posttoday

"อีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์" สุดจี๊ด เทพวรรณ คณินวรพันธุ์

09 กุมภาพันธ์ 2558

เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ หนุ่มใสวัย 23 ดีกรีปริญญาตรีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตนายแบบและซีอีโอแห่ง Zaap Enterprise บริษัทอีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์

โดย...วราภรณ์ ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข   

เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ หนุ่มใสวัย 23 ดีกรีปริญญาตรีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตนายแบบและซีอีโอแห่ง Zaap Enterprise บริษัทอีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์ ที่เน้นจัดคอนเสิร์ตและปาร์ตี้มันๆ เพื่อคนวัยจี๊ดโดยเฉพาะ แต่กว่าเขาจะขึ้นทำเนียบบริษัทอีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์ เพื่อคนรุ่นใหม่ได้ ต้องผ่านบททดสอบการล้มลุกตั้งแต่ลองจัดคอนเสิร์ตตอนเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ทำให้เขาเป็นหนี้คุณพ่อมากถึง 9 แสนบาท แต่ด้วยมีเลือดนักสู้ เทพวรรณสามารถหาเงินใช้หนี้ได้ภายในเวลา 1 ปี และสานต่องานที่ตนเองถนัดทำจนประสบความสำเร็จในระดับที่ตนเองพอใจ

ลองไปสัมผัสแนวคิดการทำงานของเด็กรุ่นใหม่ วัยยังไม่ถึงเบญจเพสว่า อะไรทำให้เขาก้าวมาสู่จุดนี้ได้

จุดกำเนิดแนวคิดธุรกิจ : ด้วยเคยเป็นนักบาสเกตบอลและเป็นนักกิจกรรมตัวยงของโรงเรียน เมื่อเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็ได้เป็นทูตมหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมซีเอสอาร์ พอปี 3 เขาเริ่มจัดคอนเสิร์ตการกุศลแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีเป้าหมายและจุดขายว่าทำเพื่อใคร ทำให้เขาขาดทุนเป็นหนี้คุณพ่อมากถึง 9 แสนบาท

“ตอนนั้นรู้สึกจุกมากๆ แทนที่จะทำบุญกลับทำบาปให้ป๊า ตอนนั้นผมมีอยู่ 2 ทางเลือกคือ ทำต่อเพื่อหาเงินใช้หนี้ป๊า หรือหยุด คำตอบคือสู้ต่อ ผมจึงนำข้อผิดพลาดมาวิเคราะห์ว่า จัดงานต้องทำให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายคือเจเนอเรชั่นวายของเรา หาจุดดึงดูดว่า ทำอย่างไรให้คนมางาน และมองให้เป็นการทำเพื่อธุรกิจมากขึ้น ด้วยผมชอบบริหารจัดการ และชอบไปปาร์ตี้ ชอบดูคอนเสิร์ตมากๆ ผมจึงจับ 3 อย่างมารวมกัน งานครั้งที่สองค่อนข้างประสบความสำเร็จ ผมจึงตั้งบริษัท แซ๊ป ตอนเรียนปี 4 รับจัดปาร์ตี้คอนเสิร์ตให้กับไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งประสบความสำเร็จเพราะมีคนมาร่วมงานมากถึง 4,000 คน จากคาดการณ์เพียง 700 คน ต่อมาก็มีบริษัทเอกชนสนใจให้เราจัดงานคอนเสิร์ตให้ เช่น โตโยต้า โคคาโคลา เป็นแบรนด์ใหญ่ทำธุรกิจใกล้ชิดกับวัยรุ่น เจาะตลาดกับคนรุ่นใหม่  และอีกหลายๆ องค์กรให้เราเป็นที่ปรึกษาและเป็นออร์แกไนเซอร์ ถือเป็นช่องว่างทางธุรกิจทำให้เราได้เปรียบ เพราะเราสามารถออร์แกไนซ์และครีเอทีฟดึงคนรุ่นใหม่มางานได้ โดยไม่ต้องเสียเงินประชาสัมพันธ์งานมากมาย”

"อีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์" สุดจี๊ด เทพวรรณ คณินวรพันธุ์

คำพูดติดปาก : คุณไม่เคยทำของใหม่ในโลกนี้แน่นอน

ผลงานสร้างชื่อเสียง : “ซิงเกิ้ล เฟสติวัล” คอนเสิร์ตคนโสดที่รวบรวมสาวสวยกับหนุ่มหน้าตาดีมารวมตัวกัน เรียกว่าเป็นปาร์ตี้คนหน้าตาดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมทั้ง “ฟูลมูน ปาร์ตี้” คอนเสิร์ตเด็กแนวที่รวบรวมศิลปินชื่อดังบนเวทีเดียวกัน และอีกมากมาย

หลักคิดดำเนินธุรกิจ : มองการทำงานให้เป็นเรื่องสนุกๆ ไม่อยากมองเป็นธุรกิจ เพราะหากมองเป็นธุรกิจการทำงานกับเพื่อนๆ จะไม่สนุก แม้สิ่งแวดล้อมบางขณะของเขาจะทำให้เพื่อนๆ คนอื่นรู้สึกเครียด แต่เขาขอเครียดคนเดียว เพราะทีมงานต้องคิดงานครีเอทีฟ งานของพวกเขาคือสร้างให้ผู้ชมได้พบกับความสนุกใหม่ๆ ได้สนุกกับเสียงดนตรีและการสร้างสรรค์ ดังนั้นระดับมันสมองคิดสร้างสรรค์งานต้องไม่เครียด

วิธีหาไอเดียใหม่ๆ :  ข้อดีของนักครีเอทีฟคือ ต้องช่างสังเกต ชอบหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิต และรักในสิ่งที่ทำ เช่น เราชอบดูคอนเสิร์ต หรือไปนั่งดริงก์ สังเกตเห็นเด็กไทยรุ่นใหม่มักให้ความสำคัญกับสเตตัสตัวเอง และชอบพรีเซนต์ว่าเป็นโสด เช่น จัดงานแล้วกำหนดเดรสโค้ดว่า ใครโสดให้ใส่สีขาวมาร่วมงาน ปรากฏคนใส่สีขาวมาเกือบทั้งงาน ถือเป็นกิมมิกทำให้งานสนุก แต่ถ้าไปบังคับเด็กเจนวายจะไม่ทำ อีกทั้งผมชอบไปดูงานคอนเสิร์ตต่างประเทศบ้าง เวลาไปไหนผมจะยึดหลัก 3 ข้อ คือ ช่างสังเกต อะไรดีนำมาใช้ต่อไม่พอ ต้องประยุกต์ต้องปรับใช้  แนวคิดนี้ไม่มีสอนในห้องเรียน ต้องเรียนรู้ ชอบงานอะไรแนวไหนให้ไปดูงานนั้น

นำของเก่ามาเล่าในแบบใหม่ : วิธีคิดสร้างงานให้เก๋ของเทพวรรณคือ นำสิ่งที่มีอยู่ในโลกมาปรับเปลี่ยนในสิ่งที่เราคิด ปรับใช้ให้เข้ากับทั้งสถานที่ โอกาส ช่วงเวลา และกลุ่มคน

“เช่น วอเทอร์ โซนิค คืองานอิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ มิวสิค ที่ราชมังคลากีฬาสถาน เราเชิญดีเจมือสองของโลกอย่าง Dimitri Vegas มาเมืองไทย ปัจจุบันคนทั่วโลกฟังเพลงตามดีเจ งานนี้จึงเป็นงาน วอเตอร์ บวก มิวสิค เพราะผมรู้สึกไปงานสงกรานต์แล้วสนุกเป็นจุดเด่นของไทย ก็นำประเพณีที่คนรู้จักดีมาบวกกับรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความเป็นสากลคือ เพลง ซึ่งเทศกาลสงกรานต์ผู้คนทั่วโลกรู้จักอยู่แล้ว เหมือนนำเอาของเก่ามาเล่าใหม่ ที่ไม่ใช่การก๊อบปี้ แต่เป็นการประยุกต์ใช้”

"อีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์" สุดจี๊ด เทพวรรณ คณินวรพันธุ์

 

การเลี้ยงดูในวัยเด็ก : วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่หล่อหลอมให้เขากลายเป็นเด็กวัยรุ่นที่คิดเป็น ด้วยทริกง่ายๆ คือพ่อแม่ของเขาเลี้ยงลูกแบบไม่บังคับ พ่อให้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ เช่น การเล่นบาสเกตบอล และพ่อไม่เคยกำหนดชีวิตของเขา แค่ขอให้ลูกเป็นคนดีก็พอ ทำให้เขาดำเนินชีวิตแบบกล้าลองผิดลองถูก

“ป๊าอยากให้เราสร้างทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง พ่อสนับสนุนให้คิดเองสร้างธุรกิจเอง ทำให้ผมได้ดิ้นรน ไม่ใช่ขอสตางค์อย่างเดียว จากผมเคยเจ๊ง 9 แสนบาท แต่ผมสามารถหาเงินมาใช้ป๊าได้ในวันที่ผมจบปริญญาตรี ก้มลงกราบป๊าและยื่นเช็คคืนป๊า ป๊าร้องไห้เลย ผมไม่เคยเชื่อว่าผมเก่ง ผมไม่ได้พร้อมไปกว่าคนอื่น แต่โอกาสและจังหวะมาพอดี แต่เมื่อได้แล้วเราต้องอย่าลืมตอบคืนกลับสังคมด้วย”

บนสังเวียนออร์แกไนเซอร์แข่งขันสูง : แม้ในวงการนี้แข่งขันสูงมากๆ แต่ต้องรู้จักตัวเองว่า เรามีข้อดีอะไร คือเต็มไปด้วยนักครีเอทีฟรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ทำเพื่อคนรุ่นใหม่เจนวายโดยเฉพาะ หากกลุ่มลูกค้าของคุณคือเจนวายต้องมาหาเรา ถ้าเราโตขึ้นเราต้องสร้างรุ่นน้องทุกปี เพื่อคิดงานและต้องทำรีเสิร์ช และอัพเดทด้านการฟังเพลงให้ทั่วประเทศ เพราะวัยรุ่นต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ ก็ฟังเพลงไม่เหมือนกัน แต่ก็มีข้อเสียคือ การขายงานเขาอาจขาดความน่าเชื่อถือ และคนไม่ค่อยรู้จักมาก แต่เขาไม่รีบ ขอไปแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ช่วยกันต่อเติมบ้านหลังเล็กให้กลายเป็นบ้านหลังใหญ่

“หลักคิดทำงานของผมคือ ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน บางงานมีความเสี่ยงแต่เราต้องกล้าที่จะขาดทุน เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด เช่น จากที่่คิดไว้ว่าจะใช้วงดนตรี 5 วง แต่เมื่อมีแนวโน้มคนจะมามากก็ต้องเพิ่มวงดนตรีเป็น 9 วง ทำให้ดีให้อลังการ กำไรน้อยหน่อยแต่เจ้าภาพจะประทับใจเราดังนั้นอย่ากลัวเจ็บตัว เหมือนเราไม่ใช่นักธุรกิจ แต่เราเป็นนักพนัน เรากล้าเสี่ยงกับมัน ถ้าเชื่อว่าเราได้ เราต้องได้ แต่เราต้องมีการลงทุนระยะยาว เพื่อให้คนรู้จัก ถือเป็นการสร้างแบรนดิ้งด้วย”

รู้เขารู้เรา รบอย่างไรก็ชนะ : ด้วยทำงานกับเด็กเจนวายมาเยอะ เทพวรรณให้ทัศนะเกี่ยวกับลักษณะส่วนตัวของเด็กเจนวาย ว่า มักไม่ค่อยอดทน ไม่ชอบให้คนมากำหนด ไม่ชอบแบบแผน อยากรู้อะไรเสิร์ชกูเกิล ดังนั้นการคิดวิเคราะห์แยกแยะของเด็กเจนวายจึงน้อย ทำให้เด็กเจนวายเชื่อผู้ใหญ่ยาก แต่เชื่ออะไรที่เขาเรียนรู้เอง มีความอยากเป็นตัวเองสูง ไม่ต้องมีใครมาบังคับ การทำการตลาดกับเด็กเจนวายจึงยาก เพราะมีความหลากหลายสูง เช่น คิดทำคอนเสิร์ตเพื่อให้เด็กเจนวายสายศิลป์ฟังก็ต้องเลือกเพลงแนวอินดี้ แต่ทำคอนเสิร์ตให้เด็กอีกกลุ่มหนึ่งเขาก็ฟังเพลงอีกแบบหนึ่ง แต่ละงานก็ต้องคิดวิเคราะห์แต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป

มีความสุขอย่างพอเพียง : เป้าหมายชีวิตของเทพวรรณคือ ทำเพื่อครอบครัว

“ผมแค่อยากมีพอกินพอใช้พอแล้ว ไม่ต้องขับรถหรู แต่งตัวหรูหรา เพราะผมมีความสุขกับการได้สังสรรค์กับเพื่อน พักผ่อนกับครอบครัว เพราะผมไม่ได้โฟกัสที่งานอย่างเดียว ผมไม่เคยตั้งโกลกับชีวิต เพราะจะทำให้ผมไม่มีความสุข เครียดไปเปล่าๆ ผมมองว่าผมไม่ได้ทำธุรกิจ แต่ทำในสิ่งที่เรารัก ผมเชื่อเรื่องความกตัญญู เวลามีคนชมผมพยายามกดตัวเองให้ต่ำ อย่าเหลิงไปกับคำชม เพราะงานไม่ได้ทำเสร็จคนเดียว เราต้องทำงานเป็นทีมผมคิดว่าความสุขของบางคน บางครั้งก็มาไว ไปไว สู้ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา ผมอายุเท่านี้เอง อย่าคิดอะไรเยอะ อย่าเพิ่งกำหนดกฎเกณฑ์อะไรให้เหนื่อยเลยครับ”

"อีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์" สุดจี๊ด เทพวรรณ คณินวรพันธุ์