posttoday

Brain Dynamics เทคโนโลยีช่วยผู้ป่วยสื่อสาร

28 กันยายน 2561

สตาร์ทอัพไทย “Brain Dynamics” ที่ได้สร้างเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการใช้งานเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกมากที่สุด

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

สตาร์ทอัพไทย “Brain Dynamics” ที่ได้สร้างเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการใช้งานเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกมากที่สุด

“บุณยนุช วิจารณ์” ผู้ร่วมก่อตั้ง Brain Dynamics บริษัท เบรน ไดนามิกส์ เปิดเผยว่า ตนเองเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) มหาวิทยาลัยมหิดล และได้ร่วมกลุ่มกับเพื่อนที่เรียนด้วยกันในระดับปริญญาตรี สนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณสมอง และเลือกการสร้างระบบช่วยการสื่อสารควบคุมด้วยสัญญาณสมอง เพื่อช่วยผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร (Communication Aid System Controlled By Brain Signal) สามารถบอกข้อมูลความต้องการผ่านระบบได้

สำหรับระบบดังกล่าวจะสร้างเป็นเครื่องวัดสัญญาณติดไว้บริเวณศีรษะของคนไข้ และเครื่องจะส่งข้อมูลความต้องการของคนไข้ผ่านแท็บเล็ต ส่งผลดีต่อคนไข้และคุณหมอในการดูแล โดยระบบจะใช้กับคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารไม่ได้ กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเตียง และผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการขยับตัว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวระบบออกมาสู่ตลาดได้ในช่วงกลางปี 2562

“การสร้างระบบดังกล่าว มาจากการเห็นคนใกล้ตัวเป็นโรคหลอดเลือดทางสมอง ไม่สามารถสื่อสารกับคนดูแลหรือญาติ จึงอยากสร้างเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาในด้านนี้ ประกอบกับในปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมารองรับมีความสำคัญอย่างมาก” บุณยนุช กล่าว

ทั้งนี้ เบรน ไดนามิกส์ มีผู้ร่วมก่อตั้งจำนวน 4 คน และมีผู้เชี่ยวชาญด้านสมองอยู่ในทีมด้วย รวมถึงได้มีการหารือกับทีมแพทย์ในการที่จะนำอุปกรณ์ไปใช้ในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ทีมยังสนใจที่จะพัฒนาต่อยอดในการสร้างระบบที่เกี่ยวข้องกับสมอง นำข้อมูลสัญญาณสมองของผู้ป่วย เพื่อนำเครื่องไปทดสอบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสมอง มีการฟื้นฟูของระบบสมองเป็นอย่างไร จากที่ผ่านมา การติดตามการพักฟื้นของคนไข้หลังการผ่าตัดสมอง จะดูอาการแค่ภายนอกเท่านั้น ทางทีมจึงคิดที่จะนำระบบตรวจสอบสมองเพื่อเสริมสร้างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย

“บุณยนุช” กล่าวว่า การพัฒนาทั้งระบบ เครื่องมือและเทคโนโลยี จะต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยที่ผ่านมา ทีมได้รับการส่งเสริมจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ (TCELS) และ บริษัท เอ๊กซ์ปาร่า รวมถึง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA นอกจากนี้ ยังได้รับการส่งเสริมจากนักลงทุน ประเทศสิงคโปร์ และได้เข้าไปร่วมโปรแกรม Accelerator ที่ประเทศสิงคโปร์

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะระดมทุนรอบใหม่ของบริษัท เนื่องจากการเป็น เมดิคอล เทค (Medical Tech) จะต้องใช้เงินลงทุนในการพัฒนาระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยการระดมทุนรอบใหม่ จะส่งผลให้ทีมอยู่ในช่วง Seed Round

นอกจากอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว ทางทีมยังสนใจ Lifestyle Product โดยในช่วงที่ผ่านมา ทีมได้ทำการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับสัญญาณสมอง โดยใช้ชื่อว่า Pyne เป็นเครื่องสำหรับแปะที่หน้าผาก สามารถประมวลผลออกมาเป็นระดับของความสนใจ (Attention) อารมณ์ และสมาธิ ซึ่งได้พัฒนาและทำมาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว รวมถึงได้ทดลองในห้องแล็บแล้ว ทั้งนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อบำบัดเด็กที่สมาธิสั้น การนำไปช่วยในการฝึกสมาธิ รวมถึงการนำไปขยายผลต่อในเชิงการทำตลาดของแบรนด์สินค้าในการวัดอารมณ์ความชอบหรือไม่ชอบในสินค้า คาดว่าจะเปิดตัวออกสู่ตลาดได้ในปี 2562 และกำลังพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น

“Brain Dynamics” เป็นสตาร์ทอัพไทย ด้านเมดิคอล เทค ที่รวมพลังของคนรุ่นใหม่ที่อยากจะสร้างเครื่องมือที่เป็นประโยชน์และจะเกิดผลดีต่อผู้ใช้มหาศาล