posttoday

การัณทีป สิงห์ เจ้าชายแขกผู้หลงเสน่ห์ประเทศไทย

28 เมษายน 2558

บางครั้งบางอย่างในชีวิตของคนคนหนึ่งนั้น ก็ยากที่จะรู้ว่าอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร จะทำอะไร อยู่ที่ไหน เกิดที่หนึ่ง ไปโตอีกที่หนึ่ง ไปทำงานอีกที่หนึ่ง

โดย....อณุสรา ทองอุไร ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์

บางครั้งบางอย่างในชีวิตของคนคนหนึ่งนั้น ก็ยากที่จะรู้ว่าอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร จะทำอะไร อยู่ที่ไหน เกิดที่หนึ่ง ไปโตอีกที่หนึ่ง ไปทำงานอีกที่หนึ่ง โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้มาก่อนว่าอะไรจะนำทางให้ไปหรือทำแบบนั้น ดั่งสุภาษิตจีนที่ว่า คนบัญชา ไม่เท่าฟ้ากำหนด เช่นเดียวกับชายหนุ่มเชื้อสายอินเดีย-เยอรมันผู้นี้ เป็นชาวอินเดียแต่ไปเติบโตในต่างประเทศมากกว่าอยู่ในถิ่นกำเนิดของตนเอง เพราะโชคชะตาฟ้ากำหนด หรือเพราะอะไรยากที่จะรู้

วันนี้มีนัดสัมภาษณ์หนุ่มโสดวัยละอ่อน บุคลิกหน้าตาและเรื่องราวก็น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว มีอายุเพียง 20 ปี มีฐานะเป็นเจ้าชายจากเมืองเล็กๆ ของประเทศอินเดีย ชื่อ มหาราชกุมาร ราณา ศรีการัณทีป สิงห์ ซาหิบ เจ้าชายแห่งโธละปุระ (H.H Maharajkumar  rana shri  karandeep Singh Saher Dholpur จาก Rajasthan) ตอนนี้เจ้าชายมาเรียนโขนและศิลปกรรมที่มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยรามคำแหง  เพิ่งมาอยู่ประเทศไทยได้เพียง 6 เดือน คาดว่าจะอยู่เรียนจนจบปริญญาตรีที่ประเทศไทย ตอนนี้เจ้าชายก็เรียนอ่าน เขียนภาษาไทย ทุกวันหยุดควบคู่ไปด้วย เขาว่าคนไทยส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ก็พอพูดภาษาอังกฤษได้พอฟังได้ แต่จะอายและเขินไม่ค่อยกล้าพูด จริงๆ ต้องกล้าเนอะ จะได้ชิน ไม่ต้องอาย กล้าแสดงออกมาหน่อยก็สื่อสารกันง่ายขึ้น

การัณทีป สิงห์ เจ้าชายแขกผู้หลงเสน่ห์ประเทศไทย

 

เจ้าชายเล่าว่า คุณแม่เป็นลูกสาวคนเดียวของคุณตาที่เป็นเจ้าครองรัฐ คุณแม่ไปเรียนที่สหรัฐ แล้วไปเจอคุณพ่อที่เป็นชาวเยอรมันในมหาวิทยาลัย เมื่อแต่งงานกับคนต่างชาติเลยไม่ได้ครองรัฐต่อจากท่านตา แต่ยังคงสถานะยศทางเจ้าไว้เช่นเดิม ตอนนี้คุณแม่ก็กลับมาอยู่ที่ประเทศอินเดีย โดยนำวังเก่าของคุณตามาพัฒนาทำเป็นโรงแรม ควบคู่กับการทำธุรกิจเล็กๆ ที่ประเทศเยอรมนีที่คุณพ่อสร้างไว้ เมื่อคุณพ่อเสียชีวิต คุณแม่ก็มาดูแลแทน ท่านจึงเดินทางไปมาระหว่าง 2 ประเทศ

เจ้าชายเล่าว่า เชื้อสายเจ้ารุ่นหลานๆ ในยุคนี้ของอินเดีย ก็ต้องทำงานไม่ต่างจากคนทั่วไป วังที่ได้มรดกตกทอดมาก็ใหญ่เกินจะอยู่เอง 3 คนแม่ลูก แถมต้องมีการดูแลรักษาให้ดูดีสวยงาม ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แม้กระทั่งในยุโรปลูกหลานก็มักจะนำวังเก่ามาทำโรงแรมเพื่อหาค่าใช้จ่ายมาบำรุงรักษา สมบัติหลายอย่างก็ส่งคืนมอบให้แผ่นดินให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแลไปก็มี และที่อินเดียรัฐบาลก็ยกเลิกเงินช่วยเหลือในการบำรุงรักษาพระราชวังตั้งแต่ปี 1971 แล้ว แต่ในหลายประเทศในยุโรปรัฐบาลยังมีงบส่วนนี้กันไว้ให้อยู่ เพราะวังเก่าต้องช่วยกันอนุรักษ์เป็นสมบัติสืบทอดทางวัฒนธรรมของชาติ

ในครอบครัวของเจ้าชายตอนนี้ ทุกคนก็ใช้ชีวิตแบบสามัญชนทั่วไป ทำงาน ทำธุรกิจ สถานะทางเจ้านั้นถือเป็นเพียงสัญลักษณ์ ยุคหลานๆ ไม่มีใครได้ปกครองรัฐ ปกครองเมืองอะไรอีกแล้ว มีเพียงคุณป้าที่เข้ามาเป็นนักการเมือง และได้เป็นคล้ายๆ ผู้ว่าการรัฐทำนองนั้น ที่เหลือก็ทำธุรกิจ ทำงานเช่นคนทั่วไป

การัณทีป สิงห์ เจ้าชายแขกผู้หลงเสน่ห์ประเทศไทย

 

เจ้าชายเกิดและเติบโตที่สหรัฐ กลับมาอยู่อินเดียไม่นาน จนอายุ 8 ขวบ ก็ย้ายไปเรียนที่ประเทศสกอตแลนด์ และมีพี่เลี้ยงเป็นสาวสูงวัยชาวไทยใจดี ที่เป็นแม่นมให้เจ้าชายนานกว่า 10 ปี เจ้าชายจึงผูกพันและรู้สึกใกล้ชิดคนไทยมาก ชอบวัฒนธรรมไทยหลายอย่างจึงเลือกมาเรียนที่ประเทศไทย ขณะที่พี่สาวเลือกไปเรียนแพทย์ต่อที่สหรัฐอเมริกา

เมื่อจบไฮสคูลเจ้าชายก็กลับไปอยู่ที่ประเทศอินเดียพักใหญ่ ก่อนจะเลือกมาเรียนต่อที่ประเทศไทย เพราะชอบ โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมไทย อย่างพวกการแสดงต่างๆ โขน รำ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะแบบดั้งเดิมของไทย เขามองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างในเรื่องวัฒนธรรมและการรับวัฒนธรรมใหม่ๆ และมีศิลปะหลายอย่างที่มีความใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย เช่น โขนรามเกียรติ์ แต่รามเกียรติ์ของอินเดียจะดูหนักแน่นมั่นคง ใช้การเต้นเป็นองค์ประกอบหลัก  ขณะที่โขนของไทยเน้นความอ่อนช้อยร่ายรำ และเน้นการแต่งกายที่สวยงามอลังการ มีรถ มีพร็อพเป็นองค์ประกอบเยอะ ช่วยดึงดูดใจคุณผู้ชมได้เยอะมาก โดยเฉพาะโขนพระราชทานที่โชว์ในโอกาสพิเศษนั้นมีความสวยงามอลังการมาก

"ผมชอบคนไทยน่ารัก ใจดี ยิ้มง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นมิตร พร้อมช่วยเหลือตลอดเวลา เปิดกว้างในทุกเรื่อง เป็นประเทศที่ประทับใจ มาอยู่เมืองไทยจริงจังเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมาก็ประทับใจมาก ไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย อาหารไทยก็อร่อย แม้ผมจะไม่ทานเนื้อสัตว์ก็ไม่มีปัญหาอะไร  อากาศก็พอๆ กับอินเดีย แต่ร้อนน้อยกว่า  สาวไทยก็น่ารักจุ๋มจิ๋ม ขณะที่สาวอินเดียจะสวยคมเข้ม และผมก็ชอบแบบน่ารักใสๆ ไม่ต้องคมเข้มมาก (หัวเราะ)" เขากล่าวด้วยรอยยิ้มสดใส

การัณทีป สิงห์ เจ้าชายแขกผู้หลงเสน่ห์ประเทศไทย

 

เขามาเรียนด้านศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อเอาไปปรับใช้เมื่อกลับไปที่อินเดีย เพราะในวันหนึ่งเมื่อเรียนจบกลับประเทศอินเดียไปแล้ว เขาจะไปทำงานด้านศิลปะทุกแขนง ทั้งศิลปะสมัยเก่า ศิลปะสมัยใหม่ เพื่อสืบทอดทั้งของเก่าของใหม่ เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศิลปะที่หลากหลายแง่มุม และการผสมผสานศิลปะที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในสไตล์ที่เขาได้เรียนรู้มาใหม่ๆ ใส่เข้าไปด้วย

ทุกวันนี้เขาก็เป็นตัวแทนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการไปโปรโมทการท่องเที่ยวของไทยในประเทศอินเดีย ด้วยการนำโขนไทยไปโปรโมทให้คนอินเดียได้รู้จักแพร่หลายมากขึ้น  เขาบอกว่าเขาชอบศิลปะทุกแขนง การเต้น การร่ายรำ  การวาดรูป อนาคตก็คงจะกลับไปทำงานด้านนี้ สอนศิลปะมีสตูดิโอของตัวเอง ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการแสดงด้านวัฒนธรรมร่วมสมัย

ตอนนี้ชีวิตประจำวันของเจ้าชายก็คือเรียนเป็นหลัก คือ ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงกับไปเรียนโขนที่มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วเย็นๆ บางวันก็มีครูมาสอนภาษาไทย ว่างๆ ก็ชอบฟังเพลงโบราณ เพลงที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม เช่น ลาวดวงเดือน เพลงลาว เพลงเขมร เพลงกลองยาว ชอบอะไรที่ฟังสบายๆ ช้าๆ เนิบๆ มีเอื้อน มีแหล่ พยายามฟังให้มาก แยกแยะให้ออกเพื่อจะได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง

การัณทีป สิงห์ เจ้าชายแขกผู้หลงเสน่ห์ประเทศไทย

 

บุคคลต้นแบบของเขาก็คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นตัวแทนของความรัก ความเมตตา คำสอนของท่านดูเป็นจริงสัมผัสจับต้องได้  นำมาปรับใช้ได้จริง  อีกพระองค์คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวลาดูข่าวพระราชสำนักจะชอบข่าวของพระองค์ท่านมาก ชอบงานที่พระองค์ทรงริเริ่มสร้างขึ้นมา พระองค์ก็ทรงชอบงานอนุรักษ์งานศิลปะของไทย ใช้ผ้าไทยตลอดเวลา ท่านทำงานหลายอย่าง มีความเมตตา ติดดิน ใกล้ชิดประชาชน ดูพระองค์เป็นกันเอง สบายๆ เข้าถึงง่าย และชอบงานด้านศิลปวัฒนธรรมมากๆ มีพระจริยวัตรงดงามน่าเลื่อมใส ทรงเป็นที่รักมากของประชาชน ชอบทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตของพระองค์ ถือเป็นแม่แบบที่ยอดเยี่ยมมาก

สุดท้ายเจ้าชายก็อยากเชิญคนไทยไปเที่ยวอินเดียบ้าง อินเดียมีเมืองสวยๆ มากมาย ทั้งอินเดียทางเหนือ อินเดียทางใต้ ความสวยงามก็แตกต่างกันไป อย่ากลัว มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรมเยอะมาก เมืองทางเหนือของอินเดียหลายเมืองก็สวย มีหิมะเหมือนประเทศสวิตเซอร์แลนด์เลย มีทั้งหนาวมาก ร้อน ร้อนมาก ครบทุกอารมณ์ งานแฮนด์เมดหลายอย่างก็สวยมาก ผ้าพื้นเมืองก็ราคาไม่แพง