posttoday

ธุรกิจเอสเอ็มอี ติดกับดักดิจิทัล

28 ธันวาคม 2561

เศรษฐศาสตร์ มธ. เผยผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกี่ยวกับทิศทางธุรกิจและเศรษฐกิจไทยปี 2562 พบส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในการปรับตัวรับกับเทคโนโลยี

เศรษฐศาสตร์ มธ. เผยผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกี่ยวกับทิศทางธุรกิจและเศรษฐกิจไทยปี 2562 พบส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในการปรับตัวรับกับเทคโนโลยี

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการคณะทำงานจัดการองค์ความรู้และสื่อสารสาธารณะ คณะทำงานฝ่ายสัมมนา และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผย ผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกี่ยวกับทิศทางธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในปี 2562 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 643 ราย ในระหว่างวันที่ 15-25 ธ.ค. 2561 พบว่า ผลการดำเนินงาน ในปี 2561 เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ พบว่าด้านที่ผู้ประกอบการมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ด้านการลงทุน 52 % ด้านสภาพคล่อง 38 % และด้าน รายได้ 37 %

ขณะที่เอสเอ็มอีระดับกลางมีเงินหมุนเวียนเฉลี่ย 54 วัน ขณะที่ เอสเอ็มอีระดับเล็กมีเงินหมุนเวียนเฉลี่ย 35 วัน ส่วนด้านรายได้ กำไร หนี้สินและต้นทุนคิดเป็น 44% 45% 65% และ 53% ตามลำดับ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้เมื่อต้นปี

เมื่อสอบถามถึงทิศทางการปรับตัวในปี 2562 ผู้ประกอบการ 64.4% ระบุว่า เน้นการทำตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น 41.1% จะปรับโครงสร้างธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น 38.2% เพิ่มการหาตลาดต่างประเทศ 32.2% หาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต 25.8% สร้างแบรนด์ของตนให้เป็นที่รู้จัก 24.1% ปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมกับสภาพการแข่งขัน 18.7% ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 18.4% พัฒนาบุคลากร 14.5% ใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน 13.6% ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ และอีก 12.6% ยังไม่มีแนวทางในการปรับตัวที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในการปรับตัวรับกับเทคโนโลยี จากการสอบถามถึงอุปสรรคในการทำ Digital Transformation พบว่าอุปสรรคสำคัญ อันดับแรก คือ การขาด เป้าหมายที่ชัดเจน 84.2% 2.ไม่สามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองได้ 82.1% 3.ไม่ทราบว่าจะได้รับประโยชน์ในด้านไหนบ้าง 77.3% 4.งบประมาณไม่เพียงพอ 77.2% และ 5.ไม่เข้าใจการทำ Digital Customer Journey 72.7%

สำหรับความกังวลของเอสเอ็มอีในปี 2562 ได้แก่ ปัจจัยด้านการเมือง 81.4% รองลงมาเป็นเศรษฐกิจไทย 78.2% เศรษฐกิจโลก 67.3% การขาดแคลนบุคลากร 64.3% และการแข่งขันที่สูงขึ้น 62.8% ขณะที่ความกังวลในระดับปานกลางเป็นเรื่องต้นทุนค่าแรง ความต้องการของตลาดที่ลดลง อัตราแลกเปลี่ยน การขาดแคลนแหล่งเงินทุน การขาดแคลนวัตถุดิบ

เกียรติอนันต์ กล่าวว่า นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) อาจจะไม่ใช่กลไกที่ทำให้เม็ดเงินลงไปถึง เอสเอ็มอีมากนัก โดยประเมินว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรคนจน จากการซื้อสินค้าจำเป็นหรือชำระหนี้ก็ดี จะมีเงินลงไปถึงร้านค้าเอสเอ็มอีแค่ 30% ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะใช้จ่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตหรือศูนย์การค้ามากกว่า

มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ธพว.ได้เปิดโครงการฮัก TAXI เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รายย่อย เสริมแกร่งแท็กซี่ไทย และยกระดับการประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ให้เติบโตอย่างมั่นคง จากการร่วมมือกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินศักยภาพธุรกิจท้องถิ่นของประเทศไทย กรณีศึกษาธุรกิจบริการแท็กซี่ พบว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ทั่วประเทศกว่า 1.2 แสนราย และมีรถแท็กซี่ที่อยู่ในระบบกว่า 9 หมื่นคัน มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน 1,702 บาท แต่เมื่อหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 400 บาท จึงมีปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

ขณะเดียวกันผลสำรวจยังระบุว่าสัดส่วนรถแท็กซี่ที่ใช้ประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบันเกือบ 50% หรือประมาณ 3.5 หมื่นคัน เป็นรถที่เหลืออายุการใช้ไม่ถึง 5 ปี ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไปจะมีรถทยอยหมดอายุปีละกว่า 1 หมื่นคัน ดังนั้นผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ 70% ต้องการสินเชื่อในระบบเพื่อจะซื้อรถใหม่ เพราะจะช่วยเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย คุ้มกว่าการเช่ารถ และที่ผ่านมาผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ 65% เข้าไม่ถึงแหล่งทุนจึงต้องไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ทำให้มีภาระหนี้สูง