posttoday

อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร ชีวิตเปิดรับทุกโอกาส

26 พฤศจิกายน 2556

หากการเดินทางบนเส้นทางชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง เปรียบดั่งการเดินทางที่ไร้ซึ่งแผนที่นำทาง แต่เป็นการเปิดรับทุกโอกาส

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล

หากการเดินทางบนเส้นทางชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง เปรียบดั่งการเดินทางที่ไร้ซึ่งแผนที่นำทาง แต่เป็นการเปิดรับทุกโอกาส เปิดรับเพื่อได้ลงมือทำ ชอบหรือไม่ก็มาว่ากันอีกที นี่คงเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของชีวิตผู้ชายผมยาวมากความสามารถอย่าง “เล็ก-อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร” ชายหนุ่มผู้เกิดจากครอบครัวชาวจีนที่ทำธุรกิจตัดเย็บหมวกกีฬา สนใจและฝึกหัดดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เรียนศิลปะ เรียนถ่ายรูป เป็นช่างภาพภาพยนตร์ ช่างภาพนิตยสาร ช่างภาพแฟชั่น ช่างภาพสารคดี นักแสดง รวมทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง และนักดนตรีในนาม “กรีซซี่ คาเฟ่” ที่มีผลงานเพลงมาแล้วถึงสามอัลบั้ม ในสังกัด สมอลล์รูม

“ตอนเด็กๆ ผมเรียนโรงเรียนจีน เพราะพ่อแม่เป็นคนจีน จนมาเรียนศิลปประยุกต์ที่ไทยวิจิตร ซึ่งตอนนั้นพ่อไม่สนับสนุนเลย แต่ด้วยความรั้นนิดๆ แถมพี่ชายคนโตตามใจพ่อด้วยการเรียนหมอไปแล้ว ผมเลยได้เรียนตามที่ผมอยากเรียน”

หลังจากเรียนจบ อภิชัยได้เข้ามาทำงานฝ่ายจัดหาอุปกรณ์ประกอบฉากในโปรดักชั่นเฮาส์แห่งหนึ่ง ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้ ทำให้อภิชัยได้รู้จักกับผู้กำกับมือดีอย่าง “อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” ผู้ซึ่งได้กลายเป็นบุคคลที่มีบทบาทต่อชีวิตของเขาในเวลาต่อมา “ที่รู้จักกับพี่อุ๋ยได้ เพราะผมต้องไปยืมของมาประกอบฉากที่บ้านของเขา ก็เจอเขาแบบแวบๆ ครับ (หัวเราะ)”

หลังจากทำงานได้ไม่นาน เขาก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยเรียนภาษาก่อนเป็นเวลา 7 เดือน แล้วชีวิตก็พลิกผันไปสู่การเรียนถ่ายรูปอย่างจริงจัง

“ช่วงที่เรียนภาษา ผมก็เริ่มถามตัวเองว่า เราจะเรียนอะไรดีนะ ก็ได้ปรึกษากับอาจารย์ที่นี่ อาจารย์ถามว่าทำไมผมไม่ลองเรียนถ่ายรูปดู ด้วยความที่ตอนทำงานหาอุปกรณ์ประกอบฉาก ก็ได้ถ่ายรูปพวกอุปกรณ์ประกอบฉากอยู่ตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกว่า นี่น่าจะเหมาะแก่การเรียน ก็เลยลองสมัครเรียนดู พอเขาบอกให้เราส่งพอร์ตงาน เราไม่มี เขาเลยให้เราถ่ายอะไรก็ได้ ขาวดำม้วนหนึ่ง สีม้วนหนึ่ง เราก็เปิดหนังสืออื่นๆ ดู เพื่อหาแรงบันดาลใจ แล้วก็ถ่ายส่งไปให้เขาพิจารณา ปรากฏว่าเขารับผมเข้าเรียน ซึ่งพอได้เรียน ผมหมกมุ่นอย่างบ้าคลั่งกับการเรียนมากจนได้นักเรียนเรียนดี”

อภิชัย เผยว่า การได้เรียนถ่ายรูป ทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีการคิด และสามารถอธิบายในสิ่งที่ตัวเองคิดและทำมันออกมาได้ “สมมติว่าอาจารย์ให้การบ้านไปถ่ายพระอาทิตย์ตกดิน เขาจะไม่บอกวิธีใดๆ ให้แก่เราเลย เขาจะปล่อยให้เราได้ใช้ความคิด และค้นหาวิธีการว่าจะถ่ายออกมาในรูปแบบใด เพื่อที่เมื่อถ่ายออกมาแล้ว สามารถอธิบายได้ว่าทำไมถึงทำออกมาในรูปแบบนี้”

ในขณะที่เรียนถ่ายรูป เขาได้พบเจอป้ายประกาศรับสมัครมือกีตาร์จากวงดนตรีวงหนึ่ง ซึ่งป้ายประกาศนี้นี่เอง ที่เป็นจุดที่ทำให้เขาได้ค้นพบว่า จากที่เคยเล่นกีตาร์และตีกลองด้วยการเรียนเองหัดเองมาตั้งแต่เด็ก มันถึงเวลาแล้วที่จะปลดปล่อยความสามารถนี้ออกมาให้ใครต่อใครได้เห็น

“เมื่อผมจดเบอร์โทรในใบประกาศรับสมัคร ผมก็โทรไปหาเขาเพื่อขอทดสอบฝีมือ โดยบอกเขาว่าผมไม่มีกีตาร์นะ ซึ่งเขาบอกว่ามาทดสอบได้เลย ใช้กีตาร์ของเขาได้ หลังจากได้ทดสอบฝีมือด้วยการเล่นสดกับวงของเขาเลยโดยไม่มีการเตรียมตัวใดๆ ทั้งสิ้น ด้นสดล้วนๆ ปรากฏว่าเขาเลือกผมเข้าวง ผมดีใจมากที่ผมสามารถเอาชนะความกลัวได้ ซึ่งอันนี้คือสิ่งสำคัญในการทำอะไรต่างๆ อีกมากมาย การตัดสินใจทำอะไรโดยก้าวข้ามความกลัว มันจะทำให้เรามีโอกาสได้พบเจออะไรบางอย่างที่รอเราอยู่ข้างหน้า”

นับตั้งแต่วันนั้น ชีวิตของเขาก็วนเวียนอยู่กับดนตรี จนกระทั่งเมื่อเขาเรียนจบ เขาก็ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยแม่ครัวในร้านอาหารไทย ทำได้ไม่กี่เดือนก็กลับมาเมืองไทยอย่างถาวร “พอกลับมาเมืองไทย ผมก็ไปสมัครงานที่นิตยสารไฮเปอร์ ซึ่งนิตยสารที่ค่อนข้างแรง ฉูดฉาด แต่ผมคิดว่าผมเหมาะกับนิตยสารนี้นะ เพราะ บก.ปล่อยให้ทุกคนมีอิสระทางความคิด ให้อิสระในการทำงาน ช่วงที่ผมทำอยู่ที่นี่ ผมใส่เต็มมากๆ แต่ทำอยู่ได้ 78 เดือน นิตยสารเล่มนี้ก็ปิดตัวลง”

อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร ชีวิตเปิดรับทุกโอกาส

 

เมื่อนิตยสารปิดตัวลง อภิชัยก็ดำเนินชีวิตด้วยการเป็นช่างภาพอิสระ รับจ้างถ่ายภาพให้กับปกอัลบั้มเพลงเสียเป็นส่วนใหญ่ แล้วเขาก็ได้กลับไปทำนิตยสารอีกครั้ง ในตำแหน่งช่างภาพแฟชั่น แต่ทำได้สักพัก เขาก็เริ่มตระหนักว่าเขาไม่น่าจะเหมาะกับแนวทางนี้ เขาเลยหันเหไปถ่ายภาพแนวสารคดี แล้วก็ได้ค้นพบว่า นี่แหละคือสิ่งที่เขาชอบ “ผมชอบทำอะไรแบบนี้ รู้สึกว่ามันเป็นงานที่ท้าทาย ได้เจอกับมนุษย์ทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ ได้พุดคุย ได้สัมผัสกับชีวิตของคนเหล่านี้ ทำแล้วสนุกดี มีความสุขที่ได้ทำ”

หลังจากนั้น ก็มีคนชวนอภิชัยไปแคสต์โฆษณา เขาก็ลองไปแคสต์ดู ซึ่งโฆษณาชิ้นนี้นี่แหละที่ทำให้เขาได้กลับมาพบเจอกับ อุ๋ย นนทรี อีกครั้ง และทำให้ได้ก้าวมาสู่เส้นทางการเป็นช่างภาพนิ่งภาพยนตร์อย่างเต็มตัว “ตอนนั้นพี่อุ๋ยเพิ่งเสร็จโปรเจกต์นางนาก แล้วผมก็เดินเข้าไปแนะนำตัวว่าผมเคยไปที่บ้านพี่ ตอนนั้นผมทำงานพร็อพ พี่เขาก็จำได้ ผมเลยบอกว่าผมเรียนจบด้านถ่ายภาพมาแล้วนะ อยากลองเอางานมานำเสนอพี่ดู

ต่อมาไม่นาน พี่เขาก็เรียกให้เอางานไปให้ดู พอเอาไปให้ดู เขาให้ผมไปลองถ่ายภาพในกองถ่ายหนังเรื่องบางระจัน ผมก็ไปถ่าย พอถ่ายเสร็จเอาไปล้าง ผมก็เอามาทำเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วพอเอางานนี้ไปเสนอ ผมก็ได้งานถ่ายภาพของหนังฮ่องกงเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมมีงานเรื่องต่อๆ มา ผมขอบอกตรงนี้เลยว่างานถ่ายภาพนิ่งภาพยนตร์นั้น มันไม่งานเบื้องหลังอย่างที่ใครเข้าใจ มันโคตรจะเบื้องหน้าเลย มันมีความสำคัญที่เป็นจุดให้คนสนใจมาดูหนังของเรา มันไม่ใช่แค่หน้าที่บันทึกภาพเบื้องหลัง แต่มันคืองานที่มีความสำคัญกับภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมากถึงมากที่สุด”

จนกระทั่ง เมื่ออภิชัยได้มีโอกาสไปถ่ายภาพให้กับนิตยสารหัวนอกชื่อ แบงค็อก เมโทร โดยเขาได้รับโจทย์เกี่ยวกับเพลงอินดี้ในเมืองไทย ทำให้เขาได้พบเจอวงอินดี้หลากหลายวง และนี่ก็ทำให้เขาได้พบกับ “รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์” อดีตสมาชิกวงครับ ตำแหน่งเบสกีตาร์ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายเพลงสมอลล์รูม “พี่รุ่งคนนี้นี่แหละครับที่เป็นคนทำให้เชื่อมต่อกับดนตรีขึ้นมาอีกครั้ง ตอนนั้นเขากำลังทำค่ายเพลงสมอลล์รูม เขาเลยชวนให้ผมไปทำเพลง 1 เพลง ในอัลบั้มรวมเพลงจากหลากหลายศิลปิน พอผมเห็นว่าไม่หนักหนาอะไร ผมก็เลยทำ”

อภิชัยยิ้มไปเล่าไปว่า ตอนนั้นเขายังไม่คิดเป็นศิลปินเต็มตัว ยังสนุกกับการถ่ายรูป แต่พอรุ่งโรจน์ทำอัลบั้มรวมศิลปินเป็นอัลบั้มที่สอง เขาก็ชวนทำอีก แล้วก็มีค่ายเพลงสนามหลวงมาชวนเขาไปทำเพลงพิเศษอีก นี่จึงเป็นจุดที่อภิชัยเริ่มถามตัวเองอย่างจริงจังว่าเขาควรจะเอาดีทางด้านเพลง แล้วหยุดการถ่ายรูปไปเลยดีไหม

“ผมเริ่มคิดว่า นี่คง ไม่ใช่เล่นๆ แล้วนะ จนพี่รุ่งถามว่าพร้อมหรือยังที่จะทำงานเพลงอย่างจริงจัง ผมก็ยื้อเวลาอยู่นานเหมือนกัน จนในที่สุดผมก็ตัดสินใจทำ ช่วงที่ทำอัลบั้มแรก ยังถ่ายรูปบ้าง แต่พอเริ่มเล่นคอนเสิร์ต ผมต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะรู้สึกว่าทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน คงทำพร้อมกันทั้งสองอย่างไม่ดีแน่ ผมเลยเลิกถ่ายรูป ทั้งๆ ที่ตอนนั้นไม่ได้มีงานรองรับอะไรเลย แต่ก็ตัดสินใจลุยทำงานเพลงอย่างเต็มตัวอย่างเดียว”

จากอัลบั้มชุดที่ 1 ชุดที่ 2 มาจนชุดที่ 3 อภิชัยได้เดินทางมาไกลเกินกว่าที่เขาคิดไว้ ทั้งเพลงของเขาสามารถติดชาร์ตเพลงอันดับ 1 ได้รับรางวัลด้านดนตรีจากหลากหลายสถาบัน สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากความสำเร็จนี้ นั่นคือ การซื่อสัตย์ในสิ่งที่ตัวเองทำ นับถือและให้เกียรติตัวเอง เวลาที่ร้องเพลง เล่นดนตรี ก็ร้องและเล่นอย่างซื่อสัตย์และจริงใจ

“ผมมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์ด้วยนะครับ ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่มาก ที่ไม่น่าจะมีมาได้ทุกวัน พอโอกาสมาถึง ต่อให้เชื่อว่าเราทำไม่ได้ ผมก็กล้าที่จำลองทำดู ผมให้โอกาสตัวเองได้ลองทำจนกว่าจะรู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ แล้วค่อยตัดสินใจทำต่อ หรือจะหยุด”

กับการมีคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกในชีวิต อภิชัยเผยว่า นี่เป็นสิ่งที่เขาคิดหนักอยู่มากโข แต่เมื่อทุกอย่างพร้อม เขาก็ไม่รู้จะรอเวลาเพื่อสิ่งใดอีก “พี่รุ่งชวนผมทำคอนเสิร์ตมานานแล้ว แฟนๆ ก็ถามว่าเมื่อไหร่ผมจะมีคอนเสิร์ตเดี่ยวอย่างจริงจังเสียที แถมมีคนตั้งแฟนเพจที่ชื่อว่า มั่นใจคนไทยเกินแสนอยากดูคอนเสิร์ตใหญ่ของกรีซซี่ คาเฟ่ ซึ่งกับคอนเสิร์ตนี้จะมีขึ้นในวันที่ 1 ธ.ค. เป็นคอนเสิร์ตที่ชวนทุกคนมาทำกิจกรรม มาร้องเพลง มากิน มาดื่ม มามีความสุขร่วมกันในวันนั้นครับ”

ไม่ว่าคอนเสิร์ตเดี่ยวของเขาที่ใกล้จะมาถึง จะเห็นภาพความสุขอย่างที่เขาเห็นภาพมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ หากนั่นคือโอกาสที่เขาได้มอบให้กับตัวเอง ในการทำคอนเสิร์ตเดี่ยวเป็นครั้งแรก ในฐานะคนดูคนฟัง ก็น่าจะให้โอกาสตัวเองได้ไปมีความสุขร่วมกับเขา เพื่อที่จะได้มีความสุขภายใต้คำว่า “เรา” ซึ่งนี่น่าจะเป็นเหตุผลเดียวที่ผู้ชายผมยาวคนนี้แอบตั้งความหวังไว้ในใจอยู่มิใช่น้อย

คอนเสิร์ต “Greasy Cafe : UNTIL TOMORROW” จะมีขึ้นในวันที่ 1 ธ.ค. จัดขึ้นที่สนามกีฬา จรัญ บุรพรัตน์ (ทางด่วนพระราม 9, แอร์พอร์ตลิงค์ มักกะสัน) เป็นคอนเสิร์ตที่รวบรวมผู้คนที่ถูกเชื่อมต่อกันจากบทเพลงชีวิตของ กรีซซี่ คาเฟ่ เอาไว้ด้วยกัน ในฐานะศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยมจากหลายสถาบัน เขาคือหนึ่งในผู้ร่วมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับวงการเพลงอินดี้ในเมืองไทย ด้วยส่วนผสมของดนตรีโฟล์กร็อค และเสียงร้องที่แหบทุ้ม ทําให้เกิดเป็นสิ่งผสมผสานที่ลงตัว หวานปนขมของเนื้อหา ที่ถูกการคลี่คลายผ่านภาษาที่สวยงามที่เป็นดั่งแรงดึงดูดบางอย่างจนทําให้ใครหลายคนชื่นชอบ