posttoday

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน คนเบื้องหลัง TEDx Bangkok

04 กรกฎาคม 2559

การเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่อาจเกิดจากคนตัวเล็กที่คิดอยากเปลี่ยนแปลง อย่างเวที เท็ดเอ็กซ์ (TEDx)

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

การเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่อาจเกิดจากคนตัวเล็กที่คิดอยากเปลี่ยนแปลง อย่างเวที เท็ดเอ็กซ์ (TEDx) ที่ได้รวมคนและความคิดที่หลากหลายเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับบุคคล สังคม และโลก

เท็ดเอ็กซ์ กรุงเทพฯ จะทำหน้าที่นั้นอีกครั้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้า มีคนเบื้องหลังสำคัญอย่าง พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน หนุ่มไฟแรงวัย 24 ปี ผู้ทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ เขาคือคนจัดการเรื่องราวทั้งหมดบนเวทีซึ่งเป็นหัวใจของงาน

เท็ดทอล์ก (TED Talk) เกิดขึ้นครั้งแรกที่อเมริกา ย่อมาจาก เทคโนโลยี (Technology) ความบันเทิง (Entertainment) และการออกแบบ (Design) เป็นเวทีให้คนที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ มาแบ่งปันความคิดแก่คนทั่วไปผ่านการพูด 18 นาที จากนั้นได้แตกไลน์เป็น เท็ดเอ็กซ์ โดยได้ออกแบบแพลตฟอร์มการทอล์กในแบบฉบับของเท็ดขึ้นมา เพื่อนำไปใช้ที่ไหนก็ได้ และใครก็ได้สามารถขอลิขสิทธิ์จากบริษัทแม่ที่นิวยอร์กผ่านระบบออนไลน์แล้วนำมาจัดที่เมืองของตน สำหรับประเทศไทยเคยมีเท็ดเอ็กซ์ เชียงใหม่ จัดขึ้นเมื่อปี 2556 และเท็ดเอ็กซ์ กรุงเทพฯ ที่เพิ่งเกิดเมื่อปีที่แล้ว และจะจัดเป็นปีที่ 2 ในวันที่ 20 ส.ค.นี้

ค้นพบตัวเอง

หลังจบการศึกษาปริญญาตรี พิริยะได้ไปสัมภาษณ์งานหลายที่ แต่ก็เกิดคำถามขึ้นกับตัวเองหลายครั้งว่า จะตื่นขึ้นมาทำงานประจำจริงหรือ จนกระทั่งจุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นเมื่อเขาเป็นอาสาร่วมงานกับเท็ดเอ็กซ์ เชียงใหม่ ในตำแหน่งผู้จัดการอีเวนต์ มีหน้าที่ดูแลแทบทุกอย่างตั้งแต่คุยกับสปีกเกอร์ จองตั๋วเครื่องบิน คุยกับคนงาน และได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วยทำเนื้อหาซึ่งหลายคนมองว่า เขาทำสิ่งนั้นได้ดี

“ศาสตร์นี้เรียกว่า คิวเรชั่น (Curation) แปลเป็นไทยคือ ภัณฑารักษ์ หรือคนที่จัดวางสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ แต่สำหรับผม ผมเป็น สตอรี่ คิวเรเตอร์ (Story Curator) มีหน้าที่จัดเรียงเหมือนกัน แต่สิ่งของของผมคือ ชีวิตคน ไอเดียคน ความรู้คน จัดวางบนเวทีที่สามารถเป็นได้ทั้งหอประชุม ทุ่งนา ภูเขา หรือที่ไหนก็ได้ จัดเรียงเรื่องราวของสปีกเกอร์ เรื่องราวบนเวที และขัดเกลาให้มันมีพลังมากที่สุด” เขา กล่าว

ภัณฑารักษ์

 หลังจากจบงานที่เชียงใหม่ เขาและคนอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือ โอ-อรรณวุฒิ ลีไพศาลสุวรรณา ผู้ถือลิขสิทธิ์เท็ดเอ็กซ์ (License Holder) จุดประกายไอเดียว่าจะทำเท็ดเอ็กซ์ในกรุงเทพฯ โดยปี 2558 เป็นธีม Catching the Ripples ด้วยความเชื่อว่า คนตัวเล็กๆ สามารถสร้างแรงกระเพื่อมอันกว้างใหญ่ได้

“คนสมัยนี้หรือสังคมสมัยนี้ จะไม่ถูกชี้นำด้วยคนใหญ่โตคนใดคนหนึ่ง แต่มาจากคนเล็กๆ อย่างพวกเรานี่แหละ ที่เป็นคลื่นเล็กๆ ให้สังคมเคลื่อนไปทางใดทางหนึ่งพร้อมๆ กัน ถ้าอยากรู้ว่าคลื่นใหญ่จะเคลื่อนไปทางไหน ให้ดูที่แรง
กระเพื่อมเล็กๆ”

ส่วนปีนี้ชื่อธีม Learn-Unlearn-Relearn ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดที่ว่า ความไม่รู้หนังสือของคนสมัยนี้ ไม่ใช่คนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่คือคนที่ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมือนน้ำเต็มแก้ว

“เราเชื่อว่าคนในสังคมจะมีชุดความคิดของตัวเอง เช่น คนสวยต้องเป็นแบบนี้ คนดีต้องเป็นแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะมีอีกมุมมองอื่นที่ถ้าเรามองในมุมที่ต่างออกไป อาจจะทำให้สังคมขับเคลื่อนไปในทางที่ดีขึ้นได้”

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน คนเบื้องหลัง TEDx Bangkok

สปีกเกอร์

ปีนี้ประกอบด้วย สปีกเกอร์ 16 คน โดยไม่ได้คัดเลือกจากการแบ่งสาย แต่เกิดจากการระดมสมองจากสิ่งที่เป็นปัญหา แล้วคิดว่าอะไรจะแก้หรือลดปัญหานั้น และค่อยไปตามหาคำตอบจากสปีกเกอร์ ซึ่งบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนโด่งดัง แต่เป็นใครก็ได้ที่มีความคิดดีและมีวิธีสร้างสรรค์

ประเด็นที่พบมีหลากหลาย เช่น เรื่องอนาคตของลูก มาจากแนวคิดที่ว่าพ่อแม่สมัยนี้พยายามเลี้ยงลูกให้สมบูรณ์แบบ จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่า นี่คือความหวังดีหรือเป็นการเติมเต็มในสิ่งที่พ่อแม่ขาดหายไปเมื่อครั้งยังเป็นเด็กเหมือนลูก

เรื่องประเด็นเพศทางเลือกในสังคมไทยที่คนยังมีมายาคติอย่าง ทอมต้องอารมณ์รุนแรง กระเทยต้องบ้าเซ็กซ์ ซึ่งเป็นการตีตราคนด้วยชุดความคิดของตัวเอง และเรื่องไทยประยุกต์ว่า การนำวัฒนธรรมไทยมาประยุกต์ให้ร่วมสมัยจะเรียกว่าการรักษาหรือทำลายตัวตนกันแน่

“เราไม่ได้ตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่เราจะทำให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย สิ่งที่สปีกเกอร์พูดไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป ไม่ได้แปลว่าเขาเก่งที่สุดเสมอไป แต่เขาเป็นคนที่ลงมือทำอะไรบางอย่าง ซึ่งควรค่าให้เรามองคิดพิจารณา และสุดท้ายแล้วคนฟังจะเป็นคนเลือกเอง”

พลัง

เท็ดเอ็กซ์จะไม่ประกาศรายชื่อสปีกเกอร์เพื่อวัตถุประสงค์สำคัญ คือ อยากให้คนซื้อบัตรเพราะอยากฟังความคิด ไม่ใช่เพราะสปีกเกอร์ ซึ่งการรับฟังความคิดที่หลากหลายอาจทำให้เกิดบทสนทนาแลกเปลี่ยนกับคนข้างๆ และเกิดความเข้าใจว่าแม้จะชอบต่างกันแต่ก็ยังนั่งข้างๆ กัน ซึ่งนั่นอาจนำพาสังคมไปสู่จุดที่ดีกว่าทุกวันนี้

“เราอยากสร้างสังคมที่อิงจากความคิดมากกว่าอิงจากบุคคลหรือชื่อเสียง เราอยากสร้างสังคมที่คนให้ค่าแก่คนตัวเล็ก” เขา กล่าวถึงเป้าหมายสูงสุด

“ภาพที่ผมตั้งเป้าหมายไว้ คือ ภาพพี่วินมอเตอร์ไซค์เปลี่ยนจากนั่งเล่นตารางหมากรุกมาเป็นนั่งดูเท็ด และทอล์กนั้นอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในตัวพวกเขาก็ได้ เพราะสปีกเกอร์ที่อยู่บนเวทีก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกับเรา เขาเป็นคนในระนาบเดียวกับเรา ซึ่งวันหนึ่งคุณอาจเป็นคนขึ้นไปยืนอยู่บนเวทีก็ได้”

การเปลี่ยนแปลง

หนึ่งปีผ่านไป เท็กเอ็กซ์กลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วและสร้างแรงบันดาลใจให้คนไม่มากก็น้อย อย่างพิริยะได้สร้างบริษัท โกลว์ (Glow) ร่วมกับเพื่อนที่เป็นอาสา เพราะได้รับพลังจากเท็ดเอ็กซ์เมื่อปีที่แล้ว

“ทุกครั้งที่ได้คุยกับสปีกเกอร์จะรู้สึกตื่นเต้น และรู้สึกสนุกกับการทำงานกับทีมอาสาทุกคน จนเกิดความคิดว่า ถ้าตื่นขึ้นมาได้ทำงานแบบนี้ทุกวันก็คงดี” เขา เล่า

“จนกระทั่งเมื่อจบงานเท็ดเอ็กซ์ วันรุ่งขึ้นต่อมาก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเลย โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร รู้แต่ว่าอยากทำงานลักษณะนี้ จึงคิดกับ ป่าน อาร์ตไดเรกเตอร์อาสาที่เคยเป็น
ฟรีแลนซ์รับดีไซน์งานได้เงินเยอะมาก คุยกันว่าอยากรับงานสร้างอีเวนต์ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม สร้างงานที่มีความหมาย และสร้างประโยชน์ให้ใครสักคนและสังคมในวงกว้าง”

กลายเป็นว่าเท็ดเอ็กซ์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนหลังเวที ทำให้เขากล้าลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ กล้าสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นแรงบันดาลใจต่อไปได้ไม่รู้จบ ซึ่งแท้จริงแล้วเขา ก็คือ แรงกระเพื่อมเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางคลื่นใหญ่ ซึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมต่อไป และอาจจะยิ่งใหญ่ระดับโลก