posttoday

เทคโนโลยี 5จี พลิกเศรษฐกิจไทย โลกทั้งใบจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง

31 ตุลาคม 2562

"กูรู" ภาครัฐ/เอกชน ขานรับเทคโนโลยี 5 จี ที่กำลังจะเข้ามาพลิกโลกการสื่อสารครั้งใหม่และใหญ่กว่าที่คิด ชี้โอกาส "เอสเอ็มอีไทย" เตรียมตัวพร้อมเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่จะเข้าพลิกชีวิต พนักงานขาย-ทนายความเสี่ยงสูญหาย

"กูรู" ภาครัฐ/เอกชน ขานรับเทคโนโลยี 5 จี ที่กำลังจะเข้ามาพลิกโลกการสื่อสารครั้งใหม่และใหญ่กว่าที่คิด ชี้โอกาส "เอสเอ็มอีไทย" เตรียมตัวพร้อมเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่จะเข้าพลิกชีวิต พนักงานขาย-ทนายความเสี่ยงสูญหาย

โพสต์ทูเดย์ ออนไลน์ จัดงานสัมมนา 5 จี พลิกชีวิตเอสเอ็มอีไทย โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี และ ผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมสัมมนาฯ ในครั้งนี้ ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค โดยมี วิทยากร จากผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จะต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อเทคโนโลยี 5 จี กำลังเกิดขึ้นในอนาคต

 

5 จี เคลื่อนประเทศไทยสู่ สมาร์ท เนชัน

เทคโนโลยี 5จี พลิกเศรษฐกิจไทย โลกทั้งใบจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กล่าวปาฐกถา หัวข้อ "พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยด้วย 5G" ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ เทคโนโลยีที่ 5 โดยในปีที่ผ่านมามี 15 ประเทศได้ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 4 (4จี) มาสู่ยุค 5 จี ขณะที่ไทยหากปรับสู่ 5 จี อย่างสมบูรณ์แบบ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆอุตสาหกรรมอย่างพร้อมเพรียงในเวลาเดียวกัน (Collective Disruption Technology) ในรอบ 10 ปี

จากในปี 2010 ถือเป็นยุค 4 จี และในปัจจุบันเตรียมเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ยุค 5จี หรีอ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโยนโลยี ที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง (Continuous Disruption)

"การเข้ามาของ 5 จี จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนทางความคิดครั้งใหญ่จากการ เชื่อมต่อคนต่อคน ไปสู่การเชื่อมต่อ คนกับสิ่งของ และ สิ่งของกับสิ่งของ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ทั่วโลกตกใจ แต่ยังไม่สายเกิดไป ที่จะเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับเทคโนโลยี 5 จี ที่อัตราการรับส่งข้อมูลรวดเร็ว 100 เท่าตัว แต่มีโอกาสผิดพลาดของข้อมูล 1ใน พันล้าน เท่านั้น" นายสุวิทย์ กล่าว

นอกจากการเปลี่ยนแปลงของโครงข่าย (Network) จากยุค 4 จี ไปยัง 5 จี แล้วจะยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) ด้วย จากเดิมมีการเก็บข้อมูลเท่านั้น ที่ยังมาสู่การทำนายอนาคตข้อมูล ที่สามารถแนะนำให้รู้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ทำให้วิเคราะห์ตัวเองได้

นอกจากนี้ ยังมีการนำเรื่องของอุปกรณ์ AR และ VR เข้ามาช่วยเหลือในการทำงานมากขึ้น โดยทุกสิ่งจะผนึกอยู่บนแพล็ตฟอร์มของ 5 จี ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อย่างต่อเนื่องในโลกใบใหม่ ที่มีความฉลาดขึ้นกว่าเก่า ซึ่งมาจากจาก แพล็ตฟอร์ม และคาแพคซิตี ที่มากขึ้น โดยทั้งหมดจะสามารถเชื่อมต่อไปยังการก้าวสู่เป็นสมาร์ท เวิลด์ และ สมาร์ท เนชั่น ได้เช่นกัน

"เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ สิ่งสำคัญ คือ จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ปรับเปลี่ยนประเทศ โดยโจทย์สำคัญ คือ ต้องมี New Industryต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มี New Business Model มีการลงทุนชุดใหม่ ทั้งหมดจะต้องสร้างความร่วมมือเพื่อผนึกกำลังในรูปแบบ Collaborative Model ขณะทื่เศรษฐกิจไทย จะอยู่แบบเดิมไม่ได้ โดยเฉพาะการเข้ามาของ 5 จีจะยังมาช่วยด้านการเกษตรต่อการไปสู่ Smart Farming ซึ่ง อว. ได้เริ่มผลักดันไอโอที ( IoT)หลายด้านทางด้านการเกษตร แล้วเช่นกัน" นายสุวิทย์ กล่าว

สสว. กระตุ้น เอสเอ็มอี เปิดใจรับเทคโนโลยี

สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวในหัวข้อ สัมมนา "5จีพลิกชีวิตเอสเอ็มอีไทย" ว่า สสว.ซึ่ง เป็นหน่วยงานกำกับนโยบาย มีเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีไทยแข็งแรง โดยยกระดับเอสเอ็มอีไทย พร้อมวางแผนดำเนินการให้ครอบคลุมเป้าหมาย โดยเลือกกลุ่มโฟกัส เพราะแม้ว่าจะเป็นอาวุธแบบเดียวกัน บางคนอาจแพ้ หรือ ชนะต่างกัน ดังนั้นกลุ่มที่แตกต่างต้องใช้เครื่องมือที่แตกต่าง

โดย สสว. วางแผนแม่บทเพื่อพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่สากล มาตลอดระยะเวลา 3 ปี ภายใต้โจทย์ Digital Global โดยนำ มาร์เก็ต เพลส เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน โดยมีผู้ให้บริการแพล็ตฟอร์มดิจิทัลรายต่างๆ ร่วมเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอี ในด้านต่างๆ ที่น่าสนใจ และเป็นเป้าหมายหลักในปีที่ 3 นี้

ทั้งนี้ จากการเข้ามาของ 5 จี ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกทั้งมีปัญหาอุสรรค ซึ่งปัจจัยภายนอกถือว่าควบคุมยาก ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องหันกลับมาควบคุมตัวเอง โดยอุปสรรคสูงสุด คือ "มายด์ เซ็ท" การเปิดใจรับ ด้วยทุกคนกลัวว่ามันจะยาก มันจะแพง เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา ซึ่ง คีย์เวิร์ด ของ5 จี คือ ตอบปัญหา ใน3 ด้าน คือ Speed (ความเร็ว) Conection (การเชื่อมต่อ) และ REaltime(ทันทีทันใด)

ขณะที่แผนดำเนินการในปีหน้า สสว. จะใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวนำ เช่น ในกลุ่มเกษตรอาหารแปรรูป ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกปี โดยกลุ่มตัวผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนตัวให้ทันกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ สสว. จะยังเร่งผลักดันเอสเอ็มอีทำตลาดในช่องทางตลาดออนไลน์ ให้ไปพร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานสินค้าด้านต่างๆ เพื่อให้สินค้าจำหน่ายในระดับสากล ซึ่งถือเป็นการยกระดับเอสเอ็มอี ภายใต้กลไกการทำงานของเอสเอ็มอี ที่มี ความรวดเร็ว เป็นสิ่งสำคัญ

ทรู เปลี่ยนจากธุรกิจสื่อสารสู่องค์กร AI

พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอสเอ็มอีต้องปรับตัวให้กับระบบ5 จี ที่จะมาถึง เพราะเรากำลังเข้าสู่ระบบนิเวศน์ใหม่ หรือ ดิจิทัล อีโคโนมี หากปรับตัวไม่ทัน จะถูก ดิสรัปท์ แต่ถ้าปรับตัวทันก็เป็นโอกาส เพราะในภาพรวมถ้าทุกอย่างเชื่อมต่อหมดจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เกิดบิ๊กดาต้า ใครเข้าถึงข้อมูลได้ดีกว่า วิเคราะห์เจาะลึกได้ดีกว่าจะได้เปรียบทางธุรกิจ

ทั้งนี้ ตามโรดแมป 5 จี ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ได้ประกาศไว้ เกิดการประมูล 5 จี ในเดือนก.พ. 2563 สิ่งสำคัญตอนนี้ คือ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน หากไทยไม่ดำเนินการ ขณะที่เวียดนามและมาเลเซีย ประกาศโรดแมปออกมาแล้ว จะทำให้ผู้ลงทุนไปประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า

สิ่งที่ ทรู ทำ คือโครงสร้างพื้นฐานของระบบ 5 จี และรัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนให้เกิดเร็วขึ้น โดยเชื่อว่าในอนาคต 5 จีจะตอบโจทย์ให้กับภาคธุรกิจ แม้แต่ทรูเอง ต่อไปคงไม่ใช่บริษัทเทเลคอม แต่บรรยากาศการทำงานในประเทศจะเปลี่ยนไปหมด เพราะทุกอย่างจะอยู่บนโลกดิจิทัล โดยทรูจะผันตัวเอง ไม่ใช่จัดหาแค่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล แต่เป็นผู้จัดหาแพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่า ซึ่ง ซีอีโอของทรู ประกาศไว้แล้วว่า จากนี้ไปทรู จะเป็นบริษัท AI โลกจะเปลี่ยนไปเยอะมาก

"อยากให้ความมั่นใจกับเอสเอ็มอีว่า เราต้องเดินไปด้วยกัน ซึ่งทุกคนรู้ว่าต้องเดินไปดิจิทัล แต่มีไม่กี่คนที่รู้ว่าจะต้องเดินไปยังไง เราจับมือไปด้วยกันได้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนโลกดิจิทัล ต้องมีการต่อยอด ต้องช่วยกัน" นายพิรุณ กล่าว

อย่างไรก็ตามโอกาสเอสเอ็มอีกับ 5 จี ต้องเริ่มที่การปรับตัวให้ทัน การ สร้างโอกาสทางธุรกิจ เอสเอ็มอีต้องมีวิธีการคิดใหม่ ถ้าใครไม่รู้เรื่อง OTOไม่ได้ จากนี้ไปสตาร์ทอัพ เป็นโมเดลใหม่ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเอสเอ็มอีไม่ได้ทำงานในระบบสตาร์ทอัพ เพราะเอสเอ็มอี คือ การขายของ เมื่อได้เงินมานำไปขยายกิจการ ในขณะที่สตาร์ทอัพ คือการขายอินโนเวชั่น ขายสตอร์รี่ หาเงินทุนมาลงเพื่อขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดด มีเป้าหมายถึงขั้นนำธุรกิจระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในอนาคตโลกจะเดินไปได้ด้วยสตาร์ทอัพ อย่างบริษัทใหญ่ เฟสบุ๊ค กูเกิ้ล เกิดมาจากสตาร์ทอัพทั้งนั้น

อาชีพเสี่ยงสูญหาย พนักงานขาย-ทนายความ

พิรุณ กล่าวว่า เมื่อ5 จีเกิดขึ้น กลุ่มงานที่จะได้รับผลกระทบจาก ดิสรัปต์ โดยตรง เช่น พนักงานขายของ ลูกค้าอยากคุยกับหุ่นยนต์มากกว่า อาชีพทนายความ ในขณะที่เอสเอ็มอี ที่จะได้รับผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก เพราะอนาคต การผลิตสินค้าผู้ซื้อจะกดออเดอร์ตรงไปที่โรงงานบายออเดอร์ ปลายทางเลย ไม่ต้องจ้างโรงงาน ดังนั้นรายเล็กต้องปรับตัวให้ดี

อนาคต อีคอมเมิร์ซ โตอีก 10 เท่าตัว

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา Priceza CEO & Co-founder และ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่าในปี 2561 สมาคมฯ ร่วมกับ ETDA ได้รวบรวมมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ ทั้งสองกลุ่ม คือ B2B(ธุรกิจต่อธุรกิจ) และ B2C(ธุรกิจต่อผู้บริโภค) พบว่าอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เทียบกับมูลค่าค้าปลีก 3 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วน 2-3 % โดยข้อมูล ระบุคนไทยชอบช้อปปิง ผ่านช่องทาง โซเชียล คอมเมิร์ซ 40% อีมาร์เก็ตเพลส 35% และ ออนไลน์ รีเทล 25 %

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศจีน ซึ่งมีตลาด อีคอมเมิร์ซ ใหญ่สุดในโลก จีน มีสัดส่วนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ อยู่ที่ 20% โดยอีก 80% คนจีนยังช้อปออฟไลน์อยู่ ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการดิจิทัล แพล็๖ฟอร์ม หลายรายยอมที่จะลงทุนเพื่อขาดทุนก่อนเพื่อให้ได้ใจผู้บริโภค พร้อมรองรับอีคอมเมิร์ซในอนาคตที่จะเติบโตสิบเท่าตัว

สำหรับพฤติกรรม การช้อปปิงของคนไทยมีจุดน่าสนใจ คือ คนไทยชอบช้อปปิงผ่านโซเชียล มีเดีย ขณะที่คนจีนชอบช้อปปิงผ่านแพลตฟอร์ม สอดคล้องข้อมูลงานวิจัย ระบุว่า อัตราเฉลี่ยการช้อปปิงผ่านโซเชียลทั่วโลกอยู่ที่ 20% ขณะที่คนไทยเฉลี่ยสูงถึง 51%" นายธนาวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ จากข้อมูลยังระบุธุรกิจเอสเอ็มอี ในระบบอีคอมเมิร์ซ ผ่านแพล็ตฟอร์มเทพช้อป (Lnw Shop)ของไทย มีจำนวนร้านค้าในระบบมากกว่า 6 แสนราย สิ่งที่น่าสนใจ คือ ลูกค้าเปิดร้านค้าฟรี แต่มีการแอคทีฟอยู่ที่ 6 หมื่นราย หรือ ราว 10% ปีหนึ่ง ขณะที่ สสว. เองได้คัดเลือกเอสเอ็มอีหน้าใหม่ ทำตลาดดิจิทัล ซึ่งจะต้องเกิดการแอคทีฟมากขึ้นจาก 10% เป็น 20% หรือ 30% ให้ได้ ในอนาคต

สำหรับแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี สมาคมฯ มุ่ง 3 C คือ Center การเป็นศูนย์กลาง, Conector การเชื่อมต่อ และ Confidence การเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

โดยสมาคมฯ จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อหลายหน่วยวาน ทั้งภาครัฐ ที่จะเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือการทำอีคอมเมิร์ซ โดยในฝั่งสมาคมฯ จะมีเจ้าของแพล็ตฟอร์มต่างๆ ทั้งในแง่ผู้ประกอบการและผู้ขาย เข้ามาเชื่อมโยงระหว่างกัน รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้ไหลลื่นผ่าน ระบบต่างๆ ทั้งการชำระเงิน(เปย์แมนต์) โลจิสติกส์ ฯลฯ เพื่อเชื่อมโยงผู้ให้บริการ ในการทำตลาด ไปจนถึงช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ให้บริการ

LINE แนะ เอสเอ็มอี รักษาฐานลูกค้าเพิ่มยอดขาย 20-25%

สกุลรัตน์ ตันยงศิริ หัวหน้าธุรกิจ SME, LINE ประเทศไทย กล่าวว่าเทคโนโลยี 5 จี จะเป็นการเชื่อมต่อการสื่อสารทุกอุปกรณ์ ได้อย่างรวดเร็ว โดย Line Official Account หรือ ไลน์@ เป็นแพล็ตฟอร์ม ที่มีความหลากหลายฟีเจอร์ เข้ามาช่วยตอบโจทย์ผู้ประกอบการและรักษาฐานลูกค้า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล ระบุว่าหากลูกค้าสามารถรักษาฐานลูกค้าประจำแค่ 5% สามารถสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น 20-25%

นอกจากยังมีกรณีศึกษา ผู้ประกอบการธุรกิจผลไม้ รายหนึ่ง ได้มีการปรับปรุงคอนเทนต์ด้วยเพิ่มประโยชน์ เพื่อให้คนสนใจมากขึ้น ทำให้เกิดสร้างการสั่งซื้อมากขึ้น บวกกับบริการตอบคำถามที่รวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องกลับมาพัฒนาฟีเจอร์ในการสื่อสารกับลูกค้า เพื่อสร้างเอ็นเกจเมนต์กับลูกค้าได้อย่างยั่งยืน

5 จีมาช่วยลูกค้ายิงทาร์เก็ต ไวและตรงจุด

เกวลิน สิงหาคำ กรรมการผู้จัดการ นอร์ท สตาร์ ดิจิทัล จำกัด กล่าวว่า จากการเข้ามาของเทคโนโลยี 5 จี จะทำให้การทำตลาด"โซเชียล มีเดีย มาร์เก็ตติง" มีความรวดเร็วมากขึ้น หรือ "สปีด" ที่จะส่งผลต่อการทำทำโฆษณา การรับข้อมูลและแสดงโฆษณา จากการใช้ อินเทอร์เน็ต เข้ามารับส่งข้อมูลแบบ วิดีโอ คอนเทนต์ หรือ วีอาร์ (Virsual Reality) มากขึ้น

ขณะที่ การทำโฆษณา มีความเป็นส่วนตัว (Personalization) จะตอบสนองแบบส่วนตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งการเลือกโฆษณา (Advertise) การเลือกสั่งซื้อสินค้า ได้แบบทันทีทันใด (Realtime) มีการตอบสนอง (Interactive) และ มีความหน่วงต่ำ (Latency) จากการใช้อินเทอร์เน็ต โดย เอสเอ็มอี สามารถดำเนินการปรับได้อย่างรวดเร็ว โดยเปิดใจนำ แชทบอท มาช่วยในการทำตลาดโซเชียล หลังจาก 5 จี เข้ามา

นอกจากนี้ การตอบรับจากลูกค้าได้แบบทันทีทันใด ยังจะช่วยทำให้เจ้าของธุรกิจ หรือ นักการตลาด/โฆษณา นำมาปรับใช้ในการทำตลาดได้ตรงจุดมากขึ้น รวมไปถึงการเกิดขึ้นของ การเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Wireless Conection)ด้วยการนำบิ๊ก ดาต้า มาใช้ จากการเข้ามาของ 5 จี ที่จะช่วยจับข้อมูลได้หลากหลาย มากขึ้น

"การเข้ามาของ5จี จะทำให้การทำทาร์เก็ต โฆษณา ได้จากอุปกรณ์และในข้อมูล ที่เป็นบิ๊กดาตา เหล่านั้น ได้ง่ายขึ้น จากเมื่อก่อนเป็นการทำตลาดด้วย เดโมกราฟฟิก คน เพศ อายุ ฯลฯ แต่ปัจจุบันจะเป็นทาร์เก็ตตามความสนใจ ซึ่ง 5 จี จะมีพลังอย่างมากที่ช่วยผู้บริโภคให้เข้าถึงตรงกับการทำตลาดเร็วขึ้น" น.ส.เกวลิน กล่าว

ช้อปปี้ เผยตลาดดิจิทัลเคลื่อนสู่ยุค "ปลาไว กิน ปลาช้า"

สุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ (ประเทศไทย) กล่าวว่าจากสถิติปัจจุบัน คนไทยใช้มือถือเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นในแง่ของการเข้าถึงถือว่าไปไกลมาก ส่วนในแง่ของภาครัฐหากมีการผลักดัน 5 จีเข้ามา จะเข้ามาเปลี่ยนทางด้านประสบการณ์ของผู้ใช้งานที่มากกว่าการช้อปปิงออนไลน์ จากอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วมากขึ้น ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ๆ โดย ช้อปปี้จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้งาน

"จากเดิม ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ปัจจุบันใครเป็นปลาไว และเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุด ธุรกิจนั้นจะอยู่ในระบบนิเวศน์ได้ต่อไป" น.ส.สุชญา กล่าว

สำหรับการสนับสนุนเอสเอ็มอี ของช้อปปี ซี่งมีกลุ่มลูกค้าทั้ง ผู้ซื้อ (บายเยอร์) และ กลุ่มผู้ขาย (เซลเลอร์) โดยช้อปปี้ได้มีการพัฒนาฟีเจอร์บนเแพล็ตฟอร์มต่อเนื่องเพื่อรองรับพฤติกรรมลูกค้าและเทคโนโลยี เช่น ผู้ขายมีการไลฟ์ขายสินค้า ขณะผู้ซื้อเองก็คนมองหาสินค้าที่มีการสื่อสารระหว่างกันได้กับผู้ขายมากขึ้น

เทคโนโลยี 5จี พลิกเศรษฐกิจไทย โลกทั้งใบจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง

ดิจิทัลพลิกชีวิตเซลยาสมุนไพร สู่ พ่อค้ากุ้งแห้งร้อยล้าน

อนุรักษ์ สรรฤทัย เจ้าของธุรกิจ 'ฮาซัน อาหารทะเลตากแห้ง จังหวัดสตูล' กล่าวว่าเริ่มธุรกิจจากการกล้าลองผิดลองถูกใช้เทคโนโลยี พร้อมปรับตัวจากปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น

โดยหาสินค้าอาหารทะเลตากแห้ง แล้วนำมาโพสต์ขายผ่านเฟซบุค ซึ่งในช่วงแรกมีคนสนใจ แต่ไม่มีคนซื้อ จึงเกิดความคิดว่าทำอย่างไรให้คนสนใจ เลยตัดสินใจ ใช้กลยุทธ์การขายผ่านไลฟ์ ในช่องทางเฟซบุค จากในช่วงแรกตั้งราคา 400 บวกค่าจัดส่ง 50 บาท แต่ไม่ได้รับความสนใจ จากนั้นปรับกลยุทธ์ใหม่ สร้างเรื่องราวมีการตอบโต้ผ่านการไลฟ์ เพื่อสร้างความสนุกระหว่างผู้ชม และนำไปสู่การเปิดการขาย ด้วยกลยุทธ์ราคาใหม่ 450 พร้อมส่งฟรี

สำหรับที่มาการธุรกิจผ่านโซเชียล ดังกล่าว อนุรักษ์ บอกว่ามาจากประสบการณ์ชีวิตในบางครั้งถ้าไม่เจอปัญหาก็จะไม่รู้คำตอบ สำหรับตัวเองนั้นเริ่มมาจากการเป็นพนักงานประจำไลฟ์สินค้าเกี่ยวกับยาสมุนไพรมาก่อน และเมื่อมีโอกาสเห็นว่ามีคนทำตลาดออนไลน์สำเร็จ และคิดว่าตัวเองก็น่าจะทำได้ แม้ว่าจะไม่มีพื้นฐานทางเทคโนโลยีเลย เพราะตัวเองเป็นชาวประมงต้องออกทะเล

"เมื่อผมมีโอกาสเดินทางมากรุงเทพฯ และใกล้ชิดกับเทคโนโลยี เห็นเค้าทำแล้วก็อยากทำบ้าง คือ มีคนหนึ่งเวลาขายของเป็นผู้ชายปกติ แต่เวลาคนนั้นอยู่ในโลกออนไลน์ต้องขายกางเกงเลคกิ้งเค้าก็จะเปลี่ยนไป สวมบทบาทใหม่ เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ ทำให้ผมสนใจมนำมาปรับใช้กับการขายของตัวเองด้วย" " อนุรักษ์ เล่า

พร้อมขยายความเพิ่มว่า ในวันแรกที่ไลฟ์ขายสินค้ามีคนดูเพียง 5 คน ด้วยไม่รู้การทำงานของเฟซบุค จากนั้นไปดูการขายหมวกวินเทจ ว่าทำอย่างไร ก่อนลองปรับมาเป็นการเล่าเรื่องผีเพื่อให้มีคนดู แต่เล่าไปเล่ามาก็กลัวเอง

จากนั้นเห็นตัวอย่างเด็กขายของจากโรงเกลือเอามาขาย ขณะที่ตัวเองทำประมงคือมีสินค้าอยู่แล้ว จึงนำมาสู่การทำตลาดอาหารทะเลแห้งผ่านเทคนิคการไลฟ์ในช่องทางโซเชียล ด้วยทุน 700 บาท ไปพร้อมกับศึกษาการบูทส์โฆษณา เพจเฟซบุคของตัวเองที่ยิงไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสื่อ เพื่อแนะนำตัวเองสู่สาธารณะ

"มองว่าการทำตลาดออนไลน์ในไทยตอนนี้ เป็นยุคการไลฟ์ขายสินค้า เพราะเป็นเรื่องของการเชื่อใจ ลูกค้าต้องการเชื่อใจคนขายแบบเห็นหน้ากัน อย่างในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา สินค้าฮาซันมีรายได้จากการไลฟ์กว่าสองร้อยล้านบาท และมองว่า 5 จีจะพลิกชีวิตจริงๆจาก เทคโนโลยี ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจและชีวิตคน" อนุรักษ์ กล่าว

เทคโนโลยี 5จี พลิกเศรษฐกิจไทย โลกทั้งใบจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม "สุวิทย์ เมษินทรีย์" และ "วรชัย พิจารณ์จิตร" รองประธานกรรมการ บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะวิทยากร ถ่ายภาพร่วมกันภายหลังพิธีเปิดงานสัมมนา 5 จีพลิกชีวิตเอสเอ็มอีไทย