posttoday

ถอดกลยุทธ์ ร้านชาบู สไมล์ ทำตลาด 4 ปี มียอดขาย 100 ล้าน

07 กรกฎาคม 2562

ธุรกิจรายเล็ก ที่โตจาก 'โซเชียล มาร์เก็ตติง' อ่านทุกคอมเมนต์แล้วนำมาปรับปรุงธุรกิจ

ธุรกิจรายเล็ก ที่โตจาก 'โซเชียล มาร์เก็ตติง' อ่านทุกคอมเมนต์แล้วนำมาปรับปรุงธุรกิจ

ปัจจุบัน ตลาดอาหารหม้อไฟในประเทศไทย มีมูลค่ารวมกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท และมีความคึกคักไม่น้อย จากจำนวนผู้เล่นทั้งแบรนด์ใหญ่และเล็กรวมกันแล้วในปัจจุบันมากกว่า 10 แบรนด์ ที่พร้อมห้ำหั่นกันด้วยกลยุทธ์ราคา และสารพัดโปรโมชันสุดฟิน เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมายให้เข้าร้านได้มากที่สุด

และจากความเดือดดาดในตลาดร้านอาหารหม้อไฟ ที่มาพร้อมกับอัตราการเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 หลัก ตลอดช่วงระยะเวลา 2-3ปีที่ผ่านมานี้ กลายเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหม่ตบเท้าเข้าสู่วงการร้านหม้อไฟ เช่นเดียวกับ ร้านชาบู สไมล์ (Shabu Smile) ที่วางตำแหน่งเป็น ร้านอาหารชาบูบุฟเฟต์สไตล์ญี่ปุ่น เพื่อเอาใจสายกินจุโดยเฉพาะ

ถอดกลยุทธ์ ร้านชาบู สไมล์ ทำตลาด 4 ปี มียอดขาย 100 ล้าน เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร หนึ่งในผู้ก่อตั้งธุรกิจร้านชาบู สไมล์

เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ธุรกิจ“ชาบู สไมล์” บอกว่าธุรกิจร้านชาบูสไมล์ ก่อตั้งมาแล้ว 4 ปี มีผู้ร่วมก่อตั้ง 6 คน โดยจุดเริ่มต้นธุรกิจเกิดจากความชอบทานอาหารนอกบ้าน การสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนสนิทเป็นประจำ จนกระทั่งเกิดไอเดียจธุรกิจเปิดร้าน ชาบู สไมล์ ขึ้นมาในสาขาแรก ที่ ดิ อเวนิว รัชโยธิน

ในปัจจุบัน ชาบู สไมล์ เปิดให้บริการแล้ว 6 สาขา ในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล เน้นทำเลภายในศูนย์การค้าที่ได้รับความนิยมตามย่านชุมชนต่างๆ ได้แก่ สาขาเมเจอร์ รัชโยธิน อเวนิว สาขาเซ็นทรัล ศาลายา สาขาเดอะมอลล์ ท่าพระ สาขาฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต สาขาเซ็นทรัล พระราม2 สาขาซีคอน ศรีนครินทร์ และในเร็วๆนี้ เตรียมเปิดอีก 3 สาขา ที่ เซ็นทรัล พลาซา ชลบุรี เดอะมอลล์ โคราช และเดอะมอลล์ บางกะปิ รวมเป็น 9 สาขาภายในสิ้นปี 2562 นี้

นั่นแสดงว่าตลอดในช่วง 4 ปีนับจากการดำเนินธุรกิจ ร้านชาบู สไมล์ สามารถขยายสาขาเฉลี่ยปีละ 2 แห่ง นับว่าเป็นอัตราเร่งทางธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับร้านอาหารแนวหม้อไฟรายเล็กที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในตลาดได้ไม่นาน

เกียรติกมล เล่าว่าปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ธุรกิจร้านชาบู สไมล์ สามารถขยายสาขาได้ในจำนวนดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากการวางตำแหน่งทางการตลาดที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น คือ การเป็นร้านชาบูแนวบุฟเฟต์ ที่ให้ความคุ้มค่า เน้นเรื่องคุณภาพ และใช้กลยุทธ์ราคาเดียว 299+ บาท ซึ่งสามารถทำให้ร้านจับกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง หรือ กลุ่มแมสได้ไม่ยากมากนัก

ถอดกลยุทธ์ ร้านชาบู สไมล์ ทำตลาด 4 ปี มียอดขาย 100 ล้าน

ที่สำคัญ คือ เป็นร้านชาบูแนวบุฟเฟต์ ที่เข้ามาแก้ Pain Point จากการ 'ไม่จำกัดเวลา' ในการรับประทานอีกด้วย และกลายเป็นจุดเด่นของชาบูสไมล์ ที่แตกต่างไปจากร้านชาบูเจ้าอื่น ที่มัดใจกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ที่มารับประทานแบบเป็นกลุ่ม ได้ไม่ยาก

เกียรติกมล เสริมว่าจากการที่ร้านชาบู สมไล์ เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ที่เข้ามาแข่งขันในตลาดชาบูมูลค่าเฉียด 2 หมื่นล้านบาท ยิ่งต้องทำการบ้านอย่างหนัก ในการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภคของการมีตัวตนของแบรนด์ชาบู สไมล์ ในช่วงที่สื่อสังคมออนไลน์ มีบทบาทอย่างมากกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

ดังนั้นแนวทางการทำตลาดทั้งในยุคแรกจนถึงในขณะนี้ของ ชาบู สไมล์ คือ การทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งในแพล็ตฟอร์ม facebook Instagram และ Line โดยร้านจะโปรโมทกิจกรรมส่งเสริมการขายในแต่ละเมนู หรือ โปรโมชันที่กำลังทำตลาดในแต่ละช่วง เช่น โปรโมชันมันกุ้งชาบู หรือ เมนูชีส เป็นต้น

"กลยุทธ์การทำตลาดของชาบูสไมล์ คือ การสื่อสารที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ลดข้อจำกัด สร้างประสบการณ์ใหม่ในการบริโภคด้วยวัตถุดิบสดใหม่ และที่สำคัญ คือ ติดตามอ่านทุกความคิดเห็นของลูกค้าที่เข้ามาทั้งติและชมผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดยชาบู สไมล์ จะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น และเมื่อลูกค้ากลับมาใหม่ก็จะได้รับประสบการณ์ในการทานอาหารที่ดีกว่าเดิม นำไปสู่การบอกต่อ และกลับมาทานซ้ำ" เกียรติกมล เสริม

สำหรับขั้นต่อไปของร้านชาบู สไมล์ คือ การขยายสาขาร้านไปยังทำเลใหม่ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น โดยจะเน้นการลงทุนเองเป็นหลักมากกว่าขยายการทำธุรกิจผ่านระบบแฟรนไชส์ เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพการให้บริการ

โดยในสิ้นปี 2562 ธุรกิจร้านชาบูสไมล์ ทุกสาขา คาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท จากในแต่ละปี ธุรกิจมีอัตราการเติบโตประมาณ 30%