองทางสังคมได้หลายทิศทาง โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต พูดง่ายๆ ก็คือเว็บไซต์ที่บุคคลบนโลกนี้สามารถมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันได้นั่นเอง

 โธมัส ดาวิน ผู้แทนกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูนิเซฟ (United Nations Children's Fund - UNICEF) ประเทศไทย ได้เขียนในหนังสือ "คู่มือพ่อแม่ยุคดิจิทัล เข้าใจลูก เข้าใจโลกไซเบอร์" ไว้ว่า

 อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ได้กลายเป็นสิ่งคุ้นเคยในชีวิตของเด็ก ทุกวันนี้ เด็กๆ สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างคล่องแคล่ว และอาจนึกไม่ออกว่าคนรุ่นพ่อแม่ของเขาติดต่อกับเพื่อนๆ ได้อย่างไรหากไม่มีโซเชียลมีเดีย อินเทอร์เน็ตเปิดโอกาสในการเติมเต็มสิทธิเด็กในหลายๆ ด้าน

 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุว่า เด็กมีสิทธิในการได้รับการศึกษา ในการได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงการแสดงความคิดเห็น และมีคนรับฟังความคิดเห็นเหล่านั้น อินเทอร์เน็ตสามารถนำครูและสื่อการเรียนการสอนที่จำเป็นไปสู่เด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลที่สุด และช่วยให้เด็กๆ กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงฐานความรู้ได้เช่นเดียวกับเด็กอื่นๆ

 ในขณะเดียวกันเมื่อความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีระหว่างเด็กและพ่อแม่มีมากขึ้น ความเสี่ยงต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน พ่อแม่มักจะไม่รู้ว่าลูกของตนกำลังทำอะไรบนอินเทอร์เน็ต การขาดความรู้และความเข้าใจทำให้พ่อแม่ไม่สามารถแนะนำลูกอย่างเพียงพอ

ลูกหลานออนไลน์ พ่อแม่ไซเบอร์

 โลกออนไลน์ก็เหมือนกับโลกในชีวิตจริงที่มีสิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ การแชร์รูปเด็กที่ไม่เหมาะสม และการถูกตะล่อมหรือล่อลวงโดยผู้ที่ไม่หวังดีเพื่อการล่วงละเมิดทางเพศ

 ถึงแม้เด็กอาจดูเหมือนว่ามีความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ต แต่ผู้ใหญ่ไม่ควรคาดหวังว่าเด็กจะสามารถปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยจากความเสี่ยงเหล่านี้ได้เสมอไป นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องส่งเสริมให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่เด็กไว้ใจได้พูดคุยกับเด็กและแนะนำเพื่อนให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

เสียงจากผู้เชี่ยวชาญ

 ผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม ทั้งปัญหาการติดอินเทอร์เน็ต การถูกกลั่นแกล้ง การถูกหลอกลวง เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ถ้ารู้ไม่ทัน โดยเฉพาะเหตุการณ์น่าเศร้าที่เกิดกับเด็กและวัยรุ่น หนังสือ "คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กและวัยรุ่น" ของชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งกติกาและการจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยแนะนำว่าควรร่วมกับเด็กในการกำหนดกฎหรือกติกาการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งระยะเวลาในการใช้อินเทอร์เน็ตที่เหมาะสม คือไม่เกิน 1 ชั่วโมง ในวันธรรมดาและไม่เกิน 2 ชั่วโมงในวันหยุด และคอยให้คำชมเมื่อเด็กทำได้

 รวมถึงควรฝึกให้เด็กมีวินัย รู้จักแบ่งเวลาในการใช้อินเทอร์เน็ต โดยอนุญาตให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตได้ต่อเมื่อรับผิดชอบทำกิจวัตรประจำวัน และงานบ้านที่ได้รับมอบหมายได้เสร็จเรียบร้อย ผู้ปกครองอาจพิจารณาการจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อจำกัดการใช้ของเด็ก เช่น การยกเลิกการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (High-Speed Internet) แล้วเปลี่ยนมาใช้ Air Card เพื่อการเช็คอีเมลและการทำงานเท่านั้น

 เมื่อลูกติดอินเทอร์เน็ตรุนแรงและเด็กต่อต้านอย่างมากในการเลิก ผู้ปกครองควรพยายามเข้าถึงลูกทำความเข้าใจสิ่งที่เด็กได้รับจากการใช้อินเทอร์เน็ต แสดงความสนใจในสิ่งที่เด็กกำลังสนใจโดยไม่ตำหนิ หากเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรืออันตราย ผู้ปกครองควรพยายามเบี่ยงเบน แนะนำเตือน และช่วยกันคิดทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่า

 หากทำทุกวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล ผู้ปกครองควรพาเด็กมาพบจิตแพทย์เด็ก เนื่องจากเด็กอาจมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ลึกๆ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น ฯลฯ เพื่อรับการวินิจฉัยและบำบัดรักษาต่อไป

 ในบทที่ 3 สอนลูกอย่างไร...ให้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างชาญฉลาด ของหนังสือ "คู่มือพ่อแม่ยุคดิจิทัล เข้าใจลูก เข้าใจโลกไซเบอร์" แนะนำว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย ทำให้การเป็นพ่อแม่สมัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่จึงควรเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับการออนไลน์ตั้งแต่เนิ่นๆ และสอนให้ลูกรู้เท่าทันอันตรายต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต และการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นของลูก

 การตั้งกฎกติกาในการออนไลน์ พ่อแม่ควรตั้งกฎกติกาในการออนไลน์ขึ้นเพื่อให้ลูกรู้จักใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้องและเหมาะสม เช่น ให้ลูกขออนุญาตพ่อแม่ก่อนจะดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นลงในโทรศัพท์มือถือ หรือหากลูกต้องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ใดๆ ต้องให้พ่อแม่มีส่วนในการคัดเลือกและร่วมตั้งข้อมูลส่วนตัว รวมถึงค่าความเป็นส่วนตัวและค่าความปลอดภัยด้วยกัน เปิดใจคุยกัน

 พ่อแม่คือบุคคลที่รู้จักลูกของตนเองดีกว่าคนอื่น จึงควรนั่งคุยกับลูกถึงเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต ตั้งแต่การใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าเพื่อความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง หรือการใช้สร้างโอกาสต่างๆ เปิดใจ สนุกกับการเรียนรู้โลกกว้างผ่านอินเทอร์เน็ตไปด้วยกัน ขณะเดียวกันควรคุยถึงอันตรายต่างๆ ที่แอบแฝงมากับอินเทอร์เน็ต ด้วยคำพูดง่ายๆ สบายๆ ให้เหมาะสมกับช่วงวัยและอุปนิสัยของลูก

ลูกหลานออนไลน์ พ่อแม่ไซเบอร์

 หากลูกใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ก่อนแล้ว พ่อแม่ควรทราบว่าลูกเข้าเว็บไซต์อะไร ใช้แอพพลิเคชั่นอะไรบ้าง จำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นนั้นด้วยว่ามีคุณสมบัติอะไร มีความเสี่ยงหรือไม่ เช่น ลูกติดต่อกับคนแปลกหน้า หรือโดนกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์บ้างหรือไม่ พยายามบอกลูกว่า หากมีใครทำให้ลำบากใจ หรือพูดอะไรที่เป็นการทำร้าย หรือทำให้เจ็บปวดอับอายทางออนไลน์ ให้บอกพ่อแม่รู้ทันที และให้การรับรองว่าพ่อแม่จะไม่ต่อว่าซ้ำเติม เพื่อให้ลูกอุ่นใจว่า หากเกิดอะไรขึ้นลูกสามารถเล่าให้พ่อแม่ฟังได้ทุกเรื่อง จะได้ช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที

 พ่อแม่ควรสอนลูกว่า "รหัสผ่าน" หรือ "พาสเวิร์ด" เป็นความลับสุดยอด เป็นข้อมูลส่วนตัวที่ควรบอกให้พ่อแม่รู้ แต่ไม่ให้คนอื่นรู้ แม้กระทั่งเพื่อนสนิทหรือแฟนก็ตาม เพราะเมื่อคนอื่นรู้รหัสผ่าน ก็จะสามารถเจาะเข้ามาในข้อมูลส่วนตัวได้ เสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพสวมรอยนำไปใช้ในทางไม่ดีในโลกออนไลน์ได้

 คิด...ก่อนเข้าสู่สังคมออนไลน์ นอกเหนือจากการมีมารยาทในการเข้าสังคมทั่วไป การเข้าสู่สังคมออนไลน์ก็ต้องมีมารยาทด้วยเช่นกัน ถามตนเองก่อนว่า เราควรเขียนข้อความ (หรือรูปภาพ) พวกนี้จริงหรือ แล้วถามต่อว่า "มีใครต้องเจ็บปวดเสียหายจากสิ่งนั้นหรือไม่" การใช้เวลาเพียงแค่ 10 หรือ 30 วินาทีเพื่อทบทวนก่อนตัดสินใจเขียนอะไรลงไปในโลกออนไลน์ ถือเป็นมารยาทและความรับผิดชอบอย่างยิ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

 หากข้อความหรือรูปภาพที่เราส่งต่อในสังคมออนไลน์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้คนในครอบครัวรับรู้ ก็ขอให้ตระหนักเลยว่า เรื่องนั้นคงไม่เหมาะที่จะเขียนหรือส่งต่อไป และสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อโพสต์อะไรไปแล้วก็ยากที่จะลบให้หมดสิ้น เพราะอาจมีคนอื่นเอาไปส่งต่อแล้ว

 จำกัดอายุผู้ใช้ไว้ในอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด พ่อแม่ควรจำกัดอายุผู้ใช้ไว้ในโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เหมาะสมกับพัฒนาการและวุฒิภาวะของลูก ดังนี้

 + เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ไม่ควรใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีและการสื่อสารทุกชนิด

 + เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ไม่ควรใช้อินเทอร์เน็ตตามลำพัง

 + เด็กอายุ 6-12 ปี ควรใช้อินเทอร์เน็ตภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง

 + เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ควรใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์

 เนื่องจากฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ทั้งหลายในคอมพิวเตอร์มีการปรับเปลี่ยน หรืออัพเดทอยู่ตลอด ฉะนั้นพ่อแม่จึงควรทำความเข้าใจการใช้งานของอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้เท่าทันเทคโนโลยีและปกป้องลูกให้ออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

แอพลิเคชั่นของผู้ปกครอง

 เชื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนคงมีปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัล โดยมีอินเทอร์เน็ตและระบบออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น อุปกรณ์อย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต กลายเป็นสิ่งที่อยู่ติดมือเด็ก ขณะที่สื่อในออนไลน์ที่มีอยู่อย่างไร้ขอบเขตเข้ามามีอิทธิพลต่อการปลูกฝังเด็กในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองความคิด ลักษณะนิสัย รวมไปถึงพฤติกรรม ที่เป็นปัญหาในการเลี้ยงลูกของคนในยุคปัจจุบัน

 จากผลสำรวจของดีแทคที่มาจากผู้ปกครองโดยตรง พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ประมาณ 80% ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองให้ใช้อินเทอร์เน็ตแทบตลอด 24 ชั่วโมง บางครอบครัวพ่อแม่ผู้ปกครองถึงกับปลอมอายุเพื่อสร้างบัญชีเปิดเฟซบุ๊กให้กับลูก เรียกได้ว่าเป็นปัญหาครอบครัวในยุคดิจิทัลเกือบ 100% เลยทีเดียว

 และแนวโน้วการใช้อินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบันก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ใหญ่มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 6 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น เมื่อเทียบกับเด็กในช่วงอายุ 6-14 ปี ที่มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูงเทียบเท่ากับเด็กวัยรุ่นอายุ 15 ปีขึ้นไป

 นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเด็ก เพราะเด็กจะสูญเสียพัฒนาการที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านการอ่าน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร ซึ่งจะทำให้สูญเสียพัฒนาการเข้าสังคม บางกรณีเด็กจะไม่สามารถแยกโลกของอินเทอร์เน็ตกับโลกของความเป็นจริงได้

 โดยเฉพาะในเด็กที่ต่ำกว่า 13 ปี ที่มีพัฒนาการในด้านการจดจำ ที่จะส่งผลในระยะยาวในอนาคต เพราะอินเทอร์เน็ตที่เด็กเข้าถึงนั้นอาจจะส่งผลกระทบทั้งในด้านดีและด้านเสีย

 ขณะเดียวในเด็กที่มีช่วงอายุ 13 ปีขึ้นไปนั้นจะเป็นช่วงของวัยรุ่น หากผู้ปกครองไม่เคยสร้างวินัยในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตตั้งแต่เด็ก การดูแลควบคุมอาจจะเกิดการต่อต้านที่รุนแรงได้ ฉะนั้นการดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีการคัดกรองให้เด็กมีพื้นที่สีขาว เรียนรู้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเติบโตขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่

 “การสร้างพื้นที่สีขาวให้กับเด็กก่อนอายุ 13 ปี รัฐบาลและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องกำหนดนโนบายในการบล็อกเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมแก่เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เช่นเดียวกับผู้ผลิตแพลตฟอร์มและคอนเทนต์ ควรมีการจัดความเหมาะสมของเนื้อหา แต่การเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลก็ยังคงเป็นหน้าที่ของครอบครัวที่จะต้องให้ความเอาใจใส่แก่คนในครอบครัวด้วย” นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

 อรอุมา ฤกษ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยังยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี 2559 ในกลุ่มเด็กใช้อินเทอร์เน็ต 51.6% อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และ 47.4% ใช้ทุกวัน โดยระยะเวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนมากที่สุด 82.8% ตามสถานที่ต่างๆ 58% และที่บ้าน 48.4% ผ่านคอมพิวเตอร์เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 83.3% ตามด้วยสมาร์ทโฟน 59% และแท็บเล็ต 18.1%

 “จากปัญหาดังกล่าว ดีแทคซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการเครื่อข่ายอินเทอร์เน็ตกับลูกค้ากว่า 25 ล้านรายทั่วประเทศจึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Dtac Family Care เพื่อเข้ามามีบทบาทในการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ผู้ปกครองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้ครอบครัวดูแลกันได้อย่างใกล้ชิด

 “โดยมีฟังก์ชั่นการใช้งานในการควบคุมการโทรและสามารถระบุเวลาในการใช้งาน หรือกำหนดเบอร์ที่สามารถติดต่อได้ ควบคุมการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ติดตามความปลอดภัยด้วยระบบระบุตำแหน่งแบบเรียลไทม์ สร้างขอบเขตพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือนคนในครอบครัวได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมไปถึงติดตามโทรศัพท์ที่สูญหาย หรือป้องกันข้อมูลจากระยะไกลได้ ซึ่งถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี”

สัญญาณบ่งชี้ว่าเด็กและวัยรุ่นเสพติดอินเทอร์เน็ต

 1.หมกมุ่นอยู่กับการใช้อินเทอร์เน็ต เวลาว่างส่วนใหญ่หมดไปกับการใช้อินเทอร์เน็ต ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบ

 2.ควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้ ใช้เกินเวลาที่ได้รับอนุญาต หรือใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ

 3.หากถูกบังคับให้เลิกหรือหยุดเล่นจะต่อต้าน หงุดหงิดไม่พอใจ บางคนถึงขั้นกระสับกระส่าย หรือก้าวร้าว

 4.การใช้อินเทอร์เน็ตมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น อดนอน รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ

 5.อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น เก็บตัว แยกตัว ดูเหมือนมีความลับ หลบๆ ซ่อนๆ มีความรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวายใจ ซึมเศร้า ดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว เมื่อไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต

 6.ใช้อินเทอร์เน็ตจนมีผลเสียต่อการเรียน การทำงาน สุขภาพ และความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือหมดเงินไปกับการใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก เช่น ซื้อของออนไลน์ ซื้อเพลง/ซื้อภาพยนตร์ออนไลน์ เล่นพนันออนไลน์ จ่ายเงินเพื่อเข้าดูเว็บไซต์ลามกต่างๆ เป็นต้น