posttoday

เทเรนซ์ แพง ไขหัวใจอี-คอมเมิร์ซ

01 กุมภาพันธ์ 2560

หากคุณเป็นขาช็อปตัวจริงเสียงจริงจะคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่มาแรง อย่างแอพพลิเคชั่นชื่อช้อปปี้ (Shoppee)

โดย...กองทรัพย์ ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

หากคุณเป็นขาช็อปตัวจริงเสียงจริงจะคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่มาแรง อย่างแอพพลิเคชั่นชื่อช้อปปี้ (Shopee) ที่ให้บริการช็อปปิ้งออนไลน์ผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยมาได้เพียงหนึ่งปีเศษๆ เมื่อช่วงปลายปี  2558 ปัจจุบันจำนวนผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “ช้อปปี้” เติบโตขึ้น 50% (อัพเดทเมื่อเดือน ธ.ค. 2559) และมีออฟฟิศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 7 ประเทศ (ไทย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม)

นับเป็นโอกาสดีที่จะได้พูดคุยกับต้นความคิดและผู้บริหารหนุ่มไฟแรง เทเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการช้อปปี้ หนุ่มสิงคโปร์ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และเศรษฐกิจการเงินในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้มากว่า 5 ปี ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นกรรมการผู้จัดการแผนกการตลาดใหม่ของเว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์ซาโลร่า (Zalora) ประจําภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ร็อคเก็ต อินเตอร์เน็ต (Rocket Internet) อีกด้วย

แรงบันดาลใจจากการเดินทาง

ด้วยผลการเรียนติดอันดับท็อปของสิงคโปร์ หลังจากเรียนจบไฮสกูล เขาเลือกศึกษาต่อด้านการบัญชีและการเงินจาก London School of Economics ประเทศอังกฤษ การท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่เขาหลงรัก การเดินทางคือสิ่งที่ทำให้สนุกในการทำงานและมีพลังในการเรียนรู้ 

“สำหรับคนสิงคโปร์ถ้าจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ไม่อังกฤษ ก็สหรัฐ ซึ่งสหรัฐคือประเทศใหญ่ประเทศเดียว แต่ยุโรปมีความหลากหลายของวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เพราะหนึ่งทวีปมีประเทศเล็กประเทศน้อยคละกันไป แต่ก็ยังเดินทางท่องเที่ยวสะดวก ซึ่งคล้ายกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือประเทศย่อยๆ เยอะ และมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

เทเรนซ์ แพง ไขหัวใจอี-คอมเมิร์ซ

ผมหลงใหลการท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็กและท่องเที่ยวรอบยุโรปเกือบทุกสัปดาห์ด้วยงบแบบจำกัด โดยการใช้บริการสายการบินราคาประหยัด เช่น ไรอันแอร์ (Ryanair) นอกจากนี้ยังท่องเที่ยวโดยใช้วิธีการโบกรถเพื่อเดินทางสัมผัสประสบการณ์ชีวิตและเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นแบบผจญภัย

ประสบการณ์ที่น่าจดจํามากที่สุด คือ เคยโบกรถถึง 16 ครั้งจากอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไปคาร์ลสรูห์ประเทศเยอรมนี เพื่อขึ้นเครื่องบินด้วยบัตรโดยสารราคา 1 เพนนีกลับลอนดอน และกลับไปให้ทันงานจบการศึกษา”

งานแรกของเทเรนซ์ คือ ด้านการเงินการธนาคารที่ฮ่องกง “ตอนแรกผมคิดว่าอยากไปเรียนต่อปริญญาโท แต่พอได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัท ร็อคเก็ต อินเตอร์เน็ต ก็เหมือนเป็นก้าวแรกในการจับธุรกิจอี-คอมเมิร์ช การได้ร่วมงานกับซาโลร่า ก็เบิกทางไอเดียช้อปปี้ในภูมิภาคอาเซียนขึ้นมา แรงบันดาลใจที่มาเริ่มทำช้อปปี้ ความฝันของผมคืออยากทำให้บริษัทในภูมิภาคอาเซียน หรือเป็นบริษัทสิงคโปร์กลายเป็นบริษัทระดับใหญ่ และสิ่งที่ได้เรียนมาจากยุโรปก็พยายามมองหาว่าสิ่งที่ทางโลกตะวันตกมี แต่เราไม่มีคืออะไร อย่างบริษัท การีน่า (Garena) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของช้อปปี้เกิดขึ้นในอาเซียน โดยคนอาเซียนและเพื่อคนอาเซียน เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับคนและการพัฒนาคน ซึ่งผมก็มีทิศทางการทำงานแบบนี้ จึงอยากร่วมงานกับบริษัทที่มีค่านิยมเดียวกัน เริ่มต้นไปด้วยกันจนสร้างให้เติบโตที่สุด”

แอพช็อปปิ้งชื่อช้อปปี้

เทเรนซ์ บอกว่า หน้าที่ในช้อปปี้ของเขา ประธานฝ่ายปฏิบัติการและการตลาดให้กับช้อปปี้ทั้ง 7 ประเทศ และพ่วงตำแหน่งซีโอโอที่ดูแลการตลาดให้กับช้อปปี้ใน 3 ประเทศ คือ ไทย ไต้หวัน และฟิลิปปินส์

“ซีโอโอก็คือตำแหน่งแต่งตั้ง แต่สำหรับหน้าที่ผมเปรียบเสมือนเชียร์ลีดเดอร์ ที่ต้องบินไปประเทศต่างๆ คอยเชียร์อัพและสนับสนุนความคิดของทีม เพราะว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ชในสไตล์ช้อปปี้ คือ การเข้าไปพัฒนาคนและแพลตฟอร์มในแต่ละประเทศ เพราะแต่ละที่ไม่เหมือนกัน หน้าที่ของผมจะต้องไปเชียร์และเป็นกำลังใจให้ทีมของแต่ละประเทศ ดังนั้น ทีมเวิร์กเป็นสิ่งสำคัญมาก”

ความน่าสนใจของภูมิภาคอาเซียน สำหรับคนที่เดินทางในยุโรปมาไม่น้อย เทเรนซ์มองว่าภูมิภาคนี้เป็นตลาดที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันก็มีความยากอยู่ในตัว เพราะแต่ละประเทศใช้คนละภาษา วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งระบบการชำระเงิน ระบบการขนส่ง ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการสร้างแพลตฟอร์มเดียวแล้วให้ใช้ได้ทั้ง 7 ประเทศ จะต้องมีความเข้าใจแต่ละท้องถิ่น ซึ่งการพัฒนาต้องอาศัยทีมงานในแต่ละประเทศเป็นคนแนะนำ ทั้งเรื่องเทศกาลของแต่ละประเทศ เราก็ต้องปรับสารถึงผู้ซื้อและผู้ขายได้อย่างรวดเร็ว

เทเรนซ์ แพง ไขหัวใจอี-คอมเมิร์ซ

“ธุรกิจอี-คอมเมิร์ชก็เติบโตเรื่อยมาตั้งแต่ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว แต่สำหรับช้อปปี้สิ่งที่ทำให้เราโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาค ทั้งๆ ที่เปิดตัวเมื่อปีที่ปลายปี 2557 แต่ก็ได้รับความนิยมเร็วมาก ผมมองว่าเพราะมีสองเทรนด์หลักที่เราจับไว้ได้ คือ เรื่องผู้ซื้อและผู้ขายเปลี่ยนการใช้งานคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนมาซื้อทางโทรศัพท์มือถือแทน แพลตฟอร์มของช้อปปี้จึงเน้นใช้งานทางโทรศัพท์เป็นหลัก และเทรนด์ที่สอง คือ โซเชียลคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะในเมืองไทยแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ อินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก เป็นแหล่งขายของแหล่งใหญ่ที่สุด เราก็เลยพัฒนาช้อปปี้ให้เป็นอินสตาแกรมที่มีช่องทางการชำระเงินที่เหมาะสม และดึงร้านค้าจากเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมให้เข้ามาอยู่ในช้อปปี้

แม้จะเป็นแอพซื้อขาย แต่คุณสามารถติดตามร้านค้าได้ และมีแชตที่คุยสอบถามรายละเอียดสินค้าได้ ถ้านึกภาพง่ายๆ เราคืออินสตาแกรมที่มีไลฟ์แชตแต่ซื้อขายได้ และมีช่องทางการชำระเงิน อำนวยความสะดวกมากกว่า แม่นยำเรื่องสินค้า และการันตีเงินคืนกรณีส่งสินค้าผิด”

อย่ากลัวที่จะพลาด

ธุรกิจที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นหลักจะมีข้อแตกต่างจากธุรกิจดั้งเดิมที่สามารถจับต้องหรือเห็นสินค้าได้ เพราะหากเป็นธุรกิจดั้งเดิมถ้าเติบโตติดตลาดแล้วก็มีอายุอยู่ยาวได้หลายสิบปี แต่บริษัทที่เน้นด้านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ใจความสำคัญของธุรกิจนี้คือเน้นการจับเทรนด์ที่เป็นกระแส

“วิธีบริหารจัดการงานของผมข้อแรก คือ การที่เราจะดูว่าเทรนด์คืออะไร แล้วปรับตาม เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างช้อปปี้เปิดมาจนตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะว่าเราเป็นหนึ่งในอี-คอมเมิร์ซแพลตฟอร์มรายใหญ่ และสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือต้องดูว่าจับตาดูเทรนด์ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปและปรับตาม และเมื่อเทรนด์มาถึงแล้ว เราก็ต้องไม่กลัวที่จะปรับตามเทรนด์ด้วย เพราะสุดท้ายอย่าไปกลัวพลาด เพราะความจริงการที่เราเห็นเทรนด์แล้วเราไม่ทำตามอันนั้นคือพลาดกว่า

เทเรนซ์ แพง ไขหัวใจอี-คอมเมิร์ซ

ข้อที่สอง คือ เรื่องสำคัญคือเรื่องการบริหารคน ผมจะให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรบุคคลมากเป็นพิเศษ จะทำอย่างไรให้คนที่มีความสามารถเมื่อเข้ามาทำงานแล้ว จะฝึกฝน และผลักดันให้คนเหล่านี้ให้ได้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพ เพราะอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซจะไม่เหมือนอุตสาหกรรมอื่น เพราะเขามีสินทรัพย์ที่จับต้องได้ แต่ของเราคือจับต้องไม่ได้ สิ่งสำคัญคือคนที่จะต้องมาพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ อี-คอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่โตเร็วมาก และยังต้องการคนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง นอกจากจะมีความสามารถแล้วยังต้องกระตือรือร้น และมีไอเดียสดใหม่ ช่วยพัฒนาให้ธุรกิจโตขึ้นไปอีก”

ผู้บริหารหนุ่มชาวสิงคโปร์ อธิบายพร้อมเปรยถึงเป้าหมายต่อไปของช้อปปี้ว่า ตั้งเป้าสูงสุดให้ช้อปปี้เป็นแพลตฟอร์มด้านอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุด “แต่เราจะต้องเริ่มค่อยๆ พัฒนาให้แข็งแรงแต่ละประเทศ ตั้งแต่รูปแบบที่สะดวกต่อการค้นหาสินค้า วิธีการคือการขยายไปสู่ผู้ซื้อและผู้ขายทุกประเภท ขยายกลุ่มผู้ซื้อจากลูกค้าผู้หญิง ขยายสู่กลุ่มผู้ชายมากขึ้น การเติบโตสู่จุดสูงสุดก็คือการรวบรวมสินค้า ร้านค้า ให้ครอบคลุมเพื่อที่จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับทุกคน” ซึ่งถ้าจะไปถึงจุดนั้น สิ่งที่ต้องรู้คือพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของแต่ละประเทศแตกต่างกันตั้งแต่ช่วงเวลาที่ช็อปปิ้ง การตัดสินใจซื้อ

“พฤติกรรมการช็อปปิ้งของผู้หญิงผู้ชายก็ไม่เหมือนกัน ผู้หญิงจะซื้อบ่อยครั้งกว่าแต่จำนวนเงินแต่ละครั้งไม่มาก ส่วนผู้ชายจะซื้อน้อยครั้งกว่าแต่สินค้าราคาสูงกว่า และเลือกสินค้าง่ายกว่าเวลาเลือกซื้อสินค้า ผู้หญิงจะเลือกซื้อนานกว่า ซึ่งผู้ชายจะมีสินค้าที่อยากได้ เปรียบเทียบราคา แล้วกดซื้อเลย นอกจากนี้ยังต้องรู้ช่วงเวลาที่แต่ละประเทศนิยมซื้อของ เช่น ไต้หวันและสิงคโปร์จะช็อปมากช่วงเที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง ไทยและอาเซียนประเทศอื่นๆ จะซื้อของเที่ยงถึงบ่ายสอง ข้อแตกต่างอื่นๆ การขนส่งของแต่ละประเทศ เทศกาล และระบบการชำระเงิน เป็นต้น”

หนุ่มสิงคโปร์ผู้ถนัดในการจับเทรนด์คนนี้ บอกว่าชีวิตนั้นสั้นเกินกว่าที่จะเสียเวลาไปกับการความกังวลในจุดอ่อนของตัวเอง ควรให้ความสําคัญกับจุดแข็งดีกว่า และความสุขเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทุกวันนี้เขายังคงเดินทางมากกว่า 120 ครั้งในหนึ่งปี แม้จะเสียพลังไปเยอะ แต่นี่คือสิ่งที่เขาสนุกและยังท้าทายกับมันอยู่เสมอ