posttoday

เบนซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย นักสังเกตชีวิต

26 กันยายน 2559

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอต้อนรับสู่เรื่องราวของผู้ชายอารมณ์ดีที่เป็นทั้งนักเขียน นักแปล ช่างภาพ ผู้กำกับ และเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ... วิศิษฐ์ แถมเงิน

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอต้อนรับสู่เรื่องราวของผู้ชายอารมณ์ดีที่เป็นทั้งนักเขียน นักแปล ช่างภาพ ผู้กำกับ และเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง โปรดให้ความสนใจด้วยค่ะ

วิดีโอสาธิตความปลอดภัยบนรถเมล์ ถูกส่งต่ออย่างรวดเร็วในไม่กี่ชั่วโมง พร้อมข้อความกวนๆ “ซฮ 08 รัชดา-สะพานพุทธ เป็นรถเมล์ที่ปลอดภัยที่สุดใน กทม. ไม่เชื่อดูวิดีโอสาธิตความปลอดภัยได้” แล้วจะมีใครบ้างไม่หลงกับดักความฮาของ เบนซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย คนสร้างคอนเทนต์แห่งแซลมอนเฮาส์

เขาเป็นคนเดียวกับคนเขียนหนังสือเรื่อง นิวยอร์ก เฟิสต์ ไทม์ (NEW YORK 1st TIME) ที่ตีแผ่ชีวิตนักเรียนในเมืองนอกที่เด็กจบนอกไม่พูดถึง คนเดียวกับผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และยังเป็นคนเดียวกับคนที่ชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ในรูปแบบของนักสังเกตการณ์สังคม

ผู้กำกับ

เบนซ์จบปริญญาตรี การภาพยนตร์และถ่ายภาพ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอจบเขาว่างงานไป 4 เดือนจนมีการเปิดรับสมัครผู้ช่วยผู้กำกับหนังเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

“เข้าไปทำหลายอย่างทั้งติดต่อโลเกชั่น หานักแสดงเอ็กซ์ตร้า ซ้อมนักแสดง ประสานงาน และงานใดๆ ก็ตามที่ช่วยให้ผู้กำกับทำงานน้อยที่สุด” เขากล่าว “ทำตั้งแต่กั้นรถ และหลังจากนั้นก็จะเข้าใกล้กองถ่ายไปเรื่อยๆ เริ่มมารันกอง เริ่มสั่งนักแสดง เริ่มสั่งแอ็กชั่น โชคดีที่ผมได้ทำงานกับพี่เจ้ย เพราะเป็นกองถ่ายหนังอิสระ เงินทุนไม่มากเหมือนหนังอุตสาหกรรม ทำให้หนึ่งคนต้องทำได้หลายอย่าง ผมเองก็ได้ฝึกทำทุกอย่างในกองถ่ายเหมือนโตมาในนั้น”

เบนซ์ส่งใบสมัครตามขั้นตอน ผ่านเข้าไปสัมภาษณ์ และสุดท้ายถูกคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 2 คนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ ซึ่งเขามาทราบภายหลังว่า มีผู้สมัครถึง 300 คน “รู้สึกโชคดีที่เขาเลือกเรา” เขากล่าวต่อ “ผมเป็นแค่เด็กจบใหม่ที่ยังไม่รู้เรื่องอะไร ได้ไปทำงานกับผู้กำกับที่เด็กฟิล์มทุกคนอยากทำ ผมก็ทำมันให้เต็มที่ แม้ว่าจะเหนื่อยมากก็ตาม” เขากล่าวเพิ่มเติม ภาพยนตร์ลุงบุญมีระลึกชาติได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้

เบนซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย นักสังเกตชีวิต

นักเรียน

การทำงานสอนตัวเขาเองหลายอย่าง ทั้งการเป็นผู้กำกับที่ดี ที่ไม่ใช่แค่เก่งแต่ต้องสร้างความสุขในการทำงาน และเป็นแรงผลักดันให้ไปเรียนต่อต่างประเทศ เขาเลือกไปเรียนที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ด้าน Photography Video and Related Media หรือศิลปะทุกอย่างที่ใช้เลนส์เป็นส่วนประกอบ เช่น ถ่ายภาพยนตร์ ภาพนิ่ง งานโปรเจกเตอร์ เป็นต้น

“คลาสแรกผมตื่นเต้นมาก ใจเต้นปับๆๆ เพราะการเรียนที่นู่น (นิวยอร์ก) ไม่เหมือนการเรียนที่บ้านเรา ไม่มีสไลด์มาเปิด แต่สอนแบบนั่งคุยกัน ยกเคสมาโต้เถียงกัน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะซึ่งทำให้รู้ว่า ศิลปะบ้านเราแคบมาก เรายังสอนศิลปะที่เป็นวิจิตรศิลป์ เทิดทูนศิลปะ แต่ที่นู่นเลยไปถึงคอนเซ็ปชวลอาร์ต พูดกันเรื่องแนวคิด พูดกันเรื่องอื่นแล้ว นับเป็นการเรียนสองปีที่ผมได้อะไรมากกว่าการเรียนตั้งแต่ประถมจนจบปริญญาตรี” เขาเพิ่มเติม

เบนซ์จบจากนิวยอร์กพร้อมรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 ซึ่งที่นั่นไม่ได้วัดด้วยเกรด แต่วัดด้วยงานธีซิสที่โดดเด่นที่สุดในรุ่น เขาทำธีซิสเรื่อง The Word I Love เป็นสารคดีแนวทดลอง ที่เกิดจากชีวิตประจำวันที่เขาชอบอ่านหนังสือบนรถไฟใต้ดิน เวลาเจอศัพท์ที่ไม่รู้ความหมายจะหันไปถามคนข้างๆ ให้เขาอธิบาย (เป็นภาษาอังกฤษ) จนเข้าใจ

“ผลมันต่างจากที่เราคิด เพราะเรามักคิดว่านิวยอร์กเกอร์ต้องเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่สนใจใคร พุ่งไปตามเป้าหมายของตัวเองเท่านั้น แต่กลายเป็นว่าทุกคนเฟรนด์ลี่มาก ทุกคนช่วยอธิบายความหมาย เหมือนเปิดโลกเราให้มองพวกเขาเปลี่ยนไป” เขาเล่าการสร้างงานจากสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันให้กลายเป็นสารคดีหนึ่งเรื่อง

นักเขียน

นิวยอร์กยังทำให้เขาเขียนหนังสือเรื่อง นิวยอร์ก เฟิสต์ ไทม์ โดยได้รวบรวมประสบการณ์ที่เกิดขึ้น 2 ปี ระหว่างที่เรียน หนึ่งคือ เวลาเราพูดว่าเด็กนอก คนจะมองว่าสวยหรู แต่จริงๆ แล้วชีวิตมันก็เฉยๆ

“เด็กนอกคือ คนที่ไปเรียนต่างประเทศเฉยๆ เด็กนอกก็ต้องไปเจอความทุกข์ ไปเจอความยากลำบากเหมือนกัน ยังมีด้านที่ไม่อภิรมย์เหมือนกัน เช่น ไปวันแรกผมโดนปล้น ทั้งอาทิตย์เหลือเงินอยู่สามร้อยบาท ก็ต้องกินจังก์ฟู้ด ทุกวันให้ผ่านไปได้ และยังต้องเจอกับความรู้สึกคิดถึงบ้าน การไม่จูนกับคนรอบข้าง ความที่ต้องไปเจอความไม่เคยชินในทุกๆ วัน มันไม่ได้สวยหรูอย่างใครมอง”

เขาจึงคิดเขียนเรื่องอะไรก็ตามที่เป็นครั้งแรก เช่น การไปเรียนเมืองนอกครั้งแรกในชีวิต เข้าโรงเรียนวันแรก เจอพายุครั้งแรก ถูกปล้นครั้งแรก ถูกว่าจ้างครั้งแรก และอะไรอีกหลายอย่างที่เคยทำในไทย

“ผมเปิดตัวเองมากขึ้น” เบนซ์กล่าวต่อ “เปิดให้ตัวเองลองเขียนหนังสือเพื่อบำบัดตัวเองจากอาการคิดถึงบ้าน” และเปิดให้ตัวเองทำคลิป ลุงเนลสัน จากแนวคิดที่ว่า หนังสือนิวยอร์ก เฟิสต์ ไทม์ เล่าเรื่องคนไทยในนิวยอร์ก ดังนั้นคลิปโปรโมทก็น่าจะเป็นเรื่องคนนิวยอร์กพูดถึงเมืองไทยที่มีความกวนในแบบฉบับของเบนซ์ ซึ่งตอนนี้ลุงเนลสันถูกต่อยอดไปถึง 10 คลิปแล้ว

นอกจากนี้เขายังเป็นผู้เขียนเรื่อง THE REAL ALASKA อลาสก้าล้านเปอร์เซ็นต์ DEAR PORTLAND TALK WITH MR.NELSON และ ONCE UBON A TIME อุบลเป็นเมืองชิกๆ ซึ่งเล่มสุดท้าย เขาชอบมากที่สุด

“งานหนังสือทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง แค่คุณกับคอมพิวเตอร์ก็ทำไม ทำให้เหมือนได้ทำสมาธิ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทุกคนควรทำ ไม่ใช่แค่นักเขียน แต่ทุกคนควรทำ ก่อนนอนคุณเขียนไดอารี่หรือยัง คุณบันทึกไหมว่าวันนี้คุณคิดอะไรบ้าง รู้สึกอะไรบ้าง ลองเขียนดู ใช้เวลาอยู่กับตัวเองหน่อย ไม่มากก็น้อยทุกคนควรเป็นนักเขียน” เขากล่าว

เบนซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย นักสังเกตชีวิต

นักสังเกต

เบนซ์ชอบหยิบจับเรื่องเล็กๆ มาขยายให้ใหญ่และน่าสนใจภายใต้อารมณ์ขันที่ไม่ไร้สาระ เหมือนคลิปวิดีโอสาธิตความปลอดภัยบนรถเมล์ ที่แสดงบทบาทเป็นแอร์โฮสเตสเพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของรถโดยสารสาธารณะ

“ผมเป็นคนชอบสังเกต” เขากล่าว “เลยพยายามหามุมเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ใช่แค่เราที่รู้สึก แต่คนอื่นก็รู้สึกด้วย เช่น รถเมล์ทำไมถึงชอบมีขยะซุกอยู่ตามซอกๆ มีพัดลมแต่ทำไมชอบเสีย ทำไมคนชอบแกล้งหลับ หรือเวลาเราเข้าห้องน้ำ พอทำธุระเสร็จ กดชักโครกแล้วมันลงไม่หมด ทำไมระหว่างรอน้ำที่สอง ทำไมน้ำที่สองต้องนานเสมอ ผมชอบหยิบอะไรเล็กๆ เหล่านี้มาขยาย เป็นอารมณ์ขันแบบหนึ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Observational Humor คือ ตลกสังเกตการณ์ ที่เริ่มจากการสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แล้วขยายออกให้มันเลอะเทอะ” ทั้งนี้เขาใช้เวลาเขียนคลิปรถเมล์ 3 ชม. มีคนดูมากกว่า 1 ล้านครั้งในตอนนี้

คนบ้างาน

ปีหน้า (2560) เบนซ์จะกลับไปทำงานที่นิวยอร์ก โดยเขาคิดว่าจะไปทำงานถ่ายภาพนิ่งให้มากขึ้น “โชคดีที่ผมมีโอกาสเปิดตัวเองกับโลก โลกของศิลปะ โลกของสื่อ ที่ทำให้เห็นว่าในระดับสเกลโลก สื่อมันไปได้หลายแบบ ศิลปะมีหลายแบบ บันดาลใจให้ตัวเองไม่หยุดค้นคว้า เราอยู่ในยุคที่ไม่มีใครเป็นไดเรกเตอร์ตลอดเวลา ไม่มีใครเป็นช่างภาพ ไม่มีใครเป็นนักเขียนอย่างเดียวได้ตลอดเวลา เราไม่สามารถนิยามตัวเองได้ในอาชีพเดียวแล้ว อย่างผม ผมคิดว่าตัวเองเป็นนักสื่อสาร อยู่ที่ว่างานไหนใช้สื่อไหนในการเล่ามากกว่า คนเราสามารถทำได้หลายบทบาทในยุคนี้” เขากล่าว

เบนซ์มีหลักการใช้ชีวิตอยู่บน “ความสุข” หมายความว่า ถ้ารู้ว่าความสุขคืออะไร ก็จะดำเนินชีวิตไปตามนั้น “ผมมีความสุขกับการครีเอทีฟ ได้คิดอะไรใหม่ๆ การรับสิ่งใหม่ๆ และการสร้างสิ่งใหม่ มีการวิจัยออกมาว่า ความสุขของแต่ละคนต่างกัน อย่างผมเป็นคนบ้างาน มีความสุขในการทำงาน ไม่ใช่การไปแฮงเอาต์ ดังนั้นผมจะเลือกทำงานที่ชอบ เพื่อไม่ให้เปลืองเวลาชีวิต”

ทุกวันนี้ เขาได้เป็นผู้กำกับสมใจ ได้อยู่ในวงการศิลปะอย่างที่หวังไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาฝันและอยากให้เป็นจริงตลอดไป คือ อยากเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กไทยคิดต่างและตั้งคำถามต่อสังคม

“ผมอยากให้เขาไม่ตามน้ำ ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่บ้าง แต่ต้องรู้จักตั้งคำถาม รู้จักสังเกต และลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้ดีขึ้น” เขาทิ้งท้าย