posttoday

เคท ครั้งพิบูลย์ สังคมไทย กับความหลากหลายทางเพศ

23 เมษายน 2558

แม้ว่าผ่านการคัดเลือกเป็นอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ทำงานกว่า 10 เดือนแล้ว

โดย...ปอย  ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล

แม้ว่าผ่านการคัดเลือกเป็นอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ทำงานกว่า 10 เดือนแล้ว แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังไม่รับบรรจุเป็นอาจารย์ เคท ครั้งพิบูลย์ ตอบคำถามที่ว่าปัญหานี้เกี่ยวด้วยเรื่องการเลือกเพศวิถีของอาจารย์หรือไม่? คำตอบมากับน้ำเสียงนุ่มนวลเบาๆ พร้อมกับรอยยิ้มบางๆ ว่า เกี่ยวอยู่แล้ว เพราะโดยส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่คนจะหยิบมาใช้เป็นตัวกำหนดปัญหาเลยทีเดียว

ภาพลักษณ์ครูบาอาจารย์ “อาจารย์เคท” กล่าวว่า เราก็มักจะได้ยินคำพูดกะเทยไม่เหมาะ “ผู้หลักผู้ใหญ่” ก็อาจไม่สบายใจ มองพวกนี้ดูแรง ดูไม่เรียบร้อย (หรือเปล่า?) อาจกระเทือนไปถึงภาพงานที่ต้องการความศักดิ์สิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ก็มีอาจารย์เพศที่สาม ซึ่งมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมาแล้ว จึงไม่แน่ใจจริงๆ ว่ามาตรฐานของการรับคนทำงานเป็นอย่างไรกันแน่?!!

“แต่เชื่อว่าธรรมศาสตร์มีความหลากหลายค่ะ แล้วจะว่าไปดิฉันก็เป็นอาจารย์คนแรกเลยนะคะที่แต่งหญิงมาสอนหนังสือ วันมาสมัครก็ไม่มีปัญหา เพราะดิฉันเป็นลูกหม้อเรียนปริญญาตรี-โท ที่นี่ อยู่คณะมาเกือบสิบปีแล้ว ก็ไม่ใช่คนไม่รู้จักไม่ชินกับเรานะคะ” อาจารย์เคท ในวัย 29 ปี เริ่มต้นการสนทนา และเล่าถึงที่มาที่ไปของการมายืนอยู่คณะนี้ โดยเริ่มที่การเลือกเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ โดยถือว่าได้ดีเอ็นเอจากพ่อแม่ที่ทำงานเอ็นจีโอ ได้วิธีคิดสายตาการมองสังคมส่งผ่านมาทางพ่อแม่เต็มร้อย เช่น การถูกลิดรอนสิทธิ พลัง ความต้องการของชาวบ้านเกิดจากอะไร สิ่งเหล่านี้ทำให้การมองสังคมได้กว้างขวางขึ้น รวมทั้งการหันมามองตัวเองด้วย

ได้เห็นว่าสังคมไม่ได้เปิดกว้างจริงๆ หรอก ยังมีเงื่อนไข เคทใช้คำว่า “เหยียดขับ” ที่มีอยู่จริง ซึ่งสไตล์ของเคทก็ไม่ใช่ว่าจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้แข็งกร้าวเรียกร้อง แต่เพราะเราเรียนมาเกี่ยวกับระบบสวัสดิการสังคม ว่าทำอย่างไรให้คนรู้สึกถึงคุณค่า-ศักดิ์ศรีของตัวเอง สิทธิของตัวเองสำคัญแค่ไหน การเรียนคณะนี้ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อไปช่วยเหลือคนเท่านั้นนะคะ แต่เรียนในสิ่งสร้างสังคมอย่างเป็นธรรม อะไรคือการลิดรอน ละเมิด ช่องทางใดที่ทำให้เปลี่ยนแปลงสังคมได้

เรียนแล้วก็รู้คนเขามองความเป็นเราอย่างไร? (ตั้งคำถามมากับรอยยิ้ม) เพศสภาพของตัวเอง เคทใช้คำว่ากะเทย ซึ่งตอนแรกก็รับไม่ได้ รู้สึกว่าหยาบคาย เหมือนคำด่ามากกว่าคำเรียกคน แต่พอได้เข้ามาทำงานกับ “เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย” ดิฉันเริ่มรู้สึกดีกับคำนี้ว่าดีกว่าการเรียกตัวเองว่า สาวประเภทสอง เออ...แล้วทำไมฉันต้องเป็นประเภทที่สอง?!! (หัวเราะ) หรือมีศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า ข้ามเพศ แต่คำว่า กะเทย คือคำไทยๆ

สังคมไทยยังมองคำคำนี้ สะท้อนการดูถูกดูแคลน การเหยียดหยามกันในเรื่องเพศโดยตรง บางครั้งก็ยังตลกด้วย ดิฉันจึงมองว่าเป็นการทำงานที่ท้าทายมากที่จะนำเสนอคำคำนี้ว่า เราคือใคร? เวลาไปทำงานคนก็ถามนะคะว่าทำไมเรียกตัวเองอย่างนี้? ทำไมไม่เรียกผู้หญิงข้ามเพศ? หรือสาวประเภทสอง ดิฉันก็ว่าใครจะเรียกอย่างไรก็ได้ค่ะ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่นิยามตัวเขาเองด้วย สำหรับดิฉันคำนี้ท้าทายว่าต้องเปลี่ยนความรู้สึกคำนี้ให้ความหมายดีขึ้น นี่คือเป้าหมายหลักในการทำงาน”

เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย มีเป้าหมายในการดำเนินงาน คือเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของเพศที่สามให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างรอบด้าน มีการรวบรวมข้อมูลและผลิตชุดข้อมูลความรู้ด้านต่างๆ และเสริมสร้างศักยภาพคนทำงาน พร้อมทั้งรณรงค์สร้างความเข้าใจในตัวตนและสิทธิของพวกเขา และสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมอื่นๆ เพื่อพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้แกร่งขึ้น

“เครือข่ายทำงานมา 5 ปีแล้วค่ะ สมาชิก 10 คนเท่านั้นค่ะ จากคนหลากหลายสาขาอาชีพและครึ่งหนึ่งเป็นนักวิชาการ กลางเดือน พ.ค.นี้ จะออกคู่มือสำหรับครอบครัวที่มีลูกเป็นกะเทย ดิฉันอยากบอกด้วยประสบการณ์ของตัวเองเลยค่ะว่าครอบครัวสำคัญที่สุด ถ้าครอบครัวรับได้จะเสริมอนาคตเด็กดีแน่นอน

ดิฉันโชคดีมากที่พ่อแม่ไม่เคยต่อว่าอะไรเลย เข้าอนุบาลก็รู้แล้วละว่าเราเป็นอะไร เลือกเล่นแต่กับกลุ่มเพื่อนๆ ผู้หญิง ดิฉันมีพี่สาวและพี่ชาย แต่ชอบอยู่กับแม่กับพี่สาวมากกว่า สนุกกว่ากับการเฝ้ามองแม่-พี่สาวแต่งตัว ดูมันเหมาะกับเรามากกว่า ดิฉันเชื่อมาตลอดเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะสังคมเปิดกว้าง ไม่มีแค่เพศหญิง-ชาย หรือในสังคมสมัยใหม่ก็ไม่ใช่แค่เพศที่สามแค่นี้แน่นอน

ดิฉันถูกเลี้ยงดูจากพ่อมากกว่าแม่ด้วยซ้ำไป พ่อเราเลี้ยงดูแลมาแล้วก็เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะเป็น สิ่งที่เรามั่นใจไม่กลัวอะไรจึงมาจากพ่อแม่ทั้งสิ้น แล้วถ้าอยู่บนฐานความเคารพกันและกัน ชีวิตคนเราก็จะไม่มีปัญหา

พอเอนทรานซ์เข้าคณะสังคมสงเคราะห์ ธรรมศาสตร์ ได้ ดิฉันก็ขอพ่อแม่ใส่กระโปรงไปเรียน ซึ่งการเลือกที่นี่ก็เพราะสามารถแต่งหญิงไปเรียนได้ด้วย (บอกพร้อมรอยยิ้ม) ชีวิตคือการได้ใช้ชีวิต นี่คือหลักการเลี้ยงดูของท่าน ตอนนั้นพ่อถามดิฉันกลับทันทีว่า ชุดพร้อมแล้วหรือ? คือถ้าเป็นเรื่องซีเรียสๆ ท่านจะใช้อารมณ์ขันคลี่คลายสถานการณ์ แทนที่ลูกจะเครียดก็เลยขำ

ดิฉันบอกว่า พ่อแม่ไม่ต้องห่วง เพราะรุ่นพี่กะเทยธรรมศาสตร์สุดยอดมากเรื่องสนับสนุนรุ่นน้องมั่นใจ พี่จะกุลีกุจอช่วยหากระโปรงเข็มขัดเครื่องหมายเข็มตุ้งติ้ง รองเท้า เชียร์น้องให้แต่งสวยกันเต็มที่”
อาจารย์เคท บอกพร้อมเสียงหัวเราะ พอทักเรื่องเอกลักษณ์การกรีดอายไลเนอร์เฉี่ยวก็ได้มาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้

“คนเราต้องหาเอกลักษณ์ค่ะ ดูพังก์(หัวเราะ) แต่ไม่ปัดมาสคารา ไม่เขียนคิ้ว ไม่เช่นนั้นจะดูดุมากกว่านี้ คนกลัว”  อาจารย์เคท บอกพร้อมเสียงหัวเราะอีก และออกตัวว่าเป็นคนชอบแต่งตัว แต่การไปปรากฏตัวสนับสนุนการประกวดมิสทิฟฟานี่ ก็ไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องรักสวยรักงามอะไร แต่ไปเพราะสนับสนุนความแหลมคมของคนกลุ่มเดียวกัน

ไม่เคยคิดจะเข้าไปอยู่เวทีพวกนี้เลย ต่อต้านการประกวดทุกๆ เวที เพราะนี่คือการผลิตซ้ำเช่นเดียวกับการประกวดขาอ่อนสำหรับเวทีนางงามผู้หญิง แต่กับกะเทยต่างกันค่ะ ในแง่ที่ว่านี่คืออีกช่องทางที่ทำให้พวกเรามีพื้นที่ทางสังคม ผู้คนให้ความสนใจมีตัวตนขึ้นมา

ทุกวันนี้กะเทยแทบไม่ได้รับความชื่นชม เรื่องศัลยกรรมก็เช่นกัน แต่ก่อนก็มีคำถามทำไมเราต้องหลงเวียนวนอยู่ในความสวย แต่การอยู่ในสังคมที่ต้องสร้างการยอมรับก็จำเป็นค่ะ เพราะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการยอมรับ แต่ไม่ยึดมั่น อย่างเคทก็บอกตัวเองค่ะ ไม่ผ่าตัดใดๆ ชีวิตนี้ไม่แปลงเพศ

สำหรับเวทีสาวประเภทสองคือการเต็มเติมในเรื่องนี้จริงๆ จังๆ คำตอบมาจากปีก่อนนี้ เพื่อนเคทไปประกวดแล้วได้ตำแหน่งรองอันดับ 2 จากพ่อแม่ไม่ยอมรับ ก็กลายเป็นว่ายอมรับลูกมากขึ้น

ดิฉันก็ไปเทรนผู้เข้าประกวด ไม่ใช่มาตอบแค่คำขวัญ คำกลอน ทุกวันนี้พวกเราตอบกันเรื่องสิทธิ LGBT ได้ฉะฉานมากค่ะ” อาจารย์
เคท กล่าว

มาถึงสิทธิที่เพศทางเลือกควรได้รับคืออะไร? อาจารย์เคท บอกทันทีว่า คือการรับรองสถานภาพทางเพศจากรัฐ เพราะมีคนแบบนี้จำนวนมากขึ้น ปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ เกิดมากขึ้น และยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งในฟิลิปปินส์ก็มีเวทีสาวประเภทสองเยอะมาก แสดงว่าความคิดของคนเราใกล้เคียงกัน ไม่ใช่สิ่งประหลาด

“คำว่า นาย คือปัญหาของคนแต่งหญิง โดยเฉพาะในยุคเกิดอาชญากรระหว่างประเทศ พวกเราจะโดนเรียกตลอด การเดินทางไปต่างประเทศ สิงคโปร์ ฮ่องกง นี่ลำบากมาก เพราะจำได้ว่าไปประเทศเหล่านี้ก็มักจะโดนเรียกสัมภาษณ์ทุกครั้งว่ามาทำไม? ก็ตอบว่าประชุมกับยูเอ็น ตม.เขาก็สวนกลับมาแบบติดตลกว่าเกิดมาไม่เคยเห็นกะเทยมาประชุมกับยูเอ็น?!! เราฟังแล้ว โอ๊ย...เจ็บปวดมาก

การบัญญัติคำใหม่ถ้ายึดตามกฎหมาย จากชายเป็นหญิง หญิงมาเป็นชาย ในแบบเคทก็แค่สลับคำนำหน้า ซึ่งในต่างประเทศ ยุโรป อเมริกา ก็ทำกันแล้วเปลี่ยนไปถึงใบสูติบัตรเลยค่ะ หรืออีกแบบใช้นิยามความเป็นเพศใหม่ไปเลย เพราะผู้หญิงก็ไม่ได้อยากให้เราใช้เพศเดียวกับเธอหรือเปล่า? ก็ทำเพศใหม่ คิดกันใหม่ จะไปวิ่งในกรอบหญิง-ชาย โลกเดิมทำไม? ซึ่งในเอเชียใต้ในกลุ่มประเทศนุ่งส่าหรี อินเดีย เนปาล ปากีสถาน คนเพศนี้ทำบัตรประชาชนก็ไม่ใช่นาย นาง นางสาว แต่จะใช้คำสำหรับเพศนี้ว่า Third Gender ชัดเจน

อีกเรื่องที่ไม่ใช่พื้นที่ที่กะเทยไปอยู่ คือ การเกณฑ์ทหาร ดิฉันขอชมเชยการทำงานของกระทรวงกลาโหมที่ทำงานจริงจังในเรื่องนี้ ซึ่งจากเคยระบุว่า “เป็นโรคจิตถาวร” ซึ่งส่งผลมากกับการสมัครงานที่บางแห่งมีการขอใบเกณฑ์ทหาร แล้วเจอข้อความนี้ก็กลายเป็นตีตราไปเลย แต่วันนี้เปลี่ยนมาใช้ว่า “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”

แล้วทุกปีก่อนเดือน เม.ย. เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ก็จะติดต่อขอความคืบหน้ากับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งทุกวันนี้ไม่มีการให้ถอดเสื้อเห็นหน้าอก ไม่มีการใช้กะเทยไปเสิร์ฟน้ำที่สิบปีก่อนเป็นแบบนี้นะคะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีภาพแบบนั้นให้เห็นอีก วันนี้มีแต่การขายข่าวกะเทยสวยงามแบบผู้หญิงสู้ไม่ได้อะไรแบบนั้นไปแล้ว หรือโชว์นมมาริโอ้ร่างกายผู้ชายคือจุดขายได้แล้ว (หัวเราะ) ดิฉันมองว่าโลกเปลี่ยนไปแล้วค่ะ

เด็กนักศึกษาบางคนสวยมาก สวยจนดิฉันก็ไม่รู้คิดว่าเป็นผู้หญิง เดินมาบอกอาจารย์คะหนูเป็นกะเทย ซึ่งดิฉันอยากผลักดันให้คนกลุ่มนี้ได้ทำงานตรงกับสิ่งที่เรียนมา ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่ได้การยอมรับ อย่าง ผู้พิพากษา ทหาร-ตำรวจ แต่พวกหมอ พยาบาล เภสัชกร สามารถแต่งหญิงแล้วค่ะ เพียงแต่ถูกขอไว้ไม่ให้เปิดตัวเพื่อทำงานต่อไปได้ ดิฉันเห็นว่านี่คือสิ่งจำเป็นมากที่สุดค่ะ เพราะถ้าไม่ได้ทำงานตรงกับที่เรียนมา  ไม่เห็นภาพอนาคตตัวเองในการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติ เรียนสูงไปก็ตกงาน แล้วจะเรียนหนังสือทำไม?

สิบปีหลังมานี้มีคนร่วมคิดกับดิฉันมาโดยตลอดจากการทำงานเครือข่ายฯ อาชีพกะเทยสมัยก่อนอาจจะทำงานมากมายในอุตสาหกรรมบันเทิง ความงาม ไม่ผิดหรอกค่ะจะเป็นนางโชว์ หรือช่างแต่งหน้า การจ้างงานคือการขับเคลื่อนที่สำคัญ แต่ดิฉันขอย้ำว่าจะต้องมีทุกๆ อาชีพ ดิฉันมีน้องสาวสองคนที่เรียนเก่งมากและวางแผนเรียนต่อทางด้านวิศวกรรมเคมีจนจบปริญญาเอก ก็ถามว่าทำไมพวกหนูต้องเรียนสูงขนาดนี้? คำตอบคือไม่เรียนได้อย่างไรคะ หนูฝันไปสมัครงานบริษัทใหญ่ๆ ตำแหน่งวิศวกรปิโตรเคมีเขาก็ไม่รับ นี่คือความเจ็บปวดว่าสังคมไม่ได้ดูที่ความสามารถเลย แต่กลับไปมองกันแค่ความเป็นเพศ

ดิฉันพูดกับน้องๆ นักศึกษาเสมอว่า เราเรียนเพื่อให้มองเห็นตัวเอง แล้วก็จะมองได้ชัดถึงทิศทางที่ต้องดีขึ้นแน่ค่ะ” อาจารย์เคท กล่าวสรุปอย่างมีความหวังสดใสอยู่เสมอ