posttoday

ตลท.ปีนี้นวัตกรรมสู่ความยั่งยืน&คุณภาพ

09 มกราคม 2561

แผนงานปีนี้ที่เน้นทำให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ โดยใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน

โดย..บงกชรัตน์ สร้อยทอง

ตั้งแต่ต้นปี 2561 ตลาดหุ้นไทยท็อปฟอร์มมาตลอด โดยดัชนีหุ้นไทยขึ้นไปแตะระดับ 1,800 จุดได้ ขณะที่ผลงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ออกดอกผล

“เกศรา มัญชุศรี” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. แถลงถึงแผนงานปีนี้ที่เน้นทำให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ โดยใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนซึ่งแผนดังกล่าวนี้จะสอดคล้องกับแผนงาน 3 ปี (2561-2563) ภายใต้กรอบกลยุทธ์ “Towards Sustainable Growth with Innovation”

กลยุทธ์มี 3 ด้านคือ หนึ่ง สร้างความแข็งแกร่งตลาดทุนไทยด้วยคุณภาพผ่านการขยายฐานบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยคุณภาพจากทั้งในและต่างประเทศ สร้างวัฒนธรรมการลงทุนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในด้านหนึ่งก็ต้องให้ความสำคัญกับปริมาณเพราะทำให้ขนาดของตลาดทุนไทยมีการเติบโตขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) หุ้นที่เสนอขายให้ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) ได้ทำสถิติสูงสุด หรือในคุณภาพได้กำหนดว่าภายในไตรมาส 2 จะมีการใช้เครื่องมือเตือนผู้ลงทุนใหม่ โดยขึ้นเครื่องหมาย “C” ออกมาเตือนสำหรับ บจ.ที่มีความเสื่อมถอยลง

“แม้ปัจจุบันมาร์เก็ตแคป ตลท.ได้เกินเป้าหมายเล็กน้อยตามแผนพัฒนาตลาดทุนที่กำหนดว่าจะมีมาร์เก็ตแคป ระดับ 150% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ภายในปี 2564 แต่ระดับดัชนีอาจจะผันผวนได้ ดังนั้น สิ่งที่ ตลท.ต้องดำเนินการตามแผนกลยุทธ์เพื่อให้ทุกภาคส่วนเติบโตอย่างยั่งยืน” เกศรา กล่าว

สอง สร้างโอกาสการขยายธุรกิจและเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการเติบโตในระยะยาวของสตาร์ทอัพและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งจะมีแพลตฟอร์ม LIVE ให้ผู้ลงทุนได้เข้ามาลงทุนในกรอบจำกัดเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้ประกอบการทั้งสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี ลงทะเบียน 100 บริษัท และมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท อีกทั้งพร้อมที่จะเชื่อมโยงการระดมทุนและลงทุนในกลุ่มตลาดทุนซีแอลเอ็มวี  โดยใช้ประเทศไทยเป็นตัวเชื่อมโยง

“ภากร ปีตธวัชชัย” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลท. คาดว่า ภายในครึ่งปีแรกนี้จะตั้งดัชนีกลุ่ม “ซีแอลเอ็มวี” ได้ โดยเป็นการควบรวม บจ.ไทยที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มซีแอลเอ็มวี ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ

นอกจากนั้น คาดว่าภายในปี 2563 หรืออีก 3 ปีนี้จะเกิดการลงทุนและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกลุ่มซีแอลเอ็มวีมากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นประตูเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน ที่คำนึงถึงการระดมทุนหรือออกผลิตภัณฑ์ คล้ายกับสิงคโปร์ที่เป็นประเทศเชื่อมโยงศูนย์กลางทางการเงิน โดยคาดว่าจะสามารถตั้ง “คณะกรรมการซีแอลเอ็มวี” ขึ้นมา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มากขึ้น

แต่ลักษณะการทำงานจะแตกต่างกันจากในอดีต โดยจะอิงกับความต้องการในการออกผลิตภัณฑ์ การระดมทุน การใช้เงินที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการให้ตรงจุดกับที่แต่ละประเทศเพื่อนบ้านต้องการ เช่น ประเทศหนึ่งต้องการออกตราสารหนี้ แต่อีกประเทศหนึ่งต้องการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ ตลท.ยังอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดเรื่องการไปสนับสนุนร่วมการลงทุน (Corporate Venture Capital หรือ CVC) ในธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีความสนใจในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านตลาดทุนโดยเฉพาะ โดยมีมูลค่ากองทุนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท

สาม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตลาดทุนให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการจะเริ่มใช้การชำระราคาเกิดขึ้นในระยะเวลา 2 วัน (T+2) วันที่ 2 มี.ค. อีกทั้งยังจะมีการต่อยอดบริการระบบชำระเงินและชำระราคาของระบบ FundConnext ที่ให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนกองทุนรวมได้หลากหลาย สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจากที่เริ่มจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไม่กี่รายแต่คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมี บลจ.ที่เข้าร่วมมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (เอยูเอ็ม) ได้เกือบทั้งหมด และขยายไปยังกลุ่มตัวแทนจำหน่าย (เซลลิง เอเจนท์) กว่า 30 แห่ง รวมทั้งจะเริ่มให้บริการ FinNet ด้วย ระหว่างการชำระเงินระหว่างธนาคาร (Intra-bank payment) ได้ตั้งแต่วันที่  12 ก.พ.นี้