posttoday

เห็ดมิลค์กี้ พืชเศรษฐกิจใหม่

07 เมษายน 2561

ปัจจุบันเห็ดที่พบโดยทั่วไปมีทั้งเห็ดที่กินได้

โดย สวาท เกตุงาม

ปัจจุบันเห็ดที่พบโดยทั่วไปมีทั้งเห็ดที่กินได้ เช่น เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดเผาะ เห็ดจาวมะพร้าว เห็ดไข่เหลือง เห็ดระโงกเหลือง เห็ดโคน เห็ดปลวก เห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เป็นต้น และเห็ดที่มีพิษ เช่น เห็ดขี้วัว เห็ดขี้ควาย เห็ดดอกกระถิน เห็ดไข่ เห็ดข่า เห็ดไข่หงส์ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานเห็ด จึงต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเป็นเห็ดที่กินได้หรือไม่

ในประเทศไทยได้มีการวิจัย ประโยชน์ของเห็ดอย่างจริงจัง ปรากฏว่า มีเห็ดมากมายหลายชนิดที่พบในประเทศไทย ที่ใช้เป็นอาหารและมีสรรพคุณทางยา และในปัจจุบันได้นำเห็ดมาสกัดเป็ดแคปซูล หรือนำมาชงรับประทาน ช่วยบำรุงสุขภาพ และป้องกัน เสริมสร้างสุขภาพร่างกายได้เป็นอย่างดี

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว นำโดย เกษม บาตรโพธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว กฤษณา โสภี ครูชำนาญการพิเศษ และบุคลากรของศูนย์ฝึกฯ ได้ทำการทดลองเพาะเห็ด ตีนแรด สายพันธุ์หนึ่ง นำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นนำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถปลูกได้ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย กระทั่งได้พันธุ์ใหม่แตกต่างจากเห็ดตีนแรด มีลักษณะดอกโต สีขาวและจากการทดลองเพาะเห็ดชนิดนี้มีน้ำหนักสูงสุดถึงดอกละ 5 กิโลกรัม และจากลักษณะของเห็ดเป็นสีขาวเหมือนน้ำนม จึงได้ตั้งชื่อว่า เห็ดน้ำนม หรือเห็ดมิลค์กี้ หรือ Milky Mushroom

เห็ดมิลค์กี้ พืชเศรษฐกิจใหม่

กฤษณา โสภี ครูชำนาญการพิเศษ ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว กล่าวว่า เห็ดมิลค์กี้ (Milky Mushroom) เป็นเห็ดตีนแรด สายพันธุ์หนึ่ง ที่นำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ แล้วนำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้ปลูกได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลาย ซึ่งจะมีอัตราการเกิดของดอกได้ง่ายกว่าเห็ดตีนแรดในอดีต โดยจุดเด่นของเห็ดชนิดนี้คือ ดอกใหญ่สีขาว เนื้อแน่น มีใยอาหารและเส้นใยสูง และสามารถเก็บได้นานกว่าเห็ดนางฟ้า แต่ความอร่อยไม่แพ้เห็ดออรินจิ นอกจากจะนำไปประกอบอาหารได้แล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย

เกษม บาตรโพธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว กล่าวว่า หลังจากได้นำเห็ดตีนแรดมาพัฒนาสายพันธุ์ใหม่เป็นเห็ดน้ำนม หรือเห็ดมิลค์กี้ โดยได้รับความร่วมมือกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว นำไปวิจัย ในขณะเดียวกันทางศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว จัดฝึกอบรมให้แก่ประชาชนของ จ.สระแก้ว เกี่ยวกับการเพาะเห็ดมิลค์กี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะเกี่ยวกับการเพาะเห็ดมิลค์กี้ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ และประกอบอาชีพได้

“การเพาะเห็ดมิลค์กี้ทำได้ 2 รูปแบบ มีแบบเพาะลงแปลงและเพาะลงถุง โดยทางศูนย์ฝึกฯ เริ่มเพาะเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2561 ออกดอกวันที่ 13 มี.ค. 2561 ตั้งแต่เริ่มเพาะจนถึงออกดอกใช้ระยะเวลา 30 วัน ขณะนี้เพาะได้น้ำหนักสูงสุด 2.4 กิโลกรัมต่อ 1 ดอก และเคยเพาะได้นำหนักสูงสุดดอกละ 5 กิโลกรัม อายุการเก็บเกี่ยว 5-6 เดือน เห็ดชนิดนี้ยังมีสรรพคุณทางยาช่วยลดระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยให้ระบบขับถ่ายสามารถทำงานได้ดีขึ้น ขณะนี้เพาะเห็ดได้ไม่พอขาย โดยขายในราคากิโลกรัมละ 400 บาท และมีห้างร้านต่างๆ มารับซื้อไป” เกษม กล่าว