posttoday

เข็ม ‘ธีราภา พร้อมพันธุ์’ ชนะไหม...ไม่สำคัญเท่า...เราได้สู้!

01 กุมภาพันธ์ 2557

ย่างแล้ว ย่ำเล่า ฝ่าเท้าของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เดินกรำไปบนพื้นถนนทั่วกรุง

โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

ย่างแล้ว ย่ำเล่า ฝ่าเท้าของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เดินกรำไปบนพื้นถนนทั่วกรุง ยังคงมุ่งหมายเชิญชวนคนเมืองหลวงให้ลุกออกมาร่วมขบวนการต่อสู้ของมวลมหาประชาชน

แทบทุกครั้งที่สุเทพเริ่มออกเดินเท้า มักปรากฏภาพหญิงสาวแบกเป้ สะพายกล้องคอยเดินตามพลางวิ่งขนาบข้าง บ้างเอี้ยวซ้าย หลบขวา โผล่หน้า ผลุบหลัง มือเป็นระวิงรัวชัตเตอร์ไม่ยั้ง เพื่อบันทึกช่วง “จังหวะชีวิต” ประวัติศาสตร์ของชายที่เธอเรียกว่า “คุณลุง” ตั้งแต่เธออายุได้เพียง 5 ขวบ

“เข็ม” ธีราภา พร้อมพันธุ์ สายเลือดคนสุดท้องของ “พรเทพ เตชะไพบูลย์” และ “ศรีสกุล พร้อมพันธุ์” ภรรยาคนปัจจุบันของสุเทพ เธอคือหญิงสาวผู้นั้น ที่คล้องสายสะพายกล้องติดตามพ่อเลี้ยงสุดรัก “ลุงกำนัน” ตั้งแต่ม็อบเริ่มผลิหน่อต่อต้านรัฐบาลที่สถานีรถไฟสามเสน

“เข็มว่าทุกคนใครก็ชอบถ่ายรูปกันหมด อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะให้ความสำคัญกับมันขนาดไหน เข็มเป็นคนที่เวลาชอบอะไรจะชอบอ่านหนังสือแล้วจดโน้ตของตัวเองไว้ พออ่านเรื่องถ่ายภาพก็ชอบ เพราะภาพสวย อ่านสนุก เราก็เลยชอบจดรายละเอียด อย่างการเปิดรูรับแสง สปีดชัตเตอร์ต้องเท่าไร เราจะชอบดูความสัมพันธ์ของพวกนี้ บางคนอาจถ่ายเพราะเป็นหน้าที่ แต่เข็มเริ่มถ่ายเพราะเราสนุกกับมัน” ช่างภาพสาวเริ่มสนทนาด้วยแววตาที่รู้สึกได้ว่าเธอหลงใหลในโลกหลังเลนส์ไม่น้อย

เข็ม ‘ธีราภา พร้อมพันธุ์’ ชนะไหม...ไม่สำคัญเท่า...เราได้สู้!

 

“แล้วมันพอดีกับการออกมาต่อสู้ครั้งนี้ ที่เข็มรู้สึกว่ามีอะไรที่เราสามารถช่วยได้ เราก็อยากช่วย ก่อนหน้านี้เข็มจะชอบถ่ายภาพใช้กล้องดิจิตอลธรรมดา หรือแบบไม่ฟูลเฟรม แต่ตอนนี้ใช้กล้องฟูลเฟรมเป็นประจำเลย ทุกวันนี้กลายเป็นช่างภาพไปแล้ว (หัวเราะ) แต่เข็มรู้สึกดี เพราะลุง (สุเทพ) เองก็อยากมีภาพเป็นประวัติศาสตร์เก็บไว้ เข็มก็เอาภาพไปลงเฟซบุ๊กของลุงด้วย บางภาพที่เข็มเก็บอย่างภาพธงชาติที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คนก็เอาไปแชร์เยอะมาก พอกระจายภาพออกไปมันยิ่งทำให้คนอื่นเห็นการต่อสู้ที่สวยงามของเรา เข็มก็รู้สึกดีใจ”

ไม่ใช่แค่กระจายภาพออกไปในโซเชียลมีเดีย แต่ในช่วงวิกฤตคับขันเมื่อครั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษอายัดเงินบัญชีแกนนำ “ลูกสาวกำนัน” คนนี้ผุดไอเดียย้ายไฟล์ภาพสู่ผืนกระดาษแปลงร่าง 12 ภาพ ที่เธอประทับใจกลายเป็นปฏิทินปี 2557 ออกจำหน่ายหารายได้สมทบทุนครัวราชดำเนิน จนยอดซื้อสูงทะลุหลัก 9 ล้านบาท!!!

“ลุงเป็นคนที่ทำอะไรแบบสุดๆ ทุกอย่างลุงจะวาดภาพไว้แล้วว่า จะตั้งเวทีขนาดใหญ่อย่างนั้น การ์ดต้องมีจำนวนเท่านี้ เรารู้ว่าทุกวันต้องใช้เงินเยอะมาก ไม่มีทางเหลือ แล้วยิ่งมาถูกอายัดเงินอีก ช่วงนั้นเข้าสู่วันที่ 31 ธ.ค.พอดี เข็มจึงตัดสินใจนำภาพที่เข็มถ่ายมาทำปฏิทิน เล่มละ 200 บาท ลุงก็ขึ้นประกาศบอกว่าลูกสาวทำปฏิทินมาช่วย ใครอยากซื้อก็มาซื้อได้ ปรากฏว่าขายที่ราชดำเนินได้เป็นหมื่นเล่ม ถึงวันนี้ขายไปแล้ว 4 หมื่นกว่าเล่ม รายได้ก็ทำบัญชีเข้าครัวราชดำเนินหมด

...ทุกครั้งที่ได้ช่วย เรารู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ถามว่าเหนื่อยไหม ไม่เหนื่อยเลยนะ อาจจะเหนื่อยกายบ้าง เดินทั้งวัน ปวดเท้า ปวดขา แต่พอตื่นขึ้นมามันก็หาย ไม่เหนื่อยแล้ว สำหรับเข็มเหมือนแรงยังมีอีกเยอะ โดยเฉพาะเรื่องถ่ายภาพ เพราะในทุกๆ วัน เข็มมองว่าตลอด 24 ชั่วโมง มันสามารถเก็บภาพเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์ได้ทั้งหมด ยิ่งเราเริ่มเก็บไปเรื่อยๆ เราจะชอบวาดภาพไว้แล้วว่า มุมนี้มันต้องสวยแน่ๆ และบางครั้งเราจะชอบรู้สึกว่า ถ้าเราไม่วิ่งไปเก็บภาพ ณ จุดนั้น ณ เวลานั้น เข็มจะรู้สึกว่ามันเสียดายทุกครั้ง เข็มจึงเป็นคนที่ถ่ายภาพแล้วถ้าเก็บไว้เยอะที่สุดได้จะเก็บไว้ก่อน ไม่อยากให้มารู้สึกทีหลังตอนกลับไปว่า วันนั้นเราน่าจะเดินไปตรงนั้น ที่เวลานั้น เพื่อเก็บภาพนั้น เข็มจึงทำให้ดีที่สุด เพราะไม่อยากรู้สึกเสียดายภายหลัง”

ภาพหญิงสาวถือกล้องมาดคล่องแคล่ว ปราดเปรียวไปมาท่ามกลางฝูงชน อาจทำให้คนเห็นภาพเธอในมิติมุมเดียว แต่หากส่องกระจกหลังมองย้อนเส้นทางที่ “ธีราภา” เดินผ่านมา จะพบว่าชีวิตเธอผ่านโค้งทดสอบมาไม่น้อย

หลังจบประถมศึกษาจากมาแตร์เดอีวิทยาลัย ด.ญ.เข็ม ในวัย 13 ปี เหินฟ้าเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ด้วยความคิดและความตั้งใจที่ว่าอยากพูดภาษาอังกฤษเก่งเหมือนอย่างพี่ๆ (โขงสิทธิพัฒน์ เตชะไพบูลย์ ขิงเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) เธอใช้ชีวิตเด็กนักเรียนประจำที่ “เบเนนเดนสกูล” ทุ่มเทการเรียนด้านเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ พ่วงด้วยศิลปะ ก่อนตัดสินใจเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมเคมี จนคว้าใบปริญญาสาขา Chemical Engineering จากอิมพีเรียล คอลเลจ ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นบินกลับมาสมัครเข้าทำงานในตำแหน่ง “วิศวกรเคมี” ที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม

“ตอนเข็มไปเรียนเมืองนอก คุณลุง คุณแม่จะไปรับไปส่งเข็มที่แอร์พอร์ตตลอด แต่จะไม่บินไปเยี่ยมบ่อย เราก็อยู่โรงเรียนประจำ ซักผ้าเอง ทำอะไรของเราเองหมด ครอบครัวเข็มจะไปส่งถึงอังกฤษเฉพาะตอนเข้าโรงเรียนครั้งแรก ตอนเปลี่ยนโรงเรียน แล้วก็ตอนรับปริญญาเลย ไม่เหมือนเด็กคนอื่น ที่บางครั้งหยุดเสาร์อาทิตย์ พ่อแม่จะมาหา แต่พ่อแม่เข็มจะไม่เป็นแบบนั้น คุณแม่อาจบินมาหาบ้าง แต่น้อยครั้งมาก

ส่วนบรรยากาศที่บ้านเข็ม ทั้งลุง แม่ พี่ชาย ก็เล่นการเมือง เหมือนบ้านเรากลายเป็นโรงเรียนการเมืองเล็กๆ คนข้างนอกมองเข้ามาอาจจะดูซีเรียส แต่เวลาบ้านเข็มคุยกันไม่เคยเครียดนะ อย่างลุงนี่ไม่เครียดเลย บางคนอาจเครียดเพราะมีความหวัง อยากได้อะไร แล้วไม่ได้เลยผิดหวัง แต่ลุงเป็นคนที่ทำทุกวันให้ดีที่สุด แล้วก็ปล่อยวาง เข้าบ้านแล้วก็คือบ้าน กินข้าวนอน ตื่นขึ้นมาแล้วก็แก้ปัญหาใหม่ แล้วจะเป็นคนคอยสอนให้เข็มรู้จักอดทนเสมอ

ด้วยบ้านเข็มเองผูกพันการเมืองมาตลอด การออกมาต่อสู้ครั้งนี้ เข็มเชื่อว่าที่บ้านไม่มีใครเหนื่อยอยู่แล้ว ลุงก็ไม่เหนื่อย ทุกคนยังมีแรงสู้กันหมด เราก็มีให้กำลังใจกันบ้าง เเต่สำหรับบ้านเข็มอาจไม่ถนัดในการใช้คำพูด แต่ทุกคนในบ้านจะมีวิธีการในแนวทางซัพพอร์ตสิ่งที่ลุงทำ โดยเราจะไม่สร้างปัญหาเรียกร้องอะไรที่มันเป็นส่วนตัว เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันเพื่อส่วนรวม

บางครั้งที่ลุงเหนื่อย เข็มก็กอดลุงบ้าง นวดให้บ้าง เอาเครื่องมาช่วยวัดความดันให้ เป็นห่วง คอยดูแลให้เขาหายเหนื่อย เหมือนกับเป็นการให้กำลังใจอย่างหนึ่ง แล้วก็พยายามเดาใจว่าลุงอยากได้อะไร ถ้าเจ็บคอ ก็หายาอมมาให้ ส่วนคุณแม่เป็นนักการเมืองอยู่แล้ว เขาก็เข้าใจ แม่จะฟังลุงพูดทุกเย็น ดูข่าวทุกวัน ทุกช่อง เช็กฟีดแบ็กตลอดวัน จะนั่งดูแบบมีสมาธิแล้ววิเคราะห์ภาพรวมว่าวันนี้พูด ดี ไม่ดี มีจุดบกพร่องอย่างไร แล้วก็คอยบอกตลอด”

รายล้อมด้วยสมาชิกครอบครัว สส.คลุกคลีกับบรรยากาศการเมืองมาตลอด แต่เมื่อได้มาสัมผัสตรงกับปรากฏการณ์ลุกฮือของมวลมหาประชาชนครั้งประวัติศาสตร์ “ธีราภา” บอกว่า เป็นภาพสำคัญที่ไม่มีวันลืมลง ที่สำคัญ คือ เธออดประทับใจไม่ได้ที่คุณลุงกลายเป็น “ตัวแทนอุดมการณ์” ของประชาชนจำนวนมหาศาลในการต่อสู้ครั้งนี้

“เข็มว่าทุกคนเป็นพลังบริสุทธิ์ที่ออกมาด้วยความจริงใจและรักประเทศจริงๆ ไม่มีใครที่ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ความกลัวมันถึงไม่สามารถหยุดคนที่ออกมาได้ ที่เข็มเดินแล้วประทับใจที่สุด คือ ตอนที่เดินจากกระทรวงการคลังมายังศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เป็นรุ่งขึ้นหลังจากที่เขาบอกว่าจะออกมาจับ โดยที่ตอนนั้นเราบอกล่วงหน้าก่อนแค่ประมาณ 20 นาที ตอนแรกคนไม่เยอะ แค่หลักร้อยหลักพัน แต่ยิ่งเดินยิ่งเยอะมาก น่าจะประมาณ 19 กม. ยิ่งพอใกล้ถึงถนนแจ้งวัฒนะ คือ คนออกมาเยอะมากแล้วตะโกนว่า ลุงกำนันสู้ๆ ประเทศไทยต้องชนะ เข็มได้ยินแล้วรู้สึกแบบน้ำตาไหลเลยนะ

...ที่ผ่านมาเข็มเข้าใจลุงหมดทุกอย่าง เข้าใจว่าที่ลุงทำเพื่ออะไร เขาเป็นคนแบบไหน ดังนั้น วันที่ประชาชนออกมาตะโกน สุเทพสู้ๆ ประเทศไทยต้องชนะ เหมือนประชาชนเขาเข้าใจการต่อสู้จริงๆ ว่าเราทำอะไรอยู่ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อลุง แต่ต่อสู้เพื่อให้ประเทศชนะ คนซึ่งเป็นล้านที่ออกมา เข็มรู้ว่าเขาให้กำลังใจลุง เพราะลุงเป็นตัวแทนอุดมการณ์ของเขา ทำให้เราภูมิใจว่า คนเข้าใจว่าอุดมการณ์ของลุงคืออะไร และลุงสามารถทำให้คนเชื่อมั่นและยอมรับว่าคนคนนี้จะสามารถนำพวกเขาไปสู่ชัยชนะได้”

คาดหวังอย่างไรกับแพ้ชนะ? เข็ม บอกว่า “ตอนนี้ทุกคนเหมือนลงเรือลำเดียวกันหมด ถ้าไม่ชนะก็อาจผิดหวังเหมือนกัน อย่างมีพี่คนหนึ่งเขาก็ถามเข็มว่า ถ้าไม่ชนะจะเป็นไง ถ้าถามความรู้สึกเข็มต่อลุงที่เหมือนพ่อเข็ม ที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ 5 ขวบ เลี้ยงเข็มมา เป็นคนในครอบครัวที่เรารัก เข็มรู้เลยว่า สุดท้ายถึงไม่ชนะ แต่วันนี้มันก็ยังดีกว่าที่ลุงได้ตัดสินใจสู้แล้ว

...ถ้าวันหนึ่งลุงต้องเดินเข้าคุก เข็มรู้เลยว่าลุงจะเดินเข้าคุกแบบไม่ทุกข์ ไม่ใช่ว่าประมาทหรืออยากเข้าไป แต่เข็มรู้ว่าลุงเขาไม่กลัวอยู่แล้ว การที่คนเราทุกข์ก็เพราะเห็นคนที่เรารักเป็นทุกข์ ดังนั้น ถ้าลุงไม่ทุกข์ เราก็อาจจะไม่ทุกข์ไปด้วย

...แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกิดว่าวันนี้ลุงเขาไม่สู้ เข็มรู้เลยว่า การที่เวลาผ่านไปแล้วเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เราต้องการ เราจะเสียดายมันมาก มันเหมือนกับบางสิ่งบางอย่างที่มันเสียไปแล้ว ไม่มีทางกลับคืนมาได้ ถ้าลุงไม่ได้ตัดสินใจสู้ เข็มรู้ว่าวันข้างหน้านั้นลุงจะต้องทุกข์มากกว่าวันนี้ แล้วถ้าวันหน้าลุงทุกข์เข็มก็คงทุกข์ไปด้วย”

ธีราภา อธิบายถึงต้นทุน “ความน่าเสียดาย” หากปล่อยให้สิ่งที่อยากทำหลุดมือไป และนั่นอาจเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้เธอยังคงเดินหน้ากดชัตเตอร์ต่อไป เพื่อรอช็อตประทับใจในวันที่เป้าหมายของเธอและมวลมหาประชาชนบรรลุผล