posttoday

รพ.กลาง-เล็ก ตบเท้าเข้าตลาดหุ้น

06 กุมภาพันธ์ 2560

โรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็กนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในช่วง1-2ปีที่ผ่านมามากขึ้น

โดย...ยินดี ฤตวิรุฬ, บงกชรัตน์ สร้อยทอง

ธุรกิจโรงพยาบาลนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามากขึ้น เพื่อนำเงินที่ได้ไปขยายกิจการและรองรับนโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเรื่องสุขภาพ และรองรับการเข้าสู่สังคมชราภาพ ที่จะมีใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยโรงพยาบาลที่เข้ามาเป็นโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ล้วนเข้าไปก่อนหน้านี้แล้ว

ปีนี้คาดว่าจะมี 2 แห่ง คือ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) จะขายหุ้น 85 ล้านหุ้น และโรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขาย 155.78 ล้านหุ้น จากปี 2559 มีโรงพยาบาลเข้ามาใน SET แล้ว 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชธานี (RJH) และบริษัท เอกชัยการแพทย์ (EKH)

RJH ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลทั่วไป ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลราชธานี” และ “โรงพยาบาลราชธานี โรจนะ”ที่เสนอขายหุ้นไอพีโอ 74.99 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 16 บาท แต่ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 3 ก.พ. ราคาหุ้นขึ้นมาที่ 27.50 บาท มูลค่าราคา ณ ราคา ไอพีโอ 1,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% เป็น 2,063 ล้านบาท

EKH เสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 166.80 ล้านหุ้น ราคา 3.05 บาท ราคา ณ วันศุกร์ที่ 3 ก.พ. เป็น 6.85 บาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาไอพีโอที่ 508.74 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,144 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 125%

นับว่าการเข้าตลาดหุ้นของทั้งสองบริษัทประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงทำให้ธุรกิจนี้หลั่งไหลเข้ามาในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากมูลค่าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นแล้วยังทำให้บริษัทมีมาตรฐานในการบริหารงานอย่างมืออาชีพและเป็นสากล

โรงพยาบาล 2 แห่งที่มีแผนเข้ามาปีนี้ คือ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ของ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการได้ยื่นแบบแสดงรายการ(ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นไอพีโอ เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการในอนาคต และเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

THG ทำธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ คือ การดำเนินธุรกิจรักษาพยาบาลแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ คือ ธุรกิจรักษาพยาบาลในประเทศไทยกลุ่มบริษัทผ่านบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม ประกอบด้วยโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธนบุรี โรงพยาบาลธนบุรี 2 และโรงพยาบาลเอกชนในต่างจังหวัด 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี โรงพยาบาลอุบลรักษ์ ธนบุรี และโรงพยาบาลสิริเวช จันทบุรี ซึ่งมีขนาดเตียงจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 916 เตียง และรองรับผู้ป่วยนอกมากกว่า 5,430 คน/วัน

THG จะเพิ่มทุนและขายหุ้นให้กับประชาชนเพื่อระดมเงินไว้ลงทุนตามแผนลงทุนในได้วางแผนไว้

“ธุรกิจเรื่องสุขภาพยังมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างมาก และในแต่ละปีจะโตไม่น้อยกว่า 10% และการที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางเรื่องสุขภาพก็จะเห็นการเติบโตอีกมาก ซึ่งขณะนี้จะเห็นว่ากลุ่มคนไข้จากกลุ่มประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน (เออีซี) ทั้งพม่า เวียดนาม เขมร เริ่มที่จะเดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากบริษัทมีความพร้อมก็จะรับได้ทั้งหมด” นพ.บุญ กล่าว

ด้านโรงพยาบาลราชฤกษ์จะนำเงินที่ได้จากการขายไอพีโอไป ก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลใหม่ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ปี 2559-2560 และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และเงินลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการแพทย์ ส่วนที่เหลือจากโครงการลงทุนข้างต้นจะสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ขนาด 202 เตียง ในพื้นที่ใกล้เคียงกับอาคารโรงพยาบาลปัจจุบัน

โรงพยาบาลทื่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยแล้ว 18 แห่ง มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 6.91 แสนล้านบาท ได้ขยายการลงทุนและซื้อกิจการ เสริมความแข็งแกร่งมีการใช้เครื่องมือทางการเงินเป็นตัวช่วยในการเพิ่มสภาพคล่อง

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ได้ประกาศเข้าซื้อโครงการปาร์คนายเลิศ ทั้งในส่วนที่ดินและโรงแรมมาพัฒนาเป็นโครงการศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร 1.08 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องด้วยซื้อหุ้นบริษัทย่อยบริษัท เปาโลเมดิค (เปาโล) เพื่อเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัท เมโยโพลีคลีนิค (เมโย)

บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) ที่เริ่มเห็นว่ามีการความเคลื่อนไหวในการซื้อกิจการโรงพยาบาลบางโพ หรือการเพิ่มทุนโรงพยาบาล เพราะบริษัทมีแผนงานช่วง 3 ปี (2560-2562) ใหม่ จากที่จะสร้างโรงพยาบาลใหม่ปีละ 1 แห่ง เป็นแยกเอาโรงพยาบาลวิภารามที่บริษัทถือหุ้น 40% ออกมาเพื่อเข้าจดทะเบียนใน SET

พิจิตต์ วิริยะเมตตากุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ VIBHA กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างแยกนำโรงพยาบาลวิภารามเตรียมจดทะเบียน โดยจะตัดส่วนที่ทำให้วิภารามขาดทุนออกไปก่อน จากปัจจุบันวิภารามมีบริษัทลูกทั้งหมด 8 แห่ง ซึ่งเบื้องต้นจะขายวิภาราม-ชัยปราการ วิภาราม-เทพารักษ์ และวิภาราม-สมุทรสาคร ออกไป เพราะมีผลขาดทุนในการดำเนินงาน ซึ่งระหว่างนี้ก็มีการเจรจากับผู้ที่สนใจจะซื้อต่อเนื่อง รวมถึงบริษัทลูกใดที่จะมีการเพิ่มทุนทางกลุ่มวิภาวดีก็จะไม่มีการใช้สิทธิเพิ่มทุนอีก

อย่างไรดี เป้าหมายผลการดำเนินงาน VIBHA เองก็ยังคงเป้าหมายเดิมทุกปีที่จะมีรายได้เติบโตขึ้น 10% และปีนี้จะเริ่มเห็นการรวมบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายของโรงพยาบางบางโพกับวิภาวดีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากที่บริษัทซื้อกิจการมาและมีการชำระเงินกู้ไปหมดแล้วจนไตรมาส 4 บางโพมีตัวเลขที่มีกำไรเล็กน้อย

“แม้จะมีโรงพยาบาลขนาดเล็กเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นมากขึ้น แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เพียง 2-3 กลุ่มเท่านั้น เพราะการจะเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ขึ้นมาทำให้รับรู้การขาดทุนไปเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งการที่กลุ่มโรงพยาบาลจะมีการเติบโตเร็ว ต้องดูจังหวะและเลือกเข้าซื้อกิจการที่เหมาะสมอย่างดีด้วย” พิจิตต์ กล่าว