posttoday

สถาพร วณิชวรพงศ์ ก้าวที่กล้าบนธุรกิจอาหาร

28 กันยายน 2559

จากหนุ่มหล่อนักรักบี้ของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันกลายเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดและกรรมการบริษัท ดัคกาลบี้ กรุ๊ป

โดย...กองทรัพย์ ภาพ... กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

จากหนุ่มหล่อนักรักบี้ของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันกลายเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดและกรรมการบริษัท ดัคกาลบี้ กรุ๊ป ใครจะเชื่อว่าหนุ่มวิศวะหุ่นล่ำที่รักกีฬารักบี้อย่าง นิค-สถาพร วณิชวรพงศ์ จะหันมาเอาดีด้านธุรกิจอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเกาหลีจานร้อน เขาเผยที่มาของอาหารซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่นักชิมมากว่า 4 ปีว่า“จุดเริ่มต้นมาจากความหลงใหลในการรับประทานอาหารของพี่น้องในบ้านเรา โดยเฉพาะอาหารเกาหลี ประกอบกับช่วง 4 ปีที่แล้วกระแสเคป๊อปกำลังฟีเวอร์ในเมืองไทย พวกเราพี่น้องจึงเล็งเห็นช่องทางการทำธุรกิจอาหาร และเห็นว่าอาหารจานร้อนแบบเกาหลียังมีโอกาสเติบโตในเมืองไทยอีกมาก พอผมเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีโอกาสมาร่วมทำธุรกิจของพี่น้อง คือ บริษัท ดัคคาลบี้ เป็นธุรกิจที่พวกเราค้นหาแล้วตกลงร่วมกันว่าอยากทำ เห็นว่ายังมีช่องว่างทางธุรกิจตรงนี้อยู่ เราก็เลยมองว่าพวกเราน่าจะสร้างมันขึ้นมาได้ พอเห็นความเป็นไปได้เราก็เริ่มต้นกับมัน”

เฟรชชี่ในวงการอาหาร

จากวันที่พวกเขาตั้งใจจะทำธุรกิจอาหารจานร้อนผัดในซอสเผ็ดที่เรียกว่า ทัคคาลบี้ กว่าจะมีร้านแรกขึ้นมาที่สยามสแควร์ก็ใช้เวลาร่วมปี เพราะต้องมองหาทำเลที่เหมาะสมกับแบรนด์ที่พวกเขาเซตอัพบริษัทขึ้นมาใหม่ “สาเหตุที่เราเปิดร้านเองโดยไม่เลือกซื้อแฟรนไชส์จากเกาหลีโดยตรง เพราะเรามองว่าแบรนด์เกาหลีหลายแบรนด์มีการบริหารที่ยังไม่ตรงใจกับสไตล์คนไทยเท่าไหร่ และการซื้อแฟรนไชส์เข้ามาค่อนข้างเข้มงวด ตัวผู้ซื้อไม่สามารถยืดหยุ่นด้านใดได้เลย เราก็เลยคิดว่าถ้าเป็นแบรนด์ของเราเองโดยที่เราสร้างขึ้นมาเอง เราสามารถควบคุมได้ เราก็จะภูมิใจกับแบรนด์ที่เราสร้างขึ้นมาด้วย” นิค บอกเหตุผลของการก้าวสู่วงการธุรกิจอาหารเต็มตัว

แม้ตำแหน่งหนึ่งจะเป็นกรรมการผู้จัดการ แต่หน้าที่ของนิคส่วนหนึ่งคือดูแลงานด้านการตลาดเป็นหลัก แต่จากหนุ่มวิศวะมาจับงานด้านธุรกิจย่อมมีความยากพอสมควร แต่เขาบอกว่านี่เป็นความท้าทายที่หาไม่ได้จากแหล่งไหน “ผมมองว่าการทำธุรกิจอาหารเกี่ยวข้องกับการตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภค ดังนั้นเวลาที่เราจะทำอะไร เราก็ต้องคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของผู้บริโภค ว่าเราต้องการอะไร และทำอย่างไรจึงจะตอบโจทย์ความต้องการนั้นๆ ได้ ซึ่งผมก็ต้องศึกษาความรู้เพิ่มเติม ฟังประสบการณ์จากคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนเรา”

สถาพร วณิชวรพงศ์ ก้าวที่กล้าบนธุรกิจอาหาร

 

แม้ว่าจะผ่านไปแล้ว 4 ปี แต่เมื่อถามถึงปัญหาในธุรกิจ ชายหนุ่มบอกว่า แท้จริงแล้วปัญหาเคยหมดไปจากทุกธุรกิจ มีเข้ามาให้แก้ไขอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปัญหาเล็กน้อยไปจนถึงปัญหาใหญ่ “เนื่องจากพวกเราทำงานเป็นทีม หลายอย่างพวกเราไม่ได้มีความรู้ไปทุกเรื่อง ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาสิ่งที่ทำได้อย่างเร็วที่สุดก็คือการพูดคุยกัน ปรึกษาหาทางออก ตัดสินใจร่วมกัน”

ส่วนการเป็นผู้บริหารอายุน้อย มีข้อได้เปรียบหรืออุปสรรคอะไรไหม? “จริงๆ ก็มีทั้งข้อได้เปรียบและข้อจำกัดทั้งสองด้านนะครับ ผมมองว่าจุดที่ได้เปรียบ เป็นเรื่องของแนวคิดที่เรามี ความใหม่ เรากล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะทดลอง เราไม่ได้ลองผิดลองถูกเสียทีเดียว เพราะทุกอย่างที่เราทำผ่านการคิดมาอย่างดีแล้ว แต่เรากล้าที่จะพลิกแพลง ส่วนข้อจำกัดก็มาจากอายุอีกนั่นแหละ เพราะว่าเราอายุยังน้อย เราก็ยังขาดประสบการณ์เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานมาก่อน

สิ่งที่จะทำให้ทัคคาลบี้ได้เรียนรู้มากขึ้นนอกจากการทำงานจริง ก็คือต้องศึกษาจากผู้ที่เคยประสบความสำเร็จแล้วพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการพัฒนาอาหารจากสาขาที่ 1 ถึงสาขาที่ 11 การบริหารจัดการทั้งทรัพยากรที่เป็นส่วนผสมของอาหาร หลักสูตรอาหาร และวิธีการปรุงถูกพัฒนาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน “สำหรับผม QSC เป็นเรื่องที่ธุรกิจอาหารต้องให้ความใส่ใจ Q คือ Quality นั่นคือคุณภาพของวัตถุดิบ S คือ Service ซึ่งเราเปิดทุกช่องทางที่ลูกค้าคอมเมนต์เข้ามาโดยผ่านสายตาผู้บริหารโดยตลอด เรารับฟังทุกปัญหา และพร้อมจะแก้ไขอย่างทันที สุดท้าย C คือ Cleanest เราต้องรักษาความสะอาดทั้งอาหารและบรรยากาศภายในร้าน ผมว่าปัจจัยทั้งสามนี้จะช่วยให้ธุรกิจของเราอยู่ได้ยาวนาน”

สถาพร วณิชวรพงศ์ ก้าวที่กล้าบนธุรกิจอาหาร

 

กลยุทธ์ยุคโซเชียลเบ่งบาน

เมื่อ 4 ปีก่อนนอกจากกระแสเกาหลีจะฟีเวอร์แล้ว กระแสโซเชียลเน็ตเวิร์กที่กำลังบูม และแตกขยายเหมือนดอกไม้ที่กำลังเบ่งบาน ทัคคาลบี้ใช้จุดนี้ในการสร้างการจดจำ “ด้วยความที่เรายังเป็นเด็ก ในการเริ่มต้นธุรกิจงบลงทุนเราก็ไม่ได้สูงมาก การทำการตลาดก็ไม่ได้ทุ่มไปที่สื่อที่เป็นแมสอย่างโฆษณาทางโทรทัศน์ เราเน้นโซเชียลเน็ตเวิร์ก ใช้กลยุทธ์ปากต่อปาก อาจจะด้วยตัวอาหาร ลูกเล่นของอาหาร และโปรโมชั่น สร้างลูกเล่นและบรรยากาศให้เขาอยากแชร์อาหารของเราลงโซเชียลเน็ตเวิร์กแทน ดังนั้นกลุ่มที่เราจับคือกลุ่มที่ใกล้ชิดกับโซเชียล และด้วยทำเลที่เป็นสยามสแควร์ แบรนด์ของเราจึงเริ่มเป็นที่รู้จักในวัยรุ่นก่อน เขาเป็นกลุ่มคนที่กระจายและบอกต่อให้พวกเราได้”

กลุ่มลูกค้าที่ทานอาหารในแบบทัคคาลบี้อาจจะยังเป็นคนเมือง หรือหัวเมืองใหญ่ใกล้กรุงเทพฯ ดังนั้นกลยุทธ์การสร้างการรับรู้ ส่วนใหญ่จึงยังดำเนินแบบใกล้ชิดกับโซเชียลมีเดียอยู่ “ในโอกาสอันใกล้เรายังอยากขยายกลุ่มลูกค้าออกไปอีก ในช่วงปีนี้เราตั้งใจจะปล่อยโฆษณาทางสื่อหลัก ทั้งทางสื่อโทรทัศน์ รถไฟฟ้า กระจายตามอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยมีลูกเล่นต่างๆ ภายในร้านให้ลูกค้าได้ตื่นเต้นมากขึ้น ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ที่เพิ่งจะได้รู้จักแบรนด์ของเรา” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บอกถึงการสร้างแบรนด์ในยุค 4จี

สถาพร วณิชวรพงศ์ ก้าวที่กล้าบนธุรกิจอาหาร

 

สร้างทีมด้วยแนวคิดรักบี้

ด้วยไลฟ์สไตล์ที่ใกล้ชิดกับโซเชียลมีเดีย แต่ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้ชายคนนี้คือการคลุกคลีและจริงจังกับการเล่นกีฬา แม้จะออกตัวว่าไม่เกี่ยงชนิดเพราะอยากขยับร่างกายก็มีความสุขแล้ว แต่มีเพียงกีฬาชนิดเดียวที่ทำให้เขาหลงใหลถึงขั้นเล่นตั้งแต่เด็กเรื่อยมาจนโต และสิ่งที่เขาได้รับจากกีฬาชนิดนี้ก็ได้มากกว่าที่เขาเคยคิด “นอกจากเดินทางท่องเที่ยว ตระเวนชิมอาหาร ผมต้องเล่นกีฬาอย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ หลักๆ คือกีฬารักบี้ที่เล่นเป็นประจำ ผมแบ่งเวลาระหว่างการทำงานกับการดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกาย เวลามันไม่ทับซ้อนกันอยู่แล้ว เช่น ช่วงเย็น 2-3 ชั่วโมง ซึ่งผมมองว่าเป็นเวลาที่เราบริหารจัดการได้ ไม่ได้เป็นปัญหา ผมได้รับการปลูกฝังเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก เพราะเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธฯ เพราะเราเล่นกีฬาทุกวัน เรียนทุกวัน ดนตรีก็มี เราก็ต้องจัดสรรเวลาของเราให้ได้ ในมหาวิทยาลัยก็เล่นกีฬา เป็นไลฟ์สไตล์ของเราไปแล้ว คือถ้าเราทำงานของเรา 8 ชั่วโมงเต็มที่ก็ไม่ต้องเบียดเบียนเวลาของส่วนอื่นในชีวิตของเรา

“ผมหลงใหลและรักกีฬาชนิดนี้ สิ่งที่ผมได้จากกีฬาชนิดนี้ สอนหลายอย่าง สอนให้รู้จักแพ้ ชนะ การยอมรับความจริง ความรับผิดชอบ การเสียสละ และกีฬารักบี้เองเป็นกีฬาที่มีตัวผู้เล่นเยอะที่สุดในบรรดากีฬาที่เล่นเป็นทีมคือ 15 คน มันสอนให้เรามีความสามัคคี การทำงานเป็นทีม เพราะตำแหน่งแต่ละตำแหน่งของกีฬารักบี้ก็จะมีหน้าที่ที่แตกต่างกันเลยอย่างชัดเจน หุ่นก็มีไซส์เล็ก ไซส์ใหญ่ แต่ละคนทำหน้าที่ต่างกันตามความถนัด เป็นส่วนหนึ่งที่ปลูกฝังให้ผมรู้จักเรื่องการแบ่งงานกัน การเชื่อใจเพื่อนร่วมทีม

ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาในบริษัท เราจะเชื่อว่าคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะดำเนินงานได้อย่างเต็มที่และดีที่สุด เพราะนี่คือสิ่งที่เขาถนัด ถ้ารักบี้สนุกที่เราได้ใช้ร่างกายได้ทุกส่วน สายตา มือ เท้า การปะทะ เรื่องของเกมต้องใช้สมองตลอดเวลา เป็นกีฬาที่ได้ใช้ร่างกายได้เต็มศักยภาพ ตอนนี้ผมว่างานของผมก็ไม่ต่างกัน เราเพียงเปลี่ยนการปะทะทางร่างกายมาอยู่ที่เสียงตอบรับทั้งทางดีหรือไม่ดี แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องใช้สมองและการแก้เกมอยู่ตลอดเวลา” สถาพร ปิดท้ายได้อย่างออกรส ก่อนจะเปิดเตาไฟฟ้าเพื่อพิสูจน์ว่ารสชาติอาหารของเขาร้อนแรงเท่ากับผู้บริหารตรงหน้าหรือไม่?