posttoday

Financial Literacy

07 พฤศจิกายน 2561

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าประสบคือ เรื่องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

โดย...สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (สสว.)

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าประสบคือ เรื่องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

เรื่องดังกล่าวทำให้การประชุมบอร์ด สสว. เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้บรรจุเรื่องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับเอสเอ็มอีในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยในระยะแรกให้นำร่องจากวงเงิน 150 ล้านบาท หากได้ผลให้ขยายการดำเนินงานต่อไป

อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการน้อย ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น ผู้ประกอบการบางส่วนมองว่าโครงการไม่น่าสนใจ เนื่องจากเงื่อนไขคุณสมบัติที่จะได้วงเงินเข้มเกินไป ขณะที่เจ้าหน้าที่สถาบันการเงินบางส่วนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ จึงไม่สามารถให้คำแนะนำลูกค้า หรือไม่ส่งต่อเรื่องที่ผู้ประกอบการสอบถามเกี่ยวกับวงเงินไปยังห้องค้าเงินของธนาคาร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแจ้งลูกค้าเรื่องการได้รับวงเงิน รวมทั้งมีปัญหาด้านอื่นๆ ทำให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมีจำนวนไม่มาก

สำหรับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ในปี 2562 มีสาระสำคัญดังนี้คือ

Financial Literacy เป็นโครงการที่จะช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจจากหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะ SMEs ที่ขาดความรู้ทางด้านบัญชีและการเงิน รวมทั้ง SMEs ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และบริการเครื่องมือทางการเงิน

สำหรับวัตถุประสงค์โครงการยังเป็นไปเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) จากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน/สมาคม และสถาบันการเงินต่างๆ และบูรณาการการประชาสัมพันธ์ให้อยู่ในที่เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ SMEs เข้าถึงบริการทางการเงินและองค์ความรู้ต่างๆ โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ SMEs ทุกระดับ ตั้งแต่กลุ่ม Start Up กลุ่ม SMEs ที่ทำธุรกิจในประเทศ และ SMEs ที่ทำธุรกิจต่างประเทศ

สำหรับงบประมาณในการดำเนินโครงการคือ เพิ่มเติมจำนวน 110 ล้านบาท จากวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการในระยะแรกจำนวน 150 ล้านบาท รวมเป็น 260 ล้านบาท ในกลุ่มเป้าหมาย SMEs 5,000 ราย

โดยเพิ่มวงเงินการซื้อประกันความเสี่ยง FX Options จาก 3 หมื่นบาท/ราย เป็น 5 หมื่นบาท/ราย และเน้นเพิ่มการอบรมรูปแบบ Online (E-learning) ควบคู่ไปกับการบรรยายสด และการอบรมด้วย VDO รวมทั้งนำเสนอโปรโมชั่นสำหรับ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการในระยะต่อไป ในการลดค่าธรรมเนียมครึ่งราคาสำหรับประกันการส่งออก