posttoday

ปวิณ ผลิตเดชตระกูล สูทไทยไปเวทีโลก

16 สิงหาคม 2559

เพราะเติบโตมากับร้านสูทของคุณพ่อ “พิงกี้ เทเลอร์” (Pinky Tailor) มาตั้งแต่เด็ก วิณ-ปวิณ ผลิตเดชตระกูล

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ... ภัทรชัย ปรีชาพานิช

เพราะเติบโตมากับร้านสูทของคุณพ่อ “พิงกี้ เทเลอร์” (Pinky Tailor) มาตั้งแต่เด็ก วิณ-ปวิณ ผลิตเดชตระกูล จึงบอกกับตัวเองเสมอว่า วันหนึ่งเขาจะเข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัว และพาแบรนด์สูทไทยนี้ไปให้ไกล ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ว่าสูทบ้านเราก็ไม่แพ้สูทแบรนด์เนมราคาแพง โดยล่าสุดเขาได้ก้าวไปสัมผัสบันไดแห่งความสำเร็จก้าวแรกแล้ว ด้วยการออกแบบคอลเลกชั่นเพื่อไปโชว์ในงานปารีส แฟชั่นวีก ที่ผ่านมา และมีกำหนดจะไปโชว์บนเวทีนิวยอร์ก แฟชั่นวีก ในเดือน ก.ย. ก่อนจะขยับขยายไปสู่การสร้างแฟล็กชิปสโตร์

จากฝันก็กลายเป็นมากกว่าฝัน 

อดีตวิศวกรหนุ่มวัย 32 เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเริ่มต้นดูแลแบรนด์สูทที่มีอายุร่วม 40 ปี ว่าเป็นความตั้งใจตั้งแต่เด็กอยู่แล้วว่าวันหนึ่งจะกลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว เนื่องจากตั้งแต่เด็กหลังเลิกเรียนหรือทำงาน รวมทั้งวันหยุด จะเข้ามาช่วยงานที่ร้าน ทำให้ได้ซึมซับกระบวนการทำงานต่างๆ ในร้านไปโดยไม่รู้ตัว

“ตั้งแต่เด็ก ผมก็เข้ามาวิ่งเล่น กินนอน ทำการบ้าน ช่วยงานที่ร้านตลอด เพราะตอนแรกผมคิดว่าบ้านเราไม่มีเงิน (หัวเราะ) เพราะเห็นคุณพ่อคุณแม่ท่านทำงานตลอด และใช้เงินอย่างรู้ค่า จำได้ว่าครั้งหนึ่งผมเคยขึ้นไปขอพระเลยว่า ให้พ่อแม่ผมมีเงินมีทอง เพราะด้วยความเป็นเด็ก สิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงช่วยท่านทำงานหาเงิน”

แม้จะเติบโตมากับธุรกิจตัดสูท แต่ด้วยค่านิยมในอดีตที่อยากให้ลูกเป็นหมอ เป็นวิศวกร พอวิณยื่นคำขาดว่าไม่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ คุณพ่อเลยแนะนำให้เรียนต่อด้านวิศวะ ซึ่งในฐานะลูกชายคนเดียวของบ้าน วิณก็ยอมสานฝันให้คุณพ่อ ด้วยการเข้าเรียนด้านวิศวอุตสาหกรรม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะได้เข้าทำงานที่บริษัท โตโยต้า

ปวิณ ผลิตเดชตระกูล สูทไทยไปเวทีโลก

 

“ผมทำงานที่โตโยต้าอยู่เกือบ 5 ปี ก็ตัดสินใจลาออกกลับมาทำงานที่บ้าน เหตุผลที่เข้าไปทำโตโยต้า ส่วนหนึ่งเพราะผมอยากใช้ความรู้ที่เรียนมา ไม่อยากให้ใครมองว่า จบวิศวะมา แต่ก็หางานไม่ได้ ต้องกลับมาช่วยงานที่บ้าน

การทำงานที่โตโยต้าเป็นประสบการณ์ที่ดีของผม ผมได้เจ้านายที่ดีมาก และเขาเองก็เป็นลูกค้าสูทที่บ้านผมด้วย ตอนที่ผมตัดสินใจลาออก ก็เป็นช่วงเดียวกับที่เจ้านายเกษียณ ต้องกลับประเทศเหมือนกัน เขาเองก็ไม่ให้ผมลาออก แต่ผมก็อธิบายให้เขาฟังว่า คุณพ่อผมก็อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเขา ในเมื่อวันนี้เขาก็ถึงเวลาเกษียณ นี่ก็คงถึงเวลาที่พ่อผมจะได้พักบ้างเหมือนกัน พอเขาฟังแล้วจึงโอเค”

พอหันหลังให้การเป็นพนักงานประจำ และเริ่มมาทำงานที่ร้านสูท วิณ บอกว่า แม้จะคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก แต่เขารู้ดีว่าสิ่งที่เขายังขาด คือ ความรู้ด้านแฟชั่น การทำแพตเทิร์น จึงไปลงเรียนคอร์สด้านแฟชั่นดีไซน์ ที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ อยู่ 1 ปี ก่อนจะไปเรียนด้านแพตเทิร์นแบบตัวต่อตัว กับคุณครูที่เคยมีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์คริสติยอง ลาครัวซ์ อีก 2 ปี

“พอไปเรียนมาปุ๊บ คราวนี้ผมสามารถคุยกับช่างได้รู้เรื่องขึ้น เวลาดูงานแล้วรู้ว่าต้องแก้งานตรงไหน ซึ่งช่วยให้การทำงานคล่องตัวขึ้น”

ผลงานพิสูจน์แบรนด์

พอบทสนทนาเริ่มเข้าสู่เรื่องแบรนด์สูทอย่างจริงจัง ชวนให้วิณนึกขึ้นได้ว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่เขาตัดสินใจไปทำงานที่โตโยต้า ก็เพื่อเป็นทางลัดในการพาแบรนด์สูทของที่บ้านให้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริหาร

“ด้วยงานของผมที่อยู่ในส่วนของโตโยต้า ที่ดูแลแถบเอเชียแปซิฟิก ผมจึงได้มีโอกาสได้เดินทางไปร่วมประชุม ไปร่วมบิซิเนสทริปบ่อยๆ ทุกครั้งผมจะใส่สูทสวยๆ ของที่บ้านไป พอเพื่อนนักธุรกิจจากประเทศอื่นเห็น ก็มักจะเอ่ยชม

ปวิณ ผลิตเดชตระกูล สูทไทยไปเวทีโลก

 

ครั้งหนึ่งผมถูกถามแบบตรงๆ ว่า ด้วยอายุที่ไม่มากเอาเงินจากไหนไปตัดสูทเนื้อดี แพตเทิร์นดีขนาดนี้ ผมเลยตอบไปด้วยความภาคภูมิใจว่า เป็นผลงานของร้านพ่อผมเอง ซึ่งนั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยดึงลูกค้าในกลุ่มนักธุรกิจเข้ามาที่ร้านมากขึ้น (หัวเราะ)”

วิณ บอกด้วยว่า ปัจจุบันร้านสูทของเขาไม่ได้มีเพียงลูกค้าเป็นผู้บริหารระดับสูงจากหลายประเทศ แต่ยังมีลูกค้าเป็นกลุ่มทูต นักแสดง-นางแบบไทยและต่างประเทศ แม้แต่วุฒิสมาชิกของสหรัฐ ก็สวมสูทของเขาเข้าไปนั่งประชุมในสภาคองเกรสมาแล้ว

”นี่เป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจของเรา แต่ก็ยังมีลูกค้าบางส่วนที่เขาอาจจะชอบฝีมือการตัดสูทของแบรนด์เรา แต่ไม่อยากให้เราติดป้ายโลโก้ร้าน ซึ่งสำหรับผม ผมก็รู้สึกแย่นะ ที่เห็นว่ายังมีลูกค้าอีกกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ให้คุณค่ากับแบรนด์ไทย แต่กลับยอมจ่ายราคาสูงๆ ให้สูทแบรนด์เนม ทั้งที่ผมมั่นใจว่าสูทของเราไม่แพ้แบรนด์ต่างขาติ แถมราคายังย่อมเยากว่าด้วย ซึ่งนี่ก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผมต้องสร้างแบรนด์ และทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์เราไม่ได้ด้อยไปกว่าแบรนด์นอก”

หนึ่งในเส้นทางที่จะพาแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ คือ การก้าวสู่เวทีแฟชั่นระดับโลกอย่าง ปารีส แฟชั่นวีก วิณ บอกว่า เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของแบรนด์ไทย เพราะพิงกี้ เทเลอร์ ถือเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์ที่สอง ถัดจากแบรนด์สิริวัณณวรี (Sirivannavari) ที่ได้มีโอกาสไปโชว์ในปารีส แฟชั่นวีก

ปวิณ ผลิตเดชตระกูล สูทไทยไปเวทีโลก

 

“นี่คือโอกาสที่ผมมองว่าเราไม่มีอะไรจะเสีย ตอนที่ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสและอเมริกันที่เคยร่วมงานกับเรา เห็นโปรไฟล์แบรนด์เรา ซึ่งได้รับเลือกให้ไปถ่ายแฟชั่นตามนิตยสารชั้นนำ เขาก็รู้สึกว่าแบรนด์เรามาได้ไกลมาก และมีศักยภาพที่จะไปร่วมโชว์ในปารีส แฟชั่นวีก เลยชวนเราไป ผมก็ไป

หลังจากนี้ ผมก็จะไปนิวยอร์ก แฟชั่นวีก และเป้าหมายต่อไป คือ มิลาน แฟชั่นวีก ถ้าครบ 3 ที่ ผมก็พอแล้ว เพราะถือว่า 3 เวทีใหญ่ที่สุดยอดมาก ผมไม่ได้ตั้งเป้าว่าแบรนด์เราต้องไปทุกปี แต่เหมือนเราไปเก็บโปรไฟล์ว่าครั้งหนึ่งเราได้ไปแล้ว”

ถามถึงผลตอบรับที่ได้กลับมา ในแง่การสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์นั้นได้แน่ๆ “แต่ที่ไม่คาดฝันคือ เราได้ออร์เดอร์ใหม่ๆ มากมายกลับมา” ซึ่งหลังจากนี้ วิณ บอกว่า ยังมีโปรเจกต์อีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้น คือ การเปิดแฟล็กชิปสโตร์ เพื่อโชว์ผลงานการตัดสูทของร้าน กับอีกโปรเจกต์คือ แตกไลน์แบรนด์ลูก ที่จะเริ่มขยายมาสู่การทำสูทแบบเรดดี้-ทู-แวร์

“เราประณีตตั้งแต่การวัดตัว ความใส่ใจในการเลือกสรรวัตถุดิบ ตั้งแต่เนื้อผ้า ด้าย กระดุม ทุกวันนี้ผมจะเดินทางไปเลือกซื้อผ้าเองที่ญี่ปุ่น อิตาลี เพราะการที่เราไปนอก จากการที่ได้ผ้ากลับมายังได้เห็นเทรนด์ของต่างประเทศว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว บางครั้งได้ผ้าสต๊อกที่เป็นลิมิเต็ด เอดิชั่นกลับมา สร้างความแปลกใหม่ให้ลูกค้าได้ตลอดเวลา บวกกับการที่เราใส่ใจ ลงมาคุมรายละเอียดเองทุกอย่าง ผมว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ หลอมรวมให้แบรนด์ของเรามีเสน่ห์และไม่เหมือนใคร” วิณ กล่าวทิ้งท้าย