posttoday

ดร.อชิมา พัฒนวีรางกูล สร้างคุณค่าให้ดนตรีคลาสสิกไทย

04 ตุลาคม 2559

ถือเป็นความก้าวหน้าของวงการดนตรีคลาสสิกของไทย เมื่อประเทศไทยเรามีหนังสือเปียโนเพลงไทยสำหรับเด็ก

โดย...วรธาร ทัดแก้ว ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช

ถือเป็นความก้าวหน้าของวงการดนตรีคลาสสิกของไทย เมื่อประเทศไทยเรามีหนังสือเปียโนเพลงไทยสำหรับเด็กที่เป็นผลงานของนักดนตรีคลาสสิกของไทยรุ่นใหม่คลอดออกมาเป็นครั้งแรกและเป็นเล่มแรกของเมืองไทย ชื่อ "ดรุณดุริยางค์" เปียโนเพลงไทยสำหรับเด็ก หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Darun Duriyang Thai Piano for Children ที่เพิ่งเปิดตัวหนังสือไปเมื่อวันเสาร์ที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์หนังสือจูฬาฯ จามจุรีสแควร์  

ดรุณดุริยางค์ เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ ดร.อชิมา พัฒนวีรางกูล นักดนตรีคลาสสิกผู้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งการแสดงเปียโน การแสดงไวโอลิน ทฤษฎีดนตรี รวมทั้งเป็นนักประพันธ์เพลงรุ่นใหม่ที่น่าจับตา เพราะสามารถแต่งเพลงได้เร็ว เนื่องจากมีโสตทักษะ ที่เรียกว่าเพอร์เฟกต์ ฟิตช์ (Perfect Pitch) คือสามารถบอกว่าเสียงโน้ตหรือคอร์ด (หลังจากที่ได้ยินทันที) เป็นโน้ตหรือคอร์ดอะไร ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนดนตรีอยู่โรงเรียนสอนดนตรีบางกอกซิมโฟนี และเปิดสอนอยู่ที่บ้านด้วย

"เปียโนเพลงไทยสำหรับเด็กนี้ เป็นหนังสือโน้ตเปียโนระดับชั้นต้นถึงชั้นกลางเล่มแรกของไทยก็ว่าได้ เนื่องจากก่อนนี้ไม่มี เพราะในการเรียนดนตรีคลาสสิกส่วนมากแต่ไหนแต่ไรก็มักจะใช้หนังสือหรือตำราของต่างประเทศแทบทั้งนั้น ทั้งครูและนักเรียน สังเกตเลยผู้เรียนดนตรีด้านนี้ที่ผ่านมาก็จะคุ้นเคยกับเพลงสำเนียงต่างประเทศมากกว่า และจะไม่คุ้นเคยกับบทเพลงสำเนียงไทย" ดร.อชิมา กล่าว

นอกจากการประพันธ์เพลงในหนังสือจะมีความไพเราะสนุกสนานและช่วยพัฒนาเทคนิคการเล่นเปียโนให้กับเด็กๆ แล้ว ยังให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมไทยอีกด้วย เพราะ ดร.อชิมาได้นำเอาชื่อขนมไทยและการละเล่นของไทยมาแต่งเป็นเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กๆ ชื่นชอบผ่านเทคนิคการเล่นเปียโนที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับวิธีการทำขนมและวิธีการละเล่นเหล่านั้น นอกจากนี้ยังได้เรียบเรียงเพลงไทยเดิม อย่างเขมรไทรโยค สำหรับผู้เรียนระดับชั้นต้นถึงกลางโดยเฉพาะมาไว้ในเล่ม เพื่อให้เด็กๆ ได้ซาบซึ้งในคุณค่าเพลงไทยเดิมอันเป็นสมบัติชาติ

 

ดร.อชิมา พัฒนวีรางกูล  สร้างคุณค่าให้ดนตรีคลาสสิกไทย

"ปกติเวลาเรียนเปียโนเรามักจะซื้อหนังสือดนตรีของฝรั่งมาเรียน แล้วในเพลงต่างๆ ก็จะนำเสนอและแทรกเสริมวัฒนธรรมประเพณีของเขาเข้าไป ซึ่งเราไม่รู้หรอก ก็เรียนของเขามาตลอด แต่พอเรามาถึงจุดนี้สามารถแต่งเพลงได้ก็อยากจะสร้างคุณค่าให้กับวงการดนตรีคลาสสิกของไทย ในเมื่อไม่มีหนังสือเรียนดนตรีสำหรับเด็กที่เป็นของไทยและโดยคนไทย เลยแต่งดรุณดุริยางค์ขึ้นมาเป็นทางเลือกให้คนที่อยากเรียนดนตรีด้านนี้

ที่สำคัญเราต้องการปลูกฝังศิลปวัฒนธรรมไทยให้กับเด็กไทยได้เห็นคุณค่าในมรดกที่บรรพบุรุษได้สร้างมา ขณะเดียวกันก็ต้องการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมของเราจากในหนังสือไปสู่ต่างชาติด้วย ในเมื่อเราใช้ตำราของเขาเรียนได้ แล้วทำไมเขาจะใช้ตำราเรียนของเราเรียนไม่ได้ เพราะในดรุณดุริยางค์ก็ไม่ได้ใช้ภาษาไทยอย่างเดียว แต่เราแปลเป็นอังกฤษกำกับด้วยทุกทีและทุกเพลง"

กว่าหนังสือทรงคุณค่าเล่มนี้จะสำเร็จเป็นรูปเล่มสวยงาม ทั้งการดีไซน์ก็แสนจะดึงดูดให้อยากจับอยากซื้อ โดยเฉพาะคนที่อยากเรียนเปียโน ดอกเตอร์ด้านการประพันธ์ (เพลง) ผู้นี้ บอกว่า เป็นงานที่ต้องใช้เวลาก็จริง แต่บอกได้เลยว่าทุกขั้นตอนการทำงานรู้สึกมีความสุขมากเพราะเป็นสิ่งตัวเองชอบอยู่แล้ว

"ทุกอย่างในหนังสือทำเองหมดเลยค่ะ ทั้งออกแบบปก ดีไซน์รูปเล่มทั้งหมด วาดรูปประกอบ ไม่ว่าจะรูปขนม หรือการละเล่นนั้นๆ เช่น เป่ายิงฉุบ ชักเย่อ มอญซ่อนผ้า งูกินหาง กระต่ายขาเดียว หรือขนมทองทองหยิบทองหยอด ขนมถ้วยฟู ขนมใส่ไส้ เป็นต้น ก็วาดเอง เพราะเราเรียนและรักศิลปะโดยเฉพาะการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แม้แต่สารบัญก็ออกแบบสีสันสวยงาม มีทั้งไทยและอังกฤษ

 

ดร.อชิมา พัฒนวีรางกูล  สร้างคุณค่าให้ดนตรีคลาสสิกไทย

 

ส่วนตัวโน้ตในแต่ละบรรทัดก็ทำสีสันต่างกัน ไม่ดำขาวเหมือนหนังสือดนตรีทั่วไป หรือแม้แต่ซีดีเพลงที่ให้ไปด้วยพร้อมหนังสือก็ยังอัดเอง นี่ถ้ามีโรงพิมพ์ของตัวเองคงพิมพ์เอง (หัวเราะ) ก็หวังว่าดรุณดุริยางค์จะสามารถดึงดูดควมสนใจของไทย และช่วยให้เด็กเกิดความเข้าใจในการฝึกเทคนิคการเล่นเปียโนมากขึ้น ในขณะเดียวกันยังเกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมไทย นำไปสู่ความสนใจและการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยต่อไปอีกด้วย" ดร.อชิมา

หากแต่หนังสือดรุณดุริยางค์อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ ถ้า ดร.อชิมาไม่ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะวิจัย เรื่อง "มิติใหม่ของดนตรีสากลในประเทศไทย : ดนตรีสร้างสรรค์เชิงวิชาการ” ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี ศ.ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ เมธีวิจัยอาวุโส ประจำปี 2556 เป็นหัวหน้าโครงการ

"หนังสือนี้เป็นผลงานที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ดิฉันยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ได้เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย เรื่อง มิติใหม่ของดนตรีสากลในประเทศไทย : ดนตรีสร้างสรรค์เชิงวิชาการ เป็นโครงการ 3 ปี ที่สนับสนุนโดย สกว. มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสนอผลงานดนตรีสร้างสรรค์เชิงวิชาการให้เห็นเป็นแบบอย่างแก่อาจารย์สอนดนตรีสายปฏิบัติทั่วประเทศ โดยอาจารย์ณัชชาเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยและในฐานะเมธีวิจัยอาวุโส ท่านได้เลือกดิฉันที่อายุน้อยที่สุดให้เป็น 1 ใน 10 คน

การที่ดินฉันได้เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย มองว่า อาจารย์ณัชชาคงเล็งเห็นผลงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของดิฉัน คือ เพลงฝากแผ่นดิน : บทประพันธ์เพลงเพื่อชาติ ที่ดิฉันได้คัดเลือกบทกวีไทย ‘ฝากแผ่นดิน’ ของอาจารย์ก้องภพ รื่นศิริ มาร้อยเรียงประกอบดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นใหม่อย่างเป็นเนื้อเดียวกันนี้มีศักยภาพสามารถมาต่อยอดเขียนผลงานเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่าง อาจารย์ณัชชาจึงได้บอกดิฉันว่าน่าจะมีหนังสือเรียนเปียโนที่เป็นของคนไทย นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของดรุณดุริยางค์เล่มนี้ค่ะ ซึ่งดิฉันเริ่มแต่งตั้งแต่โครงการเข้าสู่ปีที่ 2 และ 3 และปิดโครงการเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ต้องขอบคุณ สกว.ด้วยที่ให้การสนับสนุนด้วยดี" ดร.อชิมา เล่าถึงจุดเริ่มการแต่งหนังสือดรุณดุริยางค์

ดร.อชิมา พัฒนวีรางกูล  สร้างคุณค่าให้ดนตรีคลาสสิกไทย

 

ดร.อชิมา กล่าวต่อว่า รู้สึกภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้มาก เพราะเป็นผลงานที่ตั้งใจและทุ่มเทด้วยใจใจจริงจนหนังสือออกมามีคุณภาพอย่างที่เห็น ก็หวังว่าดรุณดุริยางค์จะเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนเปียโนให้กับเด็กไทยเป็นอย่างดี เหนืออื่นใดนอกจากจะช่วยพัฒนาเทคนิคการเล่นเปียโนแล้วยังให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมไทย คือ ขนมไทยและการละเล่นไทยด้วย

"เป้าหมายต่อไป คือ การสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ออกมา ไม่ใช่เล่มเดียวจบแน่นอน แต่อาจจะเป็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้รอดูฟีดแบ็กเล่มนี้ไปก่อนว่าเป็นยังไงบ้าง ทว่าตั้งแต่วันเปิดตัวหนังสือมาได้รับการตอบรับดีมาก ทั้งเด็กและครูที่สอนดนตรี ที่บอกว่าอยากได้หนังสือแบบนี้มานานแล้ว ก็รู้สึกภูมิใจที่ผลงานมีคุณค่าและเกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้เรียนและครูผู้สอนดนตรีด้วย"

สำหรับ ดร.อชิมา จบการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ในสาขการประพันธ์เพลง ภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และจบการศึกษาปริญญาโท และเอกในสาขาวิชาและสถาบันเดียวกัน เคยเป็นอาจารย์พิเศษวิชาทฤษฎีดนตรี และวิชาไวโอลิน ของภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีความสามารถด้านการประพันธ์เพลง โดยได้รับคัดเลือกให้แสดงผลงานการประพันธ์เพลงในเทศกาลดนตรีต่างๆ หลายครั้ง ตั้งแต่ในรูปแบบวงเชมเบอร์ไปจนถึงวงออร์เคสตราขนาดใหญ่ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ด้านการแสดงเปียโนเคยได้รับรางวัลผู้มีคะแนนสูงสุดของประเทศประจำปี 2548 ในการสอบเปียโนระดับปริญญาบัตร (Licentiate) ของสถาบัน Trinity College London ด้านการแแสดงไวโอลิน ได้รับเชิญให้เป็นหัวหน้าของวงออร์เคสตราแห่งคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลายครั้ง และเคยเป็นสมาชิกวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ

หากใครที่อยากชมการแสดงดนตรีของ ดร.อชิมา พร้อมนักดนตรีอีกมากมาย ไม่อยากให้พลาดกับคอนเสิร์ต "สดับถ้อยเพลงไทยไทย" ที่จัดขึ้นโดยสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักเดี่ยวเปียโนเพลงไทย ที่ก่อตั้งโดย ศ.ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ ในวันศุกร์ที่ 7 ต.ค.นี้ เวลา 18.00 น. ณ อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ