posttoday

ปรัชญาการทำธุรกิจ แบบญี่ปุ่น (2)

11 ตุลาคม 2561

องค์ประกอบสำคัญที่สร้างจุดแข็งของบริษัทญี่ปุ่น

สยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ครั้งที่แล้ว ผมสัญญาเอาไว้ว่าจะเล่าเรื่องที่พาคณะผู้ประกอบการร่วมกิจกรรม “Krungsri Business Journey” ไปศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นจ่ามี (Trami) พัดเข้าถล่มญี่ปุ่นในวันที่เราจะเดินทางพอดี ไต้ฝุ่นลูกนี้มีกำลังแรงมากที่สุดในรอบ 25 ปี และจะส่งผลกระทบในเขตพื้นที่ที่เรากำลังจะเดินทางไปด้วย ทางกรุงศรีเองต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของคณะ จึงตัดสินใจเลื่อนการเดินทางในครั้งนี้ออกไป ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งเลยครับ

แต่ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะหลังจากนั้นผลของไต้ฝุ่นจ่ามีทำให้เที่ยวบินถูกยกเลิกกว่า 1,200 เที่ยวบิน รถไฟที่เดินทางเข้าโตเกียวถูกยกเลิกเช่นกัน ระบบขนส่งหยุดทำการ และเกิดไฟดับในหลายพื้นที่อีกด้วย ดังนั้นเมื่อการเดินทางต้องยกเลิกไปก่อน ผมจึงต้องผิดสัญญาที่ไม่มีเรื่องมาเล่าให้ฟังกัน ครั้งนี้ผมจึงขอเล่าเรื่องเบาๆ ที่เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นแทนแล้วกันนะครับ

หากใครได้ดูการแข่งขันเทนนิสรายการใหญ่ 2 รายการในช่วงที่ผ่านมาอย่าง วิมเบิลดัน 2018 และยูเอส โอเพ่น 2018 ก็คงจะแปลกตากับชุดแข่งใหม่ของ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ที่เปลี่ยนจากแบรนด์ไนกี้ มาเป็น ยูนิโคล่่ แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังจากญี่ปุ่น ซึ่งมีการเซ็นสัญญากัน 10 ปี มูลค่ามากถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินไทยก็ราวๆ 9,900 ล้านบาท ผู้ชมส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับข่าวนี้ และอยากรู้ว่าอะไรเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักเทนนิสระดับโลกเปลี่ยนใจมาใส่ชุดแข่งสัญชาติญี่ปุ่น ทั้งที่ใส่ของไนกี้มามากกว่า 20 ปี

ปรัชญาการทำธุรกิจ แบบญี่ปุ่น (2)

ผมมองว่า ปรัชญาการทำงานแบบญี่ปุ่น มีส่วนสำคัญมากสำหรับดีลนี้การทำงานของบริษัทญี่ปุ่นมีจุดแข็งในเรื่อง

1.การจ้างงานที่มั่นคง ทำงานร่วมกันระยะยาว เมื่อรับใครเข้ามาแล้วก็เปรียบเหมือนครอบครัวเดียวกัน

2.การบริหารจัดการที่คิดถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น ข้อ 1 และข้อ 2 นี้ แม้เฟเดอเรอร์อายุ 37 ปีแล้ว และเหลืออายุการแข่งเทนนิสอีกไม่มากนัก แต่ยูนิโคล่่มองว่า หลังเฟเดอเรอร์เลิกเล่น ก็สามารถทำงานในวงการเทนนิสต่อได้ เนื่องจากกีฬาเทนนิสถือเป็นสิ่งที่เฟเดอเรอร์เชี่ยวชาญและเป็นสิ่งที่เขารัก

3.การบริหารการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ยั่งยืน ยูนิโคล่มองว่าเฟเดอเรอร์เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลและมีคนชื่นชอบมากที่สุดในโลก จึงเหมาะสมที่จะเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ การร่วมงานกัน
ครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าการให้การสนับสนุนทางกีฬา แต่เป็นการสร้างความสำเร็จและร่วมงานกันในระยะยาวมากกว่า

นอกจากนั้น วิสัยทัศน์ของผู้นำยูนิโคล่ คือ ทาดาชิ ยาไน ที่สะท้อนผ่านบทสนทนากับเฟเดอเรอร์ว่า “วันใดวันหนึ่งคุณก็ต้องเลิกเล่นเทนนิส แต่คุณจะไม่หยุดใช้ชีวิต” และยูนิโคล่จะช่วยให้เฟเดอเรอร์นำกีฬาเทนนิส ไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้อีกมาก ทำให้เฟเดอเรอร์ตัดสินใจร่วมงานกับยูนิโคล่ นี่ล่ะครับ ปรัชญาการทำงานแบบญี่ปุ่นที่ทำให้นักเทนนิสระดับโลกตัดสินใจมาร่วมงานด้วย

ผมเองมองว่าแนวคิดนี้สามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการทำธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน