posttoday

'เกวลิน สิงหาคำ' ผู้บริหารสาวเก่งยุคดิจิทัล

24 สิงหาคม 2562

ไอเดียเอเยนซี ยุคใหม่จะต้องใช้ 'ข้อมูลขับเคลื่อน' ต่างจากในอดีตที่เป็นโลกของครีเอทีฟนำแคมเปญการตลาด และที่สำคัญการทำธุรกิจดิจิทัลจะต้องหาจุดแข็งให้เจอแล้วโฟกัส 'ถ้าจะเก่งอะไรแล้วต้องไปให้สุด'

โดย ดวงใจ จิตต์มงคล

ดิจิทัล เอเยนซี ยุคใหม่จะต้องใช้ 'ข้อมูลขับเคลื่อน' ต่างจากในอดีตที่เป็นโลกของครีเอทีฟนำแคมเปญการตลาด และที่สำคัญการทำธุรกิจดิจิทัลจะต้องหาจุดแข็งให้เจอแล้วโฟกัส 'ถ้าจะเก่งอะไรแล้วต้องไปให้สุด'

เกวลิน สิงหาคำ ผู้บริหารสาววัย 28 ปี ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท นอร์ท สตาร์ ดิจิทัล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนสื่อโฆษณาโซเชียลออนไลน์ ที่วางตำแหน่งธุรกิจผู้เชี่ยวชาญด้าน เฟซบุ๊ก มาร์เก็ตติง ในปัจจุบัน รับดูแลธุรกิจแบรนด์สินค้าต่างๆ กว่า 50 แบรนด์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใน 1ปีที่ผ่านมา ธุรกิจมีอัตราการเติบโตธุรถึง 300%

จากความสำเร็จแบบก้าวกระโดด เกวลิน ย้อนที่มาธุรกิจเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ซึ่งได้แรงบันดาลใจหลังจากไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และเมื่อกลับมาเมืองไทยได้มีโอกาสฝึกงานกับเอเยนซี ออสเตรเลีย ซึ่งรูปแบบการทำงานเป็นแบบรีโมท เวิร์คกิง พนักงานสามารถทำงานได้ในแบบทุกที่ทุกเวลา แม้ว่าตัวเธอเองจะอยู่ประจำที่เมืองไทยก็ตาม 

จุดนี้เองที่ทำให้เธอ เกิดความสนใจอยากจะทำงานลักษณะแบบนี้บ้างในเมืองไทย และพบว่างานแบบนี้มักจะอยู่ในสายงานธุรกิจดิจิทัล เท่านั้น!! จากนั้นเกวลิน จึงตัดสินใจร่วมลงทุนกับเพื่อนเพื่อทำธุรกิจดิจิทัล เอเยนซี ให้บริการด้านทำเว็บไซต์ เป็นหลัก ด้วยมองเห็นโอกาสเกี่ยวกับงานดิจิทัล โดยไปพร้อมกับการศึกษาด้าน SEO และ SEM ด้วยตัวเอง

'เกวลิน สิงหาคำ' ผู้บริหารสาวเก่งยุคดิจิทัล

ทว่าหลังจากเริ่มต้นธุรกิจทำเว็บมาได้1ปี ธุรกิจประสบความล้มเหลว เกวลิน ยอมรับว่ามาจาก "ความเชื่อมั่นที่ว่าเราเก่งทุกอย่างและโฟกัสทุกอย่าง แต่ทำให้เราไม่ได้เก่งอะไรสักอย่าง ในช่วงภาวะที่ตลาดเอเยนซีมีการแข่งขันสูง"

จากนั้น จึงทำให้เกวลินและผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจและทีมที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 5 คนในเวลานั้น จากเดิมที่เคยมีทีมอยู่ 21 คน ตัดสินใจรีแบรนดิงธุรกิจเดิมพร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่มาเป็น 'นอร์ท สตาร์ ดิจิทัล' และ ใช้พื้นที่การทำงานรูปแบบ โค-เวิร์คกิง สเปซ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับการทำงานรูปแบบใหม่

และที่สำคัญธุรกิจภายใต้การรีแบรนดิงใหม่ในครั้งนี้ 'นอร์ท สตาร์ ดิจิทัล' ยังได้หันมาโฟกัสความเชี่ยวญหลักด้าน เฟซบุ๊ก มาร์เก็ตติง (Facebook Marketing) ในฐานะที่เธอเองได้รับการรับรองในฐานะ Facebook Certified Buying Professional พร้อมจดทะเบียนกิจการในชื่อดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

เกวลิน บอกว่าการปรับตำแหน่งทางธุรกิจในครั้งนี้ เพื่อตอกย้ำบทบาทและความเชี่ยชาญของบริษัทในฐานะ ดิจิทัล เอเยนซี เพื่อให้บริการเฉพาะด้านการทำตลาดบนแพล็ตฟอร์มดิจิทัลอย่างครบวงจร เช่น เฟซบุ๊ก และ กูเกิล สำหรับงานการตลาดด้าน SEO และ SEM ในระดับพาร์ทเนอร์ที่ได้รับ Certificate แล้ว ด้วยปัจจุบันมีทีมให้บริการงานด้านเฟซบุ๊ก ในระดับ Support Account Manager ด้วยเช่นกัน

"การทำงานของนอร์ท สตาร์ ดิจิทัล ได้ใช้หลักการ Data Driven เพื่อให้บริการงานดิจิทัล เอเยนซี ด้วยในโลกปัจจุบันมีข้อมูลต่างๆจำนวนมาก เพราะผู้บริโภคมีความฉลาดต้องการบริโภคสิ่งที่น่าเชื่อถือจับต้องได้ ดังนั้นโลกของเอเยนซี ยุคปัจจุบันจะต้องนำหลักการที่เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้มาใช้ทำงานร่วมกับลูกค้ามากขึ้น แตกต่างจากเอเยนซีในอดีตที่ใช้ Creative Driven ซึ่งการทำงานการตลาดที่เกี่ยวข้องกับแพล็ตฟอร์มดิจิทัลในทุกวันนี้ จะต้องใช้ข้อมูลต่างๆที่ได้มาจากสถิติบวกกับตัวเลข และมีความเป็นวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ มาร่วมวางแผนการทำตลาดผ่านเครื่องมือออนไลน์" เกวลิน อธิบาย

สำหรับรูปแบบธุรกิจของบริษัทในปัจจุบัน ให้บริการหลักสร้างคอนเทนต์และแบรนด์บนพื้นที่เฟซบุ๊ก และบริการโฆษณาบนเฟซบุ๊กให้มีประสิทธิภาพโดยเน้นยอดขายและการทำตลาดควบคู่กันไป หรือช่วยสร้างเอ็นเกจเมนต์ไปพร้อมกับการขายให้กับลูกค้า

ปัจจุบันบริษัท มีกลุ่มลูกค้าสินค้าแบรนด์ต่างๆกว่า 50 รายสัดส่วนกว่า 30% เป็นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ ในภาคธุรกิจ Hospitality ทั้งโรงแรม และร้านอาหาร กลุ่ม FMCG สินค้าความงามแบรนด์ต่างๆ และกลุ่มอื่นๆ เช่นสินค้าเพื่อสุขภาพ Health Care เป็นต้น โดยในช่วงปีที่ผ่านมาธุรกิจเติบโตกว่า 300% และมีผลกำไรเฉลี่ย 17-20%

ในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทมีพนักงานขยับเพิ่มขึ้น 26 คน และสามารถสร้าง Digital Staff ที่มีความเชี่ยวชาญได้ทั้งในระดับ Maketing Director Facebook Certificated และ Art Director ทั้งบนแฟลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ ไปจนถึงระดับ Social Media Designer โดยเฉพาะ

ออนไลน์ มาร์เก็ตติง ต้องทำ 100 Small Campaigns

เกวลิน เสริมว่าการทำการตลาดออนไลน์ในปัจจุบัน จะเริ่มมีความแตกต่างไปจากการทำตลาดในอดีตที่ใช้กลยุทธ์ One Big Campaign ทำแคมเปญการตลาด1ชิ้นใหญ่ๆเพื่อสร้างความปังให้กับแบรนด์สินค้า ทว่าในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้วเป็น 100 Small Campaigns โดยขึ้นอยู่กับไซส์ของลูกค้าที่แตกต่างออกไปว่าเป็น เอสเอ็มอี หรือ คอร์ปอเรท แบรนด์ ด้วยเป็นเพราะการรับรู้ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีต่อแบรนด์สินค้านั้นๆเริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว การจะใช้หนึ่งแคมเปญใหญ่อาจจะไม่ได้ผลครั้งเดียวแล้วอยู่หมัดอีกต่อไป แต่อาจจะต้องเพิ่มความถี่ ปล่อยหมัดชุด เพื่อสร้างความต่อเนื่องให้กับแบรนด์สินค้าในโลกออนไลน์ มากขึ้น

"เทรนด์ ออนไลน์ มาร์เก็ตติง ทำให้ลูกค้ารายเล็กเข้ามาในตลาดได้ง่ายขึ้น ด้วยการทำแบรนด์ในโลกออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะอีกต่อไปเพราะสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายสินค้าได้เลย" เกวลิน กล่าว

พร้อมอธิบายเสริมว่า การวัดผล CPM (Cost Per Thousand Impressions) ซึ่งเป็นการคิดค่าโฆษณาต่อการแสดงโฆษณาออนไลน์ 1,000 ครั้ง โดยผู้ลงโฆษณาจะจ่ายตามจำนวนครั้งที่แสดงโฆษณา เท่านั้น โดยไม่เกี่ยวกับจำนวนคลิกที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับการทำตลาดผ่านเครื่องมือโซเชียล จะคิดอัตรา CPM ในการเข้าถึงอยู่ที่ประมาณ 100 บาทเท่านั้น เป็นอัตราเฉลี่ยต่ำกว่า 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับการโฆษณาช่องทางดั้งเดิมหรือในช่องทางทีวี

เกวลิน กล่าวว่าแนวทางการทำตลาดผ่านสื่อเฟซบุ๊ก ยังมีแนวโน้มน่าสนใจในอนาคต ส่วนหนึ่งจากจำนวนผู้ใช้บัญชีเฟซบุคในไทยที่อยู่ติดอันดับต้นของโลก และมีการนำแพล็ตฟอร์มเฟซบุ๊ก ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ประเทศไทย ถือเป็นต้นแบบทางด้าน Social Commerce ที่น่าสนใจด้วย

สอดคล้องกับข้อมูลจากนีลเส็น (Nelsen) ระบุว่าในปี 2561-2562 แม้ว่าจะยังมีการใช้เม็ดเงินสื่อโฆษณาหลักในช่องทางทวีเกือบ 60% แต่แนวโน้มการใช้เงินโฆษณาในช่องทางอินเทอร์เน็ต หรือ ออนไลน์ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 12% ในปีก่อน อยู่ที่ 14% ในปัจจุบัน

3 เทรนด์ ออนไลน์ มาร์เก็ตติงครึ่งหลังปี62

ขณะที่เทรนด์ออนไลน์มาร์เก็ตติง ในครึ่งหลังของปี 2562 เกวลินมองว่า กระแสการทำ วิดิโอ คอนเทนต์ ยังมาแรงต่อเนื่องบนแพล็ตฟอร์มดิจิทัล โดยเฉพาะ คลิป วิดิโอ คอนเทนต์ ผ่านช่องทางยูทูป ที่ยังเป็นกระแสเดียวกับโลก รวมไปถึงวิดีโอบนช่องทางเฟซบุ๊ก ที่ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางยอดนิยมเช่นกัน

นอกจากวิดิโอ คอนเทนต์แล้ว ในการทำแคมเปญการตลาด เจ้าของสินค้า หรือ นักการตลาด ยังอาจจะต้องนึกถึงผู้ใช้งานมือถือมากขึ้น ด้วยปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่จะบริโภคเนื้อหาผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก ดังนั้นการทำเนื้อหาการตลาดออนไลน์อาจจะต้องคำนึงถึงอุปกรณ์มือถือเป็นศูนย์กลาง (Mobile Centrix) มากขึ้น และเทรนด์สุดท้าย การทำตลาดออนไลน์บนชุมชนในสังคมเฉพาะ หรือ User Community ที่สามารถสร้างและขยายการรับรู้แบรนด์สินค้าได้แบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

เกวลิน ปิดท้ายเป้าหมายบริษัทนับจากนี้ไป คือ การผลักดันให้องค์กรเติบโตไปพร้อมกับการสร้างทีมงานด้านดิจิทัลที่มีความสามารถควบคู่กันไป ด้วยต้องยอมรับว่าปัจจุบันในประเทศไทย ยังไม่มีการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรแบบเฉพาะทางด้าน Online Marketing อย่างจริงจัง

พร้อมมองว่าสิ่งท้าทายในวงการนี้ คือ การสร้าง 'eco system' ระบบนิเวศน์ในสายงานดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะบุคลากรสายดิจิทัล ที่ยังขาดแคลนอยู่ในบ้านเรา

'เกวลิน สิงหาคำ' ผู้บริหารสาวเก่งยุคดิจิทัล