posttoday

เรื่องที่ต้องทำ หลังเป็นนิติบุคคล

26 พฤศจิกายน 2561

เหลือเวลาอีกเพียงเดือนกว่าๆ ที่จะพ้นสิ้นปี 2561 แล้ว เริ่มปี 2562 ทุกธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยดูตัวเลขจากงบการเงินฉบับส่งสรรพากรเพียงฉบับเดียวเท่านั้น

เรื่อง...สุรชัย กำพลานนท์วัฒน์

เหลือเวลาอีกเพียงเดือนกว่าๆ ที่จะพ้นสิ้นปี 2561 แล้ว เริ่มปี 2562 ทุกธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยดูตัวเลขจากงบการเงินฉบับส่งสรรพากรเพียงฉบับเดียวเท่านั้น แปลว่าผู้ประกอบการคงต้องแปลงสภาพกิจการจากบุคคลธรรมดาเป็นจดทะเบียนนิติบุคคลเพราะนิติบุคคลถูกกฎหมายกำหนดให้ต้องจัดทำงบการเงินและมีผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองด้วย ใครที่ทำธุรกิจและสมควรจะต้องจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด ก็แนะนำให้รีบๆ ไปดำเนินการให้เสร็จภายในปีนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐมากมาย ไม่ควรรอถึงปีหน้าค่อยไปจดนะครับ

ส่วนหลังจากจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว ต้องทำอะไรต่อให้เรียบร้อยและถูกต้อง อันนี้ล่ะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรรู้และต้องปฏิบัติ บางเรื่องไม่ทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมายจะเดือดร้อนภายหลัง บางเรื่องไม่ทำไม่ได้เพราะจะทำให้กู้แบงก์ไม่ได้ หลักๆ มีอยู่ 5 เรื่อง

เปิดบัญชีในนามกิจการ หลังจากทะเบียนจัดตั้งบริษัทเรียบร้อย วันรุ่งขึ้นก็ควรจะไปทำเรื่องเปิดบัญชีกับธนาคารที่เราต้องการ เพื่อใช้เป็นบัญชีหลักในการนำเงินที่เกิดจากธุรกรรมของกิจการฝากเข้า-ถอนออกผ่านทุกรายการ อย่าไปใช้บัญชีส่วนตัวอีกต่อไปเดี๋ยวจะไม่สะท้อนผลประกอบการที่แท้จริง วันหน้าวันหลังต้องใช้ผลการเดินบัญชีไปยื่นกู้กับแบงก์จะมีปัญหาขาดความน่าเชื่อถือ

บิลซื้อ-บิลขาย เมื่อจดเป็นบริษัทแล้วก็ต้องทำทุกรายการให้มีหลักฐานเพื่อใช้ในการลงบัญชีกิจการ ไม่ว่าจะซื้อทรัพย์สินมาใช้ในกิจการ ซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการ หรือจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ต้องมีการขอบิลทุกครั้ง และต้องดูเนื้อหาในบิลต้องเขียนถูกต้องครบถ้วน ส่วนกรณีมีรายการขายสินค้าหรือรับเงินค่าบริการก็ต้องมีการออกใบเสร็จรับเงินให้ถูกต้อง ถ้าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ต้องออกใบกำกับภาษีให้ถูกต้องด้วย

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีที่กิจการมีจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อันนี้ก็ต้องมีการออกแวตซื้อแวตขายให้ถูกต้อง เอกสารต้องเขียนให้ครบและดำเนินการยื่นนำส่งภาษีแวตกับสรรพากรทุกเดือน แม้ว่าเดือนไหนไม่มียอดธุรกรรมก็ต้องยื่นตามกำหนด ใครใช้บริการของสำนักงานบัญชีที่จ้างมาดูแลบัญชีก็ต้องติดตามถามไถ่ให้เขาไปดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนด้วย อย่าประมาทเรื่องนี้เพราะโดนย้อนหลังมาหลายรายแล้ว

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย อันนี้เป็นหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องหักและนำส่งสรรพากรเมื่อมีรายการ ส่วนรายการไหนต้องหักและหักเท่าไร อันนี้ศึกษาเองได้ เป็นเรื่องที่ต้องรู้และต้องปฏิบัติ ถ้าไม่หักและไม่นำส่งก็มีความผิด ส่วนแบบฟอร์มและวิธีการเขียนหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็หาซื้อและเรียนรู้ไม่ยากเช่นกัน จุดสำคัญคือเจ้าของกิจการต้องรู้และเข้าใจและหัก ณ ที่จ่ายให้ครบ

นำส่งเอกสารลงบัญชี ไม่ว่าจะเป็นบิลซื้อ-บิลขาย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เจ้าของกิจการต้องรวบรวมและสรุปนำส่งให้สำนักงานบัญชีเพื่อไปดำเนินการลงบัญชีและปิดบัญชีตามรอบเวลา ถ้าเอกสารดังว่าไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้องไม่สมบูรณ์ สำนักงานบัญชีเขาก็จะไม่รู้และลงบัญชีไม่ได้ บัญชีเดียวก็จะไม่เกิด ดังนั้นหัวใจสำคัญคือ “เอกสารประกอบการลงบัญชี” ที่ต้องมีทุกรายการ

ทั้งหมดเป็นเรื่องไม่ง่าย...แต่ไม่ยากเกินการเรียนรู้และลองลงมือปฏิบัติ!!!