posttoday

ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ สายเลือด ช.การช่าง

29 กันยายน 2557

ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ วัย 34 ปี บุตรชายคนเล็ก ของ ปลิว ตรีวิศวเวทย์ เข้ามาช่วยงานพ่อของเขาใน ช.การช่างมานานประมาณ 4-5 ปีแล้ว

ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ วัย 34 ปี บุตรชายคนเล็ก ของ ปลิว ตรีวิศวเวทย์ เข้ามาช่วยงานพ่อของเขาใน ช.การช่างมานานประมาณ 4-5 ปีแล้ว ตอนนี้รับบทบาทสำคัญเป็น ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ที่เป็นหัวใจขององค์กร ดูเหมือนเขาถูกวางตัวไว้แทนที่บิดา จากการที่พี่ชายของเขา ธนวัฒน์ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ผู้ประกอบการฝายน้ำล้นที่ลาว และพี่สาว สุภามาส เป็นกรรมการผู้จัดการ ซีเค พาวเวอร์ บริษัทลูกของ ช.การช่าง

ถ้าพิจารณาเส้นทางการเติบโตของเขาจะพบว่า ลูกไม้ได้หล่นไม่ไกลต้นเลย เขาเป็นเด็กเรียนเก่งจนเรียกว่าเนิร์ด มาตั้งแต่ยังเด็ก เก่งจนได้รับทุนเรียนต่อวิศวกรรมเช่นเดียวกับ ปลิว หนำซ้ำยังมีประสบการณ์ทำงานในต่างแดนเดียวกับ ปลิว หนำซ้ำยังมีประสบการณ์ทำงานในต่างแดนที่ซับซ้อนด้านอนุพันธุ์ที่จะช่วยเสริมเขี้ยวเล็บด้านการเงินให้บริษัทในอนาคตได้อีกด้วย

 ณัฐวุฒิ ชอบเรียนเลข วิทยาศาสตร์และฟิสิกส์มาตั้งแต่ยังเล็ก เขาจบปริญญาตรี 2 ใบจากมหาวิทยาลัยบราวน์ คือ คณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมไฟฟ้า และศิลปะวาดรูป สีน้ำมัน โดยปริญญาใบหลังเรียนด้วยความชอบในช่วงปิดภาคฤดูร้อน และได้ทุนเรียนปริญญาโท ด้านการจัดการวิศวกรรมที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เกรดเฉลี่ยที่เขาได้ช่วงปริญญาตรีคือ 4 และปริญญาโท

"มัธยมต้นเรียนที่สาธิตเกษตร และไปต่อไฮสกูลที่ Loomis Chaffee รัฐคอนเนกติคัต สหรัฐ ตามพี่ชายเพราะอยากไว้ผมยาวเป็นนักกีฬา ไปอยู่หอพักคนเดียว ช่วงเรียนที่บราวน์ มีความสุขมาก มีอิสระ ช่วงเรียนปริญญาโททุกปิดเทอมภาคฤดูร้อนต้องไปฝึกงาน"

 เมื่อจบปริญญาโทเข้าย้ายไปนิวยอร์กเพื่อหางานทำเพื่อเลี้ยงตัวเอง โดยไปสมัครงานตามบริษัทต่างๆ หาบ้านเช่า พื้นที่เท่ารูหนู

"ผมเลิกขอเงินพ่อแม่ตั้งแต่เรียนปริญญาโท เพราะได้ทุน อยากพิสูจน์ตัวเอง ที่บ้านก็ให้ลอง แต่ถามทุกข์สุขตลอดว่า เงินพอใช้ไหม"

งานแรกที่นิวยอร์กของหนุ่มน้อยช่วงนั้น อายุประมาณ 24-25 ปีคือ เป็นเจ้าหน้าที่ประเมินราคาอนุพันธุ์ ที่อินเตอร์เนชั่นแนล ฟันด์ เซอร์วิส สเตท สตรีท ซึ่งเป็นกองทุนเก็งกำไร ช่วงปี 2549-2552

"ตอนนั้นมีอนุพันธุ์แปลกๆ นอกตลาดเยอะ ประเมินราคายาก ต้องใช้โมเดลเลือกและคิดราคาขึ้นมา ช่วงนั้นเมืองไทยยังไม่มี ทำอยู่ 4 ปีย้ายไปอยู่ธนาคารขนาดใหญ่บาเคลย์ แคปิตอล ปี2552-2554 เป็นนักประเมินราคาสัญญาเครดิตอนุพันธุ์ หรือซีดีเอส ทำให้เทรดเดอร์ จากเดิมที่แรกประเมินราคาให้กองทุนเก็งกำไร ช่วงนั้นเลห์แมน บราเธอร์ส ถูกบาเคลย์ซื้อกิจการ ช่วงคาบเกี่ยววิกฤต ซับไพร์ม ผมคิดราคาซีดีเอส ช่วงซับไพร์มเกิดผมทำงาน ที่แรก พ่อดีใจลูกคงถูกไล่ออก ที่ไหนได้ ซีดีเอสฮิต ได้ งานใหม่ เหมือนได้โปรโมชั่น"

จุดพลิกผันที่ทำให้ชายหนุ่มคนนี้คิดกลับมาทำงานใน ช.การช่าง ทั้งที่จากบ้านไปเรียนที่เมืองนอกตั้งแต่อายุ 15 ปี ตอนนั้นไม่สนใจธุรกิจที่บ้านมากนัก ตอนไป ช.การช่างยังไม่มีอะไร กำลังเริ่มทำบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จนกระทั่งช่วงทำงานที่บาเคลย์ ช่วงนั้นอายุ 30 ปีแล้ว และกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยได้นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินที่เป็นผลงานของบริษัท เรียกว่าเปลี่ยนประเทศไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้วิถีชีวิตคนเปลี่ยนจากรถเมล์เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน

ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศทำแล้วเห็นผลกระทบ เรียกได้ว่าเป็นการเติมเต็มได้มากกว่า ผมอยู่ นิวยอร์กนั่นรถไฟฟ้าใต้ดินตลอด ช.การช่างตั้งมา 42 ปีทำขนส่งมวลชนครบวงจร เป็นสิ่งดีสำหรับประเทศ"

ดังนั้นจึงตัดสินใจกลับมาช่วยงานครอบครัว เริ่มแรกเข้าไปช่วยงานบริษัท ช.การช่าง ดูหน้างานก่อสร้างสายสีม่วง บริเวณตรงกันข้ามรัตนาธิเบศร์เส้นทางบางซื่อ-เตาปูนพระนั่งเกล้า หน้าดำคร่ำเครียด ดูงานผูกเหล็ก คสร. หรือคอนกรีตเสริมเหล็ก ดูการบ่มปูน เทปูน

ถ้าจะเรียนรู้การบริหารงานในอนาคตต้องรู้ว่าเทปูกี่คิวบิกมิเตอร์ เรียนรู้สายสีม่วง 1 ปี จากนั้นไปดูสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ ตั้งแต่ติดต่อประสานงานภาครัฐ ย้ายสาธารณูปโภค ดูกระบวนการเวนคืนที่ดิน ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เป็นเวลา 2 ปีเป็นเวลา 2 ปี

จากนั้นมาเป็น ผู้จัดการฝ่ายวางแผนและกลยุทธ์ในปี 2554-2555 ก่อนที่จะเป็นผู้จัดการสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ได้มีโอกาสติดต่อประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นักลงทุน ดูแลด้านการเงิน ธุรกิจเพื่อสังคมและงานประชาสัมพันธ์ของสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลภาพลักษณ์ขององค์กร จนถึงปัจจุบัน

งานไทยแลนด์โฟกัสล่าสุด ที่ ตลท.เพิ่งจัด นำบริษัทจดทะเบียนมาให้ข้อมูลนักลงทุนต่างชาติ เขาได้รับบทบาทสำคัญไปนำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุนเหล่านั้นด้วย

"ผมจะทำงานคู่คุณวรพจน์ อุชุไพบูลย์วงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน ของบริษัท ตลอดจนเกือบสามปีแล้ว หลังจากกลับมาจากเมืองนอกปี 2554 สามปีที่อยู่เรียนรู้อะไรมากมาย เปลี่ยนการทำงานจากการจบปริญญาโทด้านการเงินมาเรียนรู้งานก่อสร้าง สาธารณูปโภคพื้นฐานที่เป็นสิ่งสำคัญ อยากช่วยครอบครัวสานต่อ ผมถือว่าเป็นรุ่นที่สอง จากรุ่นคุณพ่อที่สร้างตัวมาจากเด็กบ้านนอกที่เรียนเก่ง รุ่นผมมาเพื่อเปลี่ยนแปลง บริษัทเติบโตมาพร้อมกับคุณพ่อทำจนสำเร็จ "

เขาเล่าว่าบิดาอายุประมาณ 70 ปีแล้วแต่ยังกระฉับกระเฉงเข้ามาทำงานที่สำนักงานทุกวัน วันเสาร์อาทิตย์ยังตีกอล์ฟ ช่วงเย็นเดินบนสายพาน

"ท่านมีความสุขที่ได้ทำงาน คงทำจนกว่าจะทำไม่ไหวจริงๆ บริษัทเรามีทั้งทายาทและมืออาชีพ ผมเคารพผู้ใหญ่ พี่สาวผมสอนผมเยอะเพราะเขาเข้ามาทำงานในบริษัทแม่ ก่อนไปอยู่ซีเค พาวเวอร์ เขาสอนผมว่า ให้กตัญญูรู้คุณ ให้เกียรติ ถ้าความคิดเห็นไม่ตรงกัน ให้สื่อสาร ให้เกียรติ สุดท้ายถ้าเป็นแนวคิดที่ดี ต้องมีการนำไปปฏิบัติอยู่แล้ว"

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า การที่มีทายาทกลับมาสานงานต่อครอบครัวเป็นเรื่องลบ แต่แท้ที่จริงถ้ามองอีกมุม ทายาทจะมองระยะยาวมากกว่ามืออาชีพจะมองระยะยาวมากกว่ามืออาชีพ

"พวกเราอยากให้บริษัทอยู่นานจนตาย แต่มืออาชีพอาจมองแค่อายุทำงานของตัวเอง แต่องค์กรที่ดีต้องผสมผสานทั้งทายาทและมืออาชีพร่วมกันทำงานจึงจะเป็นผลดีต่อธุรกิจ"

เวลาว่าง เขาชอบยกเวท วิ่งคาดิโอ ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง ครั้งละชั่วโมงครึ่งที่ฟิตเนส เฟิร์ส พระรามเก้า ใกล้ที่ทำงาน รับประทานไข่วันละ 16 ฟอง เช้า 8 ฟอง เย็น 8 ฟอง ทานเฉพาะไข่ขาว อาหารไทยมีแต่แป้ง โปรตีนน้อย หรือบางครั้งก็ทานเกาเหลาใส่ไข่แทนเส้น (เฉพาะไข่ขาว) ทานผลไม้ และออกกำลังกาย ออกกำลังกายตั้งแต่อยู่นิวยอร์ก หรือบางทีก็เป็นอกไก่ย่าง พามาทานที่ทำงาน

"บางครั้งคิดว่าจะออกมาอยู่คนเดียว แต่คงลำบากเรื่องอาหารการกิน ตอนนี้พี่สาวและพี่ชายแยกบ้านจากครอบครัวไปแล้ว แต่พี่ชายบ้านยังอยู่ใกล้กัน มารับประทานอาหารด้วยกันเป็นประจำ ที่ทำงานผมก็ใกล้บ้านขับรถมาไม่ถึง 5 นาที"

เขาบอกว่าที่ครอบครัวนี้มีรุ่นที่สองสืบทอดกิจการได้ เป็นเพราะคำสอนของพ่อแม่ที่ไม่ตามใจลูกมาตั้งแต่เล็ก

"ท่านสอนให้เห็นคุณค่าของเงิน ถ้าอยากได้อะไรต้องมี สิ่งแลกเปลี่ยน ต้องสอบให้ได้เกรด 4 ยอมทำฟันโดยไม่ร้องไห้จึงจะได้ของเล่นที่ต้องการ พ่อแม่ไม่สปอยลูกเลย ผมเรียนสาธิตเกษตรยังต้องนั่งรถเมล์ไปเรียน พี่สาวยังต้องนั่งรถเมล์ไปเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

นั่นคือตัวตนของทายาท ช.การช่าง ผู้ที่จะสืบทอดกิจการของบิดา ในอนาคต