posttoday

พลพัฒน์ อัศวะประภา แฟชั่น (ไทย) กำลังก้าวไปข้างหน้า

15 มีนาคม 2559

แฟชั่นไทยกำลังสุกงอมเต็มที่และพร้อมพุ่งตัวก้าวต่อไป ไม่มีคำว่ายั้งสะดุดและไม่ยั่นกับการแข่งขันสูงปรี๊ดกับเสื้อผ้าแบรนด์นอก

โดย...ชุติมา-ศศิธร จำปาเทศ  ภาพ  วิศิษฐ์ แถมเงิน

แฟชั่นไทยกำลังสุกงอมเต็มที่และพร้อมพุ่งตัวก้าวต่อไป ไม่มีคำว่ายั้งสะดุดและไม่ยั่นกับการแข่งขันสูงปรี๊ดกับเสื้อผ้าแบรนด์นอก และใน พ.ศ.นี้ก็ยังเป็นการเติบโตของวงการที่น่าจับตาอีกด้วย

นี่คือคำยืนยันจากปากเจ้าของแบรนด์อาซาว่า (Asava) พลพัฒน์ อั ศวะประภา ซึ่งจัดเป็นผู้มีอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นในประเทศไทย และล่าสุด ใน Elle/Elle Men Fashion Week ก็ได้เปิดเวทีขึ้นอีกครั้งสำหรับการสนับสนุนให้ดีไซเนอร์ไทยได้นำเสนอโชว์ชั้นดี ในคอลเลกชั่นสปริง/ซัมเมอร์ 2016 ปลุกกระแสความคึกคักเสื้อผ้าแบรนด์ไทยดีไซน์โก้หรูร่วม 10 แบรนด์ ให้ได้โชว์ฝีมือกันแบบจัดเต็ม

พลพัฒน์ หรือที่วงการแฟชั่นเรียกกันติดปากว่า “หมู-อาซาว่า” จัดเต็มสมฐานะนายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพ หรือ Bangkok Fashion Society (BFS) นำเสนอโชว์เสื้อผ้า 40 กว่าลุคในชื่อคอลเลกชั่น Breakfast At Tiffany’s ใครได้ชมโชว์ไปแล้วลองเปรียบเทียบทั้งเรื่องคุณภาพและการดีไซน์ของนักออกแบบไทย กับเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลก “แบรนด์ไทยเราสวยคุ้มค่าที่สุด!!!” ย้ำบอกกันอีกครั้งจากปากดีไซเนอร์คนดังก็ไม่ได้เกินจริง!

และขอออกตัวอีกว่าการสัมภาษณ์ครั้งนี้ขอคุยเรื่องเครียดๆ เพื่อย้ำการพัฒนาวงการแฟชั่นไทยแบบยั่งยืนให้เป็นตัวจริงต่อไปในอนาคตที่หลายๆ แบรนด์มีสิทธิก้าวสู่ระดับโลก

ก้าวแรกเริ่มของกระบวนคิด

แฟชั่นมันเป็นเรื่องของการเดินต่อไปข้างหน้าเสมอ พลพัฒน์ บอกพร้อมรอยยิ้มว่า “อาซาว่า” ได้เกิดขึ้นจากเวทีนี้เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว คอลเลกชั่นแรกชื่อว่า Uptown Girls เสื้อผ้าไม่แตกต่างจากวันนี้ไปมากมายนัก ถ้าพูดถึงการนำเสนอแฟชั่นก็อาจเปลี่ยนวิธีการนำเสนอไปบ้าง แต่วิธีกระบวนการคิดซึ่งคือจิตวิญญาณของแบรนด์ ขอยืนยันว่ายังคงเดิม และแน่นอนที่สุดเป็นการทำงานสะท้อนภาพของสังคมในเรื่องการบริโภคเสื้อผ้า โดยในมุมของคนทำงาน ทั้งการบริโภค และงานศิลปะ ล้วนเป็นสองเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตที่สะท้อนการใช้ชีวิต ณ โมเมนต์นั้นๆ ได้ชัดเจน

ฟังๆ แล้วก็น่าจะอาร์ตตัวพ่อของจริงอีกคน พลพัฒน์ หัวเราะร่วนแล้วบอกว่า พูดอาจฟังยากไปสักนิด แค่อยากบอกว่า งานทำเสื้อผ้าขายก็ไม่ต่างอะไรจากทำงานศิลปะชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

“หรือจะบอกว่ามันเหมือนผมมีลูกเล็กๆ อยู่หนึ่งคนก็ได้ครับ เพราะฉะนั้นจึงอยากให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกเราเสมอ เรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์ ไม่มีอะไรดีพร้อมสักที (หัวเราะ) จนนาทีสุดท้ายจะโชว์รันเวย์แล้ว ผมก็ยังเปลี่ยนอยู่ ยังปรับอยู่ แล้วมันก็เป็นทั้งความตื่นเต้น ความวิตกกังวล

จริงๆ นะ... ผมไม่ได้นอนหลับสนิทมาสามวันแล้ว นอนวันละชั่วโมงครึ่งมาตลอดสามวันก่อนโชว์จะเริ่ม แค่คิดว่าเรียงชุดสวยหรือยัง? เพลงนี้มันลงกับชุดนี้หรือยัง? นางแบบคนนี้เราควรจะเปลี่ยนไหม จัดโชว์แต่ละครั้งมีความวิตกกังวลไปหมด จนโชว์ล่าสุดครั้งนี้ก็ยังมีความวิตกกังวลอยู่ ห้าทุ่มกว่าก็ยังกระสับกระส่ายนอนไม่หลับ ต้องตื่นมากินยาให้นอนหลับไปตอนตีสามครึ่ง หกโมงเช้าก็ลงมาดูงานแล้ว

เพราะฉะนั้นชีวิตดีไซเนอร์ก็จะเป็นอย่างนี้เลยครับ จะอยู่กับวิตกกังวล จะคิดย้อนไปย้อนมา ต้องแก้ต้องปรับตรงไหนกันอีกบ้าง” พลพัฒน์ เริ่มต้นสนทนาแม้จะออกตัวว่านอนน้อย แต่วันนี้มาพร้อมใบหน้าสดใส สูทสีน้ำเงินลุคเนี้ยบเป๊ะอย่างที่ทุกคนชินตากันดี

พลพัฒน์ อัศวะประภา แฟชั่น (ไทย) กำลังก้าวไปข้างหน้า

 

“คอลเลกชั่น Breakfast At Tiffany’s มันคือการเสียดสีสังคมในยุค 1970 ของนางเอกหลายคนยังตราตรึงกับบทบาทของ ออเดรย์ เฮปเบิร์น ผมชอบเรื่องนี้โดยไม่ได้มองความหรูหรานะครับ ผมมองความเสียดสีของสังคมของนักเขียน ทรูแมน คาโพตี เป็นนักเขียนที่ผมชอบมาก การที่เขานำเสนอเรื่องโสเภณีชายหญิง มันเป็นอัจฉริยะในการนำเสนอ เพราะในยุคนั้นเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ โสเภณีชายหญิงเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในการพูดถึง แต่เขาสามารถสร้างบทประพันธ์ แล้วก็ฉาบมันด้วยน้ำตาล จนคนดูมองไม่เห็นสิ่งที่ผิดตรงนั้น

มันคือกบฏของวิธีคิดเลยครับ ซึ่งแบรนด์อาซาว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมก็อยากนำเสนอคอนเทนต์สาระสำคัญที่มีความฉลาดเฉลียวในการใช้ชีวิตแบบเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่ผมใส่ไว้ในดีเอ็นเอในแบรนด์คือคำว่า Intelligent คือคำว่า ฉลาดเลือกใช้ ฉลาดในการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องการทำเสื้อที่มันฉาบฉวย ไม่ต้องการทำเสื้อผ้าที่ผู้หญิงมองแล้วว่าใส่ไปปาร์ตี้ประเดี๋ยวประด๋าว ใส่หนสองหนแล้วทิ้ง เราต้องการเป็นเสื้อผ้าที่ผู้หญิงใฝ่ฝันซื้อส่งเสริมคุณค่าในการใช้ชีวิต ไม่ใช่ใส่ตามแฟชั่น ใส่หวือหวาแล้วก็ผ่านไป ผมจะชอบทุกครั้งที่เห็นผู้หญิงใส่เสื้อเราเมื่อสี่ปีที่แล้ว แล้วยังมาใส่ออกงานอยู่ เปลี่ยนสไตล์การแต่งหน้า เปลี่ยนทรงผม เปลี่ยนเครื่องประดับใหม่ ผมพยายามทำเสื้อผ้าที่ออกมาแล้วใช้นิยามว่า ‘ร่วมสมัย’ ให้ได้

สุดท้าย ถ้าใครได้ดูหนังเรื่องนี้ก็คงประทับใจนางเอกที่ใช้ผ้าปูเตียงห่อตัวเองเข้าไปในงานหรูหรา แต่ด้วยความเป็นศิลปะและการรู้จักนำเสนอตัวเอง คนกลับมองว่าผ้าปูเตียงนั้นสวย อันนี้มันเป็นความคิดที่น่าสนใจมากเลยนะครับ” พลพัฒน์ บอกแนวคิดการทำงานคอลเลกชั่นล่าสุดด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น บ่งบอกพลังการทำงานกว่าสิบปีที่ไม่มีพร่อง 

ทิศทางแฟชั่นปีนี้

ในฐานะทำงานหน้าที่นายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพฯ พลพัฒน์ บอกว่า ในรอบสิบปีที่ผ่านมา กราฟชีวิตของแบรนด์ไทยเติบโตเรื่อยๆ โดยเฉพาะในรอบ 5 ปีแรก ก็จะเห็นว่าแบรนด์ไทยเติบโตขึ้นมาก ทุกห้างสรรพสินค้ามีพื้นที่สำหรับแบรนด์ไทยที่ชัดเจน ตลาดเติบโตขึ้น สาวๆ ไทยเลือกใส่เสื้อผ้าไทยกันอย่างกว้างขวางขึ้น

“เห็นชัดเจนที่สุด เสื้อผ้าก๊อบปี้แบรนด์ไทยก็เยอะขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย เรื่องปราบของเลียนแบบสมาคมแฟชั่นฯ ก็มุ่งทำมาสักพักนึงแล้วครับ

แน่นอนที่สุดว่าเมื่อวงการกำลังเติบโต ก็จะมีผู้ร่วมอยากจะเข้าแข่งขันลงสนามมากขึ้นเยอะ ก็จะมีแบรนด์ที่เกิดขึ้นใหม่เยอะทุกวัน ขณะเดียวกันก็จะมีแบรนด์เล็กปิดตัวลงทุกวันเหมือนกัน ถามว่าธุรกิจนี้น่าสนใจไหม มันน่าสนใจมาก (บอกน้ำเสียงชัดเจน) แต่เมื่อมันมีความน่าสนใจขึ้นการแข่งขันมันก็สูงขึ้น กลไกซับซ้อนของการตลาดมันก็มาเป็นเงาตามตัว เพราะฉะนั้นแบรนด์ที่คิดว่าจะเข้ามาในตลาดนี้เพราะว่ามันมีความน่าหอมหวนชวนลิ้มลองเค้กก้อนนี้ แต่ถ้าไม่รู้จักการบริหารจัดการธุรกิจที่เหมาะสม ไม่รู้จักกระบวนการสร้างตราสินค้าที่มีคุณค่าเพียงพอต่อสายตาผู้บริโภค เสื้อผ้ามันก็แค่มาแล้วก็ไปนะครับ หรือเติบโตได้ในสเกลระดับหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะสุดท้ายแล้วธุรกิจยิ่งโตก็ยิ่งมีความซับซ้อน มีความแข่งขันสูงขึ้นมากขึ้น 

พลพัฒน์ อัศวะประภา แฟชั่น (ไทย) กำลังก้าวไปข้างหน้า

นอกจากการแข่งขันกับแบรนด์ไทยด้วยกันเองแล้ว ก็ยังแข่งขันแบรนด์ต่างประเทศด้วย ทุกวันนี้หน้าร้านอาซาว่าอยู่ติดกับแบรนด์ฝรั่งดังๆ และขายราคาใกล้เคียงกับเสื้อผ้าแบรนด์ไทย เราไม่ได้แข่งกันเองอีกแล้วครับ เราแข่งกับธุรกิจข้ามชาติที่มีทรัพยากรมหาศาล  มีตลาดกว้างขวาง เขามีต้นทุนในการทำงานที่เมื่อหาค่าเฉลี่ยออกมาทุนทำได้ต่ำกว่าเราอยู่แล้วครับ

เพราะฉะนั้นแบรนด์ไทยประสบความสำเร็จได้และลืมตาอ้าปากได้ ก็จะต้องสามารถแข่งกันกับแบรนด์ไทยด้วยกันเองได้ก่อนครับ แล้วจึงจะสามารถไปต่อสู้กับแบรนด์ต่างชาติได้ เริ่มจากต้องเป็นแบรนด์ที่มีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการ ในการนำเสนอสินค้าในตราสัญลักษณ์สินค้าที่ลูกค้ามองแล้วรู้สึกมีคุณค่าเพียงพอต่อการที่จะเอาเงินออกจากกระเป๋าเขา” พลพัฒน์ บอก

แฟชั่นนิสต้าหลายๆ คนบอกแบรนด์ไทยราคาแพงมาก! คำกล่าวนี้ พลพัฒน์ บอกขออธิบายอีกยาวๆ

“นี่เป็นภาพลักษณ์อย่างหนึ่งที่คนไทยด้วยกันดูถูกของไทยด้วยกันเองเลยนะครับ ผมท้าเลยให้เอาตะเข็บแบรนด์ไทย แบรนด์ที่มีคุณภาพนะ (บอกพลางหัวเราะ) ไปแบะตะเข็บเทียบกับแบรนด์ที่เขา
บอกว่ามีคุณค่า ไม่ต่างกันนะครับ นี่คือเรืองที่ผมกล้าการันตีเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะระบบการทำงานของดีไซเนอร์ของอาซาว่า ผมเน้นมีคุณภาพเทียบเท่าแบรนด์ฝรั่ง

ตะเข็บเสื้อผ้าของนอกยังเป็นตะเข็บโพ้งสี่เส้นอยู่เลย คือตัดเมืองจีน แต่ของเราใช้ช่างไทยตะเข็บเราคือตะเข็บเสื้อผ้าชั้นสูง

ผมเชื่อว่า ณ วันนี้คนไทยเองก็ไม่ได้มีการยึดติดภาพลักษณ์ของสินค้า มากไปกว่ายึดติดคุณภาพของสินค้า คำว่าคุณภาพ ผมทำวิจัยกับลูกค้าใน 10 คนหยิบผ้าใยสังเคราะห์ แล้วบอกเป็นผ้าแพง (หัวเราะ) ผมเชื่อว่าหน้าที่ของผมในฐานะนายกสมาคมแฟชั่นฯ คือการป่าวประกาศให้ลูกค้ารู้ว่าคุณภาพที่แท้จริงคืออะไร ให้แยกแยะให้ออกว่าสินค้าดีไซเนอร์ที่เขาบอกว่าแพง ถ้าคุณไปจับเสื้อผ้าในราคาเดียวกันของดีไซเนอร์ฝรั่งไม่มีต่ำกว่า 5 หมื่นบาท

เสื้อราตรีผมที่ผมขายอยู่ตัวละ 2 หมื่นกว่าบาทเองนะครับ (บอกพร้อมรอยยิ้ม) ผมเชื่อเลยครับว่าเอาไปทาบกับสินค้าฝรั่งที่อยู่ในระดับเดียวกันในการนำเสนอ ราคาไม่มีต่ำกว่า 8-9 หมื่นบาท เพราะฉะนั้น ถ้าคนไทยไม่ช่วยคนไทยด้วยกันเอง ธุรกิจที่เราถือว่าตอนนี้เป็นศักยภาพของประเทศ มูลค่าเพิ่มของประเทศ ถ้าคนไทยยังบอกว่าของไทยแพง ไม่จ่ายเงินให้ของไทย ธุรกิจตรงนี้จะไม่สามารถกลายเป็นจุดแข่งขัน จุดแกร่งของประเทศไทยได้เลยครับ

ณ วันนี้ฝรั่งก็มองเราอยู่แล้วว่า เดรสดีๆ แบรนด์ไทยสวยเหลือเกินอยากใส่เหลือเกิน แต่เห็นราคาหมื่นกว่าบาทแล้วไม่จับ ไปซื้อเสื้อญี่ปุ่น เสื้อเกาหลีดีกว่า เพราะเขามองไทยเป็นประเทศขายของถูก ไม่ชินที่ประเทศไทยขายของมีดีไซน์์และบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าตัวต่อตัวและคุณภาพของตัวสินค้า เราเอาชนะเขาอย่างเห็นๆ แต่ตราสินค้าของไทยในฐานะของประเทศ ยังเป็นระดับสำเพ็ง ยังเป็นระดับแพลทินัม ตราบใดที่ประเทศไทยและรัฐบาลไทยเปลี่ยนวิธีคิดของฝรั่งไม่ได้ เขาก็จะไม่ยอมจ่ายมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย

ฉันใดก็ฉันนั้นด้วยครับ ผมอยากฝากย้ำอีกทีถ้าคนไทยยังคิดว่าดีไซเนอร์ไทยแพงอยู่ ผมก็ขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนนะครับ เหมือนกับคนกินอาหารไทยที่ยอมจ่ายเงินในสเต๊ก 200-300 บาท แต่พอกุ้งแช่น้ำปลาซึ่งเป็นกุ้งชั้นดีมาแล้วราคา 200 บาท บอกแพง เป็นเพราะคนไทยมองว่าคนไทยของถูก อาหารไทยคือของถูกที่คุ้นชิน ถ้าพวกเรายังคิดกันอย่างนี้ ประเทศไทยก็ยังเป็นอย่างนี้ตลอดไป

จะเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพราะเรามีศักยภาพที่ควรแซงหน้าแฟชั่นเกาหลีไปนานมากแล้วด้วยซ้ำ ด้วยคุณภาพของดีไซเนอร์คุณภาพไทย แต่เป็นเพราะว่าเราไม่ได้รับการสนับสนุนทำการตลาดเข้มข้นอย่างแท้จริง ตอนนี้เราวิ่งล้าหลังเกาหลีเพราะประเทศเขาส่งเสริม เขาเอาจริงเอาจัง เขาตั้งกลยุทธ์ในการสร้างโรดแมปให้ประเทศเขาเป็นประเทศส่งออกสินค้างานดีไซน์ซึ่งถ้ามองให้ลึกๆ เขาก็มาจากประเทศผู้ผลิตเหมือนเรา เขาก็ตามหลังญี่ปุ่นมาก่อนเช่นกันนะครับ” พลพัฒน์ กล่าว

หลังรันเวย์คอลเลกชั่นสปริง/ซัมเมอร์ จบลงอย่างสวยงาม พลพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายฟังแล้วชื่นใจมีความหวังว่า วงการแฟชั่นไทยได้เพิ่มพาร์ตเนอร์ชุบชีวิตกันคึกคักหลายๆ แบรนด์ มีบายเออร์เมืองนอกเกาะติดรันเวย์ และสำหรับอาซาว่าวันนี้ญี่ปุ่นรอซื้ออยู่ จีนรอซื้ออยู่ แต่สำหรับตัวพ่อเพอร์เฟกชั่นนิสต์อย่างเขาก็กำลังมองๆ ว่าจะส่งลูกสาวแสนสวยหรูคนนี้ไปเติบโตโกอินเตอร์ในประเทศใด นี่คืออนาคตแฟชั่นไทยที่กำลังก้าวต่อไปไม่ยั้ง