posttoday

ผลผลิตจากความกลัว ภาริษา ยาคอปเซน

08 พฤศจิกายน 2559

หากปัจจุบันคือผลิตผลจากประสบการณ์ ปอนด์-ภาริษา ยาคอปเซน คงเป็นผลิตผลจากความกลัว

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

หากปัจจุบันคือผลิตผลจากประสบการณ์ ปอนด์-ภาริษา ยาคอปเซน คงเป็นผลิตผลจากความกลัว หลังได้เผชิญกับอาการแพนิกแอทแท็ก (Panic Attack) ที่ทำให้เธอเฉียดตาย

ปอนด์ใช้ชีวิตตามใจด้วยความมั่นใจมาโดยตลอด ลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อเลือกในสิ่งที่อยากเรียน ลาออกจากบริษัทใหญ่เพื่อไปตามทางฝัน และลาจากเมืองไทยเพื่อไปใช้ชีวิตของตัวเอง จนกระทั่งความกลัวเกือบพรากเธอไป เธอจึงใช้ธรรมะขับไล่และพัฒนาจิตใจให้ตั้งหลัก ก่อนตัดสินใจกลับมาอยู่เมืองไทยเพื่อทำงานที่อยากทำ และอีกด้าน ปอนด์ยังเป็นผู้บุกเบิกวงการเน็ตไอดอลในเมืองไทยด้วยการเป็นเจ้าของคลิป ใจดีทีวี ที่มีเนื้อหาเหน็บแนมสังคมแบบแสบๆ คันๆ 

เดินบนทางที่เลือกเอง

เท้าความกลับไปตั้งแต่อายุ 15 ปี เธอได้เดินทางไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐ 1 ปี จากนั้นกลับมาเรียนที่เมืองไทย 1 ปี แล้วกลับไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อังกฤษอีก 1 ปี เธอติดใจ

“ก่อนไปเรียนต่างประเทศ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เราไปเพื่อไปเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม ระบบการเรียน การใช้ชีวิต ทุกอย่างมันแปลกใหม่ไปหมด แล้วพอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วรู้สึกว่า ทุกอย่างมันไม่ถูกจริต ทั้งสังคม ระเบียบต่างๆ ที่ทำไมต้องบังคับกันมากมายเมื่อโตขนาดนี้แล้ว ปอนด์เลยบอกกับพ่อแม่ว่าจะไปเรียนรามฯ ตัดสินใจลาออกจากที่เก่าตั้งแต่เทอมแรก คณะจิตวิทยา หันมาเรียนสิ่งที่เราชอบดีกว่า เรียนไปทั้งหมด 6 ปี เพราะระหว่างที่เรียนก็ได้ทำงานไปด้วย ไปเป็นดีเจให้ห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ เรารู้สึกว่าทำงานแล้วสนุกกว่า จึงทำให้รู้ตัวเองแล้วว่า เราไม่ได้โฟกัสที่การเรียน แต่โฟกัสที่ชีวิต”

ขณะที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เธอได้เสนอตัวเองเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยไปประกวดปาฐกถาภาษาอังกฤษ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศมาครอบครอง แต่สิ่งที่เธอต้องการไม่ใช่แค่ความภูมิใจ เธอได้ไปออสเตรเลียฟรี

ผลผลิตจากความกลัว ภาริษา ยาคอปเซน

 

“เป็นคนไม่ชอบเที่ยว ถ้าไปไหนจะอยู่เลย การเที่ยวไม่ได้อะไร ได้แต่รูป แต่ต้องอยู่เพื่อให้รู้ว่าเขาอยู่กันยังไง พอได้ไปออสเตรเลียก็บอกกับตัวเองเลยว่า ต้องกลับมาอยู่เป็นปีให้ได้” เธอเพิ่มเติม

หลังจากจบปริญญาตรี มีบริษัทใหญ่เสนองานให้เธอ เป็นงานที่ถูกจริต แต่ระบบองค์กรไม่ถูกจริต ด้วยอุดมการณ์ส่วนตัวที่อยากทำงานให้เข้าถึงรากหญ้าเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านจริงๆ แต่เมื่อได้ทำงานตามความต้องการแล้ว ก็ลาออกเพื่อไปออสเตรเลีย

“พ่อแม่ก็เสียใจอีกรอบหนึ่ง หลังจากที่ทิ้งมหาวิทยาลัยเอกชนนั้นมา มาได้งานที่ทิ้งบริษัทใหญ่นี้อีก งานดีมั่นคงแต่จะทิ้งไปอยู่เมืองนอก สุดท้ายเราก็ไปจริงๆ ไปอยู่ที่เมลเบิร์น 1 ปี ซึ่งก่อนที่ปอนด์จะเดินทางไปได้วิเคราะห์แล้วว่าเราจะไปทำมาหากินอะไร เรามองว่าฝรั่งชอบดอกไม้ เลยไปลงเรียนการจัดดอกไม้ฟรีที่ กทม. จนถึงวันที่อยู่ออสเตรเลียวันแรกก็ได้งานที่ร้านผลไม้ดอกไม้ จากนั้นได้ลองไปสมัครงานร้านเบอร์เกอร์ สรุปได้งานเป็นผู้จัดการร้าน จากปกติที่จะให้คนไทยเรียกฝรั่งว่าบอส แต่คราวนี้ฝรั่งเรียกคนไทยว่าบอส ซึ่งสาเหตุที่ได้ตำแหน่งอาจเป็นเพราะเราเข้าใจการทำงานของฝรั่ง จากที่เคยคลุกคลีกับวัฒนธรรมเขามาตั้งแต่ ม.4”

ออสเตรเลียเหมือนโลกที่ให้เธอได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ทั้งทำงานที่ร้านขายดอกไม้ ร้านขายเบอร์เกอร์ ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็ก หรือรับโทรศัพท์ให้รัฐบาล ภายใต้แนวคิดว่า ในระยะ 1 ปี เธอจะลองทำสิ่งใหม่ๆ ให้มากที่สุด เพราะมันคือช่วงเวลาแห่งการตักตวงมากกว่าช่วงเวลาของการทำเงิน

ผลผลิตจากความกลัว ภาริษา ยาคอปเซน

 

ก้าวข้ามความกลัว

หลังกลับจากเมลเบิร์นมาอยู่ที่เมืองไทยได้ 1 ปี เธอก็ได้เดินทางไปนอร์เวย์เพื่อแต่งงานกับแฟนที่คบหาดูใจกันที่เมลเบิร์น ซึ่งเป็นการย้ายชีวิตไปอยู่อีกประเทศที่นานที่สุด ตอนเธออายุ 28 ปี

“เราไปอยู่ที่นั่นเราทำอะไรไม่ได้เลย เพราะต้องพูดภาษาของเขา ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่อยากเรียนแล้ว เราเบื่อกับการเรียนภาษา ทำไมคนนอร์เวย์ไม่พูดภาษาอังกฤษกับเรา ทั้งที่ก็ดูทีวีเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าอยากได้งานก็ต้องพูดภาษาเขา ตอนแรกอยู่บ้านเป็นแม่บ้าน แต่ตอนหลังก็ยอมเรียน ซึ่งช่วงที่ว่างอยู่บ้านทั้งวันเราได้ทำคลิปสอนภาษาอังกฤษให้ชาวต่างชาติชื่อ ใจดีทีวี”

ใจดีทีวี เป็นคลิปที่เผยแพร่ทางยูทูบ ในชื่อแอ็กเคานต์ bononstage ช่วงแรกมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษให้ชาวต่างชาติ ซึ่งคลิปเป็นที่รู้จักในหมู่ฝรั่ง แต่หลังจากทำไปได้ 20 ตอน ปอนด์ได้เปลี่ยนเนื้อหามาในแนวสะท้อนบุคลิกต่างๆ ในสังคม เช่น พริตตี้ คนที่พูดไทยคำอังกฤษคำ สื่อมวลชน ที่ทั้งตลกและเหน็บแนมซึ่งถูกจริตคนไทย ใจดีทีวีโด่งดังถึงขนาดได้ขึ้นเว็บไซต์ go.cnn.com ได้รับตำแหน่ง ยูทูบ สตาร์ ดาวรุ่ง ของเมืองไทย และในตอนนั้นยังไม่มีคำว่าเน็ตไอดอล การถ่ายคลิปลงยูทูบยังไม่ใช่เทรนด์ของคนไทย จึงเรียกได้ว่าเป็นเน็ตไอดอลยุคบุกเบิก

“เราทำคลิปโดยไม่ได้หวังว่าจะได้เงิน ตอนนั้นไม่มีใครให้เงินคนลงยูทูบ เราทำเพราะอยากทำอย่างเดียว ซึ่งชื่อเสียงโด่งดังจนเราต้องกลับมาเมืองไทย ถูกสัมภาษณ์ลงนิตยสารเกือบทุกเล่ม อาจไม่ใช่เพราะเราเป็นคนดัง แต่เราเป็นคนไทยคนเดียวที่ทำคลิปในยูทูบ”

ปอนด์กลับมาอยู่เมืองไทยได้ไม่นาน ก็กลับไปอยู่ที่นอร์เวย์ต่อ คราวนี้ร่างกายและจิตใจของเธอถูกโจมตีด้วยอาการแพนิกแอทแท็ก เธออธิบายว่า โรคนี้ไม่สามารถอธิบายอาการได้ บางคนบอกว่ามันเกิดจากความวิตกกังวลสะสม เกิดจากความเครียดสะสม หรือเป็นเพราะบรรยากาศที่นอร์เวย์จะไม่มีแสงแดดในหน้าหนาวจนทำให้รู้สึกหดหู่ ซึ่งเธอมาทราบภายหลังว่ามีคนไทยเป็นอาการนี้มาก

“คนที่เคยอยู่ประเทศที่มีแสงแดดตลอดปีอย่างคนไทยแล้วไปเจอประเทศมืดๆ จะเป็นแพนิกแอทแท็ก ปอนด์จำได้ว่าวันนั้นหลังทำกับข้าวเสร็จก็รู้สึกเพลีย เลยไปนอน แล้วตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกกลัว แพนิกนี่คือความกลัว เป็นความกลัวที่ถาโถมเข้ามาว่าเราจะต้องตาย ซึ่งทางการแพทย์บอกว่า เป็นเพราะสารเคมีในสมองผิดปกติ แล้วทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องออกไปจากที่นี่

 

ผลผลิตจากความกลัว ภาริษา ยาคอปเซน

 

เชื่อมั้ยว่าเราวิ่งออกมาจากห้องนอนแล้วรู้สึกหายใจไม่ออก อยากออกไปข้างนอกเหมือนคนบ้า ตอนเด็กๆ เราเคยตกน้ำแล้วเหมือนกลไกของจิตมันเชื่อมกันหมด เหมือนกับว่าเรากำลังจะตกน้ำจริงๆ หลังจากที่โวยวายทั้งคืนก็เข้าสู่ช่วงขาลง มานั่งซึม หมดอาลัยตายอยาก ซึ่งเป็นเรื่องที่โหดร้ายมากสำหรับตัวเอง เพราะเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร เราไม่เข้าใจว่าเกิดจากอะไร เลยไม่รู้ว่าต้องแก้ไขอาการนี้อย่างไร จากคนที่อารมณ์ดีทำไมมาเป็นแบบนี้ เราไม่เข้าใจ

ทั้งเดือนนั้นเราไปไหนไม่ได้เลย ด้วยความกลัวที่จะไปเจอผู้คน แฟนจะให้ไปหาหมอ แต่เราก็ไม่ยอมไป และเมื่อผ่านไปเราก็รู้สึกว่าระบบทั้งหมดมันเป๋ไปหมดเลย ฮอร์โมน ความเสถียรต่างๆ ไปหมด แต่เราก็พยายามจะออกจากบ้านไปเรียนภาษา ไปสวดมนต์ นั่งสมาธิ ที่วัดไทย แม้ว่าจะไม่เข้าใจว่าเราเป็นอะไร แต่ก็เพื่อระงับความกลัว”

หลังจากผ่านช่วงพีกที่สุดของชีวิตมา เธอเริ่มทำทุกอย่างที่อยากทำ ไปทุกที่ที่อยากไป เหมือนกับว่าได้โลกใหม่ที่เธอเข้าใจแล้วว่าคนที่เคยเฉียดตายเขารู้สึกอย่างไร

ช่วงแรกที่เกิดอาการเธอไม่กล้าบอกแม่ที่เมืองไทย แต่สุดท้ายลูกก็ย่อมต้องการแม่ และเหมือนอย่างที่คิดไว้ แม่พูดกับเธอว่า “มีทางลงก็ต้องมีทางขึ้น แค่ขึ้นมาในทางที่ลงไป” เพียงเท่านั้นก็เหมือนพบแสงสว่างให้ชีวิต

หลังจากนั้นเธอได้กลับมาเมืองไทยและได้ไปหาจิตแพทย์ แพทย์ระบุแน่ชัดว่า เธอเป็นแพนิกแอทแท็ก ซึ่งต้องรักษาด้วยยาเท่านั้น แต่เธอกลับปฏิเสธยา โดยการพิสูจน์ให้เห็นว่า ธรรมะโอสถ คือยาที่ดีที่สุด

“คนทั่วไปที่ฟังอาการของพวกเรา แล้วจะไม่มีวันเข้าใจพวกเราเลย อาการกลัวที่เราเป็นมันอธิบายไม่ได้ว่ากลัวอะไร กลัวในความไม่จริง เป็นความกลัวที่เราสร้างขึ้นเอง จากคนที่มั่นใจในตัวเองมาตลอดชีวิต เราว่าเราดี เราว่าเราเยี่ยม แล้วพอมาเจอเหตุการณ์นี้ เหมือนแก้วที่ถูกขว้างลงพื้น ถ้าเราเยี่ยมจริงเราคงไม่เจอเหตุการณ์แบบนี้ เราต้องมีอะไรบางอย่าง เราจึงเริ่มค้นหาว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริง หลายคนที่บอกว่าฉันไม่กลัวอะไรเลย แต่เชื่อสิว่าท้ายที่สุดต้องกลัว ความกลัวเป็นสิ่งที่ลึกที่สุดในก้นบึ้งของจิตใจ เป็นสิ่งที่แยบยลที่สุดที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอ”

 

ผลผลิตจากความกลัว ภาริษา ยาคอปเซน

 

ชีวิตใหม่

ปอนด์กลับมาอยู่ที่เมืองไทยพร้อมความฝันที่อยากเป็น โอปราห์ วินฟรีย์ เธออยากมีรายการของตัวเอง อยากมีรายการสัมภาษณ์ที่ได้เจาะลึกไปในจิตวิญญาณของคน เพื่อคนดูจะได้เรียนรู้ โดยเธอเริ่มด้วยการโทรศัพท์หารายการโทรทัศน์ทุกช่องที่รู้จัก หนึ่งในนั้นคือ ผู้บริหารเวิร์คพอยท์

เธอบอกสามีว่าจะกลับมาเมืองไทย 1 เดือน เปลี่ยนเป็น 1 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่าหากหางานไม่ได้จะกลับไปนอร์เวย์โดยที่จะไม่กลับมาเมืองไทยอีก การกลับมาเมืองไทยครั้งนี้ เธอมาพร้อมพลังเต็มเปี่ยม ทัศนคติและการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เธอมีพลังมหาศาลเพื่อทำในสิ่งที่อยากทำ หลังจากผ่านเหตุการณ์โหดร้าย เธอก็มีแต่พลังงานดีในชีวิต

“เรากลับมาเมืองไทย เราไม่ได้อยากเป็นแค่พิธีกร แต่เราอยากเปลี่ยนทัศนคติ อยากฉีดอะไรดีๆ ให้คนที่เราอยู่ แม้ว่าในตอนนี้เป็นผู้ประกาศข่าวก็พยายามที่จะพูดไม่เหมือนคนอื่น พยายามทำอะไรที่บิดมุมออกไป เราคิดว่าจะอยู่ในสื่อไปเพื่ออะไร ถ้าเราไม่สร้างความเปลี่ยนแปลง”

เธอเป็นผู้ประกาศข่าวบันเทิงทางช่องเวิร์คพอยท์ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และเป็นผู้บรรยายสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จากความตั้งใจที่จะเป็นโอปราห์ วันนี้เธอกำลังสั่งสมประสบการณ์และนำแก่นหลักเรื่องการสร้างรายการที่เป็นประโยชน์แก่คนดูมาใช้ในอาชีพ

ผลผลิตจากความกลัว ภาริษา ยาคอปเซน

 

สัจธรรม

จังหวะชีวิตของผู้หญิงคนนี้ประสบเรื่องราวหลากหลาย ทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย ล้วนเป็นวัตถุดิบที่ผสมผสานให้เธอเป็น ภาริษา ยาคอปเซน

“เราสบายตัวเอง เราได้ทิ้งอะไรไปเยอะ ทิ้งภาพลักษณ์แซ่บๆ ที่คนมอง ทิ้งความตลกเฮฮาที่คนชอบ จนถึงวันนี้ยังไม่รู้สึกว่าเป็นตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ จะต้องทิ้งให้มากกว่านี้ เราจะไม่ปั้นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเองขึ้นมาแสดง”

เธอแสดงทัศนะถึงคนในยุคสมัยนี้ที่มักให้คุณค่าของตัวเองมากไป ใครตำหนิติเตียนไม่ได้ ใครแสดงความคิดเห็นไม่ได้ ซึ่งนั่นคือสงครามในตัวเอง เธอกล่าวว่า ถ้าคนเราสะบัดคำว่า "ฉัน" ออกไปได้บ้าง ชีวิตก็จะสบายขึ้น มีความสุขขึ้น เพราะท้ายที่สุดปลายทางของชีวิตทุกคนย่อมเหมือนกัน

 “อาการแพนิกแอทแท็ก จะมีกลับมาบ้างวันที่ร่างกายอ่อนแอ แต่วันนี้เรารู้เท่าทัน รู้ว่าความกลัวก็คือตัวเรา อย่าไปห้ามให้เขาเข้ามา เพราะนั่นคือตัวเราเอง และยิ่งเมื่อเราเรียนรู้ธรรมะ จะยิ่งทำให้เรามีความสุขและความสงบมากขึ้น มันคือความสุขโดยไม่ต้องมีมือถือ ไม่ต้องพันไลค์ ไม่ต้องมีคนมาคอมเมนต์ว่าดีแบบนั้นแบบนี้ ธรรมะคือความสุขที่ได้อยู่กับตัวเอง และเราจะสามารถจัดการกับความทุกข์นั้นได้มากขึ้น ชีวิตจะมีความสงบสุข” เธอกล่าวทิ้งท้าย

ติดตามปอนด์ได้ที่เฟซบุ๊ก ปอนด์ ใจดีทีวี หรือเว็บไซต์ www.bonpodcast.com หรือยูทูบ bononstage และทางหน้าจอทีวี ช่อง 23 เวิร์คพอยท์