posttoday

กลุ่มผู้เลี้ยงปลาเบตง จากชายแดนใต้สู่ตลาดส่งออก

18 สิงหาคม 2561

“เบตง” เป็นที่ตั้งของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาที่มีการรวมตัวที่เข้มแข็ง อย่างกลุ่มผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน กำลังขยายการดำเนินงานไปสู่การส่งออกเนื้อปลาไปต่างประเทศ

โดย..อนัญญา มูลเพ็ญ

หากกล่าวถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้หลายคนคงนึกถึงภาพข่าวตามหน้าสื่อต่างๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความไม่สงบ แต่หากได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสชีวิตชาว 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะพบว่าไม่ใช่ทุกจุดจะมีปัญหา ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้ชีวิตเป็นปกติ โดยเฉพาะในเขตสุดปลายด้ามขวาน อย่าง อ.เบตง จ.ยะลา เวลานี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวสำคัญของชายแดนใต้

“เบตง” เป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจทั้งเชิงภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์และยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาที่มีการรวมตัวที่เข้มแข็ง มีรูปแบบการทำงานช่วยเหลือแบ่งกันอย่างน่าสนใจ โดยที่เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ น่าศึกษาเป็นต้นแบบ อย่างกลุ่มผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน อ.เบตง ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายการดำเนินงานของกลุ่มไปสู่การส่งออกเนื้อปลาไปต่างประเทศด้วยความร่วมมือกับนักธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)

“ชนธัญ นฤเศวตานนท์” ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน ซึ่งมีดีกรีเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เมื่อปี 2559 กล่าวว่า พันธุ์ปลาหลักที่ทางกลุ่มเลี้ยงปัจจุบัน คือ ปลานิล เนื่องจากเป็นปลาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะขนาดตัวของปลาเหมาะสำหรับการทำอาหารขึ้นโต๊ะในภัตตาคาร ขายง่ายกว่าปลาจีนซึ่งเป็นพันธุ์ปลาหลักที่มีการเลี้ยงใน อ.เบตง ในอดีต โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาหลายคนเลิกเลี้ยงปลาจีนไป เนื่องจากปลามีขนาดใหญ่ 3-4 กก./ตัว ขายได้ยาก

นอกจากนี้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นการเลี้ยงปลาของชาวเบตงที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมนั้นทำให้คุณภาพของปลานิลของ อ.เบตง แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ “ชนธัญ” เล่าว่า การเลี้ยงปลานิลด้วย “ระบบน้ำไหล” จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ปลานิลของที่นี่ไม่เหม็นกลิ่นโคลน ซึ่งคุณลักษณะนี้ทางกลุ่มกำลังเตรียมข้อมูลและเอกสารเพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ให้กับปลานิลเบตง

“เมื่อก่อนผมเข้าใจว่าไม่ว่าปลานิลที่ไหนก็รสชาติเหมือนกัน จนกระทั่งมีเพื่อนมาเที่ยวที่บ้านได้รับประทานเนื้อปลานิล เขาไม่เชื่อว่านี่คือเนื้อปลานิล เพราะปลานิลต้องมีกลิ่นที่เหมือนกลิ่นโคลน การเลี้ยงด้วยระบบน้ำไหลทำให้ในบ่อเลี้ยงไม่มีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่ปลากินเข้าไปแล้วกลิ่นจะฝังอยู่ในเนื้อปลาทำให้ปลามีกลิ่น ความรู้ตรงนี้จุดประกายว่าเราควรพัฒนาจากตรงนี้” ชนธัญ กล่าว

กลุ่มผู้เลี้ยงปลาเบตง จากชายแดนใต้สู่ตลาดส่งออก ชนธัญ นฤเศวตานนท์

ในระยะเริ่มแรกเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว เขาเองนำภูมิปัญญาการเลี้ยงปลาดั้งเดิมของท้องถิ่นมาลองผิดลองถูก จนเกิดเป็นองค์ความรู้แรกเริ่มเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมจากการทำเกษตรอย่างอื่น เช่น การทำสวนยางพารา สวนผลไม้ เริ่มด้วยการขายปลาในราคา 70 บาท/กก. ซึ่งก็มีกำไร แต่ด้วยคุณภาพเนื้อปลาที่ดี ทำให้ร้านอาหารที่รับปลาไปประกอบอาหารต่อเสนอราคาให้ในราคา 95 บาท/กก. จึงขายราคาดังกล่าวแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ในราคานี้ก็มีกำไร 100% หรือเท่าตัว เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ลงไป จนปัจจุบันปลานิลกลายเป็นรายได้หลักแทนการปลูกพืชเกษตรแล้ว

หลังมีความรู้จากการได้ลองผิดลองถูก และเห็นว่าปลานิลมีตลาดรองรับ รายได้ดี ต้นทุนก็ต่ำเพราะใช้น้ำธรรมชาติที่ไหลลงมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ก็เริ่มชักชวนผู้เลี้ยงปลารายอื่นๆ มารวมกลุ่ม และตนเองก็ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เครือข่าย ตอนนี้กลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 11 คน เลี้ยงปลาต่อปีได้ประมาณ 3 รอบ ตลาดหลักคือร้านอาหารใน อ.เบตง ตอนนี้ก็เรียกได้ว่าเลี้ยงปลาส่งไม่ทัน การทำงานของกลุ่มคือจะไม่แยกกันขาย แต่ลูกค้าต้องการปลาจะต้องติดต่อผ่านกลุ่ม และการจับปลาขายจะเวียนบ่อไปเรื่อยๆ ไม่มีการจับปลาขายและตัดราคากัน การทำงานร่วมกันนี้มีความซื่อสัตย์ เชื่อใจกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

“ชนธัญ” กล่าวว่า แม้การเลี้ยงปลาขายใน อ.เบตง จะสร้างรายได้ที่ดีให้กับสมาชิกกลุ่ม แต่การพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้กลุ่มก็มีแผนจะขยายตลาดไปสู่การส่งออก โดยมีกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง ประสานงานนักธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาลงทุนแล่เนื้อปลา ผ่านกระบวนการแช่แข็งที่ทันสมัย และส่งออกไปยังตะวันออกกลางและฝรั่งเศส โดยจะมีการลงนามเอ็มโอยูระหว่างกลุ่มกับผู้ประกอบการในเดือน ก.ย.นี้ และคาดว่าภายใน 1 ปี จะเริ่มส่งออกได้

ภายใต้ความร่วมมือนี้จะทำให้กลุ่มสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการขายปลาเป็นวัตถุดิบ รายได้จากโรงงานแล่เนื้อปลาแช่แข็งและส่งออก และในอนาคตมีแผนจะทำร้านอาหารที่จะปรุงอาหารด้วยปลานิลเบตงเปิดตามห้างสรรพสินค้าซึ่งจะสร้างกำไรได้อีกทางหนึ่งด้วย

“คนมักคิดว่าจะต้องไปขุดหาแร่ หาสิ่งมีค่าที่อยู่ใต้ดิน แต่สำหรับพวกเราเรามีทรัพย์อยู่บนดิน มีภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพียงแต่จับภูมิปัญญาและทรัพย์บนดินนั้นมาปั้นเป็นทองคำ เป็นสิ่งมีค่า” ชนธัญ กล่าว