posttoday

นิกร จันทร์ต๊ะตา ศิษย์ผู้สืบงานช่างทองหลวง

16 เมษายน 2558

พูดถึงช่างทองหลวง หลายคนอาจไม่คุ้นเคย ตามไปคุยกับ นิกร จันทร์ต๊ะตา ศิษย์เก่าแห่งวิทยาลัยในวัง(ชาย)

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

พูดถึงช่างทองหลวง หลายคนอาจไม่คุ้นเคย ตามไปคุยกับ นิกร จันทร์ต๊ะตา ศิษย์เก่าแห่งวิทยาลัยในวัง(ชาย) ผู้สืบสานวิชาช่างทองหลวง การผลิตและออกแบบเครื่องทองและเครื่องประดับโบราณ ผลงานของเขาได้รับการยอมรับในวงการถึงความละเอียดประณีต การพัฒนาและการอนุรักษ์รูปแบบที่สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียว

นิกร หรือ ตั้ม เป็นชาวสันกำแพง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ก่อนจะมาเป็นช่างทองทำเครื่องประดับโบราณ ก็มาจากความชอบที่หลงใหลในงานศิลปะเก่าๆ บอกไม่ได้เหมือนกันว่าทำไม รู้แต่เมื่อจำความได้ก็ชอบและใฝ่หาความรู้ด้านงานช่างและงานศิลปะไทยมาตลอด

“ผมเรียนวิจิตรศิลป์ อาชีวศึกษา จ.เชียงใหม่ ชอบวิชาลายไทย ทำได้เกรด 4 ตลอด จากนั้นก็ค่อยๆ แตกสายสู่ความสนใจในศิลปกรรมไทยด้านอื่นๆ” ตั้มเล่า

ที่โรงเรียนมีหัวโขนตั้งโชว์อยู่ ตั้มสนใจมาก เขาอยากทำเป็นถึงขั้นพูดกับตัวเองว่าสักวันหนึ่งต้องทำหัวโขนให้เป็นให้ได้ อาจารย์เห็นความมุ่งมั่นจึงแนะนำให้ไปดูงานหัวโขนชั้นครูที่วิทยาลัยในวังที่กรุงเทพฯ อาจารย์มีเพื่อนสอนอยู่ที่นั่น ก็ให้ชื่อมา

นิกร จันทร์ต๊ะตา  ศิษย์ผู้สืบงานช่างทองหลวง

ตั้มเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เพื่อมาดูหัวโขนที่วิทยาลัยในวัง(ชาย) ที่ท่าเตียน เห็นงานหัวโขนแล้วบอกตัวเองว่า จะต้องมาเรียนที่นี่ให้ได้ อย่างไรก็ตาม ทางบ้านไม่สนับสนุน แต่ถึงที่สุดก็ดิ้นรนมาเรียนจนได้ ในมือมีเงินแค่ 3,000 บาท นั่งรถไฟมาจากเชียงใหม่ ตั้งใจว่าช่วงสอบจะกินนอนที่หัวลำโพงนั่นเอง

ชีวิตไม่รันทดขนาดนั้น โชคดีที่ผู้ปกครองของเด็กคนหนึ่งถามไถ่ เมื่อเห็นว่าเขาไม่มีที่ไป จึงรับไปพักด้วยกัน แต่เมื่อสอบติด ตั้มก็ออกหาหอพักที่ต้องถูกสุดเพราะที่บ้านให้เงินใช้แค่ 1,200 บาท ต่อเดือน แค่หอที่ว่าถูกสุดก็เดือนละพันบาทถ้วน ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย อาศัยครูบาอาจารย์เรียกใช้ ทำงานวิจัยบ้าง ทำงานใช้แรงงานบ้าง ไม่เคยเกี่ยง

“พวกเราถูกเรียกว่า พวกเต๊งท้ายวัง คือเรียกตามสถานที่เรียน ชีวิตช่วงเรียนหนังสือแม้ทำงานหนัก แต่มีความสุขที่สุด ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ครูบาอาจารย์ก็ล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถชั้นสูง ถ่ายทอดวิชาให้ สำนึกบุญคุณทุกท่านถึงทุกวันนี้”

แล้วก็เป็นครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งที่เห็นแววและความอุตสาหะมุมานะของเขา เมตตาแนะนำว่าหลังเรียนหลักสูตรหัวโขนแล้ว ควรเรียนต่อหลักสูตรช่างทองหลวง รังสรรค์งานศิลป์เครื่องประดับที่สืบทอดแต่โบราณ การเรียนการสอนเน้นความรู้ในงานอนุรักษ์ ขณะเดียวกันก็เรียนรู้พัฒนารูปแบบ

นิกร จันทร์ต๊ะตา  ศิษย์ผู้สืบงานช่างทองหลวง

 

“คุณสมบัติสำคัญคือความละเอียดประณีต ความคิดสร้างสรรค์และใฝ่ใจในการพัฒนาต่อยอด เราต้องเรียนรู้หมดในทักษะต่างๆ ทั้งปักสะดึง กลึงไหม งานลงยา งานสลักดุน งานฝังอัญมณี งานเจียระไน เป็นต้น”

เรียนจบช่างทองหลวงแล้วก็เรียนต่อในวิทยาลัยในวัง(ชาย) นั้นเอง ในอีกหลายปีและอีกหลายหลักสูตร ถือว่าครบเครื่องเรื่องงานช่างไทย ในระหว่างเรียนยังเพิ่มทักษะเรื่องงานจัดดอกไม้ ตั้มนี่เองที่เป็นออร์แกไนเซอร์ผู้รับจัดดอกไม้งานใหญ่ๆ ของวัดสระเกศ  รวมทั้งงานใหญ่ของวัดแขก หรืองานวัดพระศรีมหาอุมาเทวี ก็เขานี่เองที่เป็นเจ้าของผลงานปักเครื่องยศหน้าขบวน ที่ใช้ในการแห่องค์เจ้าแม่ในงาน
นวราตรี ประเทศไทย

อยู่ในวงการช่างทองมาหลายปี ได้โอกาสในการรับใช้เจ้านายชั้นสูงหลายองค์ ถือเป็นเกียรติและความภูมิใจ ที่สำคัญคือประสบการณ์ความรู้ และการสืบทอดองค์ความรู้ ปัจจุบันตั้มทำธุรกิจส่วนตัว รับทำเครื่องทองโบราณ “ทองถนิม” Facebook.com/tongthanim หรือ โทร. 08-2454-0808 ไลน์ id : zquake

“งานของผมไม่ใช่งานโมเดิร์นแต่เน้นความเป็นไทย เน้นความวิจิตร ลายละเอียดและระบบของลายที่ลงตัว มีความประณีตและความรับผิดชอบในทุกขั้นตอน”

นิกร จันทร์ต๊ะตา  ศิษย์ผู้สืบงานช่างทองหลวง

 

ซิกเนเจอร์ที่มีชื่อเสียงมากของตั้ม ก็คือการนำเรื่องราวมาสอดใส่ไว้ในชิ้นงานอย่างสมบูรณ์ อย่างลายครุฑยุดนาค หรือสัญลักษณ์มงคลในงานศิลปกรรมไทย เช่น อุณาโลม เป็นต้น งานส่วนใหญ่ได้รับความนิยมมากคือ ทับทรวง แหวน กำไล หัวปั้นเหน่ง และปิ่นปักผม ราคาไม่แพงเพราะต้องการให้เครื่องประดับโบราณเป็นงานที่หยิบจับได้

เครื่องประดับโบราณของไทยมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีเรื่องราวความเป็นมา และไม่เหมือนใคร สุดท้ายแล้วตั้มบอกว่า คือชีวิตและความภูมิใจที่ดำเนินไปด้วยกัน งานช่างไทยและงานช่างทองโบราณที่จะสืบสานและรังสรรค์ต่อไปชั่วลูกหลาน