posttoday

ธนกฤต-สรวิช แสงวณิช กอดคอกันไปตามความฝัน

19 มิถุนายน 2558

มื่อเดือนที่แล้วแก๊งเพื่อนสาวนัดรวมตัวกินข้าวกลางวันที่ร้านอาหารเปิดใหม่ “เซอร์เรท์” ที่ห้างใหม่กลางกรุงอย่าง ดิ เอ็มควอเทียร์

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ | วิศิษฐ์ แถมเงิน

มื่อเดือนที่แล้วแก๊งเพื่อนสาวนัดรวมตัวกินข้าวกลางวันที่ร้านอาหารเปิดใหม่ “เซอร์เรท์” ที่ห้างใหม่กลางกรุงอย่าง ดิ เอ็มควอเทียร์ ระหว่างรออาหารเพื่อนสาวบางคนเริ่มชิตแชตไม่ต่อเนื่อง เพราะมัวยกสมาร์ทโฟนเปิดกล้องโฟกัสไปที่การทำอาหารของเชฟ ซึ่งเนรมิตครัวเป็นห้องกระจกให้ลูกค้าได้เห็นกรรมวิธีการทำอาหารแบบเรียลไทม์ พฤติกรรมของเพื่อนสาวทำให้ต้องหันมาสนใจสองเชฟหนุ่มที่กำลังลงมือปรุงอาหาร

นี่เองจึงเป็นที่มาของการนัดเจอกันอีกครั้ง เพื่อทำความรู้จักกับสองหนุ่มอย่างเป็นทางการ

หลังปล่อยให้ช่างภาพเก็บภาพของสองหนุ่มเรียบร้อย สองพี่น้องสุดเซอร์ก็ถือโอกาสวางมือจากงานในครัวมานั่งคุยแบบสบายๆ เริ่มจากพี่ชาย คริส-ธนกฤต แสงวณิช (หนุ่มผมสั้น) เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่อาชีพเชฟ ว่า เริ่มทำอาหารตั้งแต่อายุ 16 ปี เพราะตอนนั้นเขาตัดสินใจออกจากโรงเรียน เนื่องจากไม่อยากเรียนอีกแล้ว อยากลองหาอะไรทำ ด้วยความที่ช่วงนั้นดูรายการทำอาหารเยอะบวกกับได้มีโอกาสศึกษาชีวประวัติของเชฟหลายคน และเห็นว่าเชฟส่วนใหญ่เริ่มต้นอาชีพตั้งแต่อายุประมาณนี้ เลยตัดสินใจเอาดีทางนี้ด้วยการไปขอฝึกงานที่โรงแรมเจ
ดับบลิว แมริออท และโฟร์ซีซั่นส์ 1 ปี ก่อนจะตัดสินใจเดินทางไปนิวยอร์ก

“ตอนแรกที่บ้านผมไม่เห็นด้วยที่ผมเลือกเส้นทางนี้ แต่ผมก็บอกกับที่บ้านว่า ถ้าทางที่ผมเลือกไม่โอเค ผมค่อยกลับมาเรียนก็ได้ ตั้งแต่นั้นผมเลยเริ่มไปฝึกงานเป็นเชฟทำขนมที่โรงแรม การทำงาน
ที่โฟร์ซีซั่นส์ทำให้ผมมีโอกาสพบกับเชฟท่านหนึ่งที่ทำงานในร้านเชฟมิชลิน 3 ดาว ผมขออีเมลเขาไว้และพอไปนิวยอร์กก็ติดต่อไปหาเขา เพื่อขอไปฝึกงานและในที่สุดก็ได้ทำงานกับเขา ตลอดเวลาที่ผมอยู่ที่นิวยอร์ก 5 ปี ผมทำงานในร้านที่มีเชฟระดับมิชลินตลอด ซึ่งเป็นความตั้งใจของผม เพราะผมอยากเรียนรู้กับเชฟเก่งๆ”

ธนกฤต-สรวิช แสงวณิช กอดคอกันไปตามความฝัน

 

 

คริส ยอมรับว่า การทำงานในร้านระดับเชฟมิชลินย่อมกดดันเป็นธรรมดา แต่ถ้ามีความตั้งใจจริง ทุกอย่างไม่ใช่ปัญหา เพราะสิ่งที่ได้เรียนรู้มาคุ้มค่ามาก ทั้งเรื่องความสะอาด ความประณีต ความตั้งใจ และรสชาติอาหาร การคิดเมนูใหม่ๆ

“ผมคิดว่าทุกร้านที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานด้วย ตั้งแต่เป็นเด็กฝึกงานจนสุดท้าย ได้เป็นซูเชฟหล่อหลอมให้ผมเป็นเชฟอย่างทุกวันนี้”

ขณะที่เส้นทางการเป็นเชฟของน้องชาย กันน์-สรวิช แสงวณิช (หนุ่มผมยาวมาดเซอร์) อาจไม่โลดโผนเท่าฝ่ายพี่ แต่ก็ไม่ได้น่าสนใจน้อยกว่า เพราะช่วงที่พี่ชายไปทำงานที่นิวยอร์ก เขาตัดสินใจตามพี่ชายไปเรียนไฮสกูลที่นิวยอร์กด้วย แต่เพราะเป็นนักกินตัวยง วันหนึ่งเลยปรึกษากับพี่ชายว่าอยากไปฝึกงานร้านอาหารที่พี่ชายทำงานอยู่

“โชคดีตอนที่ผมไปฝึกงาน เชฟใหญ่ไม่อยู่ ผมเลยได้มีโอกาสฝึกงาน 1 เดือน พอเขากลับมาผมก็ไม่ได้ฝึกต่อ แต่อย่างน้อยก็มีโปรไฟล์ว่าเคยฝึกงานร้านเขา ก็ใช้ต่อยอดทำงานที่อื่นง่าย (หัวเราะ) เพราะที่นี่ทำให้ผมได้เรียนรู้พื้นฐานการทำอาหารทั้งหมดมาแล้ว จากนั้นผมก็ไปทำงานที่ร้านอาหารอื่นอีก 2 ปี ก็ได้โอกาสดี เชฟที่ผมทำงานด้วยส่งผมไปทำงานที่ร้านอาหารที่สเปน ซึ่งเป็นร้านที่ได้รับการจัดอันดับว่าดีที่สุดในโลกอยู่เกือบปี จากนั้นผมก็บินไปทำงานที่แคลิฟอร์เนียและสุดท้ายก็กลับมาเป็นเชฟที่ร้านเซอร์เรท์”

ธนกฤต-สรวิช แสงวณิช กอดคอกันไปตามความฝัน

 

นอกจากจะเป็นเชฟที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับร้านแล้ว สองหนุ่มยังเป็นหุ้นส่วนของร้านนี้ด้วย ถามว่าเป็นไปตามความฝันที่อยากจะมีร้านเป็นของตัวเองไหม สองพี่น้องยอมรับว่า ใช่ เพียงแต่อาจจะเร็วกว่าที่คิด เพราะถึงทั้งคู่ฝันอยากจะมีร้านของตัวเอง แต่คิดว่าตอนนี้ยังเด็กไปสำหรับฝันนี้

“เราอยากไปให้สุดทางก่อน แล้วค่อยกลับมาเปิดร้าน แต่เมื่อโอกาสมาถึงก่อน เราก็จะทำมันให้ดีที่สุด” กันน์บอก ขณะที่พี่ชายเสริมว่า “เรายังมีเชฟเก่งๆ อีกหลายคนที่อยากไปทำงานกับเขา แต่พอมาทำร้าน ความฝันนี้คงต้องหยุดไว้ก่อน”

อย่างไรก็ตาม นอกจากร้านนี้จะเป็นโอกาสดีๆ ที่เข้ามาในชีวิต ยังเป็นโอกาสที่ทำให้ทั้งคู่ได้ทำงานด้วยกันด้วย เพราะที่ผ่านมาสองพี่น้องยังไม่มีโอกาสเข้าครัวด้วยกัน

“พอเจอกันก็ทะเลาะกันทุกวันครับ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายน้องผมก็เป็นคนที่เข้าใจสิ่งที่ผมอยากได้มากที่สุด คิดอะไรใหม่ๆ ได้ เราก็เอามาแชร์กัน เหมือนเราสองคนมาช่วยกันเติมคำในช่องว่างให้กันและกัน ถามว่าอยู่ด้วยกัน 24 ชม. มีเบื่อๆ กันไหม แน่นอน แต่สุดท้ายเขาคือคนที่ผมสนิทที่สุด” คริส กล่าวทิ้งท้าย