posttoday

พาเพลินไปในโลกของ ดิษยา สรไกรกิติกูล

13 กันยายน 2559

เอ่ยชื่อ ออม-ดิษยา สรไกรกิติกูล เจ้าของแบรนด์และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ แบรนด์ดิษยา (Disaya)

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ... เสกสรร โรจนเมธากุล

เอ่ยชื่อ ออม-ดิษยา สรไกรกิติกูล เจ้าของแบรนด์และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ แบรนด์ดิษยา (Disaya) แฟชั่นนิสต้าทั้งไทยและต่างประเทศต่างคุ้นหูเป็นอย่างดี เพราะเป็นที่รู้กันว่าผลงานการออกแบบของเธอไม่ได้มีเฉพาะสาวไทยที่ถูกใจคาแรกเตอร์ของผู้หญิงแบบดิษยา แต่ยังรวมถึงเซเลบลํตี้แถวหน้า ไม่ว่าจะเป็น ปารีส ฮิลตัน เคลลี่ ออสบอร์น อากีเนสส์ ดีน รวมทั้งนักร้องดังผู้ล่วงลับอย่าง เอมี ไวน์เฮาส์ ก็ยังเลือกสวมชุดของแบรนด์ดิษยาในอัลบั้ม Back to Black ซึ่งชุดเดรสแสนหวาน หลังจากนักร้องคนดังจากไปแล้ว ยังกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อชุดดังกล่าวทำรายได้การประมูลเพื่อนำไปมอบให้กับมูลนิธิต่างๆ ได้มากกว่าที่ตั้งใจไว้ถึง 4 เท่า

ตลอดเส้นทางบนถนนสายแฟชั่นของผู้หญิงตัวเล็กๆ เจ้าของใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลาคนนี้ ผิวเผินอาจเหมือนทุกความสำเร็จที่เกิดขึ้นช่างง่ายดาย แต่แท้จริงแล้ว ภายใต้ความสวยงามนี้ต้องแลกด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจที่ซ่อนอยู่ แทบจะเรียกได้ว่าตั้งแต่ก้าวแรกที่เธอบอกตัวเองว่าชอบและหลงรักในแฟชั่นเลยก็ว่าได้

เส้นทางสายแฟชั่นของลูกไม้ไกลต้น   

ดีไซเนอร์สาวคนดัง เล่าถึงจุดเริ่มต้นในถนนสายแฟชั่นว่า เธอเติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจโรงแรม แต่ด้วยใจรักด้านการวาดรูป เลยมุ่งมั่นจะเอาดีในสายแฟชั่น ในตอนแรกครอบครัวของเธอไม่สนับสนุนเพราะการเรียนแฟชั่นในยุคของเธอนั้น ยังไม่เป็นสิ่งที่ใหม่มาก จบมาแล้วไม่การันตีว่าจะหางานได้ แต่เธอก็พยายามพิสูจน์ความมุ่งมั่นที่มีให้ครอบครัวได้เห็น ด้วยการสอบเข้าเรียนต่อทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยทางด้านแฟชั่นชั้นนำของประเทศอังกฤษอย่าง Central St.Martins College of Arts and Design ได้สำเร็จ

พาเพลินไปในโลกของ ดิษยา สรไกรกิติกูล

“ออมโชคดีที่รู้เร็วว่าตัวเองชอบอะไร และอยากที่จะทำอะไร ซึ่งตอนแรกคุณพ่อคุณแม่ไม่สนับสนุน ท่านอยากให้เราเรียนทางด้านอินทีเรียร์มากกว่า เพราะคุณพ่อเป็นวิศวกร แต่เราเองกลับชอบแฟชั่น เลยพยายามพิสูจน์ให้ท่านเห็นว่าเรามีความตั้งใจจริงๆ”

ความสามารถด้านแฟชั่นของดีไซเนอร์ไทยคนเก่ง เริ่มฉายแววตั้งแต่เธอยังเป็นเพียงนักศึกษา เพราะผลงานการแสดงแฟชั่นโชว์สำหรับโปรเจกต์เพื่อจบปริญญาตรีของเธอสามารถคว้ารางวัล L’Oreal Total Look Award ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักเรียนที่ทำผลงานการออกแบบได้โดดเด่น ที่ผ่านมาออมไม่เพียงปลุกปั้นแบรนด์ดิษยาจนกลายเป็นแบรนด์ไทยที่มีชื่อ แต่ยังอยู่เบื้องหลังแฟชั่นแบรนด์ไทยอีกหลายแบรนด์ เช่น ซัมธิง บูดัวร์ (Something Boudoir) บูดัวร์ บาย ดิษยา (Boudoir by Disaya) ดิ โอนลี ซัน (The Only Son) รวมทั้งอิมพอร์ตแบรนด์อย่างโคลเอ (Chloe) และจิมมี่ ชู (Jimmy Choo)

ล่าสุด ดีไซเนอร์คนเก่งยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการแฟชั่นครั้งใหม่อีกครั้ง ด้วยการพาแบรนด์ดิษยาก้าวไปอีกขั้น นำเสนอเรื่องราวของดิษยาผ่านไลฟ์สไตล์มากกว่าสะท้อนผ่านแฟชั่นการแต่งกายแบบที่เคย เพื่อเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของผู้หญิงในแบบดิษยาให้ชัดเจนขึ้น

“ออมตั้งใจให้บูติกสโตร์แห่งใหม่ของดิษยา เป็นตัวแทนสะท้อนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตในแบบผู้หญิงดิษยาให้ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่แค่การแต่งตัว แต่รวมถึงไลฟ์สไตล์ เช่น ผู้หญิงดิษยาชอบกินอาหารแบบไหน ชอบไปเที่ยวที่ไหน ทำกิจกรรมอะไร โดยเราจะเน้นเข้าถึงกลุ่มแฟนๆ ของแบรนด์ผ่านทางช่องทางออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเว็บไซต์ ที่จะนำเสนอเรื่องราวในหลากหลายแง่มุมที่สะท้อนถึงโลกในแบบของดิษยา”

พาเพลินไปในโลกของ ดิษยา สรไกรกิติกูล

ยินดีต้อนรับสู่โลกของดิษยา

ด้วยคอนเซ็ปต์นี้เอง จึงเป็นที่มาของบูติกสโตร์แห่งใหม่ของแบรนด์ ที่ดีไซเนอร์สาวเลือกฉีกรูปแบบช็อปเดิมๆ ด้วยการนำเสนอสินค้าในเชิงไลฟ์สไตล์อย่าง เทียนหอม น้ำหอม ภาพวาด รวมทั้งแอกเซสซอรี่ต่างๆ เข้ามาเสริมทัพและฟินนิชลุคให้กับผู้หญิงแบบดิษยา เหมือนเป็นวันสต็อปเซอร์วิส แทนที่จะนำเสนอเสื้อผ้าเรดดี้-ทู-แวร์แบบเดิม

“ไอเดียนี้เกิดจากออมและทีม ซึ่งทุกปีทีมงานของเราจะคุยกันอยู่แล้ว ว่าผู้หญิงของดิษยาเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร คือไม่ใช่ว่าเขาไม่ใช่คนเดิมนะคะ แต่เขาเป็นผู้หญิงที่ไม่หยุดอยู่กับที่ มีแพสชั่นและไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ตลอด เพราะฉะนั้นเมื่อยิ่งคุยกันภาพของผู้หญิงในแบบดิษยาก็ยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ เราเลยคิดว่าอยากสะท้อนออกมาให้ลูกค้าเห็น”

ถามว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของดิษยาจะเรียกว่าเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการแฟชั่นไทยหรือไม่ ดีไซเนอร์สาวคนเก่งถ่อมตัวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่เป็นการสะท้อนถึงความพยายามของแบรนด์ ในการไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พยายามพัฒนาตัวเองตลอด ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันในตลาดแฟชั่นที่สูง แน่นอนว่าการทำแบรนด์ก็ยากขึ้น แต่ยังโชคดีที่ดิษยาเติบโตมาสักระยะ มีประสบการณ์ และทีมงานในหลายๆ ด้านที่พร้อมจะยืนหยัดในสมรภูมิธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมากนี้

“เปรียบเทียบกับตอนเริ่มต้นทำแบรนด์ใหม่ๆ ออมคิดว่าตอนนั้นยากกว่ามาก เพราะเราเริ่มต้นจากศูนย์จริงๆ มีทีมงานแค่ 2-3 คน ทุกวันนี้เรามีพนักงานถึง 300 คน ช่วงที่เริ่มทำแบรนด์ต้องเรียนรู้ทุกอย่าง แต่มาถึงวันนี้ถึงมีความยากตามปัจจัยที่เปลี่ยนไป แต่เราก็มีความพร้อมมากขึ้น มีทีมงานที่จะสนับสนุนสามารถก้าวไปทำในสิ่งที่เราอยากทำได้”

จนถึงวันนี้ ดิษยา คือ หนึ่งในแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ถามว่าอะไรคือ เสน่ห์ที่ทำให้แบรนด์ครองใจแฟชั่นนิสต้าตลอดมา ออมตอบว่า เพราะเราเข้าใจลูกค้า รู้ว่าเขาต้องการอะไร และทำสินค้าเพื่อตอบโจทย์นั้น

พาเพลินไปในโลกของ ดิษยา สรไกรกิติกูล

 

“เวลาที่ออมทำเสื้อผ้า ออมคิดเสมอว่า ผู้หญิงทุกคนอยากใส่เสื้อผ้าออกมาแล้วดูสวย เพราะฉะนั้นโจทย์ของออมคือ ออกแบบเสื้อผ้าให้ผู้หญิงใส่แล้วสวย นี่คือเสน่ห์ของแบรนด์ดิษยา”

สำหรับหลายคนที่รักแฟชั่นและอยากจะเข้ามาโลดแล่นในโลกแฟชั่นแบบออมบ้าง เธอมีคำแนะนำอย่างน่าสนใจว่า การจะทำแบรนด์เสื้อผ้านั้นใครๆ ก็ทำได้ แต่จะทำให้แบรนด์อยู่รอด และอยู่ได้นาน เป็นเรื่องยาก จากประสบการณ์ทั้งการเป็นเจ้าของแบรนด์ และบริหารแบรนด์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ออมบอกว่า จุดเริ่มต้นของคนทำแบรนด์ ไม่ใช่แค่มีไอเดีย แล้วถ่ายทอดลงในกระดาษออกมาเป็นเสื้อผ้าสวยๆ แต่ต้องเข้าใจถึงกระบวนการเบื้องหลังการทำแบรนด์ ตั้งแต่การหาวัสดุ หาซัพพลายเออร์ หาโรงงาน กระบวนการผลิต การทำการตลาด ซึ่งทุกส่วนสำคัญหมด

“ออมโชคดีที่ตอนเริ่มต้นทำแบรนด์ ได้คุณเอ-ดนัย สรไกรกิติกูล (สามี) ซึ่งเป็นสายบริหารมาเป็นจิ๊กซอว์อีกส่วนที่ลงตัวช่วยให้ธุรกิจของเราบาลานซ์ เพราะถ้าอาศัยด้านครีเอทีฟของออมในฐานะที่เรียนด้านแฟชั่นมาโดยตรง รักการวาดรูปเป็นทุนเดิม คงยากที่จะทำให้แบรนด์เติบโต ออมคิดว่า สำหรับใครที่สนใจจะเริ่มต้นทำแบรนด์เสื้อผ้าต้องถามตัวเองให้ชัดก่อนว่า จุดหมายในการทำแบรนด์ของเราคืออะไร เป้าหมายในอนาคตอยู่ตรงไหน ให้มองธุรกิจเป็นภาพใหญ่ อย่าทำตามกระแส ไม่เช่นนั้นจะเสียเวลาเปล่าๆ”

ก้าวต่อไปของดิษยา

นอกจากตอนนี้จะเติบโตในตลาดเมืองไทย อีกตลาดที่แข็งแกร่งของแบรนด์ดิษยา คือ จีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ล่าสุดเพิ่งไปทำโปรโมทดิษยาที่ญี่ปุ่น โดยดึงเอาผู้หญิงที่มีอิทธิพลในโลกแฟชั่นมา 5 คน เพื่อเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงในแบบดิษยา

“ในตลาดยุโรปและสหรัฐ เราเคยโกอินเตอร์ไปเจาะตลาดนั้นมาแล้ว แต่ด้วยจังหวะตอนที่แบรนด์ไปหลายๆ อย่างอาจยังไม่ลงตัว เศรษฐกิจฝั่งยุโรปและสหรัฐ ในช่วงนั้นมีปัญหาพอดี แบรนด์ส่วนใหญ่ที่เข้าไปทำตลาดต้องถอยกลับมาหมด ตอนนี้เราเองเลยอยู่ในช่วงรอดูตลาด รอให้ตลาดแข็งแรงก่อนเราค่อยไปอีกครั้ง”

พาเพลินไปในโลกของ ดิษยา สรไกรกิติกูล

 

กับเส้นทางบนถนนสายแฟชั่นกว่า 1 ทศวรรษ ออมย้ำหนักแน่นว่า ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นดีไซเนอร์ที่ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะคิดว่าโลกแฟชั่นและโลกธุรกิจใบนี้ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวให้เธอเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

“มองย้อนกลับไป ออมเซอร์ไพรส์ตัวเองเหมือนกันที่มาถึงจุดนี้ (หัวเราะ) เพราะตั้งแต่เด็กถึงออมจะชอบแต่งตัว ชอบวาดรูปก็จริง แต่ก็ไม่เคยวาดฝันตัวเองมาไกลถึงจุดไหน จะว่าไปออมมาตกหลุมรักการเป็นดีไซเนอร์จริงๆ ก็ตอนที่เรียนแฟชั่นจริงจังในมหาวิทยาลัย แล้วได้เรียนรู้กระบวนการทำเสื้อผ้า ตั้งแต่แบบร่างที่อยู่ในกระดาษ กระทั่งกลายเป็นเสื้อผ้าออกมา จากตรงนั้นออมก็เดินมาตามทางสายนี้มาเรื่อยๆ แบบไม่ได้ทะเยอทะยานวาดภาพตัวเองว่าต้องมาถึงจุดไหน แค่ทำทุกอย่างไปตามแพสชั่นที่มี”

ออมบอกว่า ทุกวันนี้ความสุขของเธอ ไม่ได้อยู่ที่การเห็นกระบวนการสุดท้ายของการทำเสื้อผ้าออกมาเป็นคอลเลกชั่นเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ขั้นตอนเริ่มต้น อย่างการได้หยิบดินสอขึ้นมาถ่ายทอดไอเดียและแรงบันดาลใจลงไปในกระดาษด้วย

“ถ้าหากออมไม่ได้ทำงานที่รักตรงนี้ ก็ยังคิดไม่ออกจริงๆ นะคะว่าชีวิตของออมตอนนี้จะทำอะไรอยู่ หรือจะเป็นยังไง” ดีไซเนอร์สาวกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มสดใส