posttoday

ดร.ต่อยศดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ สองนักการศึกษาเลือดใหม่ที่น่าจับตามอง

15 กันยายน 2557

นอกจากวิญญาณความเป็นครูที่ถ่ายทอดทางสายเลือดแล้ว สิ่งที่หล่อหลอมให้ ดร.ต่อยศดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ ทายาทของอาจารย์อารย์ ปาลเดชพงศ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า

โดย...กองทรัพย์ ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

นอกจากวิญญาณความเป็นครูที่ถ่ายทอดทางสายเลือดแล้ว สิ่งที่หล่อหลอมให้ ดร.ต่อยศดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ ทายาทของอาจารย์อารย์ ปาลเดชพงศ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า กลายเป็นผู้บริหารและนักการศึกษารุ่นใหม่ที่มีแนวคิดน่าจับตามอง คือการได้คลุกคลีในบรรยากาศของการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่วัยเด็ก เช่น ต้องคอยรับโทรศัพท์ให้กับคุณพ่อคุณแม่เมื่อแรกก่อตั้งโรงเรียนแห่งแรกย่านเพชรเกษม จากโรงเรียนภายในครอบครัวดูแลนักเรียนตั้งแต่ 17 คนในปีแรก เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 36 ของอนุบาลเด่นหล้ามีนักเรียนในความดูแลมากกว่า 3,000 คน แนวคิดและสิ่งที่ดอกเตอร์หนุ่มทั้งสองได้รับไม้ต่อมา พวกเขาจะต่อยอดต่อไปอย่างไร...เรามีคำตอบ

ครอบครัวนักวิชาการ

เส้นทางในสายวิชาการของ ดร.ต่อยศ (อ๊อค) และ ดร.เต็มยศ (โอม) มีความคล้ายคลึงจนเกือบจะเหมือนกัน คือ จบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ดร.ต่อยศ ผู้พี่เรียนปริญญาตรีในประเทศก่อนจะเดินทางไปศึกษาระดับปริญญาโทและเอกในต่างประเทศ ขณะที่ ดร.เต็มยศ น้องชาย เริ่มชีวิตมัธยมปลายถึงปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วสิ่งที่ทั้งสองเลือกทำก็คือ การเข้ามาบริหารโรงเรียนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน โดยสาขาพระราม 5 เป็นหน้าทีของ ดร.เต็มยศ ขณะที่สาขาเพชรเกษมอยู่ในความดูแลของ ดร.ต่อยศ

“หลังจากเป็นอาจารย์สอนที่อเมริกาสักพัก ผมก็กลับเมืองไทย ตอนนั้นมีทางเลือกอยู่สองทาง คือ ทำงานดูแลโรงเรียนของที่บ้านและอีกทางหนึ่งคือทำในสิ่งที่ตัวเองเรียนมา สุดท้ายก็ตัดสินใจทำทั้งสองอย่าง คือ ช่วยคุณพ่อดูแลโรงเรียนและไปเป็นอาจารย์พิเศษ สอนที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งหลังจาก ดร.โอม เรียนจบกลับมาก็เริ่มต้นสอนหนังสือและดูแลโรงเรียนไปด้วยเหมือนกัน ขณะนั้นอนุบาลเด่นหล้าขยายสาขามาที่ถนนพระราม 5 ได้ครบ 1 ปีพอดี” ดร.ต่อยศ เล่าเส้นทาง

สาเหตุที่ทำให้ทั้งสองมีภูมิหลังคล้ายกัน ดร.อ๊อค อธิบายว่า เนื่องจากบ้านและโรงเรียนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน การเป็นครูจึงถูกปลูกฝังไว้โดยอัตโนมัติเกือบจะทั้งยามหลับและยามตื่น กลายเป็นความผูกพันชนิดที่เรียกว่ากินนอนที่โรงเรียนทีเดียว

“ผมสองคนเคยคุยกันหลายครั้งว่าคิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะไปทำอาชีพอื่นได้อย่างไรนอกจากการเป็นครู เพราะเกิดมารู้จักอยู่อาชีพเดียว คุณพ่อเป็นคนก่อตั้งโรงเรียน คุณแม่ไม่ได้เรียนจบด้านการศึกษา แต่สนใจการศึกษามาก เนื่องจากท่านรักเรียนและอยากให้ลูกได้เรียนเยอะๆ ได้เรียนดีๆ ครอบครัวของเราเป็นนักการศึกษา ขนาดน้องสาวผมเป็นแพทย์ ก็ยังเป็นอาจารย์หมออยูที่โรงพยาบาลศิริราช ครอบครัวของเราผูกพันกับการศึกษาและวิชาการ”

ดร.ต่อยศดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ สองนักการศึกษาเลือดใหม่ที่น่าจับตามอง

 

รับไม้ต่อ ทำหน้าที่อัพเกรดอัพเดท

จุดเด่นของการเป็นครอบครัวนักการศึกษาคือ แนวคิด ปรัชญา และวิถีการทำงาน ถูกถ่ายทอดเป็นกระบวนการอย่างยาวนาน เพราะฉะนั้นความคิดของผู้บริหารรุ่นใหม่และรุ่นเก่าเชื่อมโยงต่อติดไปในแนวทางเดียวกัน การทำงานในฐานะผู้บริหารมือใหม่จึงแทบไม่มีอุปสรรค แต่สิ่งที่ผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาคือการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีให้ทันสมัย ให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของครอบครัวมากขึ้น

“วิธีการส่งไม้ของรุ่นคุณพ่อกับรุ่นผมค่อนข้างเป็นระบบมาก คือ ช่วงแรกท่านจะทำงานร่วมกันกับเรา เป็นพี่เลี้ยงประกบ ปีที่ 2 ก็มาบ้าง ปีต่อมาผมก็บริหารเต็มตัว พอ ดร.โอม กลับมา ผมก็ทำระบบเดียวกันกับที่คุณพ่อทำ คือแรกๆ ก็เป็นพี่เลี้ยง ปีต่อมาก็ให้เขาบินเดี่ยว เราสองคนบริหารอย่างอิสระในคนละสาขา แต่ด้วยชื่อโรงเรียนเดียวกัน คุณภาพก็ต้องเหมือนกันทั้งระบบการเรียนการสอน และนโยบายก็ต้องสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดูแลหลักสูตรสร้างให้เกิดความหลากหลายตอบโจทย์ของผู้ปกครองที่มีความต้องการเปลี่ยนไปจากในอดีต ขณะเดียวกันเด็กก็ต้องมีความสุข” ดร.ต่อยศ ให้ภาพการทำงานร่วมกับคุณพ่อ

ขณะที่ ดร.เต็มยศ บอกว่า นอกจากการแข่งขันและความต้องการของผู้ปกครองที่เปลี่ยนไป การนำองค์ความรู้ของบุคลากรมาจัดรวมไว้อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างมาตรฐานด้านการเรียนการสอนก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยนำระบบการบริหารคุณภาพ (Total Quality Management หรือ TQM) มาใช้

“เรามีครูเก่งๆ มากมาย แต่บางท่านก็ไม่สามารถอธิบายเทคนิคการสอนกับครูใหม่ๆ ได้ เราจึงพยายามวางแผนปรับปรุงและพัฒนาบุคลากรให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้ปกครองได้มากขึ้น เราก็ต้องอัพเดทและอัพเกรดความสามารถของคุณครู ทำทุกอย่างให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน”

ส่วน ดร.ต่อยศ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นหลักสูตรว่า “เราเน้นพัฒนาปัจเจกบุคคล กล่าวคือ ให้เด็กแต่ละคนที่มีความชอบและความถนัดไม่เหมือนกันได้เรียนและทำในสิ่งที่เขาสนใจตั้งแต่วัยนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพ ดังนั้นเราจึงมีห้องเรียนพิเศษโดยนำคุณครูที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมาสอนเพิ่มเติม สร้างความหลากหลายให้หลักสูตร คือเด็กๆ อยากเรียนอะไรเรามีทั้งหมด ดนตรี อาหาร กีฬา ภาษา และศิลปะทุกชนิด ผมเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์ก็มีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว ขณะเดียวกันก็เล่นกีฬาเก่งหรือมีความสามารถและงานอดิเรกอื่นๆ ด้วย เราอยากสร้างเด็กให้เป็นแบบนั้น ไม่มุ่งให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านเดียว แต่ทำอย่างอื่นไม่ได้

“เราอยากได้ความรอบด้าน ขณะเดียวกันวิชาดั้งเดิมตามหลักสูตรที่กำหนดก็ต้องไม่ทิ้ง ทุกวันนี้นักเรียนเราเรียนแค่ 30% อีก 70% จะเป็นกิจกรรม สิ่งที่เราสอนเด็กวันนี้อยู่เป็นความรู้พื้นฐานที่เขาจะต้องนำไปใช้ตลอดชีวิตของเขาคือทักษะชีวิต สิ่งสำคัญคือการเตรียมให้เขารู้รอบ มีความพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆ ถ้าหลักสูตรเป็นโปรดักส์ อนุบาลเด่นหล้าเรามีมากกว่า 30 โปรดักส์ในตอนนี้”

เมื่อถามถึงเป้าหมายในเส้นทางการศึกษา สองดอกเตอร์หนุ่มบอกว่า ไม่ได้มองเป้าหมายของเชิงตัวตน แต่มองเป้าหมายขององค์กร คือ อยากเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพเหมาะสมกับเด็กไทย ให้เป็นเด็กดี เก่ง และมีความสุข หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็ถือว่าทำหน้าที่ครูไม่สมบูรณ์

ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์ (เสื้อสีขาว)

ชื่อเล่น อ๊อค

อายุ 39 ปี

การศึกษา

ปริญญาตรี คณะวิศวกรรม สาขาวิศวเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปริญญาโทและปริญญาเอก หลักสูตรการจัดการเทคโนโลยี (Technology Management)

มหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์สเตต (Portland State University)

ความสนใจ อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ทำสมาธิ

ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ (เสื้อฟ้า)

ชื่อเล่น โอม

อายุ 33 ปี

การศึกษา

ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเวสเลียน (Wesleyan University) สหรัฐอเมริกา

ดับเบิ้ลเมเจอร์ สาขาเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์

ปริญญาเอก ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต (Michigan State University) สหรัฐอเมริกา สาขาบริหารจัดการกระบวนการ (Operation Management)

ความสนใจ เขียนหนังสือ เศรษฐศาสตร์ฉบับการ์ตูน (Cartoonomics) ให้ความรู้เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น และเล่นกีฬา