posttoday

เกษตรกรรม-ลองทำดู ในมุม ‘เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร’

24 พฤศจิกายน 2557

ในช่วงจังหวะชีวิตของผู้ชายชื่อ “เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร” ถ้าเป็นดนตรีก็เรียกว่ามีหลายท่วงทำนอง เขาเริ่มต้นในแวดวงวิศวกรรม

โดย...กองทรัพย์

ในช่วงจังหวะชีวิตของผู้ชายชื่อ “เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร” ถ้าเป็นดนตรีก็เรียกว่ามีหลายท่วงทำนอง เขาเริ่มต้นในแวดวงวิศวกรรม ก่อนจะผันตัวเองไปเป็นนักบริหาร ดูแลกิจการโรงแรม Horseshoe Point จากนั้นก็หันเหไปทำงานการเมืองในตำแหน่งที่ปรึกษาและโฆษกให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 ปี ก่อนจะค้นพบท่วงทำนองที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ งานด้านการเกษตร

“ก่อนหน้านี้ผมอยู่ในแวดวงของการทำธุรกิจมาโดยตลอด งานของผมตอนนี้มีหลายอย่าง ทำงานด้านบริหารทั่วไปให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งหนึ่งแถวๆ พัทยา และมีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัท เฟรเกรนท์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนทเม้นท์ ดูงานด้านการสื่อสารองค์กรและดูภาพรวมของโครงการใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ก็ทำการเกษตรด้วย ผมมี
นาข้าวอยู่ที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ปีที่แล้วเริ่มจากผมทำนาของตัวเอง 25 ไร่ ปีนี้จึงขยายไปเป็น 150 ไร่ เป็นพื้นที่กงสีของครอบครัว ซึ่งเป็นที่ดินรกร้างมาก่อน เราก็พัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่การเกษตร”

จุดเริ่มต้นให้ผู้บริหารหนุ่มได้สัมผัสกับการเกษตร คือเป็นกลุ่มกสิกรรมธรรมชาติของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจเรื่องการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ประยุกต์เรื่องการจัดสวน ปลูกผัก ทำสบู่ ทำปุ๋ยใช้เองในรีสอร์ท ก่อนที่จะมีโอกาสสัมผัสงานด้านการเมือง

เกษตรกรรม-ลองทำดู ในมุม ‘เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร’

 

“พอไม่ได้ทำงานโฆษกผู้ว่าฯ กทม. ผมตกงานน่ะครับ (หัวเราะ) ก็เลยไปเรียนทำนากับโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ลองทำเอง 1 ไร่ รู้เลยว่าเหนื่อยขนาดไหน หนักแค่ไหน ในขณะเดียวกันคุณแม่ก็แบ่งที่ดินให้เป็นพื้นที่ล้อมด้วยนาข้าว ผมไปเจอกับชาวนาที่นั่น ผมก็บอกว่าผมอยากทำนา เขาแนะนำว่าปล่อยที่ดินให้เขาเช่าไหม แต่ผมบอกว่าอยากทำด้วย ทำแบบไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ใส่ยาฆ่าแมลง เขาก็เลยเสนอว่าเขาจะรื้อป่าให้ ผมก็จ้างเขาไปครึ่งทาง ตอนหลังก็ตกลงกันว่า ให้เขาทำนาผม 20 ไร่ และผมทำเองในส่วนของผม 3 ไร่ ผมทำแบบนาโยน ทำแบบไม่ใส่สารพิษ และนำความรู้ที่ได้จากโรงเรียนชาวนามาใช้”

“ปีแรกทำ 25 ไร่ อุปสรรคที่เจอก็มีนะครับ ผมเริ่มด้วยความไม่รู้ เริ่มจากศูนย์ ชาวนาที่ทำนาร่วมกับผมก็เป็นชาวนาที่ชำนาญ แต่การที่เราจะทำแบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เขาไม่สบายใจ เพราะเขาคิดว่าจะได้ผลไม่ดี พอเอาอะไรใหม่ๆ ไปให้เขาลอง เขาจะปฏิเสธไว้ก่อน เขาอยากจะทำในแบบที่เขาเคยชิน แต่ที่สุดแล้วเขาก็สนใจ เลยมีความคิดว่าเรามาร่วมกันทำ และทำนาให้มากขึ้น คือเขาก็อยากมีที่นามากขึ้น เขาพร้อมที่จะลงแรงแต่เขาไม่มีเงินทุน ผมก็พร้อมที่จะสนับสนุน
เงินทุน ผมก็เลยเช่าที่นาเพิ่มเป็น 150 ไร่ เราทำงานกันหนักมาก ซึ่งผมก็ต้องขอบคุณชาวนาที่เป็นพาร์ตเนอร์ผม เขาอดทนมาก ตอนนี้จาก 1 คน ก็มีเพิ่มเป็น 3 คน ที่เข้ามาช่วย”

เกษตรกรรม-ลองทำดู ในมุม ‘เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร’

เจตน์ เล่าถึงการทำงานของเขากับพาร์ตเนอร์ว่า “ผมแบ่งการทำงานเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกคือผม อีกกลุ่มคือชาวนา ผมจะมีสมุดบัญชี 1 เล่ม เพื่อบันทึกค่าใช้จ่าย ผมทำสัญญากับเขา 3 ปี ใช้เงินทุนระยะยาว ซึ่งผมลงทุนไปก่อน เอาเงินทุนก้อนนี้มาหาร 3 ปี แล้วก็ทำปีละ 2 รอบ สมมติลงไป 6 แสน ก็แสดงว่าเราทำนารอบละ 1 แสน ก็ต้องเอาเงินมาคืนผม ตัวเลขก็จะเห็นพ้องต้องกัน อีกตัวเลขหนึ่งก็คือตัวเลขต่อรอบ ค่าข้าวพันธุ์ ค่าน้ำมัน ฯลฯ พอเราเกี่ยวข้าวได้มาเท่าไหร่ จะเอาเงินพวกนี้มาคืนเงินที่ผมออกไป เหลือกำไรเท่าไหร่ก็หารกันคนละครึ่ง”

เราถามว่าการอยู่ในแวดวงธุรกิจมาก่อนแล้วผันตัวไปทำการเกษตร ความรู้ดั้งเดิมที่ติดตัวมาสามารถช่วยด้านเกษตรกรรมอย่างไร เจตน์ ให้คำตอบว่า “เรื่องการทำนาเราต้องพึ่งพาชาวนาที่ชำนาญกว่า แต่ว่าข้อมูลและงานวิจัยผมพยายามศึกษาข้อมูลและลงพื้นที่ดูว่าที่ไหนเขาทำกันอย่างไร และรักษาจุดยืนเรื่องการทำนาปลอดสารเคมี ตอนนี้ก็พยายามผลักดันเรื่องการการันตีให้ข้าวนานี้ได้รับใบรับรองเพื่อที่จะสามารถส่งออกได้ ซึ่งจุดนี้ชาวนาอาจจะยังไปไม่ถึง แต่เรายังไม่เคยไป แต่เราก็ต้องลอง”

เกษตรกรรม-ลองทำดู ในมุม ‘เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร’

ในบทบาทของผู้บริหาร เขามองว่าการทำงานด้านการเกษตรเป็นการทดลองอย่างหนึ่ง หากแต่เป็นการทดลองที่ต้องลงทุนลงแรง ซึ่งเขาเต็มใจที่จะเหนื่อยไปกับมัน “เป็นที่เล่นทดลองที่สนุก
ที่หนึ่ง แต่ก็เป็นที่ทดลองที่ใหญ่มาก (หัวเราะ) ในช่วงแรกที่ผมไปทำนา ผมยังไม่ได้ทำงานบริษัทก็มีเวลาดูแลพื้นที่นามากหน่อย แต่พอมีโอกาสในโลกธุรกิจ ผมต้องไว้ใจพาร์ตเนอร์ของผมมากขึ้น ทำให้ผมสามารถทำธุรกิจในเมืองได้ ขณะเดียวกัน ผมก็มีกิจกรรมให้ทำในวันหยุด ผมไปทำนา ปลูกต้นไม้ได้ ผมว่านี่เป็นความฝันที่คนเมืองหลายคนหวังไว้”

จากนาข้าวในปีแรก ผู้บริหารหนุ่มมีโครงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไร่นาสวนผสม มีบ่อปลา มีหมูหลุม ฟาร์มเลี้ยงไก่ สร้างความหลากหลายให้พื้นที่ “ผมภูมิใจตั้งแต่การเปลี่ยนที่ดินว่างเปล่าให้เป็นที่นา เปลี่ยนชาวนาให้เป็นพาร์ตเนอร์ที่ดี ทำให้เขาก็มีหวัง ตั้งใจ ทุ่มเท ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ถ้าสิ่งที่ผมทำมันดีสำหรับเขา เขาก็จะไม่กลับไปใช้เคมีอีก”

“ที่นั่นผมเรียนรู้ที่จะใช้ธรรมชาติในการดูแลธรรมชาติ ที่นี่กรุงเทพฯ ผมเรียนรู้ว่าการปรับให้สิ่งแวดล้อมในการทำงานให้สมบูรณ์ก็ดูแลคนทำงานด้วยเหมือนกัน เราประยุกต์ใช้ได้” เจตน์ กล่าวปิดท้ายบทสนทนา