posttoday

ดัชนีเชื่อมั่น SME เดือนมี.ค.วูบ เหตุต้นทุนพุ่งกำลังซื้อหดตัว

29 เมษายน 2565

สสว.ชี้ผู้ประกอบการ SME เผชิญต้นทุนสินค้าสูงต่อเนื่อง เร่งปรับตัวลดการลงทุน แม้รัฐทยอยเปิดประเทศส่งผลดีเฉพาะบางพื้นที่

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนมีนาคม 2565 ว่าดัชนีความเชื่อมั่น SMESI อยู่ที่ระดับ 49.1 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.6 โดยองค์ประกอบของธุรกิจที่ส่งผลมากที่สุด คือ ต้นทุน กำไร การจ้างงาน คำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ การลงทุน และการลงทุน ตามลำดับ ซึ่งองค์ประกอบด้านต้นทุนยังมีค่าดัชนีที่ต่ำกว่าค่าฐาน 50 ค่อนข้างมาก

ขณะที่ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 51.3 จากระดับ 52.7 ในเดือนก่อน แต่ยังอยู่สูงกว่าค่าฐานที่ 50 จากความไม่มั่นใจต่อกำลังซื้อในอนาคต ทำให้มีแนวโน้มลดปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการลง รวมถึงคาดการณ์จะลดการลงทุนลงเพื่อปรับตัวรับสถานการณ์ราคาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน

เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ธุรกิจมีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงทุกภาคธุรกิจ ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการบริการ และภาคการเกษตร ที่กำลังการเผชิญภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากค่าสินค้า/วัตถุดิบ ค่าสาธารณูปโภค และค่าขนส่ง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค เดือนมีนาคม 2565 พบว่า เกือบทุกภูมิภาคดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง แต่ยังมีภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและเกินกว่าค่าฐานที่ 50 ได้แก่ ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 51.3 จากระดับ 50.7 จากการปรับตัวดีขึ้นของแหล่งท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ เช่น ภูเขา น้ำตก การล่องแพ ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร ส่วนภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 43.3 จากระดับ 42.1 จากการขยายตัวจากฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และการเปิดประเทศ อีกทั้งการปรับมาตรการ Test & Go ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว โรงแรม/ที่พัก และธุรกิจซ่อมบำรุง  

ด้านปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนี SMESI ในส่วนภูมิภาคมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อ จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภาครัฐ การเปิดประเทศ อีกทั้งการปรับมาตรการ Test & Go ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลลบ ได้แก่ ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องในปัจจุบัน แม้ความรุนแรงของโรคจะไม่มากนัก แต่อัตราจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นและแพร่เชื้อได้เร็วเมื่อเทียบกับระลอกก่อนหน้า อีกทั้งด้านต้นทุนราคาสินค้าและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค อาจส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในอนาคต

อย่างไรก็ตามขณะนี้ สสว. ได้มีการศึกษาเรื่อง Gig Economy เพื่อหาทางเลือกในการปรับตัวให้กับผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานซึ่งการทำงานในรูปแบบ Gig workers ทั้งนี้ประเด็นที่ได้จากการศึกษาน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป