posttoday

‘Health Smile’ เอไอด้านสุขภาพ

27 กรกฎาคม 2561

“Health Smile” มีเป้าหมายสำคัญที่จะสร้างเทคโนโลยี “AI” ด้านการแพทย์ที่ทำให้คนใช้ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

“HealthTech” สตาร์ทอัพไทยที่ก่อตั้งโดยคุณหมอ ที่ได้พัฒนาระบบสำหรับการตรวจสุขภาพแบบเฉพาะเจาะจงให้มีความเหมาะสมสำหรับลูกค้าในแต่ละบุคคล โดยจัดทำโปรแกรมและระบบข้อมูลที่ผสมผสานด้วยเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) กับ “Health Smile”

“นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์” ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง “Health Smile” บริษัท เฮลท์สไมล์ เปิดเผยว่า Health Smile คือ การจัดทำระบบตรวจสุขภาพแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่ลูกค้าทุกคน เพื่อทำให้การตรวจสุขภาพในแต่ละครั้งมีความเหมาะสมและตรงกับลูกค้ามากที่สุด ลูกค้าสามารถเลือกแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่ตรงกับความเสี่ยงของแต่ละคน จึงมีผลให้การตรวจสุขภาพของลูกค้าเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ลูกค้าสามารถตรวจสุขภาพได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะตรวจมากจนเกินไป หรือน้อยจนเกินไป ถือเป็นระบบใหม่ที่ยังไม่มีรายใดทำมาก่อนในประเทศไทย

“เฮลท์สไมล์” ได้มีการจัดทำชุดคำสั่งที่สร้างไว้ (Algorithm) เพื่อให้ผู้ใช้บริการกรอกข้อมูลสุขภาพ และจะมีรายการวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกค้าในแต่ละบุคคลว่าเป็นอย่างไร โดยได้นำองค์ความรู้ทางการแพทย์มาจัดทำเป็น Algorithm ดังกล่าวขึ้นมา พร้อมกับมีการประมวลผลข้อมูลด้วยระบบเอไอ ทำให้ผู้ใช้บริการทราบข้อมูลได้ว่า ตนเองควรจะต้องไปตรวจสุขภาพแบบเฉพาะในด้านใดเพิ่มขึ้น หรือควรจะไปตรวจเชิงลึกแบบละเอียดด้านใดกับโรงพยาบาลต่างๆ

“การจัดตั้ง Health Smile เกิดขึ้นมาจากการเห็นคนใกล้ตัว คือ คุณลุงที่เป็นคนตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว แต่ไม่พบความผิดปกติในด้านใด แต่ต่อมา กลับพบว่าเป็นมะเร็งในลำไส้ใหญ่ เนื่องจากแพ็กเกจการตรวจสุขภาพที่มีอยู่ เป็นแบบทั่วไป และไม่ได้เฉพาะเจาะจงแบบเฉพาะโรค จึงไม่รู้ว่ามีความเสี่ยงในด้านใด” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลในประเทศไทย พบว่า คนในประเทศไทยมีการตรวจสุขภาพแบบประจำปี มูลค่ารวมประมาณ 5,000 ล้านบาท และจะเป็นการตรวจที่เป็นแพ็กเกจแบบทั่วไป รวมถึงข้อมูลการตรวจในแต่ละปีไม่มีความต่อเนื่อง และไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลกับปีที่แล้วได้อย่างชัดเจน

ดังนั้นการมีระบบที่ตรวจแบบเฉพาะเจาะจง และจะแนะนำว่าควรไปตรวจสุขภาพต่อในด้านใดเพิ่มเติม หรือควรตัดรายการสุขภาพในด้านใดที่ไม่จำเป็นในการตรวจ จึงจำเป็นกับผู้ใช้บริการ

ขณะเดียวกันได้มีการร่วมมือกับโรงพยาบาลเพื่อทำการวิจัยและทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างแล้ว เช่น การจัดทำกลุ่มลูกค้าที่มีอาการปวดศีรษะ กลุ่มลูกค้าที่มีอาการนอนกรน หรือมีอาการซึมเศร้า เพื่อแนะนำให้มีการไปตรวจแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น พร้อมกันนี้กำลังขยายการทำข้อมูลในกลุ่มลูกค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีข้อมูลในเชิงลึกยิ่งขึ้น โดยคาดว่าในเดือน ส.ค.นี้จะมีเวอร์ชั่นใหม่ของระบบออกมาให้บริการสู่ลูกค้า

นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การทำสตาร์ทอัพ กลุ่ม Health Tech โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งที่เป็นภรรยา คือ “จิราวรรณ วิริยะกิจไพบูลย์” และมี “ไกรวุฒิ แก้วมิตร” ตำแหน่ง CTO ที่เข้ามาดูแลในระบบและเทคโนโลยีต่างๆ ภายในองค์กร ปัจจุบันตนเองก็ยังเป็น
คุณหมอทำงานในโรงพยาบาลอยู่

“การทำสตาร์ทอัพจะเป็นคนละด้านกับการทำงานหมอ โดยหมอจะใช้ภาษาอีกแบบ และเทคโนโลยีก็เป็นภาษาอีกแบบ จึงต้องปรับให้ตรงกันและมีความเข้าใจตรงกัน นำเสนอข้อมูลสู่ผู้ใช้บริการที่ทุกคนให้มีความเข้าใจตรงกัน” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ด้านการเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพตั้งแต่ระยะแรกได้รับการส่งเสริมจากทั้งโครงการ เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) ต่อมายังได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เทดฟันด์ (TED Fund) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงช่วยผลักดันจัดทำการทดสอบและข้อมูลในด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ Health Smile ได้มีการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรโรงพยาบาลและคลินิกเพื่อสุขภาพ โดยประเมินว่า ในปี 2562 จะขยายไปในคลินิกตรวจสุขภาพในสาขาต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งวางเป้าหมายในระยะ 3 ปีข้างหน้า จะขยายการให้บริการออกไปใน 10 จังหวัดของประเทศไทย ปัจจุบันผู้สนใจเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านเว็บไซต์ https://www.HealthSmile.co.th

นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า พร้อมผลักดัน “Health Smile” มีเป้าหมายสำคัญที่จะสร้างเทคโนโลยี “AI” ด้านการแพทย์ที่ทำให้คนใช้ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคน

“สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของชีวิต การตรวจสุขภาพเป็นประจำจะทำให้เราได้รู้สภาพร่างกายของเราในปัจจุบัน แต่หากการตรวจสุขภาพทำให้ต้องลำบาก และค่าใช้จ่ายสูง ก็คงจะไม่ดีแน่ ผมจึงอยากให้ทุกคนได้เข้าถึงสุขภาพที่ดี ด้วยการรู้ความเสี่ยงของตนเอง และปรับวิถีชีวิตให้ดีขึ้น และหากพบความผิดปกติก็จะได้รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อยให้โรคร้ายแรงเกินไป ภายใต้การนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และต่อคนใช้บริการอย่างสูงสุด” นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

“Health Smile” สตาร์ทอัพไทยที่ได้นำเสนอบริการใหม่เพื่อต้องการร่วมเปลี่ยนโฉมการตรวจสุขภาพของคนในประเทศไทย และการทำให้การตรวจสุขภาพมีความคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อทุกคนอย่างสูงสุด