posttoday

ทยา ทีปสุวรรณ การศึกษาสร้างชาติ

27 กุมภาพันธ์ 2560

คุณพ่อคุณแม่พูดเสมอว่าโรงเรียนที่เราทำอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด แต่คุณค่าของผลผลิตนั้นคือสิ่งตอบแทนที่ให้เรากลับมา ในการทำงานในวงการศึกษา

โดย...โยธิน อยู่จงดี ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

“คุณพ่อคุณแม่พูดเสมอว่าโรงเรียนที่เราทำอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด แต่คุณค่าของผลผลิตนั้นคือสิ่งตอบแทนที่ให้เรากลับมา ในการทำงานในวงการศึกษา” ทยา ทีปสุวรรณ ผู้จัดการโรงเรียนศรีวิกรม์ ซึ่งไม่ว่าคุณจะรู้จักผู้หญิงคนนี้ในมุมไหนมาก่อนหน้านี้ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. หรือหนึ่งในแกนนำกลุ่ม กปปส. และล่าสุดกับผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ รักบี้ สคูล ไทยแลนด์ แต่วันนี้เธอเลือกที่จะทำงานด้านการศึกษาและตั้งใจพัฒนาระบบการศึกษาของโรงเรียนที่ทำอยู่อย่างเต็มตัว

“หลังจากเรียนจบมาก็ทำงานหลายอย่าง ตั้งแต่ไปฝึกงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ 2 ปี จนคุณพ่อคุณแม่ขอให้กลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน ซึ่งก็คือโรงเรียนศรีวิกรม์ เพราะเห็นว่าเราชอบในการที่จะอยู่กับเด็กและก็มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการศึกษา จึงอยากให้ทำงานตรงนี้ ซึ่งโรงเรียนศรีวิกรม์ก็เป็นธุรกิจแรกของคุณพ่อคุณแม่ เป็นธุรกิจที่มีความผูกพันมากที่สุดก็ว่าได้ อาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรมากที่สุด แต่เป็นธุรกิจที่คุณพ่อคุณแม่มีความภูมิใจ เพราะอย่างคุณแม่เองท่านเป็นครูมาก่อน ท่านจึงมีความเป็นครูเต็มร้อย ท่านพัฒนาโรงเรียนและดูแลนักเรียนด้วยความเอาใจใส่ เมื่อเขาฝากลูกหลานไว้กับเรา เราต้องดูแลเขาให้ดี ดูแลเฉพาะเรื่องของวิชาการ คุณธรรม และจริยธรรม

หลังจากเราได้รับช่วงดูแลโรงเรียนต่อ เราก็บอกกับคุณพ่อว่า เราจะทำโรงเรียนให้ดีที่สุด เราไม่มีความคิดว่าจะเอาที่ของโรงเรียนที่มีอยู่ไปทำธุรกิจอื่น เพราะเราเองก็เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกๆ ที่เกิดขึ้นในไทยแล้วก็เป็นไปได้ด้วยดีมาตลอด พอเราเข้าไปแล้วก็ไปปรับเพิ่มหลักสูตร มีการนำเอาหลักสูตรต่างๆ เข้ามาเสริมโดยเฉพาะหลักสูตรภาษาอังกฤษ มีการปรับให้ครู 1 คนดูแลเด็กไม่เกิน 25 คนต่อห้องเพื่อความทั่วถึง เน้นให้คิด มีความคิดสร้างสรรค์และคิดวิเคราะห์มากขึ้น

ทยา ทีปสุวรรณ การศึกษาสร้างชาติ

 

แต่คงเป็นด้วยโชคชะตา ที่ทำให้เราก้าวเข้ามาสู่วงการศึกษาเต็มตัว ได้เข้ามาทำงานในวงการการเมือง ในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ให้ดูแลเรื่องเกี่ยวกับระบบการศึกษาทุกโรงเรียนในสังกัดของกรุงเทพมหานครทั้งหมด ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากที่เราต้องดูแลโรงเรียนเพียงโรงเรียนเดียว มาดูระบบการศึกษาภาคใหญ่ มีโรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้งหมด 4,000 กว่าโรงเรียน นักเรียน 3 แสนกว่าคน บุคลากรครูอีกนับหมื่นคน ที่เราต้องส่งนโยบายด้านการศึกษาลงไป  ก็ทำให้เราเปิดมุมมองในเรื่องของการศึกษาในภาครัฐ ซึ่งทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่ภาครัฐยังขาดอยู่นั้นมีอะไรบ้าง เด็กๆ ที่ยังไม่มีโอกาสมากนักเขาควรจะได้รับโอกาสทางการศึกษาอะไรบ้าง

นโยบายที่ภูมิใจที่สุดก็คือเรื่องของการพัฒนาริเริ่มหลักสูตรโกง โตไปไม่โกง ปลูกฝังเด็กเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องของการทำผิดกฎหมายเชิงนโยบาย เพราะเราคิดว่าการพัฒนาการศึกษาและการสอนสอดแทรกในเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นตั้งแต่เด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมาก มันอาจจะไม่ได้เห็นผลในปี 2 ปี แต่ในระยะยาวอนาคตมันจะเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ เป็นวัคซีนป้องกันสิ่งที่ไม่ดีให้กับเยาวชน

จนถึงวันนี้หลายโรงเรียนใน กทม.ก็ยังคงใช้หลักสูตรนี้อยู่ รวมทั้งโรงเรียนนานาชาติที่มีชื่อเสียงต่างๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาของ กทม. แม้กระทั่งโรงเรียนต่างจังหวัดก็ขอนำหลักสูตรของเราไปใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้สึกภูมิใจมากที่ได้มีส่วนริเริ่มสิ่งที่ดีให้กับประเทศชาติ เมื่อทำงานในวงการศึกษาก็ทำให้พบว่าระบบการศึกษาไทยเรานั้นไม่ว่าจะไปแตะตรงจุดไหนก็มีปัญหาแฝงอยู่มากมายจนทำให้ระบบการศึกษาไทยนั้นตกต่ำ ทั้งที่จริงแล้วกระทรวงศึกษาธิการเป็นหนึ่งในกระทรวงที่รับงบประมาณประจำปีมากที่สุดกระทรวงหนึ่งของประเทศ แต่ว่าผลสัมฤทธิ์การพัฒนากลับสวนทางกับงบประมาณที่ได้และยังมีแนวโน้มตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

ทยา ทีปสุวรรณ การศึกษาสร้างชาติ

 

ปัจจัยหนึ่งก็คืออาจจะเป็นเรื่องของโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการที่บริเวณต่อการพัฒนาบุคลากรยังติดอยู่ในเรื่องของระบบเดิมๆ งบประมาณไม่ได้ถูกจัดสรรไปใช้ในทางที่พัฒนาครูจริงๆ ครูกลับต้องไปทำเรื่องวิจัยเพื่อเลื่อนวิทยฐานะเพื่อให้มีรายได้สูงขึ้น ในขณะที่อัตราค่าจ้างครูนั้น เมื่อเทียบกับวิชาอื่นๆ ถือว่าต่ำมาก

ดังนั้น ถามว่าใครอยากเรียนครุศาสตร์ ก็คงน้อย เพราะเงินเดือนก็ไม่ได้เทียบเท่ากับสาขาวิชาชีพอื่น เมื่อมีรายได้ไม่พอครูก็ต้องเป็นหนี้ ต้องสอนพิเศษเพื่อหารายได้เสริม ปัญหาหนึ่งก็คือประเทศไทยเราไม่เคยมีนโยบายระยะยาวด้านการศึกษา ประเทศสิงคโปร์นั้นมีการวางนโยบายไว้ 20 ปี การศึกษาของเขาจะเป็นอย่างไร อย่างสั้นสุดคือ 10 ปี แต่ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนรัฐมนตรีนโยบายก็เปลี่ยนอีก แล้วนโยบายที่ส่งลงไปก็ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานของท้องถิ่น กลายเป็นว่าไม่มีใครมองไปไกลกว่าสิ่งที่ตัวเองคิดเลย

จากประสบการณ์ที่เข้ามาทำงานในสายการศึกษาและสายการเมือง อยากจะบอกว่านโยบายอะไรที่มีดีอยู่แล้วจะเป็นของพรรคไหน เราก็ควรทำต่อ เราไม่ควรมองว่าต้องสร้างให้เป็นผลงานของตัวเองอย่างเดียว ควรมองที่เด็กๆ เยาวชนของเราเป็นหลักว่าเขาจะได้อะไร และในท่ามกลางระบบการศึกษาที่ตกต่ำ คนที่รวยที่สุดจึงตกเป็นของสถาบันกวดวิชาต่างๆ ที่ผุดขึ้นมา

มองย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง ในแนวทางการบริหารงานศึกษาของโรงเรียน เราคิดเมื่อเรามองเด็กตามถนนหนทางไม่ว่าที่ไหนก็ตาม เราไม่สามารถผลิตเด็กให้ออกมาเป็นโมเดลเดียวกันได้ เพียงแต่ว่าเราจะสอนอย่างไรให้พวกเขาได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวอย่างเต็มที่ ในสิ่งที่เขามี ในขณะเดียวกันเด็กก็จะได้พัฒนาด้านวิชาการ ไอคิว และอีคิว และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในช่วงวัยเรียนเป็นช่วงวัยที่ยังไม่ต้องมีภาระมาก ยังไม่ต้องมีเรื่องปวดหัวให้คิดในอนาคตมากมาย เพราะฉะนั้นเป็นช่วงวัยที่เปรียบเหมือนฟองน้ำที่จะซึมซับทุกอย่างด้วยความสนุกสนานอย่างสมวัย และการที่เขาได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่สมวัย นั่นคือการหล่อหลอมเด็กคนหนึ่งซึ่งมีความแตกต่างจากเด็กมากมายทั้งหมด ให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งเรื่องของการเรียน เรื่องของงาน ในสิ่งที่เขาเป็น

ทยา ทีปสุวรรณ การศึกษาสร้างชาติ

 

คนที่สมบูรณ์ในความหมายของเราอาจจะไม่ต้องเป็นคนที่เก่งที่สุดก็ได้ เขาอาจจะเป็นนักกีฬาที่อาจจะไม่ได้เก่งมีชื่อเสียงระดับประเทศ แต่เขาเป็นนักกีฬาที่เล่นอย่างมีความสุข หรือเด็กอยากจะเป็นนักดนตรี พ่อแม่ก็ควรส่งเสริมให้เขาเป็นนักดนตรีที่มีความสุข เด็กอาจจะไม่ต้องเป็นผู้นำในทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยเขาควรจะได้รู้ว่าหน้าที่ของเขาคืออะไร จุดเด่นของเขาคืออะไร และเขาจะมีความสุขกับสิ่งที่เขาอยากเป็นได้อย่างไรในอนาคต และสุดท้ายก็คือเรื่องของจริยธรรม เรื่องของระเบียบวินัยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในสังคมไทยของเรา

จากประสบการณ์ที่เราทำงานในวงการนี้ เราอยากแนะนำว่าการเลือกโรงเรียนที่ดีสำหรับเด็กในฐานะที่อยู่ในวงการศึกษานั้นควรเลือกจากสภาพแวดล้อมของโรงเรียน เมื่อลูกเราไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้เขาจะมีความสุขหรือเปล่า สิ่งแวดล้อมที่ดีไม่ได้หมายถึงเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก หรือว่าเรื่องของสถานที่อุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างเดียว แต่ว่าต้องดูในภาพรวมการดูแลคุณภาพของครู การส่งเสริมด้านวิชาการเรื่องของหลักสูตรทางการศึกษา ลูกไปเรียนแล้วมีความสุขไหม ถ้ามีโรงเรียนที่ตอบโจทย์เหล่านี้ให้เด็กได้พัฒนาในทุกด้านแล้วเรารู้สึกไว้วางใจให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังที่สองของลูกได้อยู่แล้วมีความสุขได้พัฒนาได้เล่นไปด้วยได้สนุกอย่างสมวัย

เพราะปัญหาเรื่องโรงเรียนไม่ว่าผู้ปกครองจะรวยหรือจนมีปัญหาอย่างเดียวกันหมด คือต้องใช้เวลาอยู่บนท้องถนนเยอะ ต้องส่งลูกเรียนพิเศษมากมายก่ายกองเพื่อให้เรียนทันเพื่อน คุณภาพชีวิตจึงหายไปเยอะในยุค 4.0 นี้ ถ้าเรามีโรงเรียนที่สามารถแก้โจทย์เหล่านี้ได้ในขณะเดียวกันเด็กก็จะได้มีพัฒนาการในทุกๆ ด้าน ไม่ต้องไปเรียนพิเศษมากมาย ทุกอย่างจบในโรงเรียน เด็กมีการดูแลที่ดีได้ใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่เมื่อกลับบ้าน ก็น่าจะเป็นโรงเรียนที่ตอบโจทย์มากที่สุด เพราะเด็กทุกวันนี้โตมากับรถติด การเดินทาง ตึกรามบ้านช่อง และปัญหามากมายทำให้พวกเขาอยู่ห่างจากธรรมชาติ คุณภาพชีวิตและการเรียนจึงไม่ใช่แค่การหาโรงเรียนที่ทำให้เด็กเป็นคนเก่งได้ แต่โรงเรียนที่ดีต้องสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกได้ด้วย”