posttoday

สโรชา ลายสุวรรณ ทีมเวิร์กนั้นสำคัญ

20 ตุลาคม 2557

หญิงสาวรูปร่างสูงโปร่ง หน้าตาสวยใส แต่งตัวมีสไตล์ เธอเป็นผู้บริหารหญิงสูงสุดของศูนย์การค้าเมกาบางนา ด้วยวัย 37 ปี

โดย...อณุสรา ทองอุไร

หญิงสาวรูปร่างสูงโปร่ง หน้าตาสวยใส แต่งตัวมีสไตล์ เธอเป็นผู้บริหารหญิงสูงสุดของศูนย์การค้าเมกาบางนา ด้วยวัย 37 ปี แต่ถ้าหน้ายังดูสดใสอ่อนเยาว์ สโรชา ลายสุวรรณ ขึ้นรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของศูนย์การค้าแนวราบแห่งแรกในประเทศ อย่างเมกาบางนาอย่างเป็นทางการ สะท้อนภาพลักษณ์หญิงเก่งแห่งวงการ Shopping Mall เชื่อว่ากว่าที่เธอจะก้าวขึ้นสู่ฐานะผู้บริหารระดับสูงได้นั้น ต้องฝ่าฟันสิ่งกีดขวางและสร้างประสบการณ์มากถึงเพียงใด หน้าที่หลักๆ นั้นเธอดูแลภาพรวมในการทำงานของศูนย์การค้าทั้งหมด ทั้งด้านนโยบายการบริหารจัดการและโครงสร้างศูนย์การค้าเมกาบางนา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปิดโอกาสให้เธอได้เรียนรู้งานครบทุกดีพาร์ตเมนต์

เธอดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ ผู้บริหารศูนย์การค้าเมกาบางนา ถือว่าประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย  ก่อนหน้านี้เธอทำงานในแขนงงาน Business Development ที่ซานมัตเตโอ สหรัฐ มานานกว่า 5 ปี แล้วจึงตัดสินใจย้ายกลับมาบ้านเกิด มาทำงานร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการอีเวนต์อย่าง อินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเจนซี่

“ตอนที่เข้าไปทำกับอินเด็กซ์ ตอนนั้นยังเป็นบริษัทเล็กๆ มีพนักงานประมาณ 70-80 คน เราจึงเป็นรุ่นแรกๆ ของอินเด็กซ์ ทำได้สักระยะหนึ่งก็รู้สึกว่าเราจัดอีเวนต์ให้กับสินค้า หรือบริษัทอื่นๆ ทำมาทุกรูปแบบ  ก็อยากลองออกไปทำงานกับสินค้านั้นบ้าง อยากลองทำแบรนด์ดูเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์การทำงาน” เธอย้อนอดีตให้ฟัง

ปรากฏว่าตอนนั้น บริษัท ซีเบอร์ เฮกเนอร์ จากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งกำลังหา Brand Manager อยู่ และเธอก็ได้รับโอกาสให้เข้าไปทำงานในตำแหน่ง Brand Manager ตอนนั้นยังอายุเพียง 24-25 ปีเท่านั้น เข้าไปทำให้กับแบรนด์อัลเฟรด ดันฮิลล์ ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับผู้ชาย ความท้าทายของงานนี้คือ เธอไม่เคยทำรีเทล หรือจับธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้าผู้ชายเลย การได้เข้าไปทำงานนี้จึงทำให้เธอได้เข้าไปเรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ใหม่ตั้งแต่แรก การเลือกผ้า เรียนรู้การตัดเย็บ การสั่งของ การทำการตลาด จนบริษัท ซีเบอร์ เฮกเนอร์ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเปลี่ยนดีทแฮล์ม เคลเลอร์ ซีเบอร์ เฮกเนอร์

“การทำงานที่ดีเคเอสเอชนี้ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายไม่น้อย  แต่เมื่อเราทำมานานๆ  ผ่านมาหลากหลายรูปแบบ ก็ถึงจุดอิ่มตัวสำหรับการทำรีเทล ประจวบเหมาะกับ Head Hunter ติดต่อเข้ามาเสนองานเกี่ยวกับธุรกิจ Shopping Center ก็เลยเข้ามาสัมภาษณ์ที่นี่ ได้สัมภาษณ์กับทั้งสองผู้ร่วมหุ้นไทยและสวีเดน ก็ตัดสินใจเข้ามาทำที่เมกาบางนา เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. 2557 ตอนนี้ก็ 6 เดือนแล้ว”

สโรชา ลายสุวรรณ ทีมเวิร์กนั้นสำคัญ

สโรชามองว่าเมกาบางนามีความน่าสนใจมาก เพราะศูนย์การค้าในบ้านเรามียักษ์ใหญ่ในธุรกิจด้านนี้อยู่แล้ว ดังนั้นสำหรับศูนย์การค้าใหม่ๆ  ที่จะเข้ามาร่วมแข่งขันในธุรกิจประเภทนี้  จึงไม่ใช่งานง่าย  และที่น่าสนใจไปกว่านั้น เมกาบางนาคือหนึ่งในผู้ค้ารายใหม่ที่สามารถเปิดตัวได้อย่างยิ่งใหญ่ และประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น  เธอจึงมองว่าศูนย์การค้าแห่งนี้ต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน และการเป็นศูนย์การค้าแนวราบเป็นแห่งแรก โดยที่ไม่มีสาขาอื่น ก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นอีก

เธอว่าทำกับกลุ่มบริษัทที่เป็น Market Leader อยู่แล้ว มันอาจจะท้าทายระดับหนึ่ง แต่การที่เป็นน้องใหม่ของธุรกิจประเภทนี้  และสามารถเข้ามาตีตลาดจนกลายเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองของผู้ค้ารายใหญ่ๆ  มันยิ่งท้าทายไปกว่าเดิม  เมื่อต้องเข้ามาอยู่เมกาบางนาเต็มตัว เธอเผยว่าเลือกใช้ประสบการณ์การทำงานด้านรีเทล การเป็นผู้เช่า เป็นลูกค้าศูนย์การค้ามาตลอด ทำให้เข้าใจความต้องการในมุมของการเป็นลูกค้าเป็นอย่างดี

สำหรับระบบการบริหารของที่เมกาบางนา จะเป็นแบบ Flat Organization และถือว่าเป็นองค์กรขนาดกลาง งานที่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเรา  ก็สามารถตัดสินใจได้อย่างเต็มที่ และต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ยอมรับการตัดสินใจของแต่ละฝ่าย เชื่อใจกัน โดยเธอพร้อมเรียนรู้ที่จะทำงานกันเป็นทีม เพราะความที่เป็นทีมขนาดเล็กๆ  เวลาทำงานทุกตำแหน่งสามารถพูดคุยปรึกษากันได้ ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ศูนย์ใหญ่ก็จริงเมื่อเทียบกับพื้นที่แล้ว ทีมมีขนาดเล็กมาก เพราะฉะนั้นเราทำงานต้องช่วยเหลือกัน และทำงานด้วยความรอบคอบ วิธีการบริหารที่ดีที่สุดก็คือ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้องๆ และทุกๆ คนในทีม

ผู้บริหารคนก่อนพูดไว้ว่า ถ้าอยากทำในส่วนที่เก่งที่สุดของอุตสาหกรรมศูนย์การค้าให้มาทำที่นี่ เพราะทุกคนที่ทำงานที่นี่เป็นกลุ่มคนที่เก่งมาก ทำงานแข่งกับเวลาต้องตัดสินใจเร็ว และเป็น Young Generation ซึ่งผู้บริหารที่นี่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีอายุค่อนข้างน้อย แต่มากด้วยประสบการณ์  ถ้าเทียบกับเธอ เธออาจเป็นแค่น้องใหม่ในแวดวงธุรกิจศูนย์การค้าก็เป็นได้

ภายหลังการรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแล้ว นโยบายขององค์กรนี้จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร สโรชาตอบว่า ช่วงที่เธอเข้ามานั้นเป็นช่วงที่เมกาบางนากำลังมองว่าจะโฟกัสกลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มแฟมิลี่มากขึ้น โดยอาศัยจุดแข็งเรื่องพาร์ตเนอร์จำนวนมากที่ทางศูนย์การค้ามีอยู่ ครอบคลุมทุกสไตล์ ทั้งสินค้าด้านการตกแต่งบ้าน และสินค้าอุปโภคบริโภค และมีศูนย์รวมความบันเทิงอย่างเมกา ซีนีเพล็กซ์

สโรชา ลายสุวรรณ ทีมเวิร์กนั้นสำคัญ

สำหรับการที่จะทำให้เมกาบางนาโตได้อีก คือ สินค้ากลุ่มแฟชั่น และกลุ่มร้านค้าอาหาร ซึ่งเราเป็นเจ้าเดียวในพื้นที่แถบนี้ที่มีร้านอาหารทั้ง Indoor และ Outdoor Dining ซึ่งมีร้านค้าต่างๆ มากกว่า 100 ร้านค้า อยากจะให้บริษัทเติบโตในทิศทางที่ทุกคนมองว่าเมกาบางนา เป็น Shopping Destination สำหรับทุกคนในครอบครัว แล้วก็เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนในครอบครัวได้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกัน ในปี 2558 เมกาบางนายังจะเน้นการทำกิจกรรมเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นครอบครัว และเพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้เช่าให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะมองหาผู้เช่ารายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเติมเต็มความแข็งแกร่งของศูนย์การค้าด้วย

เมื่อพูดถึงอัตราการแข่งขันของกลุ่มอุตสาหกรรมการค้าปลีกในช่วงนี้ ถือว่ามีอัตราที่สูงมาก หลังจากที่สถานการณ์ต่างๆ  ในบ้านเราเริ่มเป็นปกติ  ทุกคนก็เริ่มมีการลงทุนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา โดยเฉพาะพื้นที่บางนา เป็นพื้นที่ที่มีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มจะโตขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเป็นพื้นที่ลูกค้ามีกำลังซื้อสูง เป็นย่านอุตสาหกรรม จึงกลายเป็นทำเลที่น่าจับตามองในอนาคต การที่จะมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นในย่านนี้เป็นเรื่องที่ดีที่จะมีส่วนช่วยสร้างให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

การบริหารจัดการทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องส่วนตัวต้องสมดุลกัน สโรชาเชื่อว่า ถ้ามีความสุขกับชีวิตส่วนตัว ก็จะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นวิธีการทำงานของเธอ คือ เวลาอยู่ออฟฟิศเธอจะทำงานเต็มที่ ไม่ใช้เวลาทำงานทำเรื่องส่วนตัว เพราะเธอเชื่อว่าเวลาอยู่ออฟฟิศต้องทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากเลิกงานแล้วให้ใช้เวลาส่วนตัวให้เต็มที่ แบ่งเวลาแล้วก็บริหารจัดการชีวิตตัวเอง ซึ่งทุกคนสามารถจัดระเบียบ วิธีการทำงานของแต่ละคนให้ทำงานได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ก่อนกลับบ้านจะต้องเขียน To Do List เขียนไว้ก่อนว่าพรุ่งนี้จะต้องทำอะไรบ้าง ในแต่ละวันจะต้องตรวจสอบและลำดับขั้นตอนการทำงานจากลิสต์ที่เขียนไว้ว่ามีอะไรที่จะต้องทำต่อหรือมีอะไรที่ตกหล่นไปบ้าง การทำลิสต์นอกจากจะเป็นการเตือนความจำ ป้องกันความผิดพลาดของงานได้ในระดับหนึ่ง ยังสามารถประเมินได้ว่าทำงานมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ในแต่ละวันทำงานครบตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่”