posttoday

เทพประทาน เหมเมือง จากนักเดินทางสู่เจ้าของร้านออนไลน์

12 กันยายน 2559

ชายคนนี้คือ เทพประทาน เหมเมือง นักเดินทางท่องโลกและนักเขียนฝีมือดี อดีตบรรณาธิการนิตยสารสุภาพบุรุษหัวนอก

โดย...โยธิน อยู่จงดี ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์

ชายคนนี้คือ เทพประทาน เหมเมือง นักเดินทางท่องโลกและนักเขียนฝีมือดี อดีตบรรณาธิการนิตยสารสุภาพบุรุษหัวนอก ผู้ผันตัวมาเป็นเจ้าของธุรกิจกาแฟเทพประทาน(www.facebook.com/dhepprathan.h) ธุรกิจขายสินค้ากาแฟออนไลน์เล็กๆ ที่ด้วยแนวคิดจากการเริ่มต้นธุรกิจอย่างพอเพียง

เทพประทานเริ่มต้นชีวิตการทำงานให้กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส จากนั้นไม่นานนักก็ออกมาทำนิตยสาร ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องของการสร้างแบรนดิ้งจุดประกายความสนใจในเรื่องของการทำธุรกิจ แต่ในช่วงยุคสมัยที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังคงเติบโต ความคิดที่จะทำธุรกิจเป็นของตัวเองจึงคงเก็บไว้ในห้วงความทรงจำ ก่อนจะเริ่มต้นการออกเดินทางท่องโลกกว้าง จนกระทั่งวันหนึ่งในจุดที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ซบเซา เขาจึงเริ่มกลับมาคิดว่า น่าจะถึงเวลาที่เขาคุณมีธุรกิจเป็นของตัวเองได้แล้ว

“จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจออนไลน์ของผม เริ่มมาจากความคิดที่ว่า เราน่าจะมีธุรกิจของตัวเอง จนได้ไปเจอกับเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดกาแฟอราบิกา ที่ จ.แม่ฮ่องสอน จึงเริ่มความคิดที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา โดยใช้ความรู้เรื่องการสร้างแบรนด์มาใช้กับสินค้าของเราเอง ในชื่อกาแฟเทพประทาน และเริ่มใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการขายสินค้าเป็นหลัก

เราสร้างแบรนด์เล็กๆ และขายสินค้าตามเท่าที่กำลังเรามี เพราะในโลกธุรกิจเราไม่มีทางสู้แบรนด์ใหญ่ๆ ในเรื่องช่องทางจัดจำหน่ายได้เลย ก่อนหน้านี้เคยคิดอยากจะเปิดหน้าร้านขายกาแฟที่เราผลิตเอง แต่ด้วยราคาค่าเช่าที่ค่อนข้างสูง เดือนละประมาณ 3 หมื่นบาท สมมติว่าเราขายได้เดือนละ 5 หมื่นบาท ก็กำไร 2 หมื่น หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ เราก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี จึงตัดสินใจใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการขายสินค้าเป็นหลักดีกว่า เพราะเรากำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ทุกคนต่างทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนกันหมดแล้ว

สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้จากรายได้ของไปรษณีย์ไทยที่เพิ่มขึ้น แสดงว่าคนเริ่มให้ความไว้ใจและสนใจสั่งซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น”

เทพประทาน เหมเมือง จากนักเดินทางสู่เจ้าของร้านออนไลน์

 

เฟซบุ๊กส่วนตัวดีกว่าแฟนเพจ

เทพประทาน เล่าจากประสบการณ์ว่า ในการทำธุรกิจออนไลน์นั้น ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นโพรไฟล์ส่วนตัวดีกว่าการใช้แฟนเพจ หรือเว็บไซต์ เพราะว่าในปัจจุบันแบรนด์หรือร้านค้าต่างๆ จำเป็นต้องมีเว็บไซต์
มีเพจบนเฟซบุ๊กก็จริง แต่เว็บไซต์เหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวทำเงินเท่ากับโซเชียลมีเดีย

เว็บไซต์เป็นเพียงแค่หน้าเว็บที่ให้ข้อมูลต่างกับลูกค้า ส่วนหน้าเพจเฟซบุ๊กเอาไว้สร้างภาพลักษณ์ แต่เวลาลูกค้าตัดสินใจซื้อของสักชิ้นเขาอยากจะพูดคุยกับคนขายก่อนตัดสินใจซื้อมากกว่า

“เมื่อเทียบกับการขายระหว่างหน้าเพจเฟซบุ๊ก กับเฟซบุ๊กส่วนตัวนั้น การขายหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะขายให้กับคนที่รู้จักกับเรา เอาตัวเราสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า เพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กที่เห็นเราขายกาแฟของตัวเอง เขาก็อยากจะลองสั่งซื้อกับเราดูว่ากาแฟของเราเป็นอย่างไร สั่งออนไลน์ดูเป็นคนรู้จักกันเขาคงไม่โกงเราให้เสียชื่อหรอก

การขายออนไลน์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นคนรู้จักกันแล้วเริ่มขายได้จากการบอกต่อ อีกอย่างหนึ่งก็ขายของออนไลน์ เราอย่าไปยัดเยียดการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว พื้นที่โซเชียลมีเดียเหล่านี้ไม่ได้ขายเฉพาะสินค้า แต่ขายตัวตนของเราด้วย กลางวันเราก็โพสต์ขายสินค้า ว่างๆ ก็โพสต์ในสิ่งที่เป็นตัวตนของเราออกไปปกติ ลูกค้าจะได้เห็นตัวตนของเราด้วยว่าเราเป็นอย่างไร มีความน่าเชื่อถือมีตัวตนจริงไหม”

เทพประทาน เหมเมือง จากนักเดินทางสู่เจ้าของร้านออนไลน์

มือใหม่เริ่มธุรกิจออนไลน์

เทพประทาน บอกว่า สำหรับคนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจขายสินค้าในโซเชียลมีเดีย อย่างแรกก็คือต้องดูว่ามีอะไรอยู่ในมือ เช่น บางคนที่บ้านทำขนมไทย แม่ขายอยู่หน้าบ้าน ตัวเองทำงานบริษัท ก็สามารถเริ่มจากธุรกิจที่มีอยู่แล้ว โดยการลงทุนให้แม่ทำขนมเพิ่มอีกวันละ 20 ชิ้น แล้วถ่ายรูปโพสต์ขายในโซเชียลมีเดีย บรรยายถึงข้อดีของสินค้าให้ลูกค้าได้เห็นภาพได้เข้าใจ ถ้าเพื่อนเราเห็น เขาสนใจก็จะติดต่อสั่งซื้อกับเราเอง

“อย่าพยายามขายสินค้าที่มีอายุจำกัด เช่น อาหารสด เพราะจะลำบากเวลาขายสินค้าออกไปไม่ทัน สินค้าหมดอายุ พยายามหาสินค้าที่จัดเก็บง่าย บริหารจัดการสต๊อกง่าย ในเรื่องของการตั้งราคา ตั้งแล้วอย่าลดราคาสินค้าลงมาหากขายไม่ได้ แต่ให้หาวิธีการกระตุ้นยอดขายด้วยการทำโปรโมชั่นแทน เช่น ซื้อ 2 แถม 1 หรือแถมสินค้าทดลองใช้ เมื่อเฉลี่ยราคาแล้วเราก็ยังได้กำไรพออยู่ได้ หรือตัวอย่างสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านเหล่านี้ จะไม่ค่อยกล้าตั้งราคากันสูงมากนัก เพราะกลัวว่าจะไม่มีคนซื้อ เมื่อบวกค่าส่งแล้วราคาสินค้าก็แทบจะเท่ากับสินค้าที่ลูกค้าหาซื้อได้ทั่วไป อาศัยเทคนิคการขายเอากำไรเพียงเล็กน้อย แต่ขายสินค้าได้จำนวนมากเพื่อสร้างกำไรสร้างรายได้ให้กับตัวเอง

ด้านจะเลือกสินค้าอะไรมาขายนั้น ให้เราเริ่มจากหาของใกล้ตัว เป็นสิ่งที่เราชอบ คนส่วนใหญ่มักมองข้าม สิ่งที่ตัวเองมีอยู่คิดว่ามันเชย ดูไม่ดี แต่ที่จริงแล้วของเราที่มีอยู่นั้นก็มีดี เพียงแต่เราจะปรับรูปลักษณ์ภาพลักษณ์ สร้างแบรนด์สินค้านั้นออกมาได้อย่างไร และเราต้องศึกษาเรื่องการตลาดออนไลน์ให้ดี ไม่จำเป็นต้องรู้หมด แต่ใช้คอมมอนเซนส์ของตัวเอง ว่าหากเราเป็นผู้ซื้อเราจะชอบหรือกลัวเรื่องอะไรบ้าง เช่น เรื่องของแตกหักเสียหาย เราก็ต้องพยายามหาสินค้าที่ไม่เปราะบางเกินไป อย่างเช่น สินค้าขนมทองม้วนเจ้าอร่อย ลูกค้าสั่งซื้อออนไลน์พอสินค้าส่งถึงบ้านปรากฏว่าแตก แม้จะไม่เน่าเสีย แต่ก็เสียความรู้สึกในการรับประทานเศษขนมทองม้วน ตรงนี้เราก็ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วยว่าเราควรทำหีบห่อบรรจุภัณฑ์อย่างไรให้แข็งแรงในการขนส่งสินค้ามากขึ้น

เทพประทาน เหมเมือง จากนักเดินทางสู่เจ้าของร้านออนไลน์

สุดท้าย คือ ยึดตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เราควรเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ จากความเป็นจริง ชีวิตไม่ได้เป็นอย่างนิยาย ที่ทำแล้วจะประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐี บางทีเราอ่านเราเห็นความสำเร็จจากต่างประเทศ อ่านหนังสือเศรษฐีทั้งหลายแล้วจะประสบความสำเร็จ ในชีวิตจริงของคนส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ไม่อย่างนั้นทุกคนที่อ่านคงกลายเป็นเศรษฐีกันหมดแล้ว เราควรขายในสิ่งที่เราเป็นอยู่บนพื้นฐานในสิ่งที่เราเป็น เราต้องรู้จักตัวเอง เราเป็นคนแบบไหนอยู่ในสังคมแบบไหน อย่าทำอะไรที่มันเกินตัว

ตอนที่ผมทำงานอยู่ในหนังสือหัวนอก ได้อ่านได้เห็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จ นั่นเป็นความสวยงามของประเทศโลกที่หนึ่ง เราต้องต้องแยกให้ออกว่าความจริงกับสิ่งที่เราเป็นคืออะไร สมัยนี้มีคนตกหลุมพรางความสวยหรูตรงนั้นเยอะ ที่จริงแล้วควรเริ่มจากจุดเล็กๆ ลงทุนน้อยหากประสบความสำเร็จพอมีช่องทางก็ไปต่อ ทำไม่ได้ก็อย่าฝืน ปล่อยไปแล้วลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่คิดว่าเหมาะกับตัวเรา ดูแล้ววันหนึ่งเราจะค้นพบเส้นทางที่เราประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง”