posttoday

'นาเรากว้าง' ธุรกิจ 'เศรษฐกิจ หมุนเวียน' ในบ้านเกิด

29 กันยายน 2562

จุดเริ่มต้นธุรกิจ ที่เกิดจากความต้องการพัฒนาบ้านเกิดในจังหวัดเลย ให้อยู่ได้แบบมีกิน มีใช้ จากผลผลิตพืชสวนครัว ขุดบ่อเลี้ยงปลา ไปจนถึงรับซื้อสินค้าเกษตรจากชุมชนเพื่อนำมาใช้เป็นวัตุดิบภายในร้านอาหาร เพื่อสร้าง Circular Economy ให้เกิดขึ้นจริง

โดย ดวงใจ จิตต์มงคล

จุดเริ่มต้นธุรกิจ ที่เกิดจากความต้องการพัฒนาบ้านเกิดในจังหวัดเลย ให้อยู่ได้แบบมีกิน มีใช้ จากผลผลิตพืชสวนครัว ขุดบ่อเลี้ยงปลา ไปจนถึงรับซื้อสินค้าเกษตรจากชุมชนใกล้เคียง เพื่อนำมาใช้เป็นวัตุดิบภายในร้านอาหาร เพื่อสร้าง Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่นให้เกิดขึ้นได้จริง

'นาเรากว้าง' ธุรกิจ  'เศรษฐกิจ หมุนเวียน' ในบ้านเกิด ชูชัย ลุนวิรัตน์ ผู้ก่อตั้งกิจการ "นาเรากว้าง"

แรงบันดาลใจ สร้างธุรกิจ

ชูชัย ลุนวิรัตน์ วัย 43 ปี ผู้ก่อตั้งกิจการ "นาเรากว้าง" ธุรกิจร้านอาหารที่มีจุดเด่นทิวทัศน์ท้องนาที่กว้างสุดลูกหูลูกตาในแบบพาโนรามา ทำเลที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเลย เล่าที่มากิจการเกิดขึ้นจาก "ความตั้งใจ" ต้องการกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ให้มีแหล่งท่องเที่ยวที่มองเห็นบรรยากาศท้องทุ่งนาที่ตัวเองคุ้นเคยและซึมซับบรรยากาศมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยสโลแกน "สุขใจ ที่ปลายนา"

กระทั่งได้เข้ามาศึกษาพร้อมทำงานสายงานกราฟฟิกและโฆษณาในกรุงเทพฯระยะหนึ่ง ก่อนกลับไปเป็นอาจารย์ในบ้านเกิดจังหวัดเลยอีกราว 5 ปี ก็ยิ่งสร้างแรงกระตุ้นให้ "ชูชัย" อยากกลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิด อย่างจริงจังมากขึ้นไปอีก

จากนั้นจึงเริ่มต้นเก็บเงินสะสม ไล่ซื้อที่ดินแต่ละแปลงที่อยู่ติดกันๆกับของครอบครัว เพื่อพัฒนาธุรกิจในระยะแรก คือ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม วางตำแหน่งให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเลย ด้วยมองเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี

"ความที่เป็นคนต่างจังหวัดและโตมากับบรรยากาศท้องทุ่งนา เห็นทิวทัศน์อย่างนี้มาตั้งแต่เด็กและรู้สึกประทับใจ พอโตขึ้นทำงานมาได้ระยะหนึ่งก็ตั้งใจไว้เลยว่าจะกลับมาบ้านเพื่อทำธุรกิจและเอาคอนเซปต์การมองเห็น วิว ทิวทัศน์ท้องนา เอามาใส่ไว้ด้วย เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาในร้านได้ซึมซับวิถีชนบทของไทยจริงๆ" ชูชัย เล่า

"นาเรากว้าง" มีพื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่ พร้อมนำหลักการ "เกษตรทฤษฎีใหม่-เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาล 9 และตัวแบบการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด" ที่ชูชัย มีโอกาสไปฝึกอบรม และนำใช้จริงในโครงการนาเรากว้าง เพื่อจัดสรรประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่ อาคารร้านอาหาร ลานจอดรถ บ้านพักอาศัยของครอบครัว และ ของพนักงาน ไปจนถึงพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักสวนครัว และ ขุดบ่อเลี้ยงปลา

สำหรับธุรกิจดังกล่าว ชูชัย บอกว่าใช้เงินเก็บสะสมส่วนตัวก้อนหนึ่งและขอสินเชื่อจากธนาคารส่วนหนึ่งรวมกว่า 4 ล้านบาท นำมาป็นงบลงทุนและเงินหมุนเวียนธุรกิจในช่วงแรก ถึงในปัจจุบัน "นาเรากว้าง" ดำเนินกิจการมาได้ราว 1 ปีครึ่งแล้ว

'นาเรากว้าง' ธุรกิจ  'เศรษฐกิจ หมุนเวียน' ในบ้านเกิด

คิดแล้วก็ลงมือทำ

เมื่อทุกอย่างเดินไปตามไอเดียที่วางไว้และจังหวะมาถึง ชูชัย เริ่มลงมือพัฒนาพื้นที่โครงการฯ ทันทีด้วยตัวเอง ตั้งแต่ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกต้นไม้ยืนต้นโดยรอบพื้นที่ วางผังอาคารร้านอาหาร และ ที่จอดรถให้เป็นสัดส่วน ที่สำคัญยังได้หลักฮวงจุ้ยมาใช้ในการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมพื้นที่ นาเรากว้าง ได้อย่างน่าสนใจ

"ที่ดินร้านนาเรากว้าง มีลักษณะเป็นรูปชายธง คือ มีมุมแหลม เราก็นำศาสตร์ของดิน น้ำ ลม มาปรับใช้ ลดความแหลมของที่ดิน จากการออกแบบบ่อน้ำในรูปตัวยูภาษาอังกฤษ หรือ เป็นรูปตัวเกือกม้ามาใช้ และปลูกต้นไม้โดยรอบพื้่นที่โครงการ เพื่อทำให้พื้นที่มีความสมดุลในเชิงภูมิทัศน์" ชูชัย อธิบาย

เมื่อวางแลนด์สเคปโครงการภายนอกเสร็จแล้ว จากนั้นก็นำเรื่องราวของชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองเลย มาใช้ร่วมกับการตกแต่งภายในร้าน ทั้งการใช้วัสดุท้องถิ่นจริงๆ อย่างสังกะสี เครื่องจักสาน ฯลฯ มาประยุกต์ใช้กับงานสภาปัตยกรรม และยังโชคดีตรงที่ ชูชัย เรียนมาในสายศิลปกรรม จึงได้ใช้ฝีมือการวาดรูปมาร่วมเพนท์ตกแต่งภายในร้านด้วยตัวเอง

'นาเรากว้าง' ธุรกิจ  'เศรษฐกิจ หมุนเวียน' ในบ้านเกิด

วัตถุดิบหมุนเวียนสร้างเศรษฐกิจชุมชน

หลังจากงานภาพรวมโครงสร้างทั้งภายนอกและภายในร้าน "นาเรากว้าง" แล้วเสร็จเป็นรูปร่าง สเตปต่อไปเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในร้าน โดยในช่วงปีแรก "ชูชัย" ยอมรับอย่างตรงไปตรงว่า "เหนื่อยมาก"

ด้วยยังเป็นมือใหม่ในการบริหารธุรกิจร้านอาหาร ที่ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนทุกวัน ทั้งค่าแรงพนักงาน ค่าจ้างฝ่ายบริหาร ค่าวัตถุดิบปรุงอาหาร ไปจนถึงการรับมือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาร้านจำนวนมากในช่วงแรก ในขณะที่ระบบของร้านยังไม่ลงตัวดีนัก และหดหายไปในช่วงโลว์ซีซัน

ทว่าจุดนี้ ชูชัย กลับมองว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี ต่อการพัฒนาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการของร้าน ทั้งจากการใช้เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ สำหรับร้านอาหารมาใช้ และที่สำคัญยังได้หันกลับมาให้ความสำคัญกับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในโครงการฯ เพื่อลดต้นทุนด้านวัตถุดิบเมนูอาหารต่างๆของร้าน จนกลายมาเป็นเมนูขึ้นชื่อของร้านนาเรากว้าง อย่าง "ปลาห่มฟาง" ที่ได้วัตถุดิบ ปลานิล ปลาตะเพียน ที่เลี้ยงไว้ในบ่อ รวมไปถึงการรับซื้อสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาร ผัก ผลไม้ จากชาวนา ชาวไร่ และชาวบ้านที่อยู่ค้างเคียงโดยรอบโครงการฯ อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่นที่เป็นวัตถุดิบเฉพาะของเมืองเลยที่เอามาจำหน่ายในร้าน อย่างมะขาม สับปะรด เป็นต้น ซึ่ง ชูชัย บอกว่าคาดจะเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในเชิงต้นทุนที่ลดลงไปในปีหน้าไม่ต่ำกว่า 50% หลังจากได้ผลผลิตทางการเกษตรเต็มที่แล้ว

"ถ้าร้านนาเรากว้างอยู่ได้ ชุมชนที่อยู่รอบๆ ก็ควรจะมีอยู่มีกินไปด้วยพร้อมกัน โดยร้านฯจะแบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อซื้อวัตถุดิบจากชาวบ้านโดยเฉพาะ นอกเหนือจากการใช้วัตถุดิบที่ได้มาจากการทำเกษตรภายในโครงการฯ" ชูชัย เสริม

'นาเรากว้าง' ธุรกิจ  'เศรษฐกิจ หมุนเวียน' ในบ้านเกิด

'นาเรากว้าง' ธุรกิจ  'เศรษฐกิจ หมุนเวียน' ในบ้านเกิด

ขยายโฮมสเตย์ วางเป้าคืนทุนใน 3 ปี

ขณะที่แผนต่อไปของ "นาเรากว้าง" ชูชัย วางเป้าหมายจะขยายธุรกิจใหม่มาเสริมร้านอาหาร คือ ที่พักอาศัยรูปแบบโฮมสเตย์ ให้บริการที่พักในบรรยากาศท้องถิ่นชนบทที่จำนวนไม่มากนัก ซึ่งก็มาจากความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาแวะเวียนนาเรากว้างทั้งขาประจำและขาจร เรียกร้องเข้ามา เพื่อเสริมความครบวงจรให้ "นาเรากว้าง" เดินต่อไปสู่เป้าหมาย การเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์ค ของอำเภอเมือง จังหวัดเลย เพื่อเข้ามาเสริมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆของจังหวัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ชูชัย บอกว่าหลังจากที่ร้านนาเรากว้างทำมาถึงปัจจุบัน ได้ผลตอบรับดีพอสมควรจากลูกค้าที่เข้ามา แบ่งสัดส่วนเป็นนักท่องเที่ยว 80% และ คนท้องถิ่นราว 20% โดยทางร้านฯ ยังได้ทำตลาดออนไลน์ โดยนำแบรนด์ "นาเรากว้าง" ไปแนะนำในกลุ่มเพจสังคมออนไลน์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงในเพจของจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่่น่าพอใจในการสร้างการรับรู้ในกลุ่มเฉพาะอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้จากแผนธุรกิจที่วางไว้ ชูชัย วางเป้าหมายว่าโครงการนาเรากว้าง จะสามารถถึงจุดคืนทุนได้ภายใน 3 ปีนับจากนี้ และที่สำคัญยังจะมีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่องด้วย